นักศึกษา ป.เอก มหา'ลัยโซล ฉายภาพ ‘เค วอเตอร์’ บทเรียนที่ รบ.ไทยอย่าเดินซ้ำรอย
ขณะที่โครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท ของรัฐบาล เดินมาถึงขั้นที่กระทรวงการคลังลงนามเซ็นสัญญากู้เงิน และเตรียมเดินหน้าเซ็นสัญญากับบริษัทที่ผ่านการประมูลในปลายปีนี้ โดยบริษัทที่ถูกจับตา และพูดถึงเป็นพิเศษหนีไม่พ้น 'เค วอเตอร์' ที่ชนะประมูล 2 โมดูลใหญ่ ได้แก่ โมดูล A3 แก้มลิง และโมดูล A5 ฟลัดเวย์ มูลค่างานรวม 1.62 แสนล้านบาท
สำนักข่าวอิศรา พามารู้จัก 'เค วอเตอร์' ผ่านมุมมอง พ.ต.ท.ปริญญา เจริญบัณฑิต นักเรียนปริญญาเอก สาขาการวางผังภาคและเมือง มหาวิทยาลัยแห่งชาติโซล ประเทศเกาหลี (Urban and Regional Planing Seoul National University) ที่รวบรวมข้อมูลจากเอกสารสาธารณะ จากผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมที่นำไปออกฟรีทีวีดีเบตกับรัฐบาลที่เกาหลี มากลั่นเป็นบทความ 4 ตอน สะท้อนบทเรียน 'เค วอเตอร์' กับโครงการสี่แม่น้ำ เผยแพร่ทางโซเชียล มีเดีย
โดยเขาได้แจ้งเจตนารมย์ในการเขียนไว้เบื้องต้นว่า... อ่านบทความชุดนี้แล้ว อยากให้ "เข้าใจเขา เข้าใจเรา" ได้ศึกษา รู้จักกับโครงการบริหารจัดการน้ำแบบครบวงจรสไตล์เกาหลี ของเค วอเตอร์ ว่ามีกรณีศึกษา ข้อผิดพลาด แนวคิดใดบ้าง ที่คนไทยน่าจะเรียนรู้ไว้... เพื่อให้ไม่ต้องเดินตามความผิดพลาดนั้น
- ทราบว่ารับราชการตำรวจ แต่เรียนปริญญาเอกเรื่องผังเมือง เกี่ยวข้องกันอย่างไร?
เมื่อปี 2543 ผมจบคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำงานสถาปนิกสักพัก ก่อนเข้ารับราชการในกองโยธาธิการ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เมื่อปี 2546 ได้ลาศึกษาต่อปริญญาโท ด้านบริหารจัดการอาคาร และได้ภรรยาเป็นคนเกาหลี จึงสนใจ ได้ศึกษาและไปประเทศเกาหลีบ่อยๆ
จากนั้น ผมกลับมารับราชการต่อ และขณะนี้ในวัย 35 ปี ได้รับโอกาสให้ไปศึกษาต่อปริญญาเอก สาขาผังเมือง อีกประมาณปีครึ่งจะจบ และคาดว่าจะทำวิทยานิพนธ์ในเรื่องนี้
- เห็นว่ามีบล็อก และเขียนบันทึกอยู่เสมอ
ปกติเป็นคนชอบเขียนอยู่แล้ว จะมีทั้งเขียนบันทึก และในบล็อก โดยเฉพาะเวลาที่มีอะไรน่าสนใจ และกระทบต่อความเป็นไปของบ้านเมือง
- แสดงว่าเรื่องเค วอเตอร์ และโครงการบริหารจัดการน้ำค่อนข้างน่าสนใจ และกระทบต่อความเป็นไปของบ้านเมือง?
