สรุปเหตุป่วน10วันแรกรอมฎอน...เปิดใจ "พล.ต.ชรินทร์" คุมประเมินไฟใต้
รอมฎอนปีนี้ไม่ได้เป็นเดือนแห่งบุญของพี่น้องมุสลิมชายแดนใต้เท่านั้น แต่ยังเป็นเดือนแห่งการเดิมพัน "พันธกิจลดเหตุรุนแรง" ห้วงเวลา 40 วันตามความเข้าใจร่วมกันของตัวแทนรัฐบาลไทยกับแกนนำบีอาร์เอ็นกลุ่มนายฮัสซัน ตอยิบ จากโต๊ะพูดคุยสันติภาพที่ดำเนินการอย่างเป็นทางการกันมาแล้ว 3 ครั้งด้วย
เดือนรอมฎอน ฮิจเราะห์ศักราช 1434 เริ่มเมื่อวันที่ 10 ก.ค.2556 ตามปฏิทินสากล นับถึงวันที่ 19 ก.ค.จึงเป็นห้วงเวลา 10 วัน หรือ 1 ใน 3 ของเดือน สถิติการเกิดเหตุรุนแรงเป็นอย่างไร เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายให้ความสนใจ
"ทีมข่าวอิศรา" แยกแยะเป็นประเภทของเหตุการณ์เอาไว้ดังนี้
ระเบิด 3 เหตุการณ์
1) เวลา 07.50 น.วันที่ 11 ก.ค. ลอบวางระเบิดรถยีเอ็มซีของทหารชุดลาดตระเวนรักษาความปลอดภัยครู (รปภ.ครู) บนถนนในหมู่บ้าน ท้องที่หมู่ 1 ต.บาลอ อ.รามัน จ.ยะลา ทำให้ทหารสังกัดกองร้อยทหารราบที่ 15234 (ร้อย ร.15234) หน่วยเฉพาะกิจยะลา 12 ได้รับบาดเจ็บจำนวน 8 นาย
2) เวลา 07.30 น.วันที่ 17 ก.ค.ลอบวางระเบิดบริเวณสามแยกตือระ หมู่ 1 บ้านสนามบิน ต.เขื่อนบางลาง อ.บันนังสตา จ.ยะลา ทำให้ทหารพรานชุดลาดตระเวนเดินเท้า รปภ.ครู สังกัดกองร้อยทหารพรานที่ 3306 (ร้อย ทพ.3306) ได้รับบาดเจ็บ 1 นาย
3) เวลา 11.40 น.วันที่ 17 ก.ค. ลอบวางระเบิดและยิงซ้ำในพื้นที่หมู่ 9 บ้านปาเระลูโบ๊ะ ต.มะรือโบออก อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส ทำให้ทหารชุดสันติสุข 404 ได้รับบาดเจ็บสาหัส 2 นาย
ยิง 12 เหตุการณ์
1) เวลา 22.30 น.วันที่ 12 ก.ค. คนร้ายไม่ทราบจำนวนใช้อาวุธปืนไม่ทราบชนิดและขนาดยิง นายซ๊อฟวัน ตันหยงอาลี อายุ 33 ปี อยู่บ้านเลขที่ 33 บ้านบลูกาฮูลู หมู่ 4 ต.บาตง อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส ได้รับบาดเจ็บสาหัส เหตุเกิดขณะ นายซ๊อฟวัน ขี่รถจักรยานยนต์กลับจากซื้อของในหมู่บ้าน
2) วันที่ 13 ก.ค. พบศพชายไม่ทราบชื่อบริเวณริมแม่น้ำโก-ลก ท้องที่บ้านลูโบ๊ะฆง หมู่ 3 ต.ปาเสมัส อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส สภาพศพถูกยิงบริเวณศีรษะ และมีบาดแผลถลอกที่แขนกับข้อมือ คาดว่าเสียชีวิตมาแล้วไม่ต่ำกว่า 6 ชั่วโมง
3) เวลา 20.30 น.วันที่ 14 ก.ค. คนร้ายไม่ทราบจำนวนมีรถยนต์เก๋งไม่ทราบยี่ห้อและหมายเลขทะเบียนเป็นพาหนะ ใช้อาวุธปืนไม่ทราบชนิดและขนาดยิงใส่รถของ นายอิสมะแอ บาเหะ อายุ 35 ปี อยู่บ้านเลขที่ 110 บ้านรือเปาะ หมู่ 4 ต.ดุซงญอ อ.จะแนะ จ.นราธิวาส ขณะขับอยู่บนทางหลวงหมายเลข 4057 ท้องที่บ้านกวาลอมาแด หมู่ 4 ต.มูโนะ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส ทำให้ นายอิสมะแอ ได้รับบาดเจ็บ ขณะที่ นางมารียะ หะมะ อายุ 51 ปี อยู่บ้านเลขที่ 140/1 หมู่ 5 ต.กาลิซา อ.ระแงะ จ.นราธิวาส ซึ่งนั่งมาในรถด้วย ได้รับบาดเจ็บเช่นกัน
