สสส.ชวนสร้างสื่อการอ่าน ส่งเสริมทักษะเรียนรู้-สร้างโอกาสเด็ก LD
นักจิตวิทยาชี้เด็กไทย 5-10% บกพร่องทางการเรียนรู้อ่าน-สะกดคำ-คำนวณ สสส.ชวนคนไทยสร้างสื่อหนังสือ ส่งเสริมทักษะการอ่าน-สร้างโอกาสเด็ก LD
เร็ว ๆ นี้ แผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับภาคีเครือข่าย จัดแถลงข่าวโครงการประกวดสื่อการอ่านส่งเสริมการเรียนรู้ในเด็กที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ (Learning Disabilties:LD) ‘สื่ออ่านสร้างสุขเพื่อเด็ก LD ครั้งที่ 2’ ประจำปี 2556 ณ ศูนย์พัฒนาทุนมนุษย์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต
โดยภายในงานมีการเสวนา ‘สื่ออ่านเพื่อเด็ก LD สร้างสังคมดีได้อย่างไร’ พญ.พรรณพิมล วิปุลากร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สถานการณ์เด็ก LD ในไทยยังไม่มีการสำรวจข้อมูลอย่างเป็นทางการ แต่กรมสุขภาพจิตได้พยายามจัดระบบข้อมูลเรื่อยมา เพื่อหวังจะทราบจำนวนเด็กกลุ่มนี้ ซึ่งจะมีพฤติกรรมไม่สามารถจัดกระบวนการเรียนรู้ได้ และจะรู้สึกว่าการเรียนในห้องเรียนไม่สนุก อย่างไรก็ตาม เด็กกลุ่มนี้จะมีวิธีการเรียนรู้ของตนเองที่ไม่เหมือนเด็กปกติ แต่ได้ผลลัพธ์เช่นเดียวกัน
ทั้งนี้มองว่า หนังสือเป็นสื่อที่มีคุณค่าและสำคัญสำหรับเด็ก LD มาก ซึ่งปัจจุบันได้มีความพยายามผลิตหรือแก้ไขเนื้อหาในหนังสือให้สอดคล้องกับเด็กพิเศษกลุ่มนี้มากขึ้น
พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ ผอ.สถาบันราชานุกูล กล่าวว่า เด็กไทยมีราว 15 ล้านคน โดย 1 ล้านคน (ร้อยละ 5-10) เป็นเด็ก LD มักพบปะปนอยู่ในกลุ่มนักเรียนที่สอบได้ 3 อันดับสุดท้าย ซึ่งสิ่งที่น่ากังวลตอนนี้คือหลายคนไม่ได้รับการส่งเสริมทักษะเรียนรู้ที่ดีพอ จนอาจนำไปสู่การสร้างปัญหาต่าง ๆ ตามมาในอนาคตได้ง่าย โดยเฉพาะอาชญากรรม ดังนั้นการนำหนังสือเป็นตัวเชื่อมการเรียนรู้ในเด็ก LD ตั้งแต่เด็กนั้น จะเป็นเครื่องมือสร้างสังคมที่ดี และให้เด็กเข้าถึงการศึกษาได้ เพียงแต่ผู้ที่จะเอื้อเฟื้อหนังสือให้ต้องนำกลไกการเรียนรู้ของเด็กกลุ่มนี้มาผสมผสานในหนังสือด้วย นั่นหมายถึง เนื้อหาต้องเร้าอารมณ์ สนุกสนาน มีภาพนูนสูง มีให้ลากเส้นประ ระบายสี จะได้กระตุ้นความอยากรู้อยากเห็นของเด็ก และควรมีการจัดทำสื่อหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ช่วยกระตุ้นการเรียนรู้อย่างเหมาะสมอีกทางหนึ่ง
“สมมติให้คนยุคก่อนนำหนังสือใบลานหรือใบข่อยมาอ่านแล้วเรารู้สึกไม่สะดวกฉันใด เด็กยุคปัจจุบันจะให้อ่านแต่หนังสือกระดาษเท่านั้นก็อาจรู้สึกอึดอัด ไม่ทันสมัยฉันนั้น เช่นเดียวกันเด็ก LD ก็ควรมีพื้นที่เรียนรู้เหมือนเด็กปกติด้วย” ผอ.สถาบันราชานุกูล กล่าว