ใช่ครับ ถ้าเราไม่ระวังดีๆ อาจเกิดความเสียหายได้
- กระทบอย่างไร ถึงกับต้องลุกขึ้นมาเขียนเรื่องนี้ถึง 4 ตอน
จริงๆ แล้ว ผมอยากเขียนเรื่องเค วอเตอร์มานานแล้ว เพราะผมติดตามเรื่องโครงการ 4 แม่น้ำ มาตั้งแต่ก่อนจะมีการประมูลโครงการบริหารจัดการน้ำในไทย เนื่องจากที่เกาหลีมีการเคลื่อนไหวของนักสิ่งแวดล้อมเรื่องโครงการ 4 แม่น้ำและบริษัทเค วอเตอร์ มีคนประท้วงในรูปแบบต่างๆ มาก
ผมได้ติดตามข้อมูล และได้เรียนวิชาเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อม จึงเริ่มรู้ว่าบริษัทเค วอเตอร์เกี่ยวกับโครงการ 4 แม่น้ำอย่างไร พร้อมกับที่ได้ยินว่ากำลังจะมีโครงการแบบเดียวกันเกิดขึ้นในไทย
พอเก็บข้อมูลมาเรื่อยๆ ผมคิดว่าเรื่องนี้ ต้องให้คนไทยได้รู้ว่า หากไทยเอาเค วอเตอร์มาบริหารจัดการน้ำ น่าจะออกมาคล้ายคลึงกับโครงการ 4 แม่น้ำอย่างแน่นอน
"ก่อนหน้านี้ยุ่งๆ ยังไม่ได้เขียน" ...
จนกระทั่งได้ยินข่าวว่าช่อง 5 ถูกตัดรายงานเรื่องนี้ ผมคิดว่า ผมควรรีบเขียน เพราะเริ่มมีเรื่องแปลกๆ เกิดขึ้นแล้ว
- ผลตอบรับจากสังคมโซเชียลมีเดีย หลังจากบทความเผยแพร่ไปเป็นอย่างไร
แปลกนะ... ส่วนมากมีแต่เข้ามาถามข้อมูลทางวิชาการ มาชมและมาสนับสนุน
- เทคโนโลยี สไตล์เกาหลี เป็นอย่างไร
การทำงานสไตล์เกาหลีจะเน้นเร็วๆ ทำแค่เสร็จ ตามข้อตกลงที่ตั้งไว้ ไม่ขาด ไม่เกิน ตามลักษณะคนเกาหลีที่มักเป็นคนใจร้อน ชอบทำอะไรให้เสร็จเร็วๆ
เช่น หากปรับปรุงห้อง 1 ห้อง ผู้รับเหมาไทย อาจใช้เวลานาน หนีงาน พักดื่มเบียร์ แต่ถ้าสไตล์เกาหลี จะสร้างเสร็จอย่างรวดเร็วตามแบบที่กำหนดเพียงเท่านั้น เพื่อไปทำงานอื่นต่อ เขาคิดว่าเวลาเป็นเงินเป็นทอง
และผมเชื่อว่าบริษัทแบบ เค วอเตอร์ คงมีสไตล์ไม่ต่างกัน...
ส่วนการทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม คงเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดขั้นต่ำไว้เท่านั้น ซึ่งอาจใช้เทคนิคแบบที่คนไทยชอบเลี่ยงกัน เช่น กฏหมายกำหนดพื้นที่ไว้ระดับหนึ่ง ผู้ทำก็เลี่ยง เช่น การซอยย่อยพื้นที่ ให้เล็กๆ เพื่อเลี่ยงการทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม
แม้ว่าจะต้องทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม ก็น่าจะทำให้และผ่านได้อย่างรวดเร็ว อย่างโครงการ 4 แม่น้ำที่เกาหลีี่ มีนักสิ่งแวดล้อมวิจารณ์ว่า มีการใช้เวลาศึกษาเพียง 40 วันและข้อมูลหลายส่วนก็เป็นผลการศึกษาเก่า และยังไม่การลงพื้นที่ด้วยซ้ำ
- เทคโนโลยีสไตล์เกาหลี เข้าไปขายประเทศใดแล้วบ้าง
