ภาคปชช. ค้าน รมต.นั่งประธานบอร์ดประกันสังคม ถกแก้ มาตรา 8
ถอดบทเรียนร่างฯประกันสังคม กมธ.ตั้งประเด็นแก้องค์ประกอบกรรมการ-สิทธิประโยชน์ กลุ่มตัวแทนแรงงานภาคประชาชน หวั่น รมต.เป็นประธานบริหารประกันสังคมยึดอำนาจการบริหารเบ็ดเสร็จ ไร้ความโปร่งใส รอง คปก.แนะ แก้ได้ แต่บางมาตรา
วันที่ 16 กรกฎาคม คณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงและพัฒนากฎหมายด้านสวัสดิการสังคม คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย จัดการประชุมหารือ “เรื่องร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่...) พ.ศ. ….” ณ ห้องประชุม ชั้น ๓ อาคารซอฟท์แวร์ปาร์ค ถนนแจ้งวัฒนะ อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี
โดยขณะนี้ร่างฯประกันสังคมได้ผ่านการพิจารณาในชั้นกรรมาธิการแล้ว โดยมีการแก้ไขเพิ่มเติมในสาระสำคัญของบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. ๒๕๓๓ และจะมีการนำเข้าสภาในเดือนสิงหาคมที่จะถึงนี้ ซึ่งในการประชุมภาคประชาชนต่างแสดงความเป็นห่วงในมาตรา 8 ที่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญ ฯ ไปแล้ว ซึ่งมีรายละเอียดว่า “มาตรา 8 ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่ง เรียกว่า “คณะกรรมการประกันสังคม” ประกอบด้วยรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ”
ด้านนายชาลี ลอยสูง กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่..) พ.ศ. ... กล่าวว่า หากประธานกรรมการเป็นรัฐมนตรีเกรงว่าอาจจะมีปัญหาในการบริหารได้ เพราะรัฐมนตรีมีสิทธิที่จะตัดสินบริหารนโยบายได้เอง และอาจใช้อำนาจหน้าที่ในการแทรกแซงการบริหาร จึงต้องการให้ในมาตรา 8 นี้ เปลี่ยนประธานกรรมการ ซึ่งความจริงอยากให้เป็นการสรรหามากกว่า
“ไม่เห็นด้วยใน 2 ประเด็นสำคัญ คือ เรื่องการมีผลประโยชน์ทับซ้อน จึงไม่เห็นด้วยที่จะให้รัฐมนตรีเข้ามาอยู่ในองค์ประกอบของคณะกรรมการฯ ขณะเดียวกันในการเลือกผู้แทนฝ่ายนายจ้างและลูกจ้างควรจะเป็นรูปแบบหนึ่งคนต่อหนึ่งเสียง”
ด้านนางวิไลวรรณ แซ่เตีย รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย แสดงความเป็นห่วงหากรัฐมนตรีใช้อำนาจเบ็ดเสร็จในกระบวนการทุกขั้นตอน กลัวเรื่องความไม่โปร่งใส เนื่องจากเงินกองทุนประกันสังคมมีจำนวนเงินกว่าแสนล้านบาท หากได้ประธานที่ไม่เป็นมืออาชีพ ผู้ประกันตนาจะเชื่อมั่นในการบริหารได้อย่างไร แล้วกองทุนนี้จะเกิดความมั่นคง หรือยั่งยืนหรือไม่
"จริงๆแล้วเราต้องการมืออาชีพเข้ามาบริหารกองทุน นี่คือข้อเสนอที่ภาคประชาชนอยากให้เกิดการเปลี่ยนแปลง"
ทั้งนี้ นางสุณี ไชยรส รองประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมาย และประธานกรรมการพิจารณาปรับปรุงและพัฒนากฎหมายด้านสวัสดิการสังคม กล่าวในตอนท้ายของการประชุมถึงการผลักดันในบางเรื่องว่า มีข้อจำกัด จึงเป็นกลไกของคปก. รัฐธรรมนูญ และภาคประชาชนในการแก้ไขครั้งหน้า ซึ่งร่างพ.ร.บ.ประกันสังคมที่ผ่านคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ที่จะนำเสนอต่อสภาในเดือนสิงหาคมนี้ ก็ไม่สามารถที่จะแก้ไขได้ แม้แต่กระบวนแรงงาน นักวิชาการที่ติดตามเรื่องร่างพ.ร.บ.ประกันสังคมมานาน ก็ยังตามไม่ทัน ด้วยข้อจำกัดของเงื่อนไขบางอย่างของสภา ซึ่งหากจะมีการแก้ไขในบางประเด็น ก็ต้องทำความเข้าใจกับวิปรัฐบาล และส.ส.ในประเด็นที่ยังมีสิทธิอภิปรายในสภา เชื่อว่า อาจทำให้มีการเปลี่ยนแปลงได้มากกว่านี้
“อย่างไรก็ตามในการแก้ไขจะไม่ออกนอกกรอบ คือจะต้องเป็นร่างของกรรมาธิการ ร่างที่แปรญัตติ หรือร่างเดิมเท่านั้น เพราะกระบวนการมาไกล และไม่สามารถย้อนไปสู่เบื้องต้นได้ และนี่อาจถือเป็นบทเรียนของภาคประชาชนที่จะต้องศึกษารายละเอียดให้มากขึ้น” นางสุณี กล่าว