"หยุดยิง" กับ "อำนาจต่อรอง" และอนาคตของโต๊ะพูดคุยสันติภาพ
จั่วหัวแบบนี้ไม่ได้แปลว่ากำลังคิดจุกจิกหาเรื่องโจมตีรัฐบาลในเรื่องการแก้ไขปัญหาภาคใต้ เพราะใจจริงก็ขอปรบมือชม คุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และรัฐบาลพรรคเพื่อไทยที่ได้ดำเนินการเชิงรุก ทั้งเรื่องพูดคุยสันติภาพแบบเปิดเผยกับกลุ่มผู้เห็นต่าง และการสร้างมิติใหม่กับการเดินทางไปพบปะพูดคุยกับ เลขาธิการโอไอซี ด้วยตัวเอง กระทั่งมีถ้อยแถลงจากโอไอซีออกมาสนับสนุนการแก้ปัญหาของไทยเป็นครั้งแรกในรอบหลายปี
แต่ที่ต้องขออนุญาตแสดงความเห็นเรื่อง "หยุดยิง" ก็เพื่ออธิบายให้เห็นภาพอีกด้านหนึ่งของวาทกรรม "ยุติความรุนแรงช่วงรอมฎอน" ซึ่งผมไม่ได้ขัดขวางสันติภาพ เพราะการหยุดยิงแม้เพียงวันเดียวย่อมเป็นเรื่องดีอย่างไม่ต้องสงสัย แต่เป้าหมายของการหยุดยิงนั้นต่างหากที่น่าสนใจและควรหยิบมาวิเคราะห์ถึงอนาคต
นอกเหนือจากการใช้ถ้อยคำในคำแถลงที่เรียกว่า "ความเข้าใจร่วมกัน" หรือ Common Understanding เมื่อวันที่ 12 ก.ค.2556 ซึ่งมีหลายจุดที่น่าจะเป็นปัญหาตามมา โดยเฉพาะการมีชื่อ อ.สะเดา โผล่ขึ้นมาเป็นอำเภอที่ 5 ของ จ.สงขลา เสมือนหนึ่งถูกเหมารวมเป็นพื้นที่ที่มีปัญหาความไม่สงบจนต้องยุติเหตุรุนแรงและลดปฏิบัติการทางทหาร (ซึ่งจริงๆ ไม่มีและไม่เคยมี) แล้ว ยังมีประเด็นอันแหลมคมที่ต้องตั้งคำถามอีกประเด็นหนึ่งว่า "การยุติเหตุรุนแรง" หรือที่เรียกง่ายๆ ว่า "หยุดยิง" ของฝ่ายบีอาร์เอ็นนั้น มีเจตนาที่แท้จริงเพื่ออะไร เพราะมีการกำหนดกรอบเวลาเอาไว้เพียง 40 วัน
ผมตั้งสมมติฐานกว้างๆ ว่า น่าจะเป็นการหยุดยิงเพื่อสร้างอำนาจต่อรอง มากกว่าเป็นการหยุดยิงเพื่อสันติภาพ
เหตุผลคือหากเป็นการหยุดยิงเพื่อสันติภาพจริงๆ บีอาร์เอ็นควรประกาศเจตนารมณ์ให้ชัดว่าจะ "พยายาม" ยุติการก่อเหตุรุนแรงอย่างถาวร เพื่อหันมาใช้โต๊ะพูดคุยเจรจาอย่างเต็มที่ในการแสวงหาทางออกของปัญหาความขัดแย้ง หรืออย่างน้อยก็ประกาศว่าขบวนใหญ่ของบีอาร์เอ็นได้หยุดใช้ความรุนแรงแล้ว (โดยไม่มีกำหนดเวลา) หากมีกลุ่มย่อยหรือพวกนอกแถวยังใช้ความรุนแรงอยู่ ก็จะได้ช่วยกันชี้แจง ส่งสัญญาณ หรือแม้กระทั่งดำเนินการตามกฎหมาย ขณะที่ฝ่ายรัฐบาลไทยจะได้พิจารณาข้อเสนอต่างๆ ของบีอาร์เอ็นได้ง่ายขึ้นและน่าจะส่งผลเป็นรูปธรรมขึ้น เช่น ถอนกำลังทหารบางส่วนออกจากพื้นที่ เป็นต้น