หลายประเทศนะครับ โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนา อย่างแค่ในภูมิภาคอาเซียน เช่น ลาว เวียดนาม กัมพูชา ฟิลิปปินส์ จนล่าสุดมาได้งานที่ประเทศไทย แต่ต้องเข้าใจว่าคนเกาหลี เขามียุทธศาสตร์สร้างเศรษฐกิจด้วยการส่งออกเทคโนโลยี เช่น โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ผู้รับเหมาที่ไปก่อสร้างรายใหญ่ของโลกเป็นบริษัทเกาหลีเข้าไปตีตลาด เช่นเดียวกับเทคโนโลยีเรื่องน้ำ
- เทคโนโลยีนี้ ใช้ได้กับทุกประเทศเลยหรือ
คนเกาหลี ส่วนใหญ่เท่าที่ผมคุยด้วย ไม่สนใจเรื่องสิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพ หากสิ่งแวดล้อมจะเสียไป แล้วเศรษฐกิจดี กินดีอยู่ดี ค่าไฟค่าน้ำถูกก็ไม่เป็นไร เพราะเศรษฐกิจเขาพึ่งพาอุตสาหกรรม และภาคบริการ มองน้ำเป็นภูมิทัศน์ที่สวย
แต่สำหรับประเทศไทย ผมว่าเศรษฐกิจเรา ยังมีพื้นฐานบนดินเป็นหลัก ยังขึ้นกับการเกษตรและสิ่งแวดล้อม ชีวิตเราเกี่ยวพันกับน้ำอยู่มาก ยกตัวอย่างเทียบแม่น้ำฮัน กับเจ้าพระยา เรายังมีการขนส่งขึ้นเหนือล่งอใต้ เรือข้ามฝาก เรือแจวเรือตกกุ้ง แต่แม่น้ำฮั่นสายหลักที่ผ่านกรุงโซล แทบจะไม่มีเรือวิ่ง
ดังนั้น หากเอาแนวคิดเกาหลีมาสวมกับไทย ผมว่าต้องคิดให้ดี คิดให้รอบคอบเสียก่อน
- ประชาชนเกาหลี มีมุมมองอย่างไรต่อบริษัทเค วอเตอร์
(ตอบทันที) ผมแปลกใจมากนะ ผมถาม 20 คนว่ารู้จักบริษัทเค วอเตอร์มั้ย มี 18 คนที่ไม่รู้จัก
พอผมเปิดเว็บไซต์ให้ดูก็ตอบแค่ อืมๆ ...
ส่วนอีก 2 คนที่รู้จัก บอกว่าเป็นบริษัทที่ปรึกษา แต่ sub งาน (แบ่งงานให้ผู้รับเหมารายย่อย) ให้ฮุนได ให้บริษัทในเครือแชโบไม่ได้รับเหมาเอง
"คนที่นั่นรู้แค่ว่า ประธานาธิบดีประกาศว่าจะโครงการอะไร แตเหมือน่ไม่รู้ว่าเค วอเตอร์ เป็นคนทำ"
- มีการให้ข้อมูล โจมตีเรื่องหนี้สินของบริษัทเค วอเตอร์
ต้องเข้าใจก่อนว่า บริษัทเค วอเตอร์เป็น การร่วมลงทุน ระหว่างภาครัฐและเอกชน (Public Private Partnership หรือ PPP) เพื่อทำงานก่อสร้างโครงการใหญ่ๆ โดยไม่เป็นภาระแก่รัฐบาลมาก เช่น หากทำรถไฟความเร็วสูง แอร์พอร์ตลิ้งค์ ดังนั้น เค วอเตอร์ ไม่มีทางเจ๊ง เพราะถ้าจะเจ๊ง รัฐบาลจะอุ้ม อย่างแอร์พอร์ตลิงก์เชื่อมสนามบินอินชอน-โซล แม้เอกชนบริหารเจ๊ง สุดท้ายรัฐบาลก็ซื้อมาทำเอง
- กลุ่มเอ็นจีโอก็ไม่ไว้ใจ ตั้งคำถามเรื่องมีนักการเมืองไปเยี่ยมเกาหลี
ผมว่าเรื่องนักการเมืองไปเยี่ยมที่เกาหลี เป็นการโจมตีผิดประเด็นนะ จะมีผลประโยชน์หรือไม่ผมไม่รู้ ไม่มีหลักฐาน แม้จะไม่มีใครไป ผมว่าเค วอเตอร์ก็มาอยู่แล้ว เพราะเขาต้องการขายเทคโนโลยี นำเงินกลับสู่ประเทศ
