‘ข้าวมาบุญครอง’ เปิดโรงงานพิสูจน์กระบวนการผลิต ยันไม่ได้ใช้เมทิลโบรไมล์
'สมเกียรติ' เปิดโรงงานข้าวมาบุญครอง แจงละเอียดกระบวนการผลิตข้าวสารบรรจุถุง ยันปลอดภัย ไม่มีสารตกค้าง เผยเลิกใช้อีโคฟูมแทนเมทิลโบรไมล์ รับที่ผ่านมาขาดการให้ข้อมูลผู้บริโภค
ภายหลังมีกระแสข่าวในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาเกี่ยวกับความปลอดภัยของข้าวสารบรรจุถุงต่อผู้บริโภค เมื่อวันที่ 18 ก.ค. นายสมเกียรติ มรรคยาธร กรรมการผู้จัดการบริษัท ปทุมไรซมิล แอนด์ แกรนารี จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและจัดหน่ายข้าวสารบรรจุถุงตราข้าวมาบุญครอง ในเครือบริษัทเอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน) ได้เปิดโรงงานให้เข้าชม กระบวนการผลิตข้าวสารบรรจุถุงตราข้าวมาบุญครอง ณ โรงงานผลิต จ.นครราชสีมา
นายสมเกียรติ กล่าวว่า ข้าวมาบุญครอง ขอยืนยันถึงความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ว่าไม่มีการปนเปื้อนสารเคมีตกค้างที่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภคอย่างแน่นอน เนื่องจากกระบวนการผลิตข้าวสารบรรจุถุงทุกขั้นตอน ตลอดจนการเก็บรักษาข้าวเป็นไปตามมาตรฐานสากล และมีการตรวจสอบในทุกกระบวนการผลิต ซึ่งผู้บริโภคสามารถเชื่อมั่นในการบริโภคโดยไม่ต้องซาวข้าวก่อนหุง
ทั้งนี้ ยังเป็นข้าวถุงรายแรกของประเทศไทยที่ได้รับคุณภาพ ISO9001:200, ด้านระบบประกันคุณภาพ ด้านความปลอดภัยของอาหาร (HACCP) ด้านระบบจัดการและควบคุมการผลิตอาหารให้ปลอดภัย (GMP) ซึ่งเป็นรายแรกในประเทศไทยที่ได้รับ รวมถึงระบบคุณภาพสำหรับธุรกิจอาหาร (BRC) นอกจากนี้ยังได้รับใบรับรองตราสัญลักษณ์คุณภาพ (Thailand Trust Mark) จากกรมส่งเสริมการส่งออก และเครื่องหมายรูปพนมมือ ติดดาว รับรองมาตรฐานดีพิเศษจากกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์
สำหรับ 'กระบวนการผลิต' ของทางบริษัท ประกอบด้วย
1.รับเข้าวัตถุดิบ
2.จัดเก็บในโกดัง
3.เทข้าวเข้ากระบวนการผลิต
4.ทำความสะอาด (Pre-Cleaning)
5.คัดแยกหิน (Destoner)
6.เครื่องขัดมัน (Polishing)
7.คัดแยกสิ่งเจือปน (Color Sorter)
8.คัดขนาด (Indent Cylinder Rotary Sifter) นำข้าวที่คัดขนาดแล้วเก็บในถัง 36 ใบ ความจุ 2,000 ต้นต่อใบ เพื่อเก็บรักษาคุณภาพ รอการบรรจุถุง โดยหากแต่ละถังพบปัญหาสามารถตรวจสอบและหยุดการผลิตในสายนั้นได้
9.เข้าสู่เครื่องบรรจุถุง (Packing)
10.จัดเก็บในคลังสินค้าสำเร็จรูป ที่จะมีการรมยาเพื่อป้องกันแมลง โดยใช้สารฟอสฟิน (Phosphine) ทั้งรูปแบบเม็ด (tablets) และแบบก๊าซอีโคฟูม (Ecofume) ตามต้นทุนและความเร่งด่วนของสินค้า ทั้งนี้ ยืนยันว่าข้าวหอมมะลิของข้าวตรามาบุญครองรมด้วยสารอีโคฟูม
11.ตรวจสอบคุณภาพ ทั้งด้านกายภาพ ความชื้น ความขาว ให้เป็นไปตามมาตรฐานของกระทรวงพาณิชย์ ด้านเคมี ตรวจค่าอะไมโลส ค่าการสลายเมล็ดข้าวในด่าง ปริมาณโลหะหนัก สารเคมีตกค้างทางการเกษตร และสารเคมีตกค้างจากการรมยา รวมถึงตรวจทางชีววิทยา หาเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรค
