‘วราเทพ’ น้อมรับคำ ‘ดร.โกร่ง’ จำนำข้าวกระทบการคลัง-พร้อมเปลี่ยนเมื่อชาวนามีรายได้ดีขึ้น
‘วราเทพ’ น้อมรับคำเตือน ‘ดร.โกร่ง’ หวั่นจำนำข้าวกระทบการเงิน ยืนยันเดินหน้าโครงการต่อ เเต่ไม่ปฏิเสธเปลี่ยนรูปเเบบหากชาวนามีรายได้เพียงพอ
วันที่ 12 ก.ค. 56 ที่กรมส่งเสริมการเกษตร บางเขน นายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (รมช.กษ.) กล่าวภายหลังเข้ามอบนโยบายแก่กรมส่งเสริมการเกษตรว่า ได้เน้นให้มีแนวทางการดำเนินแผนงานที่ชัดเจนและมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะการบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐ แม้จะมีข้อจำกัดด้านบุคลากรและงบประมาณที่ไม่เพียงพอก็ตาม นอกจากนี้ยังขอความร่วมมือให้หาวิธีการแก้ปัญหาด้านการเกษตรที่ต้นเหตุมากกว่าการเยียวยา เพื่อหวังลดงบประมาณภาครัฐและคุ้มค่ากว่า แต่กรมส่งเสริมการเกษตรจะต้องพิสูจน์ให้เห็นว่าวิธีการดังกล่าวใช้ได้ผลจริง
รมช.กษ. ยังกล่าวถึงกรณีดร.วีระพงษ์ รามางกูร ประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.) แสดงความเป็นห่วงโครงการรับจำนำข้าวจะส่งผลกระทบต่อสถานะทางการคลังชาตินั้น เห็นว่าเป็นนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งแก้ไขปัญหา ตราบใดที่เกษตรกรยังมีรายได้ไม่เพียงพอ จำเป็นต้องเข้าไปดูแล แต่เมื่อผ่านไประยะหนึ่ง เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น อาจจะมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบของโครงการจำนำข้าวได้ พร้อมยืนยันว่ารัฐบาลดำเนินงานตามหลักเกณฑ์และกรอบนโยบายการคลังเคร่งครัด
“การวางกรอบการรับจำนำข้าวต่อปีในปริมาณ 22 ล้านตัน มีวงเงินที่ใช้ในโครงการ 5 แสนล้านบาท รวมทั้งการปรับกรอบราคารับจำนำล้วนเป็นการปรับเปลี่ยนเพื่อให้เกิดความสมดุลทั้งสิ้น แต่อนาคตจะมีการปรับลดราคาอย่างไรนั้นต้องรอรวบรวมข้อมูลจากทุกหน่วยงานก่อน” นายวราเทพ ทิ้งท้าย
ด้านนางพรรณพิมล ชัญญานุวัตร อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวถึงการตรวจสอบทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว ปัจจุบันสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และตำรวจภูธรทั้ง 9 ภาค ตรวจสอบการขึ้นทะเบียนผู้ปลูกข้าว 904,606 ครัวเรือน พบมีกรณีน่าสงสัย 25 ราย เกี่ยวข้องกับการขึ้นทะเบียน 3 ราย ได้แก่ 1.จ.นครปฐม 1 ราย นำพื้นที่ปลูกอ้อยไปขึ้นทะเบียนปลูกข้าว ศาลจึงตัดสินโทษจำคุก และ 2.จ.กาญจนบุรี 2 ราย เกษตรกรแก้ไขตัวเลขโฉนดที่ดิน ซึ่งอยู่ระหว่าการสอบสวน
ส่วนคดีที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) มีการสวมสิทธิ์โดยนำใบรับรองไปใช้โดยผิดกฎหมายใน 7 จังหวัด คือ นครนายก, ปราจีนบุรี, บุรีรัมย์, สระแก้ว, กำแพงเพชร, พิษณุโลก และพะเยา
“กรณีที่ไม่เกี่ยวข้องกับการขึ้นทะเบียน โดยพบว่าข้อมูลใบรับรองกับใบชั่งประทวนไม่สอดคล้องกัน 11 จังหวัด คือ สิงห์บุรี, ปราจีนบุรี, เพชรบุรี, สุพรรณบุรี, ชัยภูมิ, นครราชสีมา, อุดรธานี, นครศรีธรรมราช, พิษณุโลก, นครสวรรค์ และเพชรบูรณ์” อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าว และว่ายังมีการพบทำเอกสารเช่นเป็นเท็จ 21 ราย ในจ.กาญจนบุรีด้วย ทั้งนี้ทั้ง 3 คดีกำลังอยู่ในขั้นตอนการสอบสวนของดีเอสไอ
พร้อมกันนี้ นางพรรณพิมลได้ชี้แจงกรอบระยะเวลาการขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2556/57 โดยจะเปิดในวันที่ 1 ก.ค. 56-30 มิ.ย. 57 โดยเกษตรกรสามารถขึ้นทะเบียนได้ปีละ 2 ครั้ง/แปลง และจะมีการออกใบรับรอง ตั้งแต่วันที่ 15 ก.ค. 56-15 ก.ย. 57 ด้วย .