‘ยิ่งลักษณ์’ ชี้โครงการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท แก้ขาดแคลนแหล่งน้ำเพื่อเกษตรได้
‘ยิ่งลักษณ์’ ชี้โครงการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท แก้ขาดแคลนแหล่งน้ำเพื่อเกษตรได้ ระบุไม่มีเจตนาทำลายธรรมชาติ หวังสภาเกษตรฯ เป็นโซ่คล้องใจรัฐ-เกษตรกร ‘ประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์’ เผยชาวนาพอใจรับจำนำ แต่ควรหาวิธีกำกับอย่างยั่งยืน
วันที่ 11 ก.ค. 56 น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงาน ‘ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์สภาเกษตรกรแห่งชาติ ปี2556-2559 สู่การปฏิบัติ เพื่อการพัฒนาภาคเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน’ ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็คชาเลนเจอร์ เมืองทองธานี
น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (เอฟเอโอ) คาดการณ์ว่าอีก 40 ปี ข้างหน้า โลกจะมีประชากรเพิ่มขึ้นเป็น 9,000 ล้านคน ดังนั้นความต้องการอาหารจะเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันความท้าทายด้านสภาพภูมิอากาศก็เปลี่ยนแปลงไป เราจึงต้องร่วมกันหาแนวทางเพื่อให้เกิดความมั่นคงทางอาหาร ซึ่งไทยมีข้อได้เปรียบด้านพื้นที่เกษตรกรรม แม้จะมีปัญหาอุปสรรคเกี่ยวกับการขาดพื้นที่ทำกิน แหล่งน้ำ และการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ประกอบกับผลผลิตที่เกินความต้องการ จึงทำให้ราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำก็ตาม แต่เชื่อว่ารัฐบาลมีความสามารถที่จะแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน
ซึ่งการออกพ.ร.ก.กู้เงินโครงการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท เป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหา โดยมิได้ป้องกันภัยพิบัติเพียงอย่างเดียว แต่ยังสามารถช่วยเชื่อม 25 ลุ่มน้ำ เพิ่มแหล่งน้ำเพื่อเกษตรกรรมด้วย อย่างไรก็ตาม รัฐบาลยืนยันว่าไม่มีเจตนาทำลายทรัพยากรธรรมชาติเลย
นายกรัฐมนตรี กล่าวต่อว่า อีกไม่กี่ปีข้างหน้าไทยจะเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ทำให้การค้าขายในภูมิภาคง่ายขึ้น ซึ่งจำเป็นต้องให้เกษตรกรเตรียมตัวพัฒนาขีดความสามารถให้เต็มที่ โดยการจะขับเคลื่อนภาคเกษตรกรรมสู่ความยั่งยืนนั้น ต้องหาวิธีเพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างเพียงพอภายใต้ระดับค่าครองชีพและต้นทุนการผลิตที่เกษตรกรสามารถยืนอยู่ได้
“หนึ่งในโครงการที่รัฐบาลกำลังดำเนินงาน คือ โซนนิ่งเกษตร เพื่อมุ่งหวังให้เกิดความมั่นคงทางอาหาร พัฒนาอาชีพเกษตรกรรม ตลอดจนเกษตรกรมีความเป็นอยู่ที่ดี ยั่งยืนในอาชีพ สินค้าเกษตรมีคุณภาพ และสมดุลเคียงคู่สิ่งแวดล้อม” น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าว และว่าจะมีการพิจารณาว่าจังหวัดใดมีความเหมาะสมกับการเพาะปลูกพืชแต่ละชนิด ขึ้นอยู่กับสภาพดินฟ้าอากาศ เพื่อรักษาคุณภาพดินให้อุดมสมบูรณ์ จะสามารถลดการใช้ปุ๋ยเคมีได้