ดังนั้น หากเราจำเป็นต้องใช้เงินป้องกันน้ำท่วมจริง และจะให้โครงการนี้ดำเนินไปด้วยดีที่สุด เข้าที่เข้าทาง ต้องควบคุมบริษัทแบบเค วอเตอร์ ที่สำคัญรัฐบาลต้องยืนคนละข้างกับบริษัทแบบเค วอเตอร์ ไม่ให้มาทำลายสิ่งแวดล้อม สังคมและชุมชนเรา แต่หากรัฐบาลกับเค วอเตอร์เป็นพวกเดียวกัน ผมว่าแย่แน่นอน
- ประชาชน นักวิชาการ ฝ่ายค้านและรัฐบาลจะติดตามได้อย่างไรบ้าง
เป็นสิ่งยากมากที่สุด (เน้นเสียง) จริงๆ ผมว่าต้องหาคำตอบให้ได้ก่อนว่า ทำไมน้ำท่วม ทำไมน้ำแล้ง และคำตอบต้องไม่ใช่ว่า...เพราะไม่มีเขื่อน หรือไม่มีฟลัดเวย์ การคิดแบบนั้น เหมือนข้ามขั้นจากทุกข์แล้วไปมรรคเลย
แท้ที่จริงแล้ว งานวิจัยหลายชิ้นระบุชัดว่า หากเราเปลี่ยนพื้นที่การใช้ที่ดิน ไปปลูกพืชเชิงเดี่ยว ไม่มีพืชชะลอน้ำ ฝนตกมาร้อย ก็ทิ้งลงแม่น้ำร้อย ระดับน้ำใต้ดินก็ลดลง สุดท้ายน้ำมันก็ทั้งท่วม และแล้ง ในบ้านเราเอง แค่สังเกตดูว่า การใช้พื้นที่ดินว่ามีอะไรที่เปลี่ยนแปลงไปบ้าง ผมว่าก็เห็นสาเหตุชัดเจนอยู่แล้ว
ฉะนั้น สิ่งเดียวที่ทำได้คือให้ข้อมูลประชาชน ฝ่ายค้าน ไม่ควรมาโจมตีเรื่องความน่าเชื่อถือของเค วอเตอร์ หรือมีการรับเงินกันหรือไม่ แต่ต้องเริ่มว่ารัฐบาลไม่ควรยืนข้างเดียวกับบริษัทแบบเค วอเตอร์ ต้องยืนตรงข้าม แล้วปกป้องผลประโยชน์ของประเทศเรา
"เค วอเตอร์หรือบริษัทอื่นๆ เข้ามาสร้าง พอเสร็จได้เงินก็ไป แต่รัฐบาลต้องปกป้องสิ่งแวดล้อม ชุมชนและสังคมไทยไม่ให้เสียไปกับการกระทำเช่นกรณี 4 แม่น้ำที่ขุดสร้างคันคอนกรีต ทำให้แม่น้ำกลายเป็นท่อระบายน้ำ บ่อคอนกรีต ระบบนิเวศน์สูญเสียทั้งหมด"
- คนเกาหลี เห็นอย่างไรต่อการชนะประมูล 2 โมดูลใหญ่ๆ โครงการบริหารจัดการน้ำในไทย
จริงๆ แล้ว นี่ไม่ใช่ประเด็นใหญ่ที่เกาหลี และไม่ได้เป็นข่าวหน้าหนึ่งในหนังสือพิมพ์ เป็นแค่ข่าวเศรษฐกิจสั้นๆ อย่างที่บอกว่าคนที่นั่นไม่ได้สนใจเรื่องความหลากหลายทางสิ่งแวดล้อม ยิ่งสิ่งแวดล้อมในไทยเขายิ่งไม่สนใจ แต่ผมว่านี่เป็นเรื่องใหญ่ของบ้านเรา
"สำหรับบ้านเรา ผมเห็นว่าคนเสื้อแดงต้องด่ารัฐบาลตัวเองให้เป็น ต้องตั้งคำถามว่ารัฐบาลทำถูกหรือไม่ ไม่ใช่เออออตามกันไป เลือกตั้งกี่ทีต้องชนะ ผมเคยถามกับเจ้าของเพจที่เกี่ยวกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมว่า มีคนเสื้อแดงมาร่วมสู้เรื่องนี้ด้วยมั้ย คำตอบคือไม่มี นโยบายที่รัฐบาลคิด เสื้อแดงก็เออออไปด้วย ดีไปหมด ผมคิดว่านี่คือสถานการณ์ที่แย่นะ"
- อยากให้คนเสื้อแดงตั้งคำถามอย่างไรต่อรัฐบาล
ตั้งคำถามถึงความคุ้มค่าของโครงการ เพราะรัฐบาลควรแจงต้นทุนและผลตอบแทนของโครงการ (cost and benefit) ว่ามีวิธีคิดอย่างไร มีตัวเลขเท่าใดที่นอกเหนือจากค่าคอนกรีต ค่าเหล็ก ค่าชดเชย ยังต้องคำนวณส่วนของความสูญเสียของระบบนิเวศน์ สิ่งแวดล้อมที่จะเสียหายไป ผลกระทบจากการทำลายชนบทที่ส่งผลต่อเมืองใหญ่ๆ เรื่องเหล่านี้คิดคำนวณได้ตามหลักวิชาการเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อมทั้งหมด
