เข้าพรรษา ถวาย "เทียน" หรือ "หลอดไฟ" อะไรได้บุญมากกว่ากัน?
“ตอนนี้ ทุกอย่างมันไม่เหมือนเดิมแล้ว วัดหลายแห่งมีไฟฟ้าเข้าถึง พระใช้ไฟฟ้ากันหมดแล้ว มีการใช้เทียนน้อยมาก เทียนกลายเป็นสิ่งของที่ใช้กันแค่ช่วงที่ทำพิธีกรรมทางศาสนาเท่านั้นแหละ"
ในช่วงวันเข้าพรรษา พวกเราทำบุญด้วย "เทียน" กับ "หลอดไฟ" อันไหนได้บุญมากกว่ากัน?
เชื่อว่าคำถามนี้ น่าจะเป็นหนึ่งในคำถามสำคัญที่ค้างคาใจของใครหลายคน ที่เข้าไปทำบุญกันในวัด
และพบเห็นพุทธศาสนิกชนหลายคน ปรับเปลี่ยนรูปแบบวิธีการทำบุญจาก การถวายเทียน มาเป็น หลอดไฟ เพื่อให้เข้ากับยุคสมัยใหม่ ที่โลกทั้งโลกกำลังหมุนเปลี่ยนผ่านไปอย่างรวดเร็วแบบนี้
ป้าแก้ว (สงวนนามสกุล) พุทธศาสนิกชนรายหนึ่ง ที่หาโอกาสเข้าวัด ทำบุญอยู่เป็นประจำ กล่าวแสดงความเห็นกับ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ว่า การทำบุญด้วยหลอดไฟ เป็นเรื่องที่ทำกันมานานแล้ว ไม่จำเป็นต้องเข้าพรรษาหรอก ใครไปวัดทำบุญตอนนี้ เขาก็นิยมทำกัน เพราะมันให้ประโยชน์มากกว่าเทียนพระสงฆ์ใช้ประโยชน์ได้มากกว่า
“ป้าทำบุญด้วยหลอดไฟ เพราะเห็นว่าเป็นสิ่งของที่พระสงฆ์ สามารถใช้ประโยชน์ได้มากกว่าหลอดไฟ โลกมันเปลี่ยนไปแล้ว ยุคสมัยมันเปลี่ยนไป เราก็ต้องปรับเปลี่ยนตัวเองให้ทันสมัย การทำบุญก็เหมือนกัน”
ป้าแก้วยังย้ำด้วยว่า “เมื่อก่อนบ้านเรา ยังไม่เจริญ โดยเฉพาะในช่วงที่พระสงฆ์จำพรรษาในวัดช่วงเข้าพรรษา เทียนเป็นสิ่งสำคัญมาก ช่วยให้แสงสว่างในการปฏิบัติกิจต่างๆ ของพระสงฆ์ในวัด และที่สำคัญราคาหลอดไฟถูกกว่าเทียนเยอะเลย”
“ตอนนี้ ทุกอย่างมันไม่เหมือนเดิมแล้ว วัดหลายแห่งมีไฟฟ้าเข้าถึง พระใช้ไฟฟ้ากันหมดแล้ว มีการใช้เทียนน้อยมาก เทียนกลายเป็นสิ่งของที่ใช้กันแค่ช่วงที่ทำพิธีกรรมทางศาสนาเท่านั้นแหละ"
เมื่อถามว่า ระหว่าง เทียน กับหลอดไฟ ถวายอะไร ได้บุญมากกว่ากัน?