แต่การหยุดยิงชั่วคราวที่กำลังดำเนินอยู่นี้ มีโอกาสสูงที่จะเป็นการ "หยุดยิงเพื่อสร้างอำนาจต่อรอง" คือหยุดแค่เพียงชั่วระยะเวลาหนึ่ง เพื่อแสดงให้เห็นว่าตนเองมีศักยภาพควบคุมสถานการณ์ได้ หลังจากนั้นก็อาจยิงต่อ เหมือนที่เคยโหมความรุนแรงให้ดูช่วงก่อนเข้าสู่เดือนรอมฎอน อาทิ กรณีระเบิดทหาร 8 ศพ ทั้งนี้ก็เพื่อผลในการพูดคุยเจรจาและยื่นข้อเรียกร้องที่สูงขึ้นในอนาคต
การใช้ศักยภาพควบคุมความรุนแรงในการเพิ่มอำนาจต่อรองนี้ ในแง่ของการเจรจาระหว่างคู่ขัดแย้งย่อมเป็นเรื่องธรรมดาที่บีอาร์เอ็นต้องทำและสามารถทำได้ (ส่วนจะมีความชอบธรรมหรือเหมาะควรหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง) แต่คำถามของผมคือฝ่ายรัฐบาลได้เตรียมรับมือกับน้ำหนักของ "อำนาจต่อรอง" ที่จะเทไปทางบีอาร์เอ็นมากขึ้นหรือยัง
ผมเคยเขียนเตือนเอาไว้ในคอลัมน์นี้ (ดูที่ ไม่จำเป็นต้องปฏิเสธบีอาร์เอ็นทุกข้อ http://bit.ly/16d29bD) ในห้วงที่สังคมไทยไม่ค่อยเชื่อน้ำยาบีอาร์เอ็นว่า อย่าได้ประมาทพวกเขา เพราะหากพวกเขาหยุดความรุนแรงได้จริง จะเป็นโจทย์ที่ยากขึ้นสำหรับรัฐบาลไทยในการพูดคุยเจรจาในลำดับต่อไป แต่ฝ่ายความมั่นคงไทยเองกลับประเมินศักยภาพบีอาร์เอ็นค่อนข้างต่ำกว่าความเป็นจริง และปักใจเชื่อว่ามีความแตกแยกกันภายใน อันจะส่งผลดีให้ไทยได้เปรียบบนโต๊ะเจรจา
สำหรับผมมองว่า เขาอาจแตกแยกกันก็จริง แต่ในเงื่อนไขหนึ่งเขาก็อาจสามารถร่วมมือกันทางยุทธวิธีได้...เพื่อผลลัพธ์ที่จะได้ประโยชน์กลับมามากกว่า โดยเฉพาะประโยชน์ในแง่ของอำนาจต่อรอง
หลายคนกำลังมองไปถึง "เขตปกครองพิเศษ" ซึ่งเป็นที่รู้ๆ กันว่าเมื่อการ "แบ่งแยกดินแดน" เป็นเรื่องที่อาจจะไกลเกินฝัน หลักไมล์ที่ใกล้เข้ามาหน่อยก็คือ "เขตปกครองพิเศษ" หรือจะเรียกว่า "เขตปกครองตนเอง" ก็ได้ในความหมายที่ "กลุ่มผู้เห็นต่าง" ต้องการ
ยิ่งท่าทีของบีอาร์เอ็นพูดถึงอำเภอที่ 5 ของ จ.สงขลา ในคลิปวีดีโอที่เผยแพร่ก่อนหน้านี้ (ทำนองว่าให้ถอนทหารออกไปจากพื้นที่) และมาเฉลยว่าคือ อ.สะเดา ในแถลงการณ์ร่วมที่มาเลเซียเป็นผู้แถลง ยิ่งทำให้หลายฝ่ายกังขาว่าเป็นการเตรียมแผนหาแหล่งรายได้รองรับ "เขตปกครองพิเศษ" ที่จะขีดเส้นกันบนโต๊ะเจรจาหลังประสบความสำเร็จในการลดเหตุรุนแรงช่วงรอมฎอนหรือไม่ เพราะ อ.สะเดา มีด่านชายแดนที่มีมูลค่าการส่งออกและนำเข้าสินค้าจำนวนมหาศาลกว่า 5 แสนล้านบาทต่อปี
