ชี้หลักสูตร “สร้างทักษะอาชีพในร.ร.สายสามัญ” แก้ปัญหาพ่อแม่รับไม่ได้ลูกเรียนช่าง
นักวิชาการไทยมั่นใจปฏิรูปหลักสูตรครั้งใหม่มีหวัง ชี้ต้องปรับการเรียนสายสายสามัญ-สายอาชีพในสัดส่วน 50:50 เรียนจบแล้วได้ประกาศณียบัตรคู่ แนะ 'นำร่อง' ร.ร.ทุกขนาด เพื่อให้เกิดการขยายผลทุกระดับกลุ่ม
เมื่อเร็วๆ นี้ ณ โรงแรมปทุมวันปริ๊นเซล กระทรวงศึกษาธิการ ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) จัด “การประชุมเสวนาวิชาการนานาชาติด้านการศึกษา ครั้งที่ 4 Career Academies ระบบเตรียมความพร้อมด้านอาชีพในระบบโรงเรียนสายสามัญ” โดยดร.วันชัย ดีเอกนามกูล อดีตเลขาธิการ การศึกษาเอกชน และดร.วันชัย ดีเอกนามกูล กรรมการปฏิรูปหลักสูตรเข้าร่วม
ในที่ประชุมมีความเห็นตรงกันว่า ควรปรับการเรียนสายสามัญและสายอาชีพในสัดส่วนที่สมดุลกัน (50:50) ที่สำคัญคือ ต้องมีการเชื่อมโยงและส่งต่อข้อมูลระหว่างการเรียนสายสามัญและสายอาชีพ ยกระดับการเรียนสายอาชีพให้เกิดการยอมรับและมีการมอบใบประกาศณียบัตรสายอาชีพเมื่อจบหลักสูตร โดยเชื่อว่า รูปแบบหลักสูตรดังกล่าวสามารถทำได้ เพราะไม่ได้เริ่มจากศูนย์โดยอาศัยการศึกษาประสบการณ์จากหลักสูตรเตรียมความพร้อมด้านอาชีพในอเมริกา และหลายโรงเรียนในประเทศไทยก็มีการจัดหลักสูตรควบคู่ลักษณะดังกล่าว แม้จะกระจัดกระจายกันอยู่แต่หากเชื่อมต่อกันได้ก็จะเกิดประโยชน์ โดยข้อสรุปจากที่ประชุม จะนำไปสู่การหารือในการประชุมคณะกรรมการปฏิรูปหลักสูตรในวันศุกร์ที่ 19 ก.ค.ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเป็นประธาน
นายทอม คอร์คอแรน ผู้อำนวยการร่วมสถาบันสถาบันวิจัยนโยบายการศึกษา Teacher College แห่งมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมด้านอาชีพในระบบการศึกษาสายสามัญว่า ในสหรัฐอเมริกาประสบปัญหาคล้ายคลึงกับการศึกษาไทย พบเด็กหลุดการศึกษาม.ปลายถึง 25 % ส่วนที่จบม.6 แต่ไม่เรียนต่อมหาวิทยาลัย 5% แต่ปัญหาที่อเมริกาต่อสู้อย่างหนักคือ ทัศนคติที่พ่อแม่คิดว่าส่งลูกไปเรียนมหาวิทยาลัยดีกว่าเรียนอาชีวศึกษา ซึ่งทำให้เกิดปัญหาการว่างงาน ทั้งที่มีตำแหน่งงานรองรับ เพราะแรงงานไร้ทักษะในการประกอบอาชีพ จึงเป็นที่มาของการทำหลักสูตร “การเตรียมความพร้อมด้านอาชีพในระบบโรงเรียนสายสามัญ” (Career Academies)
สำหรับการนำร่องในโรงเรียนสายสามัญ เพื่อแก้ปัญหาหลัก 5 ประการ ได้แก่ 1.) เด็กเบื่อกับการเรียนในระบบ 2.) ลดจำนวนเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา3.) แนะนำเส้นทางอาชีพในอนาคต 4.) เตรียมพร้อมเด็กที่ไม่เรียนต่อให้พร้อมในตลาดแรงงาน และ 5) เตรียมพร้อมเด็กในมหาวิทยาลัยที่เน้นสอนสายเทคนิคอาชีพ จึงเป็นที่มาของโปรแกรม Career Academics 3 รูปแบบ ได้แก่ 1.ชุมชนร่วมเรียนรู้ คล้ายโฮม สคูล (Small Learning Community): เรียนรู้ร่วมกับชุมชน ในครอบครัว 2.) หลักสูตรเตรียมความพร้อมใน “มหาวิทยาลัยที่มีสายเข้มข้นทางด้านวิชาชีพ” และ 3.) ฝึกงานในองค์กรเอกชนที่มีชื่อเสียง ได้ทั้งประสบการณ์ทำงานและการลงมือปฏิบัติ
