กสอ.ดันไทยแลนด์ฟู้ดวัลเลย์ -ภาคเอกชนชี้หัวใจสำคัญอยู่ที่ความร่วมมือ
อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ยัน "ไทยแลนด์ฟู้ดวัลเลย์" สร้างอุตสาหกรรมอาหารแบบก้าวกระโดด ด้านบ.เอกชน แนะสร้างทีมแบบ ONE STOP เชื่อเครื่อข่ายสำคัญคือ รัฐบาล มหาวิทยาลัย และเอกชน
วันที่ 15 ก.ค. กระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมกับ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการเรื่อง “การบริหารจัดการเชื่อมโยงงานวิจัยเพื่ออุตสาหกรรมอาหาร ภายใต้โครงการไทยแลนด์ฟู้ดวัลเลย์ (THAILAND FOOD VALLEY: TFV)" ณ ห้องแกรนด์บอลรูม อินฟินิตี้ โรงแรมพูลแมน บางกอก คิงพาวเวอร์
นายโสภณ ผลประสิทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวถึงอุตสาหกรรมอาหารไทย ถือเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่เป็นรายได้หลักของประเทศ ซึ่งประเทศไทยมีมูลค่าการส่งออกสูงที่สุดในอาเซียน แต่ยังประสบปัญหาด้านการรักษามาตรฐานและประสิทธิภาพของการผลิต รวมถึงความทันสมัยของเทคโนโลยี จึงมีแนวคิดที่จะให้ภาคอุตสาหกรรมอาหารไทยมีการพัฒนาแบบก้าวกระโดดเพื่อที่จะผลิตอาหารให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดโลก โดยอาศัยภาควิชาการมาสนับสนุน ทั้งในด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีรวมถึงการพัฒนาสินค้าให้ตรงตามความต้องการของตลาด ภายใต้โครงการไทยแลนด์ฟู้ดวัลเลย์
นายโสภณ กล่าวว่า พื้นที่เป้าหมายในการนำร่องโครงการไทยแลนด์ฟู้ดวัลเลย์นั้น ภาคเหนือเน้นในเรื่องผักและผลไม้ ภาคอีสานเกี่ยวกับเนื้อสัตว์ และภาคใต้เกี่ยวกับอาหารทะเล อีกทั้งจะเดินหน้าประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและสร้างเครือข่ายกับสถาบันการศึกษาอีกหลายแห่งให้ครอบคลุมทุกภูมิภาคทั่วประเทศไทย เพื่อสร้างองค์ความรู้ให้เอื้ออำนวยกับภาคธุรกิจ
ด้านภาคเอกชนที่เข้าร่วมสัมมนาในเชิงปฎิบัติการครั้งนี้อย่าง น.สพ. รุจเวทย์ ทหารแกล้ว ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาบริษัท เบทาโกร จำกัด กล่าวว่า ในภาคเกษตรอุตสาหกรรมหากเป็นฝ่ายผลิตอย่างเดียว ความยั่งยืนอาจแปรผัน งานวิจัยจะมาช่วยต่อยอดผลผลิตให้มีความก้าวหน้า จึงจำเป็นที่จะต้องสร้างเครือข่ายงานวิจัยให้เกิดขึ้น เพราะผลงานวิจัยจะช่วยในเรื่องการลดต้นทุนการผลิต การสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ สร้างมูลค่าเพิ่ม และสร้างความแตกต่างในเรื่องสินค้าและบริการ อีกทั้งยังเป็นการสร้างองค์ความรู้ให้ต่อยอด
น.สพ. รุจเวทย์ กล่าวถึงหัวใจสำคัญของโครงการฟู้ดวัลเลย์คือ การเชื่อมต่อระหว่างภาครัฐ หน่วยงานมหาวิทยาลัย และบริษัทเอกชน ปัญหาของบ้านเราคือการที่กลุ่มเอกชนกับนักวิจัยเข้าใจโจทย์ไม่ตรงกัน และใช้เวลานานในการสื่อสารทำให้ระบบการพัฒนาช้า จึงอยากแนะนำให้นักวิจัยใหม่ๆปรับเปลี่ยนแนวคิดระบบวิธีการพยายามติดต่อสื่อสารระหว่างบริษัทเอกชนและมหาวิทยาลัย รวมถึงอยากให้รัฐบาลส่งเสริมระบบเศรษฐกิจ SME ด้วยการผสมวิจัยแบบการตลาด สร้างกลไกงานวิจัย และประชาสัมพันธ์ให้กลุ่มธุรกิจ SME ทราบ เพราะธุรกิจประเภทนี้จะมีความสำคัญในอนาคต
ด้านนายวัลลภ มานะธัญญา ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มบริษัท บางซื่อโรงสีไฟเจียเม้ง จำกัด กล่าวถึงการนำโครงการฟู้ดวัลเลย์เข้ามาใช้เพื่อพัฒนาระบบอุตสาหกรรมอาหารไทย ไม่อยากให้มีเพียงงานวิจัยที่เกิดขึ้นแล้วนำไปต่อยอดไม่ได้ อยากให้มีคนทำวิจัย และมีคนที่เอางานวิจัยไปสร้างให้เกิดผล เป็นแบบ ONE STOP คือทำวิจัยมาแล้วเอาไปประยุกติให้เกิดเป็นรูปธรรมได้เลย
“ทุกวันนี้มีแต่คิด คิดแล้วทำให้เกิดรูปธรรมยังเป็นเรื่องยาก จึงหวังว่าการมีโครงการนี้จะช่วยพัฒนาระบบอุตสาหกรรมแปรรูปได้ดียิ่งขึ้น”