"ฉากทัศน์" (scenario) ที่ว่านี้นับว่าน่าคิดไม่น้อย เพราะการเคลื่อนไหวทั้งในและนอกโต๊ะพูดคุยหลายเรื่องดูจะขาดเหตุผลรองรับ เช่น ก่อนหน้าแถลงยุติเหตุรุนแรงช่วงรอมฎอน ฝ่ายบีอาร์เอ็นเสนอเงื่อนไขอย่างเอาเป็นเอาตาย 7-8 ข้อ โดยเฉพาะให้นำข้อเรียกร้อง 5 ข้อแรกเข้าสภา ถ้าฝ่ายไทยไม่ทำตามก็จะไม่ยอมคุยต่อ ขณะที่ฝ่ายความมั่นคงไทยโดยรัฐมนตรีกลาโหมก็แถลงอย่างแข็งกร้าวว่ารับเงื่อนไขไม่ได้เลยสักข้อ และพร้อมไปพูดคุยกับกลุ่มใหม่แทน แต่แล้วจู่ๆ ก็มามีคำแถลงหยุดยิงอย่างชื่นมื่นเสียอย่างนั้น
หากลองย้อนกลับไปอ่านสุนทรพจน์ของ นายกรัฐมนตรี นาจิบ ราซัก ของมาเลเซีย ในการเปิดประชุมวิชาการหัวข้อ "อิสลามและศักราชใหม่ของประเทศในอาเซียน" เมื่อต้นเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งจัดโดยสถาบันความเข้าใจอิสลามของมาเลเซียเอง คงพอต่อจิ๊กซอว์ให้เห็นภาพได้ชัดเจนขึ้น (ดูที่ http://www.pmo.gov.my/?menu=speech&page=1676&news_id=655&speech_cat=2)
นายกฯนาจิบ บอกว่าทางออกของปัญหามุสลิมชนกลุ่มน้อยในประเทศอาเซียน อาทิ ฟิลิปปินส์ ไทย และพม่านั้น ด้านหนึ่งชนมุสลิมจำเป็นต้องยอมรับในความรับผิดชอบของตนต่อรัฐนั้นๆ นั่นก็คือการส่งสัญญาณให้เลิกคิดแบ่งแยกดินแดน แต่ นายกฯนาจิบ ก็กำกับว่าในอีกด้านหนึ่ง รัฐบาลของประเทศเหล่านั้นก็ต้องให้ชนกลุ่มน้อยมุสลิมมีสิทธิในการปกครองตนเองอย่างมีความหมายเพื่อคงเอกลักษณ์ทางศาสนา ภาษา และวัฒนธรรมด้วย
นายกฯนาจิบเลือกใช้คำว่า autonomy ซึ่งหมายถึงการปกครองตนเอง
หรือนี่คือ "คำตอบสุดท้าย" ของปัญหาไฟใต้ที่ถูกเตรียมไว้ให้แล้วจากมาเลเซีย และจากอดีตนายกฯผู้มากบารมีของไทย โดยผ่านการพูดคุยตกลงกันในระดับนำ (elite) โดยที่บีอาร์เอ็นเองก็ถูกบีบ เพราะแกนนำจำนวนมากก็พำนักอยู่ในมาเลเซีย และมาเลเซียก็เสียงใหญ่พอควรในโอไอซี (องค์กรที่บีอาร์เอ็นเสนอให้ร่วมเป็นสักขีพยานการพูดคุยเจรจา) ซึ่งล่าสุดเลขาธิการโอไอซีก็ออกถ้อยแถลงสนับสนุนข้อตกลงหยุดยิงด้วย (โอไอซีไปถึงการ "หยุดยิง" แล้ว โดยใช้คำว่า ceasefire ดูที่ http://www.oic-oci.org/oicv2/topic/?t_id=8256&t_ref=3331&lan=en)