4) เวลา 13.45 น.วันที่ 15 ก.ค. คนร้ายไม่ทราบจำนวนซุ่มอยู่ข้างทาง ใช้อาวุธปืนเอ็ม 16 ยิง นายตอเหล็บ สะแปอิง อายุ 42 ปี อยู่บ้านเลขที่ 73 หมู่ 1 ต.สะเอะ อ.กรงปินัง จ.ยะลา ได้รับบาดเจ็บ เหตุเกิดขณะที่ นายตอเหล็บ กำลังขี่รถจักรยานยนต์เพียงลำพังบนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 410 บริเวณสะพานบ้านปาลอบาตะ หมู่ 13 ต.ตลิ่งชัง อ.บันนังสตา จ.ยะลา
5) เวลา 06.25 น.วันที่ 16 ก.ค. คนร้ายไม่ทราบจำนวนใช้อาวุธปืนไม่ทราบชนิดและขนาดยิง นายมะยาหะลี อาลี อายุ 44 ปี ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) หมู่ 4 บ้านบันนังกูแว ต.บันนังสตา อ.บันนังสตา จ.ยะลา เสียชีวิต เหตุเกิดขณะที่ นายมะยาหะลี กำลังขี่รถจักรยานยนต์ไปสวนยางพาราในท้องที่หมู่ 10 บ้านบาโงยแจเกาะ ต.บันนังสตา
6) เวลา 00.45 น.วันที่ 16 ก.ค. คนร้ายไม่ทราบจำนวนใช้อาวุธปืนไม่ทราบขนาดยิง นายอับดุลรอฮิง งอเล็ง อายุ 50 ปี ภูมิลำเนาอยู่ที่ ต.ปากล่อ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี เสียชีวิต เหตุเกิดบริเวณบ้านไม่มีเลขที่ ตั้งอยู่ด้านหลังปอเนาะสาลาลุสดินวิทยา หมู่ 11 บ้านกอตอตือเงาะ ต.สะเตงนอก อ.เมือง จ.ยะลา
7) เวลา 14.50 น. วันที่ 16 ก.ค. คนร้ายไม่ทราบจำนวนใช้รถยนต์เก๋งยี่ห้อนิสสัน รุ่นมาร์ช สีขาว ไม่ทราบหมายเลขทะเบียนเป็นพาหนะ ใช้อาวุธปืนสงครามยิงใส่ นายปรเมศร์ วงษ์บุตรรอด อายุ 58 ปี อยู่บ้านเลขที่ 146 หมู่ 8 ต.ท่าศาลา อ.เมือง จ.ลพบุรี เจ้าของหนังสือพิมพ์อาชญากีรรม ได้รับบาดเจ็บ เหตุเกิดขณะที่นายปรเมศร์ขับรถกระบะยี่ห้อนิสสัน รุ่นฟรอนเทียร์ สีแดง หมายเลขทะเบียน บล 9367 สงขลา เดินทางจาก อ.เมืองยะลา เพื่อกลับบ้านที่ อ.เมืองปัตตานี จุดเกิดเหตุอยู่บนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 418 ท้องที่บ้านแม่โอน หมู่ 7 ต.คอลอตันหยง อ.หนองจิก จ.ปัตตานี
8) เวลา 23.50 น.วันที่ 17 ก.ค.คนร้ายไม่ทราบจำนวน มีรถกระบะเป็นพาหนะ ใช้อาวุธปืนพกขนาด 9 มม.ยิงบริเวณหน้ามัสยิดบ้านเกาะตา หมู่ 3 ต.ทุ่งพลา อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี แต่ไม่มีผู้ใดได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต
9) เวลา 11.50 น.วันที่ 19 ก.ค. คนร้ายใช้อาวุธปืนพกขนาด 9 มม.จ่อยิง นายมะซากี กาแนะ อายุ 38 ปี กำนัน ต.กาตอง อ.ยะหา จ.ยะลา อยู่บ้านเลขที่ 3/1 หมู่ 2 ต.กาตอง ได้รับบาดเจ็บ เหตุเกิดบริเวณหน้าหอพักไม่มีเลขที่ ในซอยข้างร้านเซเว่นอีเลฟเว่น สาขาตือเบาะ หมู่ 10 ต.สะเตงนอก อ.เมือง จ.ยะลา
