แก้โจทย์ไฟใต้ต้องลดเงื่อนไขรุนแรง แนะรัฐนิยาม"ปกครองพิเศษ"ให้ชัด
ในการเสวนาหัวข้อ "ไฟใต้...โจทย์ใหญ่ประเทศไทย" ซึ่งจัดโดยสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ที่ห้องประชุมชั้น 3 สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เมื่อวันพุธที่ 17 ก.ค.2556 ผู้ร่วมเสวนาซึ่งมีทั้งนักการเมือง ข้าราชการ สื่อมวลชน และตัวแทนจากภาคประชาสังคม ได้ร่วมกันเสนอ "โจทย์ไฟใต้" ในมิติต่างๆ เพื่อนำเสนอให้รัฐบาลนำไปพิจารณา
นายถาวร เสนเนียม รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยซึ่งรับผิดชอบงานการแก้ไขปัญหาชายแดนใต้ของรัฐบาลชุดที่แล้ว กล่าวว่า โจทย์สำคัญคือรัฐบาลต้องใส่ใจกับปัญหามากกว่าที่เป็นอยู่ ปัจจุบันมีโครงสร้าง กพต. หรือ คณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตามที่ระบุไว้ในกฎหมายการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2553 (พ.ร.บ.ศอ.บต.) ซึ่งมีองค์ประกอบคือรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องถึง 17 คนจาก 15 กระทรวง แต่รัฐบาลชุดนี้ประชุมเมื่อปี 2554 เพียง 1 ครั้ง ปีที่แล้ว 4 ครั้ง และปีนี้ยังไม่ได้ประชุมเลย เข้าใจว่าจะประชุมกันเป็นครั้งแรกช่วงปลายเดือนนี้ ทั้งๆ ที่เป็นกลไกสำคัญที่สุดในการแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะในเรื่องที่ประชาชนในพื้นที่เข้าไม่ถึงการพัฒนาและความยุติธรรม
"รัฐมนตรี 17 คนต้องลงไปในพื้นที่เพื่อรับฟังปัญหาที่แท้จริงแล้วนำไปแก้ไข เพราะปัญหาที่ถูกรายงานขึ้นมาไม่ตรงกับปัญหาที่แท้จริงของประชาชน ส่วนเวทีรับฟังความคิดเห็นที่จัดกันอยู่ในปัจจุบันนั้นมีแต่คนหน้าเดิมซ้ำๆ ได้แก่ นักวิชาการ นักการเมือง คนที่อยากมีชื่อเสียง และคนที่มีวาระซ่อนเร้นอยากเป็นผู้นำ" นายถาวร ระบุ
นายนครินทร์ ชินวรณ์โกมล ผู้สื่อข่าวและช่างภาพของเครือเนชั่น ประจำ จ.ยะลา กล่าวว่า โจทย์สำคัญที่เป็นปัญหาอยู่ในพื้นที่คือความหวาดระแวงกันเองระหว่างประชาชน คนพุทธก็หวาดระแวงคนมุสลิม ส่วนคนมุสลิมก็หวาดระแวงเจ้าหน้าที่ ระแวงกันไปมาอยู่อย่างนี้ สะท้อนว่าการทำงานของภาครัฐตลอดหลายปีที่ผ่านมาไม่สามารถลดความหวาดระแวงลงได้เลย
นายเสริมสุข กษิติประดิษฐ์ บรรณาธิการข่าวการเมืองและความมั่นคง สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส กล่าวว่า ขอฝากถึงการพูดคุยสันติภาพ กระบวนการนี้ต้องเดินหน้าต่อไป เพราะในข้อตกลงริเริ่มกระบวนการพูดคุย (ลงนาม 28 ก.พ.2556) เขียนเอาไว้ชัดว่าเป็นการพูดคุยภายใต้รัฐธรรมนูญไทย
ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) เคยให้สัมภาษณ์ทำนองว่าไม่เห็นด้วยกับเขตปกครองพิเศษ เพราะจะเป็นก้าวแรกที่นำไปสู่การแบ่งแยกดินแดน ส่วนตัวไม่แน่ใจว่า พล.อ.ประยุทธ์ เข้าใจคำว่า "ปกครองพิเศษ" แค่ไหน เพราะการกระจายอำนาจมีหลายรูปแบบ และการพูดคุยสันติภาพก็กำกับไว้ชัดว่าต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ
"ถ้าคนระดับ ผบ.ทบ.ยังพูดแบบนี้ ก็ต้องไปแก้นโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2555-2557 เพราะในนโยบายเขียนไว้ชัดเจนว่าให้พูดคุยกับกลุ่มที่มีความคิดเห็นแตกต่างจากรัฐ และให้พิจารณาเรื่องกระจายอำนาจการปกครอง ผมเห็นว่ารัฐบาลต้องมีความชัดเจนว่ากระจายอำนาจในความหมายนี้คืออะไร เพื่อยุติความสับสนเรื่องเขตปกครองพิเศษ" นายเสริมสุขกล่าว และว่าอีกเรื่องหนึ่งที่รัฐต้องไม่ทำให้เกิดขึ้นอีก คือการใช้ความรุนแรงวิสามัญฆาตกรรมโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
นายปิยะ กิจถาวร รองเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาภาคใต้ต้องยึดมั่น 2 เรื่อง คือ 1.ลดเงื่อนไขของความรุนแรงทุกรูปแบบลงไปถึงระดับครอบครัวและการปฏิสัมพันธ์ของผู้คนในสังคม และ 2.ใช้สันติวิธีในการแก้ไขปัญหา โดยทุกฝ่ายต้องเข้าใจคำว่า "สันติวิธี" ตรงกันด้วย
"โจทย์ใหญ่ของสังคมไทยรวมทั้งสื่อก็คือ เราจะช่วยกันลดเงื่อนไขความรุนแรง หรือช่วยกันราดน้ำมันในกองเพลิง" นายปิยะ ระบุ พร้อมยกตัวอย่างถึงการพาดหัวข่าวของสื่อบางแขนงที่เรียกกลุ่มที่ก่อความรุนแรงในพื้นที่ว่า "โจรใต้" ขณะที่ฝ่ายผู้เห็นต่างก็เรียกประเทศไทยกลับมาว่า "โจรสยาม" กลายเป็นการสาดความรุนแรงใส่กันอย่างไม่รู้จบ
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : เวทีเสวนา "ไฟใต้...โจทย์ใหญ่ประเทศไทย" ที่ห้องประชุมชั้น 3 สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ย่านสามเสน กรุงเทพฯ