ป้าแก้ว ตอบว่า “ทุกอย่างมันก็ได้บุญเหมือนกัน ทุกอย่างมันอยู่ที่ใจ เพียงแค่เราปรับเปลี่ยนอะไร ให้มันเข้ากับยุคสมัยนิดหน่อยเท่านั้นเอง ”
จากการตรวจสอบข้อมูลใน วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี เกี่ยวกับวันเข้าพรรษา พบว่า มีการระบุ เรื่องการถวายหลอดไฟ ในช่วงวันเเข้าพรรษาด้วย
“ในวันเข้าพรรษาและช่วงฤดูพรรษากาลตลอดทั้ง 3 เดือน พุทธศาสนิกชนชาวไทยถือเป็นโอกาสอันดีที่จะบำเพ็ญกุศลด้วยการเข้าวัดทำบุญใส่บาตร ฟังพระธรรมเทศนา ซึ่งสิ่งที่พิเศษจากวันสำคัญอื่น ๆ คือ มีการถวายหลอดไฟหรือเทียนเข้าพรรษา และผ้าอาบน้ำฝน (ผ้าวัสสิกสาฏก) แก่พระสงฆ์ด้วย เพื่อสำหรับให้พระสงฆ์ได้ใช้สำหรับการอยู่จำพรรษา”
ขณะที่ พระที "ปัญญสโก ภิกขุ" คณะ ๓/๓ วัดพลับ ให้ความเห็นเรื่องการทำบุญด้วยเทียน และหลอดไฟไว้อย่างน่าสนใจ ดังนี้
"ทำไมจึงมีการถวายเทียน ในอดีตเขาเอาเทียนไปทำอะไร เขาก็เอาไปใช่จุดให้เกิดแสงสว่างขึ้นเพื่อใช้ทำกิจกรรมต่างๆ เช่นว่า ถ้าหากวัดนั้นๆ มีการลงโบสถ์ สวดปาฏิโมก กันในตอนค่ำ ก็จะต้องมีการจุดเทียนให้เกิดแสงสว่างเพื่อให้สามารถมองเห็นใบลาน ที่บันทึกพระปาฏิโมก (ในส่วนของพระผู้ทานปาฏิโมก) นี้เป็นเหตุการณ์ในอดีต ที่ยังไม่มีไฟฟ้า และแม้นจึงจะมีไฟฟ้าใช้กันแล้วในปัจจุบัน หลายๆวัดก็ยังคงมีการจุดเทียนสองธรรม จนกลายเป็นธรรมเนียมไปแล้ว"
"ทีนี้ในปัจจุบัน เรามีไฟฟ้าใช้กันแล้ว และมีความสว่างมากกว่าด้วย จะเห็นได้ในบางครั้งช่างไฟก็จะบอกว่า หลอดนี้มีกำลัง 20 แรงเทียนบ้าง 30 แรงเทียนบ้าง เห็นความแตกต่างได้อย่างชัดเจน ไม่อย่างนั้นเราก็คงจะต้องใช้เทียนเป็นจำนวนมากในการที่จะใช้แสงมาก"
"แต่ปัจจุบันมีหลอดไฟแล้ว จึงเป็นที่นิยมทุกคนก็ยอมรับกัน นำมาใช้กัน เรื่องจึงแตก แตกเป็นการถวายเทียน และการถวายหลอดไฟฟ้า
พระที "ปัญญสโก ภิกขุ" คณะ ๓/๓ วัดพลับ ยังระบุด้วยว่า การถวายเทียน เป็นการกระทำกันมาตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบันก็ยังคงมีการถวายกันอยู่ มองแล้วเป็นเรื่องที่ดี ที่ยังคงมีการรักษาขนบทำเนียมประเพณีวัฒนธรรมของไทย ให้ชาวโลกได้เห็น เห็นอะไร เห็นในความสำคัญ เห็นในความศรัทธาของคนไทยในศาสนาพุทธ เห็นในความรักความสามัคคี ความพร้อมเพรียงกันของคนในสังคม อาจจะเป็นสังคมเล็กๆ เป็นสังคมหมู่บ้าน ที่ยังคงพูดพันกันอย่างเหนียวแน่น
