ฉ้อฉลคืนภาษี 4.2 พันล้าน -บ่วงรัดคอเสือ 11 ตัวกรมสรรพากร
กรณีอื้อฉาวการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มมูลค่ากว่า 4.2 พันล้านบาทของกรมสรรพากร ซึ่งเป็นข่าวสืบสวนที่สำนักข่าวอิศรา www.isranew.org นำเสนออย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2556 ที่ผ่านมาจนถึงขณะนี้อาจทำให้ข้าราชการระดับสูงของกรมสรรพากรบางคนถูกชี้มูลทางวินัยและอาจถูกดำเนินคดีทางอาญาในข้อหาปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต
ขอไล่เรียงข้อเท็จจริงให้เห็นดังนี้
การคืนภาษีเกิดขึ้นจากกลุ่มบุคคลกลุ่มหนึ่งได้ก่อตั้งบริษัทขึ้นมาในเวลาไล่เลี่ยกันหลายบริษัท โดยใช้ชื่อชาวบ้านในต่างจังหวัดเป็นกรรมการ เช่าห้องเปล่าเป็นที่ตั้งสำนักงาน
อ้างว่าประกอบธุรกิจส่งออกแร่โลหะ
แต่ทว่าไม่ได้ประกอบการ ไม่มีการส่งออกสินค้าจริง แล้วกรรมการบริษัททำหนังสือมอบอำนาจให้บุคคลมายื่นเรื่องขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม 7 % กับกรมสรรพากร ทำเป็นขบวนการโยงใยเป็นเครือข่ายลักษณะแบ่งหน้าที่กันทำ
มีหลักฐานน่าเชื่อว่าขบวนการนี้เริ่มต้นจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทตั้งแต่ปี 2553 โดยใช้“อีเมล์”ติดต่อสื่อสารระหว่างบุคคลอย่างน้อย 3 คน
ในขั้นตอนการทำงานของเจ้าหน้าที่นั้น โดยปกติแล้วการยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.30) ของผู้ประกอบการแต่ละราย โดยเฉพาะรายที่จดทะเบียนตั้งใหม่และมีการยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มเพื่อขอคืนภาษี
ฝ่ายคืนภาษีจะส่งข้อมูลให้ทีมกำกับดูแลเพื่อตรวจสอบรายละเอียดของการประกอบกิจการก่อนการอนุมัติคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาในการตรวจสอบนานนับเดือน หรืออาจเป็นปี
หากผลการตรวจสอบการคืนภาษีในเดือนแรกที่ส่งให้ทีมกำกับดูแลตรวจสอบและเจ้าหน้าที่ยังตรวจไม่เสร็จสิ้น
ในเดือนถัดไปยังมีการขอคืนภาษีจะมีการยับยั้งการอนุมัติการคืนไว้ก่อน
กรณีนี้ผู้ประกอบการกลุ่มนี้ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม มียอดขายเป็นยอดส่งออกสินค้าหลายร้อยล้านและขอคืนด้วยเงินสดในแต่ละเดือนภาษีเป็นเงินจำนวนมากตั้งแต่ หลัก 2 -9 ล้านบาท ในเดือนแรกที่ยื่นแบบและ 30 -60 ล้านบาท ในเดือนถัดไปอีกประมาณ 5 เดือน และได้แจ้งเลิกประกอบกิจการทั้งต่อกรมสรรพากร และกรมพัฒนาธุรกิจการค้า รวมถึงจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีแล้ว จำนวน 14 บริษัท ยังคงประกอบกิจการอยู่อีก 6 บริษัท (เฉพาะพื้นที่บางรัก)
พฤติกรรมการทำงานของเจ้าหน้าที่ คือ เมื่อบริษัทยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มในเดือนแรกฝ่ายคืนภาษีได้ส่งข้อมูลให้ทีมกำกับดูแลตามระเบียบ
แต่การปฏิบัติงานของทีมกำกับดูแลเสมือนได้ตรวจสอบ ใช้ระยะเวลาในการดำเนินการของทีมกำกับในช่วงแรกดำเนินการตรวจสอบเพียง 1 วัน และแจ้งให้คืนภาษีได้
เบื้องหลังของการทำงานที่รวดเร็ว มีข้อมูลระบุว่าในแต่ละเดือนเจ้าหน้าที่จะได้รับคำสั่งจากบุคคลหนึ่งให้รีบดำเนินการทั้งการบันทึกข้อมูลแบบแสดงรายการหลังจากบริษัทยื่นแบบและรีบคืนภาษี
พื้นที่ที่เกิดปัญหามากคือสำนักงานสรรพากรพื้นที่บางรัก 1 ใน 11 พื้นที่ของกรุงเทพฯมีการคืนภาษีให้ผู้ประกอบการถึง 30 บริษัทวงเงินกว่า 3,600 ล้านบาท
กล่าวกันว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ทองคำที่ผู้บริหารระดับสูงจะส่งคนใกล้ชิดมาดูแลจนได้รับฉายาจากคนภายในกรมสรรพากรว่าเป็น“เสือ 11 ตัว"
สอดรับกับงานวิจัย เรื่อง การคอร์รัปชั่นในระบบราชการไทย ของอาจารย์ผาสุก พงษ์ไพจิตร อาจารย์นวลน้อย ตรีรัตน์ อาจารย์สังศิต พิริยะรังสรรค์ สักกรินทร์ นิยมศิลป์ ปี 2541 (ได้รับทุนสนับสนุนจาก ป.ป.ป.) ได้วิเคราะห์ปัญหาด้านบุคลากรของกรมสรรพากรต่อปัญหาการทุจริตภาษีมูลค่าเพิ่มว่ามี “จุดอ่อน”ทางด้านเจ้าหน้าที่มี 3 ประการ
1.เจ้าหน้าที่สรรพากรร่วมมือกับผู้ประกอบการ หรือสำนักงานบัญชีในการทุจริต โดยการแนะนำวิธีการออกใบกำกับภาษีปลอม หาช่องว่างของกฎหมายที่สามารถหลีกเลี่ยงได้ หรือแนะนำจุดอ่อนของระบบตรวจสอบว่าไม่มีประสิทธิภาพ
2.เจ้าหน้าที่ขาดความรู้เกี่ยวกับกฎระเบียบ หรือข้อบังคับเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม ทำให้การทำงานขาดประสิทธิภาพ
3.เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่มมีจำนวนน้อยกว่าผู้ประกอบการ เนื่องจากเทคโนโลยีในการช่วยตรวจสอบไม่มี กระบวนการตรวจสอบจึงเป็นภาระอยู่ที่เจ้าหน้าที่เท่านั้น
ในท้ายที่สุดเชื่อว่าเรื่องนี้จะเข้าสู่กระบวนการไต่สวนข้อเท็จจริงของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ไม่ว่าจากช่องทางของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ที่กำลังสอบสวน ช่องทางของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่กระทรวงการคลังแต่งตั้งขึ้น หรือมีผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษโดยตรงก็ตาม
และเชื่ออีกว่าจะมีข้าราชการระดับสูงบางคน นอกจากถูกชี้มูลทางวินัยและดำเนินคดีอาญาแล้วอาจถูกไต่สวนในข้อหาร่ำรวยผิดปกติ และเป็นคดีแรกในประวัติศาสตร์ที่ข้าราชการระดับสูงกรมสรรพากรถูกยึดทรัพย์
………….
หมายเหตุ บทวิเคราะห์นี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน มิใช่ความเห็นและมีส่วนเกี่ยวข้องกับสำนักงาน ป.ป.ช.