"ที่เกาหลีมีกรณีที่รัฐบาลไม่ศึกษาหรือเปิดเผยความคุ้มทุนของโครงการ นักวิชาการจึงลงทุนศึกษาเองแล้วนำผลไปดีเบตกับรัฐบาลผ่านฟรีทีวีทุกวัน จนประชาชนเริ่มรับฟังว่าโครงการไม่ดี ไม่คุ้มค่าเพราะอะไร เช่น ลงทุนสูง ไม่คุ้มค่า เปลืองเงินภาษี เริ่มเห็นด้วยตามด้วยข้อมูล จนมีประชาชนกว่า 80% ที่ค้านโครงการขุดคลองของประธานาธิบดี ลี เมียง บัค ทั้งที่ได้รับเลือกมาด้วยคะแนนเสียงถล่มทลายเช่นกัน
ต่างกับในไทย ใครที่ออกมาให้ข้อมูล กลายเป็นคคนออกมาค้าน เป็นผู้ถ่วงความเจริญ และถูกเตะไปฝั่งตรงข้ามหมด อีกทั้งยังถูกตั้งคำถามด้วยว่าหากไม่ทำ น้ำท่วมจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ แบบนี้ผมว่าไม่ถูก"
- โครงการบริหารจัดการน้ำ กำลังเดินทางเดียวกับโครงการ 4 แม่น้ำ?
ดูสถานการณ์แล้ว ผมว่ามันล้อไปด้วยกัน มันวิน วินด้วยกันทั้งคู่ เราอยากจะทำ เกาหลีก็อยากส่งออกเทคโนโลยี เราอยากจะใช้เงิน ส่วนเขาก็อยากได้เงินกลับไปประเทศ
- การเคลื่อนไหวของเอ็นจีโอ และคนที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการที่เกาหลีเป็นอย่างไร
คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยเดือดร้อน เพราะทำงานในเมือง ขายที่ดินได้ราคาแพงก็พอ จะมีก็แต่คนแก่ๆ ที่ชอบอยู่กับแม่น้ำ รู้สึกว่าสูญเสียชีวิตแบบเก่า แต่ประชาชนส่วนใหญ่ไม่ค่อยชอบเอ็นจีโอ เห็นว่าถ่วงความเจริญ เช่นเดียวกับกรณีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ และคนส่วนใหญ่จะเชื่อในประธานาธิบดี ไม่กล้าเถียง ไม่ค่อยคัดค้าน เป็นไปตามสังคมสมัย ปาร์ค จุง ฮี ที่โตมาแบบไม่วิจารณ์รัฐบาล แต่ก็เคยมีความรุนแรง มีการยิงแก๊ซน้ำตา จนถึงขั้นตาบอด เสียชีวิต
- 10 โมดูลบริหารจัดการน้ำของรัฐบาลเป็นอย่างไรบ้าง
โมดูลต่างๆ ของรัฐบาล ผมได้อ่านดูบ้าง แต่ผมคิดว่า กระบวนการแค่ตั้งโมดูลก็ผิดแล้ว เพราะยังตอบไม่ได้ว่าทำไมน้ำท่วม ที่ผมคิดเช่นนี้ ไม่ใช้ว่าผมต้องการป่วนรัฐบาล ผมพยายามจะบอกถึงข้อมูล และตั้งคำถาม เพราะขณะนี้โครงการไปไกลถึงฟลัดเวย์ที่ไหนแล้ว แต่ยังไม่รู้ว่าการมีฟลัดเวย์จะแก้ได้จริงหรือไม่ ผมว่าเป็นเรื่องที่น่าเศร้านะ
เช่นเดียวกับคำพิพากษาของศาลปกครอง ผมคิดว่าไม่มีประโยชน์ เพราะเค วอเตอร์ จะแค่กางคำพิพากษา กางรายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม เป็นคู่มือการทำโครงการ แต่ทุกอย่างจะออกมาในรูปแบบทำแค่ผ่าน โดยไม่สนใจสิ่งแวดล้อมหรือสังคม
