เจอข้าวยี่ห้อ โค-โค่ มีสารรมควันเกินมาตรฐาน Codex มูลนิธิชีววิถี ชี้ 13 ตย.ส่งขายจีนลำบาก
มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเเถลงพบข้าวถุง 34 ยี่ห้อ จาก 46 ตัวอย่าง มีสารรมควัน 'เมทิลโบรไมด์' ตกค้าง ยี่ห้อโคโค่ตกค้างสูงสุด จี้รัฐบาลตรวจสอบโรงสีผู้ผลิต-ดันตั้งองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค
วันที่ 16 ก.ค. 56 ที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) ร่วมกับมูลนิธิชีววิถี และศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ แถลงรายงานผลการตรวจสอบสารเคมีตกค้างในข้าวสารถุง 46 ตัวอย่าง โดยน.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวถึงการตรวจสารเคมีตกค้างในข้าวถุงครั้งนี้ เฉพาะจากยาฆ่าแมลงกลุ่มออร์กาโนฟอสเฟตและคาร์บาเนต, ยากันรา (fungicide) และสารรมควันข้าวเมทิลโบรไมด์เท่านั้น ส่วนสารพิษจากเชื้อราและคุณภาพข้าวถุงนั้นยังไม่เสร็จ
โดยผลทดสอบข้าวสารถุง 46 ตัวอย่าง ไม่พบการตกค้างของยาฆ่าแมลงกลุ่มออร์กาโนฟอสเฟตและคาร์บาเนต รวมทั้งสารตกค้างจากยากันรา
นอกจากนี้ มีข้าวถุงเพียง 12 ตัวอย่าง (ร้อยละ 26.1) ที่ไม่พบสารตกค้างของสารเคมีทางการเกษตรชนิดใด ๆ ได้แก่ 1.ลายกนก ข้าวหอมมะลิแท้ 100% 2.ข้าวพันดี ข้าวขาว 100% ชั้นดีพิเศษ 3.ธรรมคัลเจอร์ ข้าวหอมคุณภาพคัดพิเศษ 4.รุ้งทิพย์ ข้าวขาวเสาไห้ 5.บัวทิพย์ ข้าวหอม 6.ตราฉัตร ข้าวขาว 15% 7.ข้าวมหานคร ข้าวขาวคัดพิเศษ 8.สุพรรณหงส์ ข้าวหอมสุรินทร์ 9.เอโร่ ข้าวขาว 100% 10.ข้าวแสนดี ข้าวหอมทิพย์ 11.โฮมเฟรชมาร์ท จัสมิน ข้าวหอมมะลิ 100% และ12.ชามทอง ข้าวขาวหอมมะลิ 100%
เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวถึงผลการทดสอบสารรมควันข้าว เมทิลโบรไมด์ พบตกค้างถึง 34 ตัวอย่าง หรือร้อยละ 73.9 โดยตรวจพบสารรมควันข้าวเมธิลโบรไมด์หลายระดับทั้งระดับน้อยจนสูงเกินมาตรฐาน ระหว่างประเทศ (0.9 – 67 มิลลิกรัม/กิโลกรัม) ตัวอย่างข้าวสารถุงที่พบตกค้างมากที่สุด คือ ยี่ห้อ โค-โค่ ข้าวขาวพิมพา มีสารปนเปื้อนสูงถึง 67.4 ppm ซึ่งเกินกว่าเกณฑ์มาตรฐานอาหารระหว่างประเทศ (Codex) ที่กำหนดไว้ให้มีสารตกค้างได้ไม่เกิน 50 ppm จีนกำหนดไม่ให้เกิน 5 ppm และอินเดียไม่เกิน 25 ppm
นอกจากนี้ยังพบอีก 5 ตัวอย่าง พบตกค้างไม่เกินมาตรฐานอาหารระหว่างประเทศ แต่พบการตกค้างสูงกว่า 25 ppm แต่ไม่เกิน 50 ppm ได้แก่ ข้าวแสนดี ข้าวหอม พบตกค้าง 41 ppm ข้าวตราดอกบัว ข้าวเสาไห้ พบตกค้าง 29.5 ppm ข้าวตราดอกบัว ข้าวตาแห้ง พบตกค้าง 28.9 ppm สุรินทิพย์ ข้าวหอมมะลิ พบตกค้าง 27.6 ppm และข้าวถูกใจ ข้าวขาว พบตกค้าง 27.5 ppm
“เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหา ขอเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งผลักดันองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค รวมถึงหน่วยงานรัฐ ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ให้เปิดเผยรายละเอียดชื่อยี่ห้อของข้าวที่พบการปนเปื้อนหรือตัวอย่างยี่ห้อที่ตรวจแล้วปลอดภัยไม่พบการปนเปื้อน ซึ่งจะส่งผลต่อการกำหนดทิศทางการผลิตสินค้าและการบริโภคของประเทศในอนาคต และการตรวจสอบของหน่วยงานรัฐครั้งต่อไป จึงควรมีองค์กรนี้ขึ้นมา” น.ส.สารี กล่าว