สุดท้าย ภารกิจที่ต้องการฝาก คือ มุ่งหวังที่จะเห็นการจับคู่แหล่งผลิตกับตลาดให้ใกล้ที่สุด ซึ่งขณะนี้นโยบายลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ 2.2 ล้านล้านบาทที่รัฐบาลดำเนินการ จะสามารถช่วยลดต้นทุนการขนส่งสินค้าได้ รวมถึงให้เป็นองค์กรเชื่อมโยงการแก้ไขปัญหากับสภาทนายความและหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องให้เกิดความคุ้มครองทางกฎหมาย ต่อปัญหาการกระจายที่ดิน และกระบวนการยุติธรรมด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่สำคัญ ต้องการให้สภาเกษตรกรแห่งชาติเป็นโซ่เชื่อมโยงการสื่อสารข้อมูลระหว่างรัฐบาลกับเกษตรกร เพื่อนำปัญหามาสู่การแก้ไขอย่างรวดเร็ว
ด้านนายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ กล่าวว่า สภาเกษตรฯ พร้อมที่จะทำงานขับเคลื่อนร่วมกับทุกภาคส่วน เพื่อให้เกษตรกรมีวิถีชีวิตความเป็นอยู่และอำนาจการต่อรองที่ดีขึ้น พร้อมยอมรับการทำงานที่ผ่านมาประสบปัญหาการสร้างความเข้าใจระหว่างกันในองค์กร เนื่องจากปัจจุบันมีสมาชิกสภาเกษตรฯ 20 ล้านคน ดังนั้นการจะทำให้คนกลุ่มใหญ่มีมติเห็นพ้องไปในทิศทางเดียวกันค่อนข้างยาก นอกจากนี้ยังต้องออกระเบียบต่าง ๆ มาเป็นกลไกดำเนินงานภายใต้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สภาเกษตรกรแห่งชาติ พ.ศ.2553 ด้วย
สำหรับข้อกังวลว่าอำนาจหน้าที่ของสภาเกษตรฯ จะซ้ำซ้อนกับหน่วยงานอื่นนั้น มองว่าอาจเหลื่อมล้ำกันบ้าง แต่เจ้าภาพในการทำงานจะเปลี่ยนแปลงไปตามความเหมาะสม เช่น โครงการรับจำนำข้าว แต่เดิมจะมีคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ประชุมร่วมกับส่วนราชการเท่านั้น แต่ขณะนี้ได้มีผู้แทนจากสภาเกษตรฯ เข้าไปมีส่วนในการรวบรวมความเห็นจากเกษตรกร เพื่อนำเสนอต่อรัฐบาลแล้ว
ทั้งนี้ ปัญหาของเกษตรกรที่ต้องเร่งแก้ไขในปัจจุบัน มี 2 ระดับ ได้แก่ 1.แผนเร่งด่วน เช่น โครงการรับจำนำข้าว ซึ่งรัฐบาลมีแนวคิดจะแก้ไขปัญหาด้วยการปรับลดราคาจำนำ และมุ่งปรับปรุงโครงการให้มีประสิทธิภาพ กรณีนี้สภาเกษตรฯ พร้อมจะนำเสนอความเห็นต่อรัฐบาล 2.แผนระยะยาว จะมีการจัดทำแผนแม่บทเพื่อพัฒนาเกษตรกรให้เสร็จภายในปี 2557 ไม่ว่าจะเป็น แผนแม่บทพืชเศรษฐกิจหรือสัตว์เศรษฐกิจ
ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ ยังกล่าวถึงโครงการรับจำนำข้าวในสายตาของชาวนาได้รับประโยชน์จากนโยบายดังกล่าวสูง และต้องการให้สานต่อโครงการ เพราะต้องเข้าใจว่าในอดีตชาวนามักได้รับความไม่เป็นธรรม จนสังคมประจักษ์ว่าอาชีพทำนาให้รายได้ต่ำและเกิดหนี้สินมากที่สุด ซึ่งเกิดจากนโยบายของรัฐที่ลำเอียงนั่นเอง
“สภาเกษตรฯ มีข้อเสนอให้รัฐเร่งวางแนวทางกำกับนโยบายข้าวอย่างยั่งยืน เพื่อให้ชาวนามีหนทางแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านได้ ส่วนข้อสรุปตัวเลขปรับลดราคาจำนำข้าวในอนาคต ยังต้องใช้เวลาพูดคุยทำความเข้าใจอีก แต่ต้องชื่นชมนายนิวัติธำรง บุญทรงไพศาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ให้พื้นที่สภาเกษตรฯ เข้าเสนอข้อเท็จจริงต่อทิศทางโครงการ”
สำหรับการกำหนดเขตโซนนิ่งเกษตรนั้น เกษตรกรไทยใช้วิธีการเพาะปลูกโดยอาศัยประสบการณ์ของตนเองมานาน ประกอบกับหลายพื้นที่อยู่นอกเขตโซนนิ่งก็ล้วนเพาะปลูกและให้ผลผลิตแล้ว เช่น จ.บึงกาฬ ปลูกยางพาราและปาล์มน้ำมัน หรือบางพื้นที่ไม่อยู่ในเขตปลูกข้าว ซึ่งเกษตรกรยังไม่เข้าใจกลัวว่าจะไม่สามารถเพาะปลูกพืชชนิดเดิมได้ จึงต้องการทราบถึงหลักการของนโยบาย ดังนั้นสภาเกษตรฯ จึงต้องเข้าไปสร้างความเข้าใจให้กับเกษตรกรและรัฐบาลตรงกันต่อไป .
ที่มาภาพ: http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1364535689&grpid=03&catid=03