ด้านนางณัฐวรรณ กิติเวช คุณแม่ที่มีประสบการณ์เลี้ยงดูลูกเป็น LD กล่าวว่า ผู้ปกครองต้องไม่คาดหวังในความสามารถของเด็ก LD เพราะจะไม่สามารถเรียนรู้ได้เร็วเหมือนเด็กปกติ แต่เด็กกลุ่มนี้จะมีวิธีการเรียนรู้ด้วยตนเอง ดังนั้นในฐานะผู้ปกครองควรทำหน้าที่เป็นส่วนหนึ่งในการกำลังใจ หากสามารถทำสิ่งที่ยากได้สำเร็จ เด็กก็จะเกิดความมั่นใจและเริ่มพยายามทำสิ่งที่ยากขึ้นเรื่อย ๆ ขอเพียงอย่างเดียวอย่าปิดกั้นโอกาส
“จากประสบการณ์ลูกสาวจะอ่านหนังสือไม่ค่อยได้ แยกพยัญชนะบางตัวไม่ออก ความจำสั้น แต่สิ่งที่ค้นพบ คือ สมัยเรียนชั้นอนุบาล ทุกเย็นหลังกลับจากโรงเรียนจะเก็บกล่องนมมาเสมอ เพื่อประดิษฐ์ออกแบบเป็นสิ่งของต่าง ๆ จึงทำให้เห็นในพรสวรรค์ดังกล่าวและเริ่มสนับสนุนเรื่อยมา” คุณแม่กล่าว และว่า ลูกยังเคยเล่าให้ฟังว่าทุกครั้งที่เรียนหนังสือจะจินตนาการเป็นรูปภาพเพื่อเรียนรู้ที่ง่ายขึ้น จึงทำให้ทราบว่า เด็ก LD ไม่ชอบอ่านหนังสือ แต่ชอบดูมากกว่า
ขณะที่สุดใจ พรหมเกิด ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน กล่าวว่า หนังสือเป็นสื่อที่จะช่วยให้เด็กเกิดการเรียนรู้ได้ดีกว่าสื่อชนิดอื่น เพราะนอกจากตัวอักษรแล้ว ยังต้องมีรูปภาพที่เนียน สวย ชวนกระตุ้นให้เด็กได้สัมผัสสุนทรียะผ่านรูปภาพ ซึ่งมองว่าง่ายกว่าการเรียนรู้ผ่านตัวอักษร หากสังเกตเด็กจะวาดภาพได้ง่ายกว่าเขียนก.ไก่-ฮ.นกฮูก เพราะมนุษย์ทุกคนมีภาพอยู่ในจิตวิญญาณแล้ว แต่กลับพบว่าระบบการศึกษาไทยกำลังบั่นทอนสิ่งเหล่านี้ ทำให้การเรียนรู้ผ่านสัญลักษณ์นั้นค่อย ๆ หายไป
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า LD เป็นภาวะความบกพร่องของกระบวนการเรียนรู้ที่แสดงออกมาทางด้านปัญหาการอ่าน การเขียนสะกดคำ การคำนวณ และเหตุผลเชิงคณิตศาสตร์ ความบกพร่องส่วนใหญ่ที่พบในเด็กมักเป็นเรื่องการอ่าน ไม่ชอบอ่านหนังสือ เขียนสะกดคำง่าย ๆ ผิดบ่อย สับสนตัวเลขหรืออักษรที่คล้ายกัน ดังนั้นหนังสือจึงเป็นสื่อสร้างสรรค์ที่ส่งเสริมพัฒนาการตามวัยของเด็กที่มีความบกพร่องดังกล่าวได้
............................................................
ผู้สนใจที่จะส่งผลงาน ‘สื่อประเภทหนังสือ’ เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ในเด็ก LD สามารถติดตามรายละเอียดได้ที่ www.happyreading.in.th, www.motherandcare.in.th หรือโทร 0-2241-8000 เปิดรับผลงานตั้งแต่วันนี้ -30 ก.ย. 56 .