นศ.ป.เอก มหา'ลัยโซล หวั่นบริหารน้ำ 3.5 แสนล้าน ค้างเติ่ง ซ้ำรอย "โฮปเวลล์"
นักศึกษา ป.เอก ถอดบทเรียนโครงการ 4 แม่น้ำที่เกาหลี สะท้อนภาพ 'เค วอเตอร์' ทำงานเร็ว หวั่นไม่คำนึงสิ่งแวดล้อม-สังคม ฉะฝ่ายค้าน-สื่อโจมตีผิดประเด็น แนะปชช.-ฝ่ายค้าน-เสื้อแดง ตั้งคำถาม รบ.ให้เป็น จี้เปิดข้อมูลความคุ้มค่าโครงการ
เมื่อเร็วๆ นี้ พ.ต.ท.ปริญญา เจริญบัณฑิต นักเรียนปริญญาเอก สาขาการวางผังภาคและเมือง มหาวิทยาลัยแห่งชาติโซล ประเทศเกาหลี (Urban and Regional Planing Seoul National University) ซึ่งก่อนหน้านี้ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟสบุ๊คส่วนตัวที่ใช้ชื่อว่า Lek Parinya เกี่ยวกับเรื่อง บทเรียน 'เค วอเตอร์' กับโครงการสี่แม่น้ำ ทั้งหมด 4 ตอน ได้แก่ 1.ที่มาของโครงการ "สี่แม่น้ำ" 2.โครงการสี่แม่น้ำ Four Major Rivers Project 3.ผลกระทบจากโครงการ สี่แม่น้ำ และ 4.ทำไงดี? ที่เป็นข้อมูลจากเอกสารสาธารณะในประเทศเกาหลี เอกสารประกอบการเรียน ที่มาจากผู้เชี่ยวชาญที่นำไปใช้ออกฟรีทีวีดีเบตกับรัฐบาลที่เกาหลี รวมถึงการพูดคุยเก็บข้อมูล
พ.ต.ท.ปริญญา ได้ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวอิศรา ว่า จากการไปศึกษาที่ประเทศเกาหลี ได้มีโอกาสติดตามโครงการสี่แม่น้ำกับการดำเนินงานของบริษัทเค วอเตอร์มาตั้งแต่ก่อนจะมีการประมูลโครงการบริหารจัดการน้ำในประเทศไทย เนื่องจากที่ประเทศเกาหลีมีนักสิ่งแวดล้อมออกมาเคลื่อนไหวเรื่องโครงการแม่น้ำสี่สายมาก รวมถึงมีการประท้วงในหลากหลายรูปแบบ
เนื่องด้วยโครงการฟื้นฟูแม่น้ำสี่สาย เป็นการรื้อตลิ่งธรรมชาติ ที่มีทั้งสาหร่าย พืชน้ำ กอหญ้า สร้างคันคอนกรีตขนาดใหญ่ เพื่อรองรับการกักเก็บน้ำได้ในปริมาณที่แน่นอน พ.ต.ท.ปริญญา กล่าวว่า แต่เขาลืมคำนึงถึงระบบนิเวศน์ ทำให้ความเร็วการไหลของน้ำ และอุณหภูมิน้ำเปลี่ยน ส่งผลกระทบต่อสัตว์น้ำ รวมถึงพืชและสัตว์บริเวณโดยรอบริมแม่น้ำ ซึ่งเป็นสาเหตุที่นักสิ่งแวดล้อม เห็นตรงกันว่าโครงการนี้ไม่สามารถเรียกว่า 'ฟื้นฟู' แต่เป็นการ 'ฆ่า' แม่น้ำทั้งสี่สาย ขณะที่คนเกาหลีก็ไม่ได้สนใจเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพ หรือสิ่งแวดล้อมมากนัก
"หากเค วอเตอร์ เข้ามาบริหารจัดการน้ำของไทย ผมว่าจะเป็นแบบโครงการสี่แม่น้ำแน่นอน และแม้ไทยจะมีกฎหมาย และต้องทำรายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ก็เชื่อว่า เค วอเตอร์จะเอาข้อกำหนดนั้นมากางเป็นคู่มือการทำโครงการ แต่ทุกอย่างจะออกมาในรูปแบบทำแค่ผ่าน โดยไม่สนใจสิ่งแวดล้อมหรือสังคม" พ.ต.ท.ปริญญา กล่าว และว่า ยิ่งได้อ่านโมดูลของรัฐบาล ก็พบว่ากระบวนการที่เริ่มต้นตั้งโมดูลก็ผิดแล้ว เพราะยังไม่ได้หาคำตอบถึงสาเหตุทำไมน้ำท่วม ทำไมน้ำแล้ง