"แต่ ณ ปัจจุบัน อาจจะมีข้อสงสัย ในการทำบุญถวายเทียน เมื่อโลกเปลี่ยนไป หลายคน เปลี่ยนเป็นถวายหลอดไฟแทน อาจจะเพราะชัดเจนในการที่หวังว่าพระจะนำไปใช้ ด้วยความประสงค์ ที่จะให้เกิดประโยชน์ หรือได้ถูกนำไปใช้งานอย่างจริงจังของผู้ที่ถวาย ทำให้ในปัจจุบันก็ได้มีถวายกันมาก แต่ก็ยังคงเป็นแต่หลอดไฟนีออนยาวๆ เท่านั้น ซึ่งในการใช้งานจริง ก็มีหลากหลาย"
"ทั้งนี้และทั้งนั้น การถวายทั้งสองแบบ ทั้งสองอย่างก็ดีทั้งนั้น ได้บุญ กันทั้งนั้น เป็นในส่วนของผู้ที่ต้องการทำบุญ ต้องการสละจาคะ ต้องการเอาชนะมัจฉริยะความตระหนี่ถี่เหนียว ก็สามารถไปทำบุญกันที่วัด ถวายกันได้เลย จะถวายเป็นการส่วนตัวของเราเอง ก็ได้ หรือจะคอยถวายร่วมประเพณีของวัดนั้นๆก็สามารทำได้"
แต่ถ้าจะถามว่าถวายเทียน กับ ถวายหลอดไฟ มีอานิสงค์ ต่างกันอย่างไร คงไม่ต่างกัน เพราะในประโยชน์ ทั้งของหลอดไฟ และต้นเทียน ก็เพื่อให้เกิดแสงสว่าง ตรงตามความหมายของคำว่า "ประทีป"
เรามาดูคำถวายเทียนจำนำพรรษา
เอตัง มะยัง ภันเต ปะทีปะยุคัง สะปะริวารัง เตมาสัง พุทธัสสะ ปูชะนัตถายะ อิมัส์มิง อาวาเส
ภิกขุ สังฆัสสะ นิยยาเทมะ สาธุ โน ภันเต ภิกขุสังโฆ
เอตัง ปะทีปะยุคัง สะปะริวารัง ปะฏิคคัณหาตุ อัมหากัญเจวะ มาตาปิตุอาทีนัญจะ
ปิยะชะนานัง ทีฆะรัตตัง หิตายะ สุขายะ.
คำแปล :- ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอนอมถวายเทียนจำนำพรรษาคู่นี้ พร้อมทั้งของบริวาร แด่พระสงฆ์ในอาวาสนี้ เพื่อเป็นพุทธบูชาตลอดไตรมาส ขอพระสงฆ์จงรับเทียนจำนำพรรษาคู่นี้ พร้อมทั้งของบริวาร เพื่อประโยชน์และความสุข แก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย แก่ปิยชนทั้งหลาย มีมารดาบิดาเป็นต้นด้วย ตลอดกาลนาน เทอญ.
จะเห็นได้ว่า คำที่บอกถวาย เป็น ปะทีปะยุคัง ค้นคำบาลี ได้ เป็น "ปทีป" อ่านว่า ปะ ที ปะ แปลว่า ประทีป, ตะเกียง, โคมไฟ, เครื่องส่องแสง (จากหนังสือ พจนานุกรม บาลี - ไทย ฉบับ นิสิต-นักศึกษา รวบรวมและเรียบเรียง โดย พระอุดรคณาธิการ (ชวินทร์ สระคำ) ศ. พิเศษ ดร. จำลอง สารพัดนึก ) โดยรวมก็หมายถึง ความสว่าง ที่ตรงกันข้ามกับความมืด
เช่นนี้แล้ว เห็นจะเหมือนกัน ไม่แตกต่างแต่อย่างไร
-----------
@@ ข้อมูลประกอบ@@
พระที "ปัญญสโก ภิกขุ" คณะ ๓/๓ วัดพลับ ได้ให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับการใช้งานเทียน และหลอดไฟ ของพระสงฆ์ ไว้อย่างน่าสนใจ ดังนี้
