แกะรอย 2 เหตุอ่อนไหว ต้นตออ้างไทยละเมิดหยุดยิง
ผ่านไปแค่ 10 วันของเดือนรอมฎอนที่รัฐบาลไทยกับบีอาร์เอ็นประกาศจับมือกันยุติความรุนแรงโดยตั้งหมุดหมายเอาไว้ทั้งสิ้น 40 วัน ปรากฏว่าได้เกิดปัญหาขึ้นเสียแล้ว เมื่อฝ่ายบีอาร์เอ็นยื่นประท้วงไปยัง ดาโต๊ะ สรี อาห์มัด ซัมซามิน ฮาซิม อดีตผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติมาเลเซีย ในฐานะผู้อำนวยความสะดวกการพูดคุยสันติภาพ ว่าฝ่ายไทยละเมิดข้อตกลง เพราะเป็นฝ่ายก่อความรุนแรงขึ้นก่อน
พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ยอมรับว่าได้รับอีเมล์แจ้งจากดาโต๊ะซัมซามินเกี่ยวกับข้อกังวลของบีอาร์เอ็นจริง แต่ปฏิเสธที่จะให้ข้อมูลว่าเหตุรุนแรงเหตุการณ์ไหนที่บีอาร์เอ็นอ้างว่าฝ่ายไทยเป็น "ฝ่ายเริ่ม"
"เขาไม่ได้ระบุอย่างชัดเจนว่าเป็นเหตุการณ์ไหน แต่เป็นการกล่าวถึงรวมๆ เกี่ยวกับสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในห้วง 10 วันแรกของเดือนรอมฎอน และกล่าวหาว่าฝ่ายไทยเป็นผู้เริ่มก่อเหตุรุนแรงบางเหตุ จากนั้นก็มีการใช้ความรุนแรงตอบโต้กัน" เป็นคำชี้แจงจาก พล.ท.ภราดร
หากย้อนดูสถานการณ์ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา (ไม่รวม อ.สะเดา) จะพบว่ามีเหตุรุนแรงประเภทต่างๆ เกิดขึ้นในห้วง 10 วันแรกของเดือนรอมฎอน ดังนี้
- ลอบวางระเบิดเจ้าหน้าที่ 3 เหตุการณ์ (วันที่ 11 และ 17 ก.ค. โดยในส่วนของวันที่ 11 ก.ค.นั้น เกิดขึ้นก่อนมีคำแถลงร่วมยุติเหตุรุนแรง)
- ยิงรายวัน 12 เหตุการณ์
- วิสามัญฆาตกรรมโดยเจ้าหน้าที่รัฐ 1 เหตุการณ์ (วันที่ 19 ก.ค.)
เมื่อวิเคราะห์เหตุการณ์แต่ละเหตุ ผนวกกับความเคลื่อนไหวในพื้นที่ จะพบว่ามีเหตุยิงรายวัน 2 เหตุการณ์ที่มีการสร้างกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่าฝ่ายรัฐบาลไทยกระทำผิดข้อตกลง ได้แก่
1.เหตุคนร้ายใช้อาวุธปืนเอ็ม 16 ลอบยิง นายตอเหล็บ สะแปอิง อายุ 42 ปี ได้รับบาดเจ็บสาหัส เหตุเกิดที่ อ.บันนังสตา จ.ยะลา เมื่อบ่ายวันที่ 15 ก.ค. โดย นายตอเหล็บเป็นผู้ต้องหาคดีความมั่นคงที่อยู่ระหว่างได้รับการประกันตัวสู้คดี
2.เหตุคนร้ายใช้อาวุธปืนยิง นายมะยาหะลี อาลี อายุ 44 ปี เสียชีวิตขณะขี่รถจักรยานยนต์ไปสวนยางพาราตอนเช้าตรู่ เหตุเกิดที่ อ.บันนังสตา เช่นกัน โดยนายมะยาหะลีเป็นอุสตาซ หรือครูสอนศาสนา และยังเคยถูกออกหมาย พ.ร.ก. หรือหมายเชิญตัวที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) ด้วย
