สิ่งที่ต้องทำควบคู่กับ "ข้อริเริ่มสันติภาพช่วงรอมฎอนปี 2013"
อุสตาซอับดุชชะกูรฺ บินชาฟิอีย์ (อับดุลสุโก ดินอะ) ผู้ช่วยผู้จัดการโรงเรียนจริยธรรมศึกษามูลนิธิ อ.จะนะ จ.สงขลา เขียนบทความแสดงความคิดเห็นนำเสนอในบล็อกโอเคเนชั่น เกี่ยวกับสิ่งที่ต้องทำควบคู่ไปกับ "ข้อริเริ่มสันติภาพช่วงรอมฎอน"
เป็นความเห็นหนึ่งของคนในพื้นที่ขัดแย้งภายหลังการแถลงท่าทีของทั้งฝ่ายรัฐบาลไทยกับฝ่ายขบวนการบีอาร์เอ็น ผ่านทางผู้อำนวยความสะดวกการพูดคุยสันติภาพที่มาเลเซีย เมื่อวันศุกร์ที่ 12 ก.ค.2556...
"มวลการสรรเสริญเป็นสิทธิของอัลลอฮฺ (สุบหานะฮูวะตะอาลา) ผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลก ขอความจำเริญและสันติจงประสบแด่นบีมุฮัมมัด ผู้เจริญรอยตามท่านและสุขสวัสดีผู้อ่านทุกท่าน
ตามที่เมื่อวันที่ 12 ก.ค.2013 เวลา 15.30 น. Datuk Seri Ahmad Zamzamin Hashim ผู้อำนวยความสะดวกชาวมาเลเซียได้แถลงข่าวเรื่อง "ข้อริเริ่มสันติภาพช่วงรอมฎอน ปี 2013" ณ โรงแรม Seri Pacific กรุงกัวลาลัมเปอร์ ซึ่งในเนื้อหาเป็นนิมิตหมายอันดีในการสร้างความไว้วางใจซึ่งกันและกันโดยยึดความต้องการของคนส่วนใหญ่ในพื้นที่ (ต้องการให้เดือนรอมฎอนที่ชายแดนใต้ปีนี้สงบ สันติ และทำศาสนกิจอย่างไร้กังวล...โปรดอ่านเพิ่มเติมใน http://thaingo.org/thaingo/node/2365)
ถึงแม้คำแถลงดังกล่าวจะไม่มีคำว่า "หยุดยิง" ตามที่สื่อหลายสำนักพาดหัว ถึงแม้จะไม่มีลงลายมือชื่อจากฝ่ายรัฐบาลไทยและบีอาร์เอ็น แต่การที่รัฐบาลมาเลเซียกล้าออกแถลงการณ์ต่อหน้าสื่อนานาชาติก็คงเป็นหลักประกันได้
ผู้เขียนขอสนับสนุนคำแถลงนี้และยินดีด้วยต่อกระบวนการพูดคุยที่จะดำเนินต่อและขอให้ทั้งสองฝ่ายรวมทั้งกองเชียร์จงอดทนกับกระบวนการสันติภาพที่เพิ่งตั้งไข่หรือยังเป็นเด็กเล็กอยู่ ซึ่งเราจะต้องช่วยประคับประคองต่อไป (นอกจากผู้ที่ไม่รักสันติภาพด้วย หรือ peace spoiler หรือจะเรียกให้หนักว่า ผู้ทำลายกระบวนการสันติภาพก็ได้)
Shintaro Hara ตั้งข้อสังเกตว่า "ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในดินแดนปาตานี (ชายแดนใต้) ก็แค่ส่วนหนึ่งของปัญหา ยังมีปัญหาต่างๆ ที่จำเป็นต้องได้รับการแก้ไข อาทิ ปัญหายาเสพติด ปัญหาอำนาจมืด การละเมิดสิทธิมนุษยชน การบังคับใช้กฎหหมายพิเศษ การเยียวยาผู้ที่ได้รับความเสียหาย การยอมรับศาสนา วัฒนธรรม เชื้อชาติ และภาษาที่แตกต่าง ความปลอดภัยของชาวบ้าน รวมไปถึงรูปแบบการปกครองในอนาคตด้วย กระบวนการสันติภาพก็จะปรากฏตัวหลังจากปัญหาเหล่านี้ได้รับการแก้ไข ความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นปัญหาที่แก้ไขยาก แต่ไม่ใช่ปัญหาที่แก้ไขไม่ได้ ตราบใดที่ทุกฝ่ายให้ความรวมมือและปฏิบัติหน้าที่อย่างจริงจัง หวังว่าข้อตกลงครั้งนี้จะเป็นกรณีตัวอย่าง (model case) ของความรวมมือเพื่อนำไปสู่สันติภาพอันแท้จริง" (โปรดดูใน https://www.facebook.com/shintaro.hara.75?fref=ts)
ดังนั้นสิ่งที่รัฐหรือภาคประชาสังคมจะต้องช่วยหนุนเสริมต่อมีอยู่ 5 ยุทธศาสตร์ใหญ่ กล่าวคือ
1.การขยายประชาธิปไตยที่ควบคู่กับคุณธรรมหรือสร้างให้คนในชุมชนเป็นพลเมือง
2.การดำรงไว้ซึ่งความยุติธรรม
3.การสร้างความเข้าใจของกระบวนการสร้างสันติภาพทั้งกับคนในและนอกพื้นที่
4.การพัฒนายกระดับคุณภาพชีวิตที่สอดคล้องกับคนในพื้นที่
5.การส่งเสริมด้านอัตลักษณ์ ศาสนา ภาษา และวัฒนธรรมกับประชาชน
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : อับดุลสุโก ดินอะ