ข้อแรก อะไรๆ ที่มีมากเกินไปก็ไม่เป็นการดี แต่ถ้าพอดีๆ ก็จะดีไม่ใช่น้อยในส่วนของบางท่านที่ได้ไปพบเจอบางวัดไม่ได้ใช้เทียนแถมเอาไปเปลี่ยนเป็นปัจจัย ก็อาจจะเป็นไปได้
ถ้ามีต้นเทียนมากเกินไป เกินที่จะใช้ ก็คงจะเห็นสมควรเพื่อจะให้เกิดประโยชน์(อันนี้คิดในทางที่ดี) แต่จะว่าไปถ้าเป็นหลอดไฟแล้วมันจะอยู่ที่วัดตลอดหรือ? จะแน่ใจได้อย่างไร อันนี้แนะนำว่าไม่ต้องไปคิดให้ใจขุ่นมัวจะดีกว่า เอาเป็นว่าเราก็ทำหน้าทีของเราก็เท่านั้น ได้บุญแล้วสบายใจ ไม่ต้องไปตามดู (นึกๆแล้วก็ขำ เหมือนเราตักบาตรตอนเช้า ทุกคนก็คงหวังจะให้พระท่านได้ฉัน จะตามไปดูที่วัดทุกเช้าทุกวันที่วัด มันก็ไม่ใช่ ใช่ม๊ะ) ก็หมายความว่า ในส่วนของทางวัด ถ้าที่วัด ได้รับถวายพอดีที่จะใช้ได้อย่างไม่ขาดแคลน ก็น่าจะเป็นการดี พ่อค้าก็จะมารับซื้อไปไม่ได้ เพราะเดียวทางวัดจะไม่มีใช้ นี้เป็นวิธีหนึ่ง
ทั้งนี้ ในอดีต ต้นเทียนพรรษาที่ถวายทางวัดนั้น เป็นจากการร่วมมือร่วมใจจากชาวบ้านช่วยกันทำ ช่วยกันหล่อต้นเทียน เป็นความสัมพันธ์การระหว่าง บ้าน วัด โรงเรียน ที่รวมกันเป็นหนึ่ง ก็จะได้ต้นเทียนในจำนวนไม่มากนัก ไม่เหมือนทุกวันนี้ ที่ ต่างคน ต่างนำของตนไปถวายกันเอง (หมายถึงรวมแบบบ้านใครบ้านมันกลุ่มใครกลุ่มมันด้วย) จึงเป็นปัญหาหนึ่ง ที่ทำให้ที่วัดได้รับถวายมากเกินไป ในส่วนนี้ มีความคิดเห็นส่วนตัวว่า ถ้าทางวัดและทางญาติโยม ร่วมกันกำหนดเห็นถ้าจะดี"
ข้อแนะนำ ในการใช้งานจริง เราลองมาคิดกันดู ว่าเราเองใช้ไฟ(แสงสว่าง) ในการทำอะไรกันบ้าง
- ไฟอ่านหนังสือ
- ไฟทางเดิน
- ไฟสำหรับพระพุทธรูป
- ไฟฉุกเฉิน
ทีนี้เราคงอาจจะเจอทางที่ลงตัวทั้งวัดและญาติโยม
- ไฟอ่านหนังสือ ก็มีกันหลายแบบหลายอย่าง อย่างเช่น
- โคมไฟตั้งโต๊ะ อันนี้มีประโยชน์สำหรับพระเณรที่เรียนหนังสือมาก เพราะบางวัด หรือบางที่พัก ของพระเณร ก็เป็นการอยู่ร่วมกัน
ในกุฏิหนึ่ง ในห้องหนึ่ง อยู่กันหลายรูป บางรูปดึกแล้วก็ยังคงอ่านหนังสือ ท่องตำรับตำรากันอยู่ ในขณะที่เพื่อนร่วมห้องจำวัดพักผ่อนแล้ว
การที่มีโคมไฟส่วนตัวไว้ใช้ทำให้ไม่ต้องเปิดไฟทั้งห้อง ซึ่งเป็นการรบกวนรูปอื่นที่จะจำวัดพักผ่อน จำพวกนี้ หนอนหนังสือคงเข้าใจดี และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง พระเณรในต่างจังหวัดเป็นการยากที่จะหาซื้อหรือหาอะไหล่ซ่อมบำรุง ก็สามารถเลือกถวายกันเองได้ตามสะดวก
(บางทีของเหล่านี้ จะให้พระเณร ไปเดินเลือกซื้อตามห้างเห็นจะเป็นการไม่ค่อยจะสะดวก)