หลังจากนั้นในวันที่ 17 ก.ค. ก็เกิดเหตุลอบวางระเบิดทหาร 2 จุด คือที่ อ.บันนังสตา 1 จุด ทำให้ทหารพรานได้รับบาดเจ็บ 1 นาย และที่ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส 1 จุด ทำให้ทหารชุดสันติสุข 404 ได้รับบาดเจ็บสาหัส 2 นาย
ถัดมาอีกเพียง 2 วัน คือวันที่ 19 ก.ค. ชุดปฏิบัติการพิเศษร่วม นำโดย พ.ท.อิศรา จันทกระยอม รองผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 48 (ผบ.ฉก.ทพ.48) ได้นำกำลังเข้าปิดล้อมตรวจค้นบ้านเป้าหมายที่บ้านกือลอ หมู่ 3 ต.จวบ อ.เจาะไอร้อง และได้วิสามัญฆาตกรรม นายมะสุเพียน มามะ ภูมิลำเนาอยู่บ้านเลขที่ 166/2 หมู่ 2 บ้านยานิง ต.จวบ อ.เจาะไอร้อง โดยข้อมูลจากฝ่ายความมั่นคงระบุว่านายมะสุเพียนเป็นผู้ต้องสงสัยเกี่ยวโยงเหตุการณ์ลอบวางระเบิดทหารชุดสันติสุข 404 ที่ อ.เจาะไอร้อง เมื่อวันที่ 17 ก.ค. และยังมีหมายจับในคดีความมั่นคงอีกหลายหมาย
นี่คือเหตุการณ์ที่เกิดความรุนแรงในลักษณะตอบโต้กันไปมาในสายตาของแกนนำบีอาร์เอ็น และได้กล่าวหาว่าฝ่ายเจ้าหน้าที่ไทยเริ่มก่อน จนนำไปสู่การประท้วงผ่านไปยังผู้อำนวยความสะดวกการพูดคุยสันติภาพ
ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ ทำไมเหตุการณ์ลอบยิง นายตอเหล็บ กับ นายมะยาหะลี จึงกลายเป็น "ปมอ่อนไหว" ที่ทำให้เกิดกระแสโจมตีรัฐขึ้นในพื้นที่ และนำมาสู่การประท้วงจากบีอาร์เอ็นว่าไทยทำผิดข้อตกลง ซึ่งจากการตรวจสอบพบที่มาที่ไปดังนี้
1.นายตอเหล็บเป็นผู้ต้องหาคดีความมั่นคงที่อยู่ระหว่างการต่อสู้คดี ที่ผ่านมาคนกลุ่มนี้ตกเป็นเป้ามาตลอด ทั้งเป้าความรุนแรงโดยกองกำลังไม่ทราบฝ่าย และเป้าการกดดันจากเจ้าหน้าที่ ทั้งนี้ รวมไปถึงบรรดาอดีตผู้ต้องหาหรือจำเลยคดีความมั่นคงที่ศาลยกฟ้องแล้วด้วย กลายเป็นว่าทั้งๆ ที่เป็นผู้บริสุทธิ์แล้วแต่ก็ยังตกเป็นเป้า ซึ่งหากนับถึงช่วงต้นเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมาจะพบว่ามีอดีตผู้ต้องหาหรือจำเลยคดีความมั่นคงถูกลอบยิงไปแล้ว 4 ราย จนต้องรวมตัวกันก่อตั้ง "เครือข่ายผดุงธรรมเพื่อสันติภาพ" หรือ JOP ขึ้นเพื่อดูแลกันเอง โดยมีสมาชิกราว 150 คน
ที่ผ่านมาสมาชิกของกลุ่มเคยทำหนังสือร้องเรียนไปยังหน่วยงานต่างๆ เพื่อขอความคุ้มครอง แต่ก็มักไม่ได้รับการตอบรับที่ดี หนำซ้ำสมาชิกบางรายยังถูกเจ้าหน้าที่เรียกตัวไปสอบปากคำซ้ำแล้วซ้ำเล่า เพราะสงสัยว่าเข้าไปเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นใหม่
