"จำนำข้าว ทำนานๆไม่ได้" ดร.โกร่ง ตอกย้ำอันตรายต่อฐานะการคลังประเทศ
ประธาน กยอ.แนะ รบ.ปูอย่าแทรกแซงภาคเกษตร ขอให้ทำหน้าที่ให้ได้ 3 สร้าง ระบบขนส่งให้มีประสิทธิภาพ เจรจาต่อรองตปท.ให้ได้ผล พัฒนาวิจัยอย่างต่อเนื่อง
วันที่ 11 กรกฎาคม สภาเกษตรกรแห่งชาติ จัดประชุมสัมมนาการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์สภาเกษตรกรแห่งชาติ ปี 2556-2559 สู่การปฏิบัติเพื่อการพัฒนาภาคเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน ณ ห้องรอยัล จูบิลี่ บอลรูม ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็คชาเลนเจอร์ เมืองทองธานี จ.นนทบุรี โดยดร.วีรพงษ์ รามางกูร ประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย และประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.) ปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “ภาคเกษตรไทยในทศวรรษหน้าจะไปทางไหน”
โดยในช่วงแรกดร.วีรพงษ์ กล่าวถึงความสำคัญของภาคเกษตรโดยรวมว่า ภาคเกษตรมีความสำคัญในการสร้างรายได้ สร้างผลผลิตมวลรวม สร้างเงินตราต่างประเทศ ให้กับประเทศเป็นอย่างมาก เราจึงทิ้งภาคเกษตรไม่ได้
"สินค้าเกษตรดั้งเดิมของเรา เช่น ข้าวและมันสำปะหลัง มันสำปะหลังไม่ได้มีปัญหามากนักเพราะตอนนี้เราไม่ได้ส่งออกแล้ว สิ่งที่เป็นปัญหาหนักของเราก็คือข้าว อีกไม่นานคงจะถูกทดแทนจากข้าวประเทศเพื่อนบ้าน เมื่อเขาเลิกเป็นคอมมิวนิตส์ โดยเฉพาะพม่า หากมีการสร้างระบบขนส่งที่ถูกและมีประสิทธิภาพได้ในอนาคตก็จะทดแทนประเทศไทยในการผลิตข้าวได้แน่"
ดร.วีรพงษ์ กล่าวอีกว่า ตลาดข้าวนาปรังของไทยแคบกว่าในเขตน้ำฝน ขณะที่ผลผลิตกับคุณภาพตรงกันข้าม คือข้าวที่คุณภาพดี ผลผลิตต่อไร่ต่ำ ข้าวคุณภาพต่ำผลผลิตต่อไรสูง ข้าวที่คุณภาพสูงไม่ไวต่อแสง ข้าวไวต่อแสงคุณภาพไม่ดี ซึ่งสถานการณ์เช่นนี้จะเกิดมากยิ่งขึ้นในอนาคต
"รัฐบาลจะอุ้มเกษตรกรทุกอย่างไม่ได้ เช่น การรับจำนำข้าว จะทำนานๆไม่ได้ เพราะเป็นอันตรายต่อการเงินการคลังของประเทศ อาจส่งผลให้เกิดวิกฤติทางการเงินได้ และในที่สุดจะสร้างความเสียหายต่อประเทศในส่วนรวม"
นอกจากนี้ ประธาน กยอ. เปิดมุมมองถึงนโยบายในการส่งเสิรมให้เกษตรกรผลิตข้าวมากขึ้นว่า ไม่น่าจะเป็นนโยบายที่ถูกต้องอีกต่อไป จริงๆแล้วเราควรลดการผลิต และเปลี่ยนมาผลิตสินค้าอย่างอื่น เช่น การประมง ต้นไม้โตเร็ว ปาล์มน้ำมัน ส่วนใหญ่สินค้าเกษตรที่เป็นทางเลือกมักจะผูกกับอุตสาหกรรมการเกษตร พร้อมกันนี้ ยังมองว่าบทบาทของรัฐบาล คือ ส่งเสริมอุตหสากรรมที่ต่อเนื่องจากการเกษตร เจรจาการค้ากับต่างประเทศอย่างไรให้สำเร็จจะจัดการระบบน้ำอย่างไรให้เกิดประโยชน์กับเกษตรกร
"อย่างอื่นรัฐบาลอย่าไปยุ่ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องโซนนิ่งก็ดี เกษตรกรรู้ดีกว่ารัฐบาลมาก รวมถึงรู้ดีกว่าผมที่ยืนพูดอยู่ในขณะนี้"
ดร.วีรพงษ์ กล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า “ภาคเกษตรกรมีศักยภาพ มีความรู้ความสามารถ ดังนั้นรัฐบาลไม่ควรเข้าไปยุ่งกับเขามากนัก เพราะเขาสามารถทำได้ดีอยู่แล้ว หน้าที่ที่รัฐบาลต้องทำ มีอยู่ 3 อย่าง คือ1.จัดอบรมการขนส่งให้มีประสิทธิภาพ ทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ 2.เวลารัฐบาลเจรจาการค้าอย่าไปเพลี่ยงพล้ำ เจรจาต่อรองให้ภาคเกษตรของเราได้ประโยชน์ และ 3.ภาครัฐบาลต้องทำการวิจัยให้มากขึ้น แม้งานวิจัยของเราจะดีอยู่แล้วก็ตาม รัฐบาลทำแค่นี้ก็เพียงพอแล้ว”