'วราเทพ' ยอมรับรัฐเสียงบฯ ไปมากกับจำนำข้าว เปิด 2 ทางเลือกลดภาระ
‘วราเทพ’ ระบุกำลังเร่งหาวิธีคิดเพื่อให้โครงการรับจำนำข้าวมีต่อไปภายใต้การใช้งบฯ น้อย จี้กรมการข้าวเสนอความเห็นกขช.อุดช่องโหว่ หนุนสร้างเครือข่ายชาวนาผลิตเมล็ดพันธุ์ขาย หวังลดปัญหาขาดแคลน
วันที่ 10 ก.ค. 56 ที่กรมการข้าว นายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (รมช.กษ.) กล่าวภายหลังเข้ามอบนโยบายแนวทางปฏิบัติงานแก่กรมการข้าว ซึ่งเป็นภารกิจที่ได้รับการมอบหมายให้ดูแลว่า ภารกิจประจำที่มุ่งเน้นเรื่องการผลิตและส่งเสริมการพัฒนาพันธุ์ข้าว เรียกว่ามีการศึกษาและดำเนินนโยบายตามแผนงานดีแล้ว แต่สิ่งที่ควรเพิ่มเติม คือ การกำหนดตัวชี้วัดของแต่ละแผนงานให้เป็นรูปธรรม
“สำหรับปัญหาการขาดแคลนสายพันธุ์ข้าว เห็นชอบให้มีการส่งเสริมเกษตรกรรายใหญ่รวมกลุ่มหันมาผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวขายแทนข้าวสาร เพื่อเกษตรกรจะได้มีพันธุ์ข้าวปลูกเพียงพอ และยังลดภาระให้กับรัฐบาลในโครงการรับจำนำข้าวอีกด้วย” รมช.กษ.กล่าว และว่าผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวขายจะได้ราคาสูงกว่าราคาจำนำ 10-20% แต่ระยะแรกรัฐบาลจำเป็นต้องมีส่วนในการดูแลเม็ดเงินลงทุน
นายวราเทพ กล่าวถึงโครงการรับจำนำข้าวว่า รัฐบาลเสียงบประมาณค่อนข้างมาก ซึ่งการลดภาระมี 2 วิธี คือ การรับจำนำจำนวนจำกัด หรือลดราคาจำนำ ทั้งนี้จะต้องคำนึงถึงรายได้เกษตรกรเป็นสำคัญ ดังนั้นต้องเร่งหาวิธีคิดเพื่อให้โครงการรับจำนำข้าวมีต่อไปภายใต้การใช้งบประมาณที่น้อย หนึ่งในนั้น คือ การทำเขตโซนนิ่งข้าว ซึ่งเริ่มนำร่องจ.กำแพงเพชร พื้นที่ 200,000 ไร่ โดยจะสนับสนุนให้เกษตรกรเปลี่ยนนาข้าวเป็นไร่อ้อย เนื่องจากมีตลาดรองรับแล้ว คาดว่าปีนี้จะดำเนินการได้ทั้งหมด 50,000 ไร่
อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาล เตรียมอนุมัติเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำแก่เกษตรกรที่เปลี่ยนมาปลูกอ้อย 6,000 บาท/ไร่ โดยที่ต้นทุนการปลูกอ้อยอยู่ที่ 12,000 บาท/ไร่ ดังนั้นจำนวนเงินต้นทุนที่เหลือรัฐบาลกำลังพิจารณาหาแนวทางสนับสนุนต่อไป
เมื่อถามถึงแนวทางดำเนินโครงการรับจำนำข้าวรอบต่อไป รมช.กษ. ระบุว่า ขึ้นอยู่กับที่ประชุมของคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ซึ่งจะมีมติอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ เกษตรฯ และคลัง คาดว่าจะมีข้อสรุปเร็ว ๆ นี้
พร้อมกันนี้ นายวราเทพ ยังขอความร่วมมือกรมการข้าวให้เสนอความเห็นต่อแนวทางปฏิบัติในโครงการรับจำนำข้าวที่ผ่านมาและอนาคตในที่ประชุมกขช. เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงาน แม้จะไม่ใช่ภารกิจโดยตรงก็ตาม เนื่องจากเข้าใจว่าส่วนราชการมีข้อจำกัดเกี่ยวกับวัฒนธรรมในการทำงานที่ไม่ก้าวก่ายกัน แต่หากทุกหน่วยงานไม่ทำงานเเบบบูรณาการอาจส่งผลให้โครงการรับจำนำข้าวถูกมองทางลบได้ .