นักวิชาการ แนะชาวนาอย่าให้รบ.อุ้ม สร้างตัวเองเป็นมืออาชีพ
นักวิชาการ-นายกสมาคมชาวนาไทย ปลุกชาวนายกระดับเป็นมืออาชีพ อย่าแบมือขออย่างเดียว แนะพึ่งพาตัวเอง เลิกผลิต "ของโหล" เน้นเจาะตลาดสินค้าพรีเมี่ยม ที่พิเศษกว่าคนอื่น
วันที่ 18 กรกฎาคม สถาบันวิชาการด้านสหกรณ์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกับสำนักส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) จัดเสวนา “ผ่าโครงสร้างปัญหาชาวนาไทย ทำนา ไม่ได้นา กับแนวทางการยกระดับสมรรถนะชาวนาสู่การเป็นมืออาชีพ” ณ อาคารสารนิเทศ 50 ปี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน โดย รศ.สมพร อิศวิลานนท์ นักวิชาการอาวุโส สถาบันคลังสมองของชาติ และคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ ขอให้ทุกคนตั้งคำถามเหตุใดจึงต้องยกระดับชาวนาสู่การเป็นมืออาชีพ ขณะที่ทุกวันนี้โลกเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง มากขึ้นทุกวัน และเปลี่ยนแปลงหลาย ๆ ด้าน ทั้งด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยเฉพาะตัวขับเคลื่อนที่สำคัญที่สุด คือการค้าเสรี เป็นตัวบ่งบอกว่า การตลาดภายในประเทศไม่เพียงพอแล้ว เราต้องก้าวไปสู่เวทีโลก
นักวิชาการอาวุโส กล่าวถึงการแข่งขันในเวทีการค้าที่ดุเดือด วันนี้ต่างจากในอดีตที่พอเราผลิตอะไรแล้วผู้บริโภคก็ต้องซื้อ ปัจจุบันนี้ไม่ใช่แล้ว กฎกติกาทางการค้าเป็นอำนาจของผู้บริโภคมากขึ้น สามารถเลือกสินค้าที่มีคุณภาพ มาตรฐาน และความปลอดภัย การปรับตัววิถีชีวิตดั้งเดิมใช้ไม่ได้อีกต่อไป เราต้องทำเป็นระบบธุรกิจและการค้าต้องมีระบบการจัดการเข้ามา
ประเด็นเรื่องอาหาร รศ.สมพร กล่าวว่า โอกาสข้างหน้าอาหารจะมีราคาแพง ภูมิปัญญาเป็นเรื่องสำคัญที่จะทำให้การเกษตรแข่งขันได้ หากไม่อาศัยด้านความรู้ทางเทคโนโลยี จะไม่มีทางลดต้นทุนการผลิต หรือเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตได้
ส่วนสินค้าเกษตร เช่น ข้าวนั้น รศ.สมพร กล่าวว่า วันนี้ข้าวไทยอยู่ในสถานะที่แข่งขันไม่ได้ คือ ข้าวในเขตชลประทาน ส่วนในเขตพื้นที่ภาคอีสาน "ข้าวหอมมะลิ" เป็นเหมือนสาวสวย หากทำเป็นสินค้าพรีเมี่ยมจะมีตลาดบนรองรับได้ ดังนั้นไม่ควรให้รัฐบาลนำข้าวไปคละกัน รัฐบาลควรมีการจัดการที่ดี ไม่ใช่นำไปเก็บจนข้าวเสื่อม จนข้าวเสียคุณภาพ
สำหรับการสร้างชาวนามืออาชีพนั้น นักวิชาการอาวุโส กล่าวว่า เป็นสิ่งที่จำเป็นจะทำอย่างไรให้การผลิตเป็นสินค้าจำเพาะ หรือสินค้าที่มีคุณภาพพิเศษกว่าคนอื่น ดีกว่าคนอื่น เมื่อของมีน้อยความต้องการก็เพิ่มขึ้น ราคาก็จะเพิ่มขึ้นเอง แต่หากเรายังเน้นผลิต "ของโหล" แล้วยังเอาไปคละกันอีกเหมือนที่เป็นอยู่ เราจะแข่งขันไม่ได้ เนื่องจากต้นทุนการผลิตเราต่างจากเวียดนาม
“การให้รัฐบาลมาเข้ามาโอบอุ้มเกษตรกร ก็มีคำถามว่า แค่รัฐบาลโอบอุ้มไป 2 ปี ก็ใช้เงินไปมหาศาลแล้ว 600,000 ล้านบาทแล้ว จะทำได้อีกนานแค่ไหน ถ้ารัฐบาลเลิกนโยบายแล้วอยู่กันอย่างไร ฉะนั้น เพื่อไม่ให้จิตใจล่องลอยไปกับการใช้นโยบายยกระดับราคาอย่างเดียว เกษตรกรจำเป็นต้องยกระดับให้เป็นมืออาชีพ มีทักษะในการจัดการที่ดี มีการจดบันทึก ศึกษาหาข้อมูล คิดถึงสิ่งใหม่ๆ มุ่งเน้นเทคโนลยีมาลดต้นทุนการผลิต และเพิ่มประคุณภาพของผลผลิต" รศ. สมพร กล่าว
ด้านนายประสิทธิ์ บุญเฉย นายกสมาคมชาวนาไทย กล่าวถึงต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น จากโครงการรับจำนำข้าวที่ 15,000 บาท เจ้าของที่นาขึ้นราคาเช่าจากไร่ละ 500 บาทต่อปี เป็นไร่ละ 1,000 บาท และเปลี่ยนจากคิดค่าเช่าต่อปี มาเป็นต่อฤดูกาลแทน ดังนั้น ปีหนึ่งเท่ากับชาวนาต้องเสียค่าเช่า 2,000 บาทต่อไร่ รวมไปถึงปัจจัยการผลิตเรื่องปุ๋ย ทำอย่างไรชาวนาจึงจะรู้ทันพ่อค้าปุ๋ย ลดต้นทุนเรื่องสารเคมี และกลับไปใช้ชีวภาพได้ สิ่งที่พูดกันมานาน แต่ก็พบว่า เปอร์เซ็นต์ในการนำไปใช้มีเท่าไหร่ และแม้แต่ข้าราชการ นักการเมือง ก็ทำร้ายชาวนาไทยด้วยน้ำมือของตนเอง
"ทุกวันนี้ชาวนาแบมืออย่างเดียว ขณะที่การผลิตข้าวชาวนาไทยก็สู้เวียดนาม พม่าไม่ได้ ดังนั้น คนที่ต้องพัฒนาคือตัวชาวนาวเอง ต้องถามตัวเอง และพัฒนาตัวเองให้รู้ทัน อย่าหวังพึ่งแต่รัฐบาล"