10) เวลา 17.20 น.วันที่ 19 ก.ค. คนร้าย 2 คนมีรถจักรยานยนต์เป็นพาหนะ ใช้อาวุธปืนพกขนาด 9 มม.ประกบยิง นายอัสมาดี ตูแวนิยา อายุ 24 ปี อยู่บ้านเลขที่ 90 หมู่ 7 ต.ตันหยงลิมอ อ.ระแงะ จ.นราธิวาส เสียชีวิต เหตุเกิดขณะกำลังขี่รถจักรยานยนต์โดยมี นางอิลฮาม กูมอ อายุ 19 ปี ภรรยา นั่งซ้อนท้าย เพื่อไปเยี่ยมญาติบริเวณปากทางเข้าบ้านนาคา หมู่ 3 ต.รือเสาะ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส โดยนางอิลฮามได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย
11) เวลา 18.40 น.วันที่ 19 ก.ค. คนร้ายไม่ทราบจำนวนใช้อาวุธปืนไม่ทราบชนิดและขนาดยิงใส่ นายฮัมดีมาหะมะ มะลี อายุ 21 ปี อยู่บ้านเลขที่ 36 หมู่ 3 ต.หน้าถ้ำ อ.เมือง จ.ยะลา ขณะกำลังเดินเก็บเศษยางพาราในสวนยางหลังหมู่บ้านกูแบอีเต๊ะ หมู่ 3 ต.หน้าถ้ำ ทำให้นายฮัมดีได้รับบาดเจ็บ
12) เวลา 17.45 น.วันที่ 19 ก.ค. พบศพ นายอัสรี เจ๊ะมานะ อายุ 30 ปี อยู่บ้านเลขที่ 371/1 ถนนโต๊ะลือโบ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส โดยศพถูกทิ้งในสวนยางพารา บ้านจาแบปะ หมู่ 3 ต.กาวะ อ.สุไหงปาดี จ.นราธิวาส สภาพศพถูกยิงด้วยอาวุธปืนลูกซองบริเวณใบหน้าและลำตัว
(ทั้งนี้เหตุยิงรายวันไม่นับรวมเหตุยิงนักศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เมื่อวันที่ 11 ก.ค. และเหตุยิงกันของกลุ่มวัยรุ่นที่ อ.เมือง จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 19 ก.ค.ทำให้เยาวชนได้รับบาดเจ็บ 2 ราย)
วิสามัญฯ 1 เหตุการณ์
1) 19 ก.ค.ชุดปฏิบัติการพิเศษร่วม นำโดย พ.ท.อิศรา จันทกระยอม รองผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 48 (ผบ.ฉก.ทพ.48) นำกำลังเข้าปิดล้อมตรวจค้นบ้านเป้าหมายที่บ้านกือลอ หมู่ 3 ต.จวบ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส และได้วิสามัญฆาตกรรม นายมะสุเพียน มามะ ภูมิลำเนาอยู่บ้านเลขที่ 166/2 หมู่ 2 บ้านยานิง ต.จวบ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส โดยข้อมูลจากฝ่ายความมั่นคงระบุว่านายมะสุเพียนเป็นผู้ต้องสงสัยเกี่ยวโยงเหตุการณ์ลอบวางระเบิดทหารชุดสันติสุข 404 ที่ อ.เจาะไอร้อง เมื่อ 2 วันก่อนหน้า
เปิดภารกิจ "คณะทำงานสอบเหตุรุนแรง"
เหตุรุนแรงทั้งหมดนั้น หากมองในแง่จำนวนก็ถือว่าไม่น้อย ขณะที่การทดสอบยุติเหตุรุนแรงของ "คู่เจรจา" หรือ "คู่ขัดแย้ง" ที่เข้าร่วมกระบวนการพูดคุยสันติภาพแบบเปิดเผย เป็นเรื่องท้าทายและอ่อนไหวไม่น้อย โดยเฉพาะจากการพยายามสร้างสถานการณ์แทรกซ้อนโดยมือที่สาม หรือโดยกลุ่มที่คัดค้านกระบวนการสันติภาพ
ด้วยเหตุนี้ทำให้ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ลงนามในคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานส่งเสริมสันติภาพในช่วงเดือนรอมฎอน พ.ศ.2556 ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมี พล.ต.ชรินทร์ อมรแก้ว เสนาธิการกองทัพภาคที่ 4 (เสธ.ทภ.4) เป็นประธาน