ขณะที่ "คนวงใน" จากองค์กรสันติวิธีแห่งหนึ่งซึ่งทราบข้อมูลเรื่องการพูดคุยเจรจากับกลุ่มผู้เห็นต่างในห้วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เคยระบุถึงขั้นว่าหากนำ "โมเดลเขตปกครองพิเศษ" มาตั้ง ปัญหาชายแดนใต้จะจบภายใน 6 เดือน สอดรับกับ พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต เมื่อครั้งยังดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่ประกาศในที่ประชุมกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) ที่ค่ายสิรินธร ต.เขาตูม อ.ยะรัง จ.ปัตตานี ก่อนที่จะเริ่มเปิดโต๊ะพูดคุยสันติภาพเมื่อ 28 ก.พ.2556 ว่า ปัญหาชายแดนใต้จะจบในปีนี้ หรืออย่างช้าที่สุดก็ในอายุของรัฐบาลชุดนี้
เป็นไปได้ไหมที่โต๊ะพูดคุยสันติภาพกับบีอาร์เอ็นเป็นเพียงพิธีกรรมที่ "ผู้มีอำนาจเหนือ" สร้างขึ้นเพื่อรอเวลาให้สถานการณ์สุกงอมและสังคมยอมรับได้กับคำตอบที่เตรียมเอาไว้แล้วและตกลงกันเรียบร้อยแล้ว...นั่นก็คือ "เขตปกครองพิเศษ"
แต่คำถามที่แหลมคมก็คือ สังคมไทยรวมทั้งผู้คนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ยอมรับได้หรือเตรียมใจเอาไว้สำหรับคำตอบนั้นแล้วหรือยัง?
โดยเฉพาะการที่สถานการณ์เลวร้ายทั้งหมดจะถูกปลดชนวนด้วยข้อตกลงทางการเมืองเรื่อง "อำนาจการปกครอง" เพียงเรื่องเดียว ทั้งๆ ที่การลุกขึ้นต่อสู้กับรัฐของคนจำนวนไม่น้อยไม่ว่าจะในนามของบีอาร์เอ็นหรือกลุ่มอื่นไม่ได้มาจากเงื่อนไขทางการเมืองเท่านั้น ในขณะที่ปัญหาพื้นฐานอื่นๆ ของพื้นที่และประชาชนยังแทบไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรมเลย และไม่มีหลักประกันใดๆ ว่า "โมเดลปกครองพิเศษ" จะแก้ไขปัญหาเหล่านั้นได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ที่อำนาจถูกถ่ายโอนมาในพื้นที่ที่มีอิทธิพลของบีอาร์เอ็น และ (อดีต) กลุ่มติดอาวุธกำกับควบคุมอยู่
นี่คือ "ฉากทัศน์" ที่อาจเกิดขึ้นได้หลังผ่านพ้นช่วงหยุดยิงรอมฎอน!
-----------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : นายฮัสซัน ตอยิบ และพวก ขณะให้สัมภาษณ์สำนักข่าวเอเอฟพี และผู้สื่อข่าวจากสำนักอื่นอีกหลายสำนักที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ภายหลังเสร็จสิ้นการพูดคุยสันติภาพรอบ 3 กับตัวแทนรัฐบาลไทยเมื่อ 13 มิ.ย.2556
ขอบคุณ : ภาพจากวีดีโอในเว็บไซต์ยูทิวบ์