พ.ต.ท.ปริญญา กล่าวว่า ที่ตนคิดเช่นนี้ ไม่ใช้ว่าต้องการป่วนรัฐบาล แต่พยายามจะบอกข้อมูล พร้อมตั้งคำถาม ขณะนี้โครงการไปไกลถึงว่าจะทำฟลัดเวย์ที่ไหน แต่ยังไม่รู้ว่าการมีฟลัดเวย์จะแก้ได้จริงหรือไม่ "ผมว่าเป็นเรื่องที่น่าเศร้านะ"
อย่างไรก็ตาม พ.ต.ท.ปริญญา บอกว่า บริษัทเค วอเตอร์ฯ เป็นการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (Public Private Partnership หรือ PPP) เพื่อทำงานก่อสร้างโครงการใหญ่ๆ โดยไม่เป็นภาระแก่รัฐบาลมาก จึงไม่มีทางที่บริษัทจะเจ๊ง เพราะมีรัฐบาลอุ้มอยู่ ดังนั้น การที่สื่อหรือฝ่ายค้านโจมตีเรื่องมีนักการเมืองไปเยี่ยมที่เกาหลี หรือมีการรับเงินกันหรือไม่ เป็นการโจมตีผิดประเด็น ไม่มีหลักฐานและไม่มีประโยชน์ เพราะเกาหลีพร้อมที่จะเสนอขายเทคโนโลยีนี้อยู่แล้ว
"หากจะช่วยกันติดตามให้โครงการนี้มีดำเนินไปด้วยดี เข้าที่เข้าทาง เกิดประโยชน์ต้องช่วยกันควบคุมบริษัทเค วอเตอร์ รัฐบาลควรยืนคนละข้างกับบริษัทแบบเค วอเตอร์ ไม่ให้มีการทำลายสิ่งแวดล้อม สังคม และชุมชนไทย แต่หากรัฐบาลกับเค วอเตอร์เป็นพวกเดียวกัน เชื่อว่าหายนะจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน"
นักเรียนปริญญาเอก สาขาการวางผังภาคและเมือง มหาวิทยาลัยแห่งชาติโซลฯ กล่าวว่า สิ่งที่ทำได้ประชาชน ฝ่ายค้านต้องติดตามข้อมูล พร้อมกับตั้งคำถาม โดยเฉพาะคนเสื้อแดง ต้องตั้งคำถามรัฐบาลตัวเองให้ได้ ด่ารัฐบาลตัวเองให้เป็นด้วย เช่น ตั้งคำถามถึงความคุ้มค่าของโครงการ ที่รัฐบาลต้องแจงต้นทุนและผลตอบแทนของโครงการ (cost and benefit) ว่ามีวิธีคิดอย่างไร ได้ตัวเลขเท่าใด เป็นต้น
"เรื่องความคุ้มค่านอกเหนือจากค่าคอนกรีต ยังต้องคำนวณส่วนของสิ่งแวดล้อมที่จะเสียหายไป ผลกระทบจากการทำลายชนบทที่ส่งผลต่อเมืองใหญ่ๆ เรื่องเหล่านี้สามารถคิดคำนวณได้ตามหลักการทั้งหมด"
พ.ต.ท.ปริญญา กล่าวด้วยว่า ในประเทศเกาหลี หากรัฐบาลไม่ศึกษา ไม่เปิดเผยผลการศึกษา นักวิชาการที่นั่นเขาจะลงทุนศึกษาเอง แล้วนำผลไปดีเบตกับรัฐบาลผ่านฟรีทีวี จนประชาชนคล้อยตามด้วยข้อมูล แต่สำหรับไทย ใครที่ออกมาให้ข้อมูล กลายเป็นค้าน เป็นผู้ถ่วงความเจริญ และถูกเตะไปอยู่ฝั่งตรงข้ามหมด อีกทั้งยังถูกตั้งคำถามด้วยว่าหากไม่ทำ น้ำท่วมจะต้องรับผิดชอบกันเอง แบบนี้เป็นเรื่องไม่ถูกต้อง
"ท้ายที่สุดสำหรับโครงการฯ โดยส่วนตัวเห็นว่า น่าจะจบได้ยาก อาจทำแล้วสะดุด หรือ ค้างๆ คาๆ เหมือนโฮปเวลล์ เพราะมีผลกระทบในหลายด้านที่กล่าวมา เว้นแต่รัฐบาลจะมีการออกกฏหมายเพื่ออำนวยความสะดวกให้"
ติดตามอ่านบทสัมภาษณ์ ฉบับเต็มเร็วๆ นี้
ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง: รู้จัก 'เค วอเตอร์' ผ่านบทเรียนโครงการสี่แม่น้ำ