คณะทำงานชุดนี้ทำงานประสานกับศูนย์ประสานงานและส่งเสริมสันติภาพในช่วงเดือนรอมฎอนจังหวัดชายภาคใต้ พ.ศ.2556 หรือ ศปร.ที่ตั้งขึ้่นโดยเลขาธิการ ศอ.บต.เช่นกัน
คณะทำงานชุดนี้มีอำนาจหน้าที่ที่สำคัญ คือ ติดตามและตรวจสอบเบื้องต้นเกี่ยวกับสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ เฉพาะในช่วงเดือนรอมฎอนและหลังเดือนรอมฎอน รวมเวลา 60 วัน หรือตั้งแต่วันที่ 10 ก.ค.ถึง 7 ก.ย.2556 รวมทั้งรวบรวมข้อมูล ความคิดเห็น และข้อเสนอแนะจากประชาชน ผู้นำ และหน่วยงานในพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง ทั้งกรณีเกิดหรือไม่เกิดเหตุรุนแรง พร้อมสังเกตการณ์และติดตามผลการดำเนินงานของหน่วยราชการและองค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมสันติภาพช่วงเดือนรอมฎอน ตามคำแนะนำของสำนักจุฬาราชมนตรี และนโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2555-2557
พล.ต.ชรินทร์ เปิดใจกับ "ทีมข่าวอิศรา" ว่า คณะทำงานชุดนี้มีองค์ประกอบจาก 3 ฝ่าย คือ พลเรือน ตำรวจ ทหาร มีหน้าที่ติดตามทุกเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นเพื่อหาข้อเท็จจริงว่าเบื้องหลังของเหตุการณ์เป็นอย่างไร ใครทำ ด้วยเหตุผลอะไร และสาเหตุอะไร
"ทุกเรื่องเราทำหมด เมื่อทำแล้วก็จะเสนอข้อมูลให้ผู้บังคับบัญชานำไปใช้ประโยชน์" พล.ต.ชรินทร์ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะพูดคุยสันติภาพกับบีอาร์เอ็นด้วย ระบุ
เขาเล่าว่า เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 18 ก.ค.ก็เพิ่งประชุมคณะทำงานนัดแรก ได้เริ่มแบ่งงานว่าใครรับผิดชอบพื้นที่ไหน และหารือกันถึงรูปแบบการทำงานเพื่อให้รวดเร็ว ทันเวลา โดยเฉพาะการตรวจสอบข้อเท็จจริงของเหตุรุนแรง เพื่อนำมาประกอบกับชุดพิสูจน์หลักฐานเฉพาะกรณี
"การดำเนินงานตรงนี้เดิมก็มีชุดทำงานอยู่แล้ว แต่ชุดของผมนี้มาช่วยหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติม และช่วยบูรณาการหน่วยต่างๆ เพราะมีเจ้าหน้าที่หลายฝ่ายมาร่วม"
"ชรินทร์" แย้มป่วนรอมฎอน "เรื่องส่วนตัว" เพียบ
พล.ต.ชรินทร์ บอกว่า ในห้วง 9 วันแรกของเดือนรอมฎอนก็มีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นหลายเหตุการณ์ แต่เรื่องส่วนตัวก็เยอะ ส่วนใหญ่ตรวจสอบในเบื้องต้นพบว่าเป็นเรื่องส่วนตัว ขัดแย้งกันมาหลายปีมาแล้ว เมื่อฉวยโอกาสทำได้ก็ทำ บางกรณีก็เป็นเรื่องยาเสพติด ทวงหนี้ ทวงค่านายหน้า สำหรับเหตุการณ์ที่เกิดจากผู้ก่อเหตุรุนแรงจริงๆ ก็มีแค่ระเบิด 3 ครั้งบ และสงครามป้าย (มีการก่อกวนด้วยการติดป้ายผ้าประปรายใน จ.นราธิวาส) และยังมีเหตุการณ์ยิงมัสยิด (อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี) ก็รวมในเหตุก่อกวน