นอกจากนั้นอดีตผู้ที่เคยติดหมาย พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ยังเคยร้องเรียนต่อ นายประชา ประสพดี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ระหว่างเดินทางลงพื้นที่และเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน ว่าต้องการให้รัฐบาลช่วยล้างข้อมูลของผู้ที่เคยติดหมาย พ.ร.ก. หรือเคยถูกดำเนินคดีความมั่นคงและศาลยกฟ้อง เพราะไม่สามารถใช้ชีวิตได้อย่างเป็นปกติสุข มักถูกกักตัวหรือเรียกตัวไปซักถามเวลาเกิดสถานการณ์ความไม่สงบขึ้นในพื้นที่่บ่อยครั้ง ทว่าหลังจากร้องเรียนก็ยังแทบไม่มีความเปลี่ยนแปลงใดๆ ไปในทิศทางที่ดีขึ้น
2.นายมะยาหะลี เคยติดหมาย พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และยังเป็นอุสตาซหรือครูสอนศาสนาด้วย ซึ่งก่อนหน้านี้ก็เคยมีครูสอนศาสนาในโรงเรียนตาดีกา หรือที่เรียกว่า "ครูตาดีกา" ถูกลอบสังหารหลายคน กระทั่งมีการตั้ง "เครือข่ายครูตาดีกา" ขึ้นมาดูแลกันเองเช่นกัน
ความเคลื่อนไหวที่น่าจับตาก็คือ หลังจาก นายตอเหล็บ และนายมะยาหะลี ถูกลอบยิง ได้มีการออกแถลงการณ์ด่วนของเครือข่ายประชาสังคมเพื่อสันติภาพ ร่วมด้วยเครือข่ายโต๊ะอิหม่าม เครือข่ายครูตาดีกา และเครือข่ายผดุงธรรมเพื่อสันติ หรือ JOP ในท่วงทำนองแจ้งเตือนภัยว่ากำลังมีการคุกคามด้วยการลอบยิงโดยศาลเตี้ย
เนื้อหาในแถลงการณ์อ้างว่า การลอบยิงเป้าหมายอ่อนแอเป็นภาวการณ์ที่มักเกิดขึ้นเมื่อสถานการณ์ความขัดแย้งถูกยกระดับขึ้นสู่โต๊ะพูดคุยสันติภาพ เนื่องจากจะต้องมีฝ่ายที่ได้เปรียบและเสียเปรียบ โดยฝ่ายที่เสียเปรียบก็จะเลือกใช้วิธีก่อความรุนแรงต่อเป้าหมายอ่อนแอเพื่อดิสเครดิตอีกฝ่ายหนึ่ง
นอกจากนี้ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน ยังมีมือมืดแพร่ใบปลิวในหลายพื้นที่ เนื้อหาโจมตีรัฐบาลไทยว่าเป็นฝ่ายละเมิดข้อตกลงยุติความรุนแรงช่วงเดือนรอมฎอนเสียเอง และระบุว่านี่คือพฤติกรรมที่ "เชื่อถือไม่ได้" ของรัฐไทย
จากการสอบถามความเห็นของคนกลุ่มต่างๆ ในพื้นที่ ส่วนใหญ่เชื่อว่าเหตุยิง นายตอเหล็บ และ นายมะยาหะลี คือต้นตอสำคัญของความรุนแรงที่เกิดสืบเนื่องมาในห้วง 10 วันแรกของเดือนรอมฎอน กระทั่งฝ่ายบีอาร์เอ็นประท้วงว่าไทยละเมิดข้อตกลง