“ผลวิจัยระบุว่า เด็กที่ผ่านหลักสูตร Career Academies เฉลี่ยจบป.ตรีได้สูงถึง 52 % ขณะที่เด็กที่เรียนสายสามัญจบเพียง 32 % และกว่า 90% ของนักเรียนที่จบหลักสูตรนี้ระบุว่า ช่วยในการวางแผนอาชีพในอนาคต โดยศิษย์ในช่วง 5-10 ปีนี้ระบุว่า 85% ได้ทำงานในองค์กรระดับแนวหน้า" นายทอม กล่าว และว่า สิ่งที่ทำให้หลักสูตรนี้ประสบผลสำเร็วมากที่สุด คือ แม้ว่าเด็กจะเรียนอยู่ในสายสามัญ เด็กก็สามารถมีทักษะเตรียมพร้อมในการทำงานได้ ฉะนั้นหลักสูตรนี้จึงไม่ใช่การเรียนแบบอาชีวศึกษา แต่เป็นหลักสูตรที่พยายามที่จะสร้างให้เกิดการสร้างอาชีพในระดับสายสามัญ เป็นการให้ข้อมูลเพื่อประกอบการตัดสินใจในการประกอบอาชีพในอนาคต ฉะนั้นจึงเป็นหลักสูตรที่พัฒนาให้เด็กมีศักยภาพ และลงมือปฏิบัติจริง และมีโอกาสในการจ้างงานในอนาคต ส่วนหลักสูตรในการเรียนการสอนแบ่งเป็น 16 อาชีพ ซึ่งมีหลักการและแนวทางไว้ให้แล้วทั้งสิ้น ซึ่งเป็นหลักสูตรที่พัฒนาการทำงาน มีทั้งเครื่องมือ คำแนะนำ และสามารถนำไปใช้ได้จริง
ด้านดร.รังสรรค์ มณีเล็ก ที่ปรึกษาด้านพัฒนากระบวนการเรียนรู้ สพฐ. กล่าวว่า ขณะนี้เรากำลังปฏิรูปหลักสูตร ซึ่งนโยบายจะสำเร็จหรือไม่ สิ่งสำคัญอยู่ที่การแปลนโยบายไปสู่ปฏิบัติ โดยการศึกษาเพื่อสร้างอาชีพและการมีงานทำ ต้องเริ่มตั้งแต่อนุบาล เรื่องนี้ต้องทำทั้งระบบ ควบคู่กับงานแนะแนวที่เข้มแข็ง และการทดลองนำร่องควบเริ่มทั้งระดับใหญ่กลางเล็ก เพื่อให้เกิดการขยายผลทุกระดับกลุ่ม และการสอนอาชีพต้องสอดคล้องกับบริบทของแต่ละโรงเรียน โดยให้อำนาจกับโรงเรียนกับการจัดการเรียนการสอนที่เชื่อมโยงกับสถานประกอบการ ชุมชน และสถาบันอาชีวศึกษา นอกจากนี้ควรมีการปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์ การให้ค่านิยมเรื่องการทำงานและนโยบายของผู้บริหารที่ต้องต่อเนื่องและจริงจัง
ส่วนนางวิภา เกตุเพทา ครูแนะแนวโรงเรียนสตรีวิทยา 2 หัวหน้ากลุ่มแนะนำที่รวมตัวเครือข่ายครูแนะแนวจากทั่วประเทศ กล่าวถึงปัญหาแนะแนวเกี่ยวกับอาชีวศึกษา 5 ประการ คือ 1. ขาดไว้วางใจในการดูแลนักเรียนในระบบอาชีวศึกษา 2.เด็กและผู้ปกครองขาดความเชื่อมมั่นในระบบอาชีวศึกษา 3.เด็กขาดความภาคภูมิใจในตัวเอง และ4. ทั้งเด็กและผู้ปกครองจะมั่นใจได้อย่างไรว่า เขาจะเข้ามหาวิทยาลัยได้อย่างไร? อาชีวศึกษาเลยทำให้เด็กไม่ไปไหน ประกอบกับปัญหาเชิงระบบที่ซับซ้อน ฉะนั้นต้องอาศัยระบบพี่เลี้ยงและระบบโค้ชชิ่งเข้ามาช่วยเหลือคอยประกบ โดยสิ่งที่ต้องการเร่งด่วนคือ ระบบการแนะแนวและระบบสารสนเทศ เพราะเด็กไม่รู้ว่า จบไปแล้วทำอะไร ต้องมีเครื่องมือคัดกรองและข้อมูลที่บอกว่า เขาถนัดแบบไหน อย่างไร? เพื่อให้เด็กสามารถรู้ว่า ตัวเองควรจะเลือกเรียนทางไหนได้อย่างเหมาะสม
สุดท้ายนายรวิศุทธ์ คณิตกุลเศรษฐ์ ผู้ช่วยประธานเครือข่ายยุวทัศน์ โรงเรียนสตรีวิทยา กล่าวว่า เด็กไทยเติบโตมากับความฝันที่ว่า อยากเข้ามหาวิทยาลัยดังๆ แต่การเรียนทุกวันนี้เรียนหนักเสียจนค้นพบตัวเองไม่เจอว่าชอบอะไร บางครั้งเรียนตามพ่อแม่ ทำให้เด็กไทยเลยไม่มีความฝักใฝ่และความตั้งใจในการประกอบอาชีพที่ตัวเองสนใจ จึงคิดว่า น่าจะมีหลักสูตรที่ทำให้เด็กไทยรู้ว่า พวกเขาอยากประกอบอาชีพอะไร และคิดว่า ต้องมีการปรับทัศนคติให้มีการเรียนทั้งสายอาชีพและสายสามัญไปพร้อมๆกัน เพื่อนำไปสู่พื้นฐานในการดำรงชีวิต โดยมีเป้าหมายที่อยากให้เปลี่ยนความฝันของเด็กไทยจากเรียนต่อในมหาวิทยาลัยดีๆเป็นได้เรียนในอาชีพที่ตัวเองชอบ