12.ขนส่งและกระจายสินค้า ที่อาจเจอความชื้น คุณภาพอาจไม่ถึง 100% ซึ่งเป็นปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ แต่ยืนยันว่าทางบริษัทคำนึงถึงความปลอดภัย โดยหากพบว่าคุณภาพไม่ได้มาตรฐานสามารถส่งคืนเพื่อเปลี่ยนสินค้าได้
นายสมเกียรติ เปิดเผยด้วยว่า ในกระบวนการผลิตข้าวสารบรรจุถุงตรามาบุญครอง ได้เลิกใช้สารเมทิลโบรไมล์ (Methyl Bromide) ในการรมเพื่อป้องกันแมลง ตั้งแต่ปี 2012 เนื่องจากได้รับทุนจากธนาคารโลก และได้ใช้สารฟอสฟิน (Phosphine) แทน ซึ่งมีทั้งรูปแบบเม็ด (tablets) และแบบก๊าซ ที่มีชื่อทางการค้าว่า อีโคฟูม (Ecofume)
"ทางบริษัทได้ทำความร่วมมือกับบริษัทที่ประเทศแคนาดา และผลิตสารอีโคฟูม ที่ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งจะช่วยลดปัญหาขยะทางสารเคมี จากการใช้รูปแบบเม็ด เนื่องจากเป็นรูปแบบก๊าซ รวมถึงมีสารตกค้างน้อยกว่า ซึ่งสารอีโคฟูมประกอบด้วยฟอสฟีน 2% และคาร์บอนไดออกไซด์ 98% แต่มีราคาสูงกว่า โดยการใช้ จะฉีดเข้าไปในกองข้าวที่คลุมด้วยพลาสติก ใช้เวลาในการฉีดประมาณ 15 นาทีและรมทิ้งไว้ประมาณ 4-5 ชั่วโมง แต่ในกระบวนการผลิตจริง โรงงานจะทิ้งไว้ 24 ชั่วโมง เพื่อให้มั่นใจว่าสารได้ระเหยแล้ว"
ทั้งนี้ ภายหลังเกิดความไม่มั่นใจในคุณภาพ ทางบริษัทมีนโยบายใหม่ให้เก็บสินค้าที่ผ่านการรมยาแล้ว จะทิ้งไว้ 7 วัน เพื่อรอผลตรวจคุณภาพจากแล็บก่อน ซึ่งแนวคิดนี้ ในฐานะประธานสมาคมผู้ประกอบการข้าวถุงไทย จะพยายามผลักดันให้สมาชิกในสมาคมมีนโยบายเดียวกัน
นายสมเกียรติ บอกด้วยว่า ในการรมยาข้าวแต่ละครั้ง จะกองข้าวสารครั้งละ 200-300 ตัน ใช้อีโคฟูมิ ประมาณ 10 กก. หรือฟอสฟีนประมาณ 200 เม็ด โดยราคาอีโคฟูม ตันละ 20 บาท ฟอสฟีน ตันละ 2 บาท ซึ่งทางบริษัทต้องเตรียมงบพิเศษบางส่วนมาสร้างความเชื่อมั่นนี้ในส่วนนี้ รวมถึงฟื้นความเชื่อมั่นจากผู้บริโภค ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ง่ายนัก
"สิ่งที่กระทบอย่างเห็นได้ชัดขณะนี้ ลูกค้า ห้างร้านและบริษัทคู่ค้าขอดูใบรับรองคุณภาพ (Certificate) ของทุกล็อตสินค้า ทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้น เนื่องจากใบรับรองคุณภาพการตรวจสอบสินค้าแต่ละล็อตมีราคาสูงถึง 2,500 บาท แต่ก็ยอมทำ เพื่อต้องการพิสูจน์คุณภาพของสินค้า และเชื่อมั่นในความปลอดภัย"
นายสมเกียรติ กล่าวถึงตลาดข้าวของผลิตภัณฑ์ข้าวตรามาบุญครองด้วยว่า ขณะนี้ในยุโรปส่งออกในประเทศแคนาดา ออสเตรเลีย ตะวันออกกลาง มีการส่งออก 20-30% การปรับตัวต่อจากนี้ จะพัฒนาและเพิ่มความสม่ำเสมอในการตรวจสอบ รวมถึงนำผลการตรวจสอบขึ้นเผยแพร่ในเว็บไซต์ และอัพเดตผลการตรวจสอบทุกเดือน
"ผมเชื่อว่าทุกกระบวนการที่ผู้ประกอบการทำอยู่นั้นเพียงพอ แต่ที่ผ่านมาสิ่งที่ขาดคือการทำให้ผู้บริโภครับรู้ข้อมูล ซึ่งจากนี้เราจะทำมากขึ้น"
ผู้สื่อข่าวสอบถามถึงความสนใจข้าวในโครงการรับจำนำของรัฐบาลที่จะมีการยื่นซองประมูล 26 ก.ค.นี้ และจะเปิดซองประมูล 29 ก.ค.นี้นั้น นายสมเกียรติ กล่าวว่า จะไม่ได้เข้าร่วม เนื่องจากข้าวในโครงการรอบนี้เป็นข้าวขาว และปลายข้าวที่รัฐต้องการระบายจากยอดค้างในสต็อกจำนวนมาก แต่ไม่ตรงตามความต้องการของบริษัทฯ ที่ต้องการผลิตข้าวหอมมะลิจึงไม่ขอเข้าร่วม