"ผมอ่านข่าวเจอกรณีการสร้างท่าเรือ มีกฎหมายกำหนดว่าหากพื้นที่เกิน 1,000 ตารางเมตร ต้องส่งรายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม บางบริษัทแค่พลิกแพลงสร้าง 4 ท่าติดกันให้แต่และท่ามีพื้นที่ไม่ถึง 1,000 ตารางเมตร ก็ถูกต้องตามหลักทุกอย่าง ผมคิดว่านี่คือข้อเสีย ของการใช้กฎหมายมากำหนด ทุกอย่างจะทำเพียงแค่ผ่านกฎหมาย"
- อย่างไรก็ตาม ทุกโครงการต้องผ่านการประชาพิจารณ์จากประชาชน
การทำประชาพิจารณ์ในไทย เท่าที่ผมติดตามข่าวในหนังสือพิมพ์ ผมไม่เคยเห็นว่าเป็นเรื่องเป็นราว ส่วนมากจะเป็นพวกมากลากไป เอาม็อบมา เฮกันไปตามประโยชน์ที่ได้ ทั้งที่จริงแล้ว ประชาชนต้องได้รับข้อมูล มีความรู้ก่อนจะมาประชาพิจารณ์เลือกหรือตัดสินอะไร ไม่ใช่ให้ข้อมูลแค่ว่าเลือกแล้วจะได้อะไร จะให้อะไรตอบแทน การทำประชาพิจารณ์บ้านเราจึงไม่เวิร์ค
- ท้ายที่สุด โครงการบริหารจัดการน้ำ จะเดินไปได้ถึงขั้นไหน
"สำหรับโครงการฯ ความเห็นส่วนตัวผมเห็นว่า น่าจะจบได้ยาก อาจทำแล้วสะดุด หรือ ค้างๆ คาๆ เหมือนโฮปเวลล์ เพราะมีผลกระทบในหลายด้านที่กล่าวมา เว้นแต่รัฐบาลจะมีการออกกฏหมายเพื่ออำนวยความสะดวกให้"
- ทางออกของประเทศเราอยู่ตรงไหน
ส่วนตัวลึกๆ แล้ว ผมว่า... ประเทศเราต้องมีคนชั้นกลางให้มาก ที่สุดโต่งคือ ชนชั้นกลางต้องลองไปปลูกข้าวให้เป็น ไปเป็นเกษตรกรให้ได้ ทำให้เห็นว่าปลูกข้าว ทำการเกษตรแล้วไม่จน ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ไม่พึ่งพารัฐ แล้วนี่อาจจะเป็นตัวอย่าง เพื่อให้เกษตรกรที่มีจำนวนมาก กลายมาเป็นคนชั้นกลางขึ้นมาทันที และจะเข้าถึงข้อมูลมากขึ้น เวลาเสพอะไรจะเลือกเสพ จะตั้งคำถาม ข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์จะไม่ใช่ขูดเลขขอหวย หรือโดนพระ หรือนักการเมืองเลวๆ หลอก
"ถ้าเราเลือกเสพเป็น กลไกตลาดจะทำให้ทุกอย่างดีขึ้น อาหารปลอดภัยจะมากขึ้น การเสพข่าวเสพละครจะต้องลึกกว่าเดิม การเล่าข่าวแบบหรือละครไม่มีคุณภาพ คนจะเลิกเสพ แต่จะคิดแก้ปัญหาในเชิงนโยบายสำหรับสังคม ไม่ใช่ปัญหาเฉพาะหน้า สนุกไปวันๆ แต่ทุกวันนี้ ผมเรียนเรื่องนโยบายสาธารณะ แล้วมองกลับมาที่ไทย ยังไม่สามารถมีนโยบายไหนที่เรียกได้ว่าเป็นนโยบายสาธารณะ เพราะแต่ละนโยบายไม่ตั้งบนหลักวิทยาศาสตร์ และไม่มีการชี้แจงเชิญชวนแบบใช้ข้อเท็จจริง เพื่อประโยชน์ประชาชนกันจริงๆ
ผมว่า... จำเป็นต้องส่งเสริมให้เกิดชั้นกลาง ที่ไม่พึ่งพารัฐ และเชื่อว่าจะเป็นทางออกของประเทศไทยในระยะยาวและยั่งยืน"
ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง :