“แก้วสรร” แจงขยายเวลาคืนคลื่น 1800 เพื่อดึงจากมือรัฐ
เวทีถกคลื่น 1800 MHz หมดสัมปทานดุเดือด ! “แก้วสรร” ย้ำประกาศ กสทช.สั่ง “ทรูมูฟ-ดีพีซี” ให้บริการต่ออีกหนึ่งปีจำเป็น หวังดึงคลื่นออกจากมือรัฐ “เดือนเด่น” เผยพิรุธไม่เร่งประมูล ชี้อาจมีปัญหาแค่ 8 หมื่นเบอร์ ไม่ใช่ 17 ล้านเบอร์ ด้าน “ประวิทย์” ย้ำนัก กม.ยันยืดเวลาคืนคลื่นหลังหมดสัมปทานไม่ได้
(แก้วสรร อติโพธิ - ภาพจากเว็บไซต์เอเอสทีวีผู้จัดการ)
เมื่อวันที่ 12 ก.ค.2556 ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย มีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็น เรื่อง “ทางออกผู้บริโภค กรณีซิมดับ จากการหมดอายุสัมปทานคลื่นความถี่ 1800 MHz” โดยนายแก้วสรร อติโพธิ หัวหน้าคณะทำงานการมีส่วนร่วมและสร้างความเข้าใจแนวทางการอนุญาตให้ใช้คลื่น 1800 MHz ของ กสทช. กล่าวว่า ส่วนตัวไม่พอใจการเป็นปรสิตของรัฐวิสาหกิจ ซึ่งคลื่นความถี่ที่จะหมดอายุสัมปทาน กสท.กับทีโอทีจะไม่ยอมคืนโดยอ้างความจำเป็น ซึ่งตามกฎหมายทำไม่ได้ เพราะรัฐธรรมนูญให้เปลี่ยนจากระบบสัมปทานมาเป็นระบบเสรี อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนผ่านครั้งนี้หากทำไม่ดีจะเข้าทางรัฐวิสาหกิจ ทั้งนี้ โจทย์สำคัญจากการสิ้นสุดอายุสัมปทานคลื่น 1800 MHz ของทรูมูฟที่มีลูกค้ากว่า 17 ล้านหมายเลข และดิจิตอลโฟน (ดีพีซี) ที่มีลูกค้ากว่า 5 หมื่นหมายเลข คือจะทำอย่างไรกับลูกค้าที่ค้างอยู่ในระบบ
นายแก้วสรร กล่าวว่า ส่วนตัวก็คิดเหมือนทุกคนว่า เวลาผ่านมานาน กสทช.มัวแต่ไปทำอะไรอยู่ ทำไมไม่รีบประมูลแล้วเอารายใหม่มาสวมคลื่น 1800 MHz เลย แต่คำตอบก็คือมันไม่ได้ เพราะไม่มีใครว่าเขาจะเอาคลื่นใหม่ไปทำอะไร 2G 3G หรือ 4G สมมุติประมูล 3G ไป ลูกค้าเดิมซึ่งเป็น 2G ก็เอาไปเสียบไม่ได้ นี่คือที่มาของการออกร่างประกาศคุ้มครองฯ ให้ทรูมูฟและดีพีซี ต้องให้บริการต่อไปอีก 1 ปี เพื่อเปิดโอกาสให้ลูกค้าได้ย้ายค่าย ไม่ให้เกิดกรณีซิมดับ โดยจะมีการทำประชาพิจารณ์ ในวันที่ 25 ก.ค.2556 ซึ่งการประชาพิจารณ์ร่างประกาศคุ้มครองฯ นี้ จะต้องมีการไต่สวนสาธารณะ โดยกรรมการซึ่งเป็นคนกลางมาทำหน้าที่ ไล่เรียงถามไปทีละประเด็น แล้วสรุปเป็นความเห็นว่าคิดอย่างไร เสนอต่อ กสทช.
เมื่อถามว่าที่ผ่านมา กสทช.ไม่เคยฟังองค์กรผู้บริโภคเลย หรือฟังก็ไม่เคยนำไปปรับปรุงแก้ไขอะไร นายแก้วสรร กล่าวว่า แล้วจะยอมให้เกิดกรณีซิมดับหรือไม่ ถ้าคุณเป็นองค์กรผู้บริโภคต้องไม่ยอม คุณต้องกลืนความสยดสยองของตัวเองลงไป แล้วทำทำหน้าที่แทนผู้บริโภคเพื่อไม่ให้ซิมดับ
“แจ๊คตัวน้อยนี้ต้องไปสู้กับยักษ์ เพื่อเอาคลื่นคืนมาให้ได้ ส่วนแจ๊คอาจจะดูน่าเกลียดบ้าง งานการไม่ค่อยทำ บินไปเมืองนอกเป็นประจำ ก็แล้วแต่ แต่เราจะยอมให้คลื่นนี้ถูกจองจำไว้เช่นเดิมหรือไม่ ถ้าเป็นผม ผมจะยอมกล้ำกลืนความไม่ไว้วางใจ กสทช.เอาไว้ ผมจะต้องทำให้คลื่นนี้หลุดมาสู่ระบบเสรีให้ได้ ถ้ามัวแต่วัดกันอยู่ตรงนี้ จนคลื่นหลุดออกไป จะกลายเป็นเตะหมูเข้าปากหมา คลื่นก็ยังอยู่ในมือรัฐวิสาหกิจต่อไป” นายแก้วสรรกล่าว
นายแก้วสรร ยังกล่าวว่า ตนขอตั้งคำถามกลับไปยังองค์กรผู้บริโภคบ้างว่า ที่มีตัวแทนอยู่ใน กสทช.อย่าง นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กับ น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ แล้วเวลาที่ผ่านมาทำอะไรอยู่ ถ้าเป็นตนๆ จะถอดคนทั้งสองออกแล้ว
ด้าน ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ นักวิจัยจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ในฐานะอนุกรรมการเตรียมความพร้อมสำหรับการบริหารคลื่น 1800 MHz กล่าวว่า อนุกรรมการฯ ชุดนี้เสนอความเห็นต่อ กสทช.ไปเมื่อเดือน ม.ค.2556 แต่ดูเหมือนเขาจะไม่พอใจข้อเสนอดังกล่าว เพราะไม่เคยมีการเรียกประชุมอีกเลย พร้อมกับตั้งคณะอนุกรรมการอีกชุดขึ้นมาทำหน้าที่แทน สาเหตุที่อนุกรรมการฯ ชุดนี้เสนอให้เร่งจัดให้มีการประมูลคลื่น 1800 MHz เพราะคณะอนุกรรมการที่ปรึกษากฎหมายของ กสทช.ที่มีนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า เป็นประธานได้ระบุชัดเจนว่า การต่อเวลาการให้บริการไม่สามารถทำได้ นอกจากนี้ถ้ายึดตามการประมูลคลื่น 2100 MHz หรือ 3G ก็ใช้เวลาเตรียมการก่อนประมูลแค่ 6 เดือนเท่านั้น หาก กสทช.ยึดตามข้อเสนอของอนุกรรมการฯ ชุดนี้ เวลานี้ก็น่าจะเริ่มต้นจัดให้มีการประมูลได้
“ที่บอกว่าประมูลไม่ทัน จริงๆ แล้วทำได้ เพราะประเทศอื่น ก็ใช้เวลาไม่มากไปกว่านี้” ดร.เดือนเด่นกล่าว
ดร.เดือนเด่นยังกล่าวว่า ขอตั้งข้อสังเกตว่า ที่บอกว่าทรูมูฟมีลูกค้ากว่า 17 ล้านหมายเลข ตนไม่แน่ใจว่าเป็นตัวเลขจริงหรือไม่ เพราะอนุกรรมการฯ ก็ไม่เคยได้รับตัวเลขจาก กสทช.เลย ซึ่งแปลกมาก เรื่องการโอนย้ายที่มีคนบอกว่าเหมือนเอาลูกค้าเป็นตัวประกัน จริงๆ แล้วที่จะมีปัญหาคือลูกค้าชนิดโพสต์เพด ที่มีจำนวนแค่กว่า 8 หมื่นหมายเลขเท่านั้น ส่วนที่เหลือเป็นพรีเพด ซึ่งไม่ใช่ปัญหาเลย ปัญหาจึงไม่ได้รุนแรงอย่างที่เขาพยายามพูด
ด้าน นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการ กทค.และ กสทช.กล่าวว่า ความจริงเอกชนอยากให้มีการประมูลคลื่นโดยเร็ว จะได้เตรียมเงินไว้ประมูลและเตรียมย้ายลูกค้า ดีพีซีเองก็ทำแผนรองรับกรณีหมดอายุสัมปทาน ทั้งการโอนย้ายค่ายและโอนสิทธิหากยังมีลูกค้าค้างอยู่ แต่ กสทช.กลับไปสั่งให้ดีพีซีให้บริการต่ออีก 1 ปี แม้หลายประเทศจะมีการขยายเวลาให้ผู้ประกอบการหลังหมดอายุสัมปทาน แต่ข้อแตกต่างคือประเทศเหล่านั้นไม่มีกฎหมายที่เขียนว่า การจัดสรรคลื่นความถี่ต้องใช้วิธีการประมูลเท่านั้น ทั้งนี้ ตนเคยเชิญนักกฎหมายจากมหาวิทยาลัยต่างๆ รวมถึงนายแก้วสรรหาหารือกัน แต่นายแก้วสรรติดธุระไม่ได้เข้าประชุม ทุกคนในที่ประชุม 100% ก็บอกว่า มันทำไม่ได้ ตนก็นำความเห็นดังกล่าวเสนอที่ประชุม กทค. ดังนั้น ที่มี กรรมการ กทค.และ กสทช.บางคนบอกว่า ตนเอาแต่ค้านไม่เคยเสนอทางออก จริงๆ คือเสนอทางออกแล้ว อยากให้คนๆ นั้นหัดกลับไปอ่านเอกสารการประชุมเสียบ้าง
“แม้แต่คุณแก้วสรรเองก็เคยยอมรับว่าเรื่องนี้มีประเด็นทางกฎหมาย แต่เมื่อเข้าสู่ที่ประชุม กทค.และที่ประชุม กสทช. กลับไม่มีการเสนอให้คณะอนุกรรมการที่ปรึกษากฎหมาย กสทช.ไปพิจารณา โดยมีกรรการ กสทช.บางคนหลุดปากว่าถ้ายื่นไปแล้วเขาบอกว่าทำไม่ได้จะทำอย่างไร” นพ.ประวิทย์กล่าว