- ไฟทางเดิน หลายวัดยังมีไฟทางเดินไม่ครบ ไม่พอ ยังมีหลายจุดที่ขาดแสงไฟส่องทาง และตามมาด้วยค่าใช้จ่ายค่าไฟที่มีตามมาด้วย รวมถึงการดูแล ต้องคอยเปิดปิดไฟ ตรงนี้ก็มีระบบที่สามารถเข้ามาจัดการได้อย่างได้ผลเช่น ระบบพลังงานแสงอาทิตย์และระบบเปิดปิดไฟอัตโนมัติ
อันนี้บางคนอาจจะเห็นว่าไม่ต้องใช้ก็ได้ แต่ถ้ามีแล้ว ก็จะมีประโยชน์มากๆเช่น การลืมปิดลืมเปิด หรือออกไปข้างนอกตังแต่เช้ามืด หรือกลับมาในตอนดึก ก็ไม่ต้องกังวล เพราะระบบได้จัดการให้เองแล้ว และการจัดการให้ไฟทางเดิน ทำงานได้โดยเป็นอิสระ มีประโยชน์ ในเวลาที่มีปัญหาไฟดับไม่ว่าในกรณีใดๆ อย่างเช่น เกิด พายุพัดเสาไฟหักโค่น หรืออย่างเหตุน้ำท่วมที่ผ่านมา ถือเป็นประโยชน์ในระยะยาว เรื่องนี้ คนคนเดียวอาจจะทำไม่ได้ อาจจะต้องมีการร่วมมือกันหลายคน
ที่ยกเรื่องนี้ขึ้นมา ก็เพราะเห็นว่าถ้ารวมๆ หลอดไฟและต้นเทียนทั้งหมดที่วัดๆหนึ่งจะได้รับน่าจะมากพอที่จะสามารถนำมาสร้างตรงนี้ได้
- ไฟสำหรับพระพุทธรูป อันนี้สำคัญ โดยยังมีหลายคนไม่ทราบ ที่ตรงพระพุทธรูป ควรจะมีไฟส่องแสงสว่างอยู่ตลอด จะเห็นได้จากหลายๆบ้าน ของคนไทยเชื้อสายจีนจะมีเทียนไฟฟ้าเสียปลั๊กไว้ตลอด หรือบางวัด จะมีการจุดเทียนตรงหน้าพระพุทธรูป หรือตรงหน้าพระประธานไว้ตลอด นี้มีอานิสงค์มาก แต่ต้องมีการดูแลที่ดีด้วย
(ในส่วนของการดูแลรักษา และระวังมิให้เกิดไฟไหม้) ผู้ที่ฉลาดในบุญก็สามารถ
เป็นเจ้าภาพในการดูแลบำรุงรักษาได้ เห็นจะได้ในเรื่องของการถวายประทีปเหมือนกัน
- ไฟฉุกเฉิน นี้จำเป็นมากๆ ในเวลาที่มีเหตุไฟดับ ไม่ว่าจะด้วยเรื่องอะไร เช่น บริเวณใกล้เคียงนั้นเกิดไฟไหม้ หรือมีการตัดไฟ ซ่อมแซม หรือมีภัยธรรมชาติ เกิดลมพัดเสาไฟหักโค่น หรือน้ำท่วมอย่างที่ผ่านมา หรือจะเป็นเหตุที่เกิดจากที่วัดเองเช่นเกิดไฟฟ้าลัดวงจร ไฟดับเกิดขึ้น ก็จะยังคงมีไฟให้แสงสว่างให้สำหรับช่างได้สามารถ ทำงาน กู้ระบบให้กลับมา เป็นต้น
เหล่านี้เห็นจะเป็นในเรื่องของการถวายประทีปเสมอกัน ซึ่งดูตามสมัยแล้วเห็นเป็นการธรรมดา ก็เป็นทางเลือกที่เราๆ จะทำได้ จะได้ทำบุญอย่างมีปัญญาด้วย ในบางคราว ถวายเทียนไปพระเณรเองก็ไม่ได้ใช้กันเลยก็มี ก็อย่างเช่น วัดในเมือง อันนี้เห็นได้อย่างชัดเจน
ที่จะใช้จุดกันจริงๆ ก็เห็นจะมีที่ตรงหน้าพระในเวลาทำพิธีต่างๆ เท่านั้น
ก็ท่านทั้งหลาย พิจารนากันตามสมควรเถิด!!