แนวร่วมกลุ่มก่อความไม่สงบรายหนึ่งที่เคลื่อนไหวในพื้นที่ จ.นราธิวาส บอกว่า รัฐสามารถทำตามข้อตกลงได้แค่ 4 วัน หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ก็ไม่ได้ทำตามเงื่อนไข มีการนำกำลังไปปิดล้อมตรวจค้นกดดันหลายรูปแบบ ทำให้เกิดการตอบโต้ของสมาชิกขบวนการ จนกระทั่งเกิดการวิสามัญฆาตกรรมในที่สุด (เมื่อวันที่ 19 ก.ค.) ทำให้รู้สึกว่าพื้นที่นี้ไม่มีวันสงบเพราะเจ้าหน้าที่รัฐบางหน่วยไม่จริงใจ
ขณะที่แกนนำเครือข่ายผดุงธรรมเพื่อสันติภาพ กล่าวว่า ตั้งแต่เกิดเหตุยิง นายตอเหล็บ และครูอุสตาซ (นายมะยาหะลี) ทำให้ฝ่ายขบวนการมองว่าเจ้าหน้าที่เริ่มก่อน จึงมีการตอบโต้กันมาเรื่อย เชื่อว่าเรื่องนี้่เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้มีการใช้ความรุนแรงตอบโต้กัน มีการแพร่ใบปลิวถึง 2-3 ชุด และสุดท้ายแกนนำบีอาร์เอ็นก็ประท้วงว่าไทยละเมิดข้อตกลง
อย่างไรก็ดี ฝ่ายความมั่นคงมองสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในมุมที่แตกต่างออกไป โดยเห็นว่าเป็นความพยายามฉวยโอกาสสร้างสถานการณ์เพื่อดิสเครดิตรัฐไทย ทั้งๆ ที่เหตุลอบยิงเกือบทุกเรื่องเป็นเรื่องส่วนตัว แต่กลับมีการโหมสร้างกระแสเป็นขั้นเป็นตอน ทั้งโปรยใบปลิว และประท้วงผ่านผู้อำนวยความสะดวกการพูดคุย
"ถือเป็นวิธีการเคลื่อนไหวของกลุ่มก่อความไม่สงบ เริ่มจากการนำป้ายผ้าที่เขียนข้อความหลายภาษามีนัยยะโจมตีเจ้าหน้าที่ทหารไปติดตามสถานที่ต่างๆ ตั้งแต่ช่วงก่อนเดือนรอมฎอน ต่อมาในช่วงรอมฎอนก็มีการสังหารคนที่เคยเป็นผู้ร่วมขบวนการก่อความไม่สงบ แล้วก็ระบุว่าเจ้าหน้าที่รัฐเป็นผู้กระทำ จากนั้นก็กล่าวหาว่าเราไปทำเขาก่อน ซึ่งเจ้าหน้าที่ยืนยันว่าไม่เคยลงมือกระทำก่อน"
เป็นคำอธิบายจาก พ.อ.บรรพต พูลเพียร โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ซึ่งเคยปฏิบัติงานในพื้นที่ชายแดนใต้หลายปีในฐานะโฆษก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า
และทั้งหมดนี้คือเครื่องบ่งชี้ว่ากระบวนการสันติภาพชายแดนใต้ยังคงเปราะบางอย่างมาก อีกทั้งสะท้อนความหวาดระแวงอย่างน่ากังวลยิ่งของคู่เจรจา!
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1-2 ใบปลิวโจมตีเจ้าหน้าที่รัฐที่ถูกเผยแพร่แจกจ่ายในหลายพื้นที่ของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยส่วนใหญ่มีเนื้อหาคล้ายกัน คือกล่าวหาว่าเจ้าหน้าที่เป็นฝ่ายก่อความรุนแรงขึ้นก่อนกับผู้บริสุทธิ์ซึ่งเป็นชาวมลายูมุสลิม