ด้านนายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผอ.มูลนิธิชีววิถี กล่าวว่า แม้การตกค้างส่วนใหญ่ที่พบจะไม่เกินเกณฑ์มาตรฐานของ Codex หากก็พบว่าในหลายประเทศมีการกำหนดเกณฑ์มาตรฐานที่สูงกว่า Codex เช่น อินเดียกำหนดไว้ไม่ให้เกิน 25 ppm หรือ จีน ที่ได้ชื่อว่าเป็นประเทศคู่ค้าข้าวรายสำคัญของไทย กำหนดปริมาณการตกค้างของเมทิลโบรไมด์ในข้าวไว้ไม่เกิน 5 ppm แต่เมื่อดูจากการทดสอบครั้งนี้กลับพบตัวอย่างข้าวสารถุงที่มีสารตกค้างของเมทิลโบรไมด์เกิน 5 ppm ถึง 13 ตัวอย่างที่ไม่สามารถส่งออกไปจีนได้
“ไทยไม่เคยมีการประกาศเกณฑ์ เมทิลโบรไมด์ ซึ่งเป็นสารที่นิยมใช้รมข้าวก่อนบรรจุถุง เพื่อป้องกันมอดแมลง ทั้ง ๆ ที่ไทยเป็นประเทศคู่ค้าข้าวลำดับต้น ๆ ของโลก ทำให้การตรวจสอบต้องยึดมาตรฐานระหว่างประเทศ ส่งผลเสียต่อตลาดส่งข้าวและมาตรฐานข้าวในประเทศ” ผอ.มูลนิธิชีววิถี กล่าว พร้อมตั้งข้อสังเกต หากเกินมาตรฐานของ Codex จะดำเนินคดีทางกฎหมายต่อผู้ประกอบการได้หรือไม่ ทั้งนี้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งตรวจสอบโรงสีและผู้ประกอบการที่มีปัญหาการปนเปื้อน แม้การตรวจสอบครั้งนี้จะพบการตกค้างไม่สูงมากนัก แต่ก็สูงเกินกว่าที่จะส่งออกไปจีนได้
นายวิฑูรย์ กล่าวด้วยว่า ผลกระทบที่เสี่ยงเกิดขึ้นกับสุขภาพผู้บริโภคขณะนี้ไม่มีการศึกษาถึงกรณีดังกล่าวว่าจะมีผลเมื่อบริโภคหรือไม่ แต่อาจต้องเทียบเคียงจากรายงานของสถาบันวิจัยสุขภาพสหรัฐอเมริกา เรื่องผลกระทบต่อสุขภาพที่มีการใช้เมทิลโบรไมด์ในกระบวนการรมควันเพื่อกำจัดแมลง ก่อให้เกิดโรคมะเร็งแก่ผู้ทำการรมควัน ซึ่งเป็นกระบวนการใช้
ที่มา:มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (ไทยแพน) มูลนิธิชีววิถี เก็บตัวอย่างข้าวสารถุงที่มีการจำหน่าย ระหว่างวันที่ 19 – 27 มิถุนายน 2556 ทุกยี่ห้อจากซูเปอร์มาเก็ต และห้างโมเดิร์นเทรด ทั้งค้าปลีกและค้าส่ง 6 แห่ง ได้แก่ ห้างเทสโก้ โลตัส, ห้างบิ๊กซี, ห้างแมคโคร, ท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต, ฟู้ดแลนด์ ซูเปอร์มาร์เก็ต, และโฮมเฟรชมาร์ท, กับร้านสะดวกซื้อ 1 แห่ง คือ เซเว่นอีเลฟเว่น รวม 7 แห่ง จำนวน 46 ตัวอย่าง
แบ่งเป็น ข้าวหอมมะลิ 100% จำนวน 15 ตัวอย่าง และข้าวขาวกับข้าวหอมอื่น ๆ อีก 31 ตัวอย่าง โดยส่งตรวจคุณภาพข้าวสารถุงที่จำหน่ายในท้องตลาดใน 5 ด้านที่สำคัญ คือ 1)การตรวจคุณภาพข้าวสารถุง ตามมาตรฐานข้าวสาร กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ 2)สารเคมีทางการเกษตร ยาฆ่าแมลง 2 กลุ่ม ได้แก่ ออร์กาโนฟอสเฟตและคาร์บาเมต 3)ยากันรา (fungicide) 4) สารรมควันข้าวเมธิลโบรไมด์ 5)สารพิษจากเชื้อรา – อะฟลาท็อกซิน ซึ่งการตรวจสอบทั้งหมดดำเนินการโดยศูนย์ทดสอบที่ได้รับมาตรฐานถูกต้อง