"ล่าสุดได้มอบหมายให้คณะทำงานช่วยกันเสาะหาข้อมูล สอบถามชาวบ้าน โดยเน้นการทำงานอย่างเป็นระบบ รวดเร็ว จากนั้นจะสรุปให้เลขาธิการ ศอ.บต.พิจารณาทุกวัน พร้อมประชุมวิเคราะห์ข้อมูลก่อนส่งให้ ศชต. (ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้) เข้าไปตรวจสอบต่อว่าเหตุการณ์แต่ละเหตุเกิดขึ้นเพราะอะไร ทั้งหมดก็เพื่อให้เกิดสันติภาพในเดือนรอมฎอน เป็นไปตามความต้องการของคนที่อยากเห็นสิ่งดีๆ"
"เท่าที่ผมดูในช่วงแรกนี้ สถานการณ์ดีขึ้นนิดๆ ดีกว่าปีที่แล้ว เพราะปีที่แล้วพอเริ่มต้นรอมฎอนก็เต็มที่เลย สำหรับการทำงานเราจะดูเป็นเคสๆ (กรณีๆ) ไป หลังจากนั้นก็จะบังคับใช้กฎหมายให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน เชื่อว่าถ้าทำได้อย่างนี้ความจริงก็จะปรากฏ พี่น้องประชารชนในพื้นที่ก็อยากรู้ข้อเท็จจริงเหมือนกันว่าเกิดอะไรขึ้น ก็จะได้รู้ และในเร็วๆ นี้น่าจะมีการสรุปภาพรวมและส่งให้สื่อมวลชนได้นำเสนออย่างพร้อมเพรียงกัน" พล.ต.ชรินทร์ กล่าว
"เลิศเกียรติ" ชี้ มีกลุ่มแตกแถวไม่อยากให้สงบ
ว่าที่ร้อยตรีเลิศเกียรติ วงศ์โพธิพันธ์ รองเลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวว่า ขณะนี้ต้องถือว่า ศอ.บต.ได้ตั้งศูนย์ติดตามแก้ไขปัญหาความรุนแรง โดยดึงคนจากหลากหลายกลุ่มหลากหลายองค์กรเข้ามาร่วมเป็นคณะทำงาน และมีนายอำเภอหรือปลัดอำเภอรับผิดชอบแต่ละจังหวัด ซึ่งน่าจะทำให้ได้ข้อมูลอย่างรวดเร็ว เนื่องจากรับผิดชอบและเกาะติดพื้นที่จริง โดยผลการตรวจสอบของคณะทำงานชุดเล็กจะสรุปส่งให้ผู้บังคับบัญชา คือ พล.ต.ชรินทร์ และเลขาธิการ ศอ.บต.ทุกวัน
"จะมีการติดตามตลอด รายงานเลขาธิการ ศอ.บต.ทุกวัน เท่าที่ผ่านมาส่วนใหญ่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก็ยังมีปกติ โดยเฉพาะเหตุยิง ส่วนที่ลดลงน่าจะเป็นเหตุระเบิดมากกว่า สำหรับเหตุยิงบางครั้งก็มีเรื่องส่วนตัว มีเรื่องอื่นๆ เข้ามาเกี่ยว เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นห้ามยาก เพราะมีมือที่สามไม่อยากให้สงบ มีกลุ่มแตกแถว แต่ในหลักการ ศอ.บต.ก็ได้ตกลงกับบีอมร์เอ็นค่อนข้างชัดว่าจะคุมคนของตัวเอง แต่ถ้ามีคนของตัวเองแตกแถว ก็จะว่ากันเป็นกรณีๆ ไป"
"คณะทำงานจะพูดคุยกันทุกวัน แล้วรายงานข้อมูลภาพรวมให้ผู้บังคับบัญชา เราไม่ได้ดูเฉพาะเหตุการณ์รุนแรงที่ลดลง แต่เราจะดูภาพรวมของสถานการณ์ในพื้นที่ทั้งหมด ไปดูว่าบนถนนมีประชาชนไปมาอย่างไร เยาวชนเข้ามัสยิดมากน้อยขนาดไหน เราจะดูถึงบรรยากาศในพื้นที่ด้วย ประชาชนใช้ชีวิตอยู่อย่างไร ทั้งหมดนี้เพื่อให้เกิดสันติสุขและสันติภาพ" รองเลขาธิการ ศอ.บต.กล่าว
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 ว่าที่ร้อยตรีเลิศเกียรติ (ซ้าย) กับ พล.ต.ชรินทร์ (ขวา) ขณะร่วมประชุมนอกรอบก่อนพุดคุยสันติภาพกับแกนนำบีอาร์เอ็น ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย
2 พล.ต.ชรินทร์