รัฐกางตัวเลข "เป้าหมายอ่อนแอ" เป็นเหยื่อน้อยลงหลังเจรจา
แม้จนถึงขณะนี้ยังมีผู้คนจำนวนไม่น้อยในสังคมไทยที่ไม่เชื่อมั่นกระบวนการพูดคุยกับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ แกนนำขบวนการบีอาร์เอ็น กลุ่มของ นายฮัสซัน ตอยิบ ว่าจะสามารถสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นได้จริง เพราะเชื่อว่ากลุ่มของนายฮัสซันไม่ใช่ตัวจริง และไม่สามารถควบคุมกองกำลังติดอาวุธในพื้นที่ชายแดนใต้ได้จริงก็ตาม
แต่กระนั้น ก็ยังมีข้อมูลตัวเลขชุดหนึ่งที่อาจบ่งชี้ได้ว่า ความสูญเสียของ "เป้าหมายอ่อนแอ" มีแนวโน้มลดลงหลังรัฐบาลไทยริเริ่มกระบวนการพูดคุยสันติภาพกับแกนนำบีอาร์เอ็นกลุ่มนี้ โดยเฉพาะเมื่อรัฐบาลไทยยื่นข้อเสนอให้ลดเหตุรุนแรงลง โดยเฉพาะที่กระทำกับ "เป้าหมายอ่อนแอ"
ข้อมูลชุดนี้จัดทำโดยหน่วยงานความมั่นคงในพื้นที่หน่วยหนึ่ง รายละเอียดของข้อมูลชี้ให้เห็นว่าตั้งแต่เริ่มกระบวนการพูดคุยสันติภาพ ความสูญเสียในส่วนที่เป็น "เป้าหมายอ่อนแอ" ซึ่งหมายถึงประชาชนทั่วไป ครู เด็ก ผู้หญิง และคนชรา ลดจำนวนลงอย่างมีนัยสำคัญ
จากการวิเคราะห์ข้อมูลจำนวนผู้เสียชีวิตจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ห้วง 6 เดือนแรกของปี นับตั้งแต่ปี 2547-2556 พบว่าปี 2550 มีประชาชนเสียชีวิตสูงสุด 471 คน ส่วนในปีอื่นๆ สถิติการเสียชีวิตของประชาชนก็อยู่ในระดับสูง เฉลี่ยปีละ 200 รายขึ้นไปทั้งสิ้น ยกเว้นปี 2556 ซึ่งเป็นปีที่เริ่มกระบวนการพูดคุยสันติภาพ (นับถึงวันที่ 4 ก.ค.2556) มีประชาชนเสียชีวิตจากเหตุการณ์ความไม่สงบลดลงเหลือ 69 ราย ต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของทุกปีตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา
โดยข้อมูลประชาชนที่เสียชีวิตจากสถานการณ์ความไม่สงบห้วง 6 เดือนแรกของแต่ละปีมีดังนี้
ปี 2547 จำนวน 76 ราย
ปี 2548 จำนวน 212 ราย
ปี 2549 จำนวน 358 ราย
ปี 2550 จำนวน 471 ราย
ปี 2551 จำนวน 208 ราย
ปี 2552 จำนวน 224 ราย
ปี 2553 จำนวน 207 ราย
ปี 2554 จำนวน 209 ราย
ปี 2555 จำนวน 198 ราย
ปี 2556 จำนวน 69 ราย (ดูกราฟฟิกประกอบ)
ยิ่งไปกว่านั้น หากเปรียบเทียบยอดผู้เสียชีวิตกลุ่มต่างๆ ที่ตกเป็นเป้าหมายของสถานการณ์ความไม่สงบในห้วงเวลาเดียวกัน ระหว่างก่อนกับหลังกระบวนการพูดคุยสันติภาพกับบีอาร์เอ็น คือเทียบระหว่างเดือน มี.ค.-มิ.ย.2555 กับเดือน มี.ค.-มิ.ย.2556 พบว่าช่วงหลังพูดคุยสันติภาพเป็นช่วงที่ความสูญเสียของประชาชนทั้งเสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บลดต่ำลงกว่าตำรวจ ทหาร และเป็นครั้งแรกในรอบ 9 ปีไฟใต้ด้วย โดยสามารถแยกแยะข้อมูลได้ดังนี้
ห้วงเดือน มี.ค.-มิ.ย.2555 มีตำรวจเสียชีวิต 7 นาย ทหาร 13 นาย รวมตำรวจ-ทหาร 20 นาย ขณะที่ประชาชนเสียชีวิต 81 ราย
ห้วงเดือน มี.ค.-มิ.ย.2556 มีตำรวจเสียชีวิต 8 นาย ทหาร 47 นาย รวมตำรวจ-ทหาร 55 นาย ขณะที่ประชาชนเสียชีวิต 43 ราย
สำหรับยอดผู้ได้รับบาดเจ็บก็เป็นไปในทิศทางเดียวกัน กล่าวคือ
ห้วงเดือน มี.ค.-มิ.ย.2555 มีตำรวจได้รับบาดเจ็บ 19 นาย ทหาร 92 นาย รวมตำรวจ-ทหาร 111 นาย ขณะที่ประชาชนได้รับบาดเจ็บ 401 ราย
ห้วงเดือน มี.ค.-มิ.ย.2556 มีตำรวจได้รับบาดเจ็บ 25 นาย ทหาร 140 นาย รวมตำรวจ-ทหาร 165 นาย ขณะที่ประชาชนได้รับบาดเจ็บ 97 ราย
จากตัวเลขทั้งหมดนี้ หน่วยงานความมั่นคงที่ทำหน้าที่วิเคราะห์ข้อมูลได้ตั้งสมมติฐานว่า มีความเป็นไปได้ที่กลุ่มก่อความไม่สงบเปลี่ยนเป้าหมายจากประชาชนเป็นเจ้าหน้าที่รัฐผู้ถืออาวุธแทน ซึ่งก็คือตำรวจ ทหาร เป็นไปตามข้อเรียกร้องของคณะพูดคุยสันติภาพฝ่ายไทยที่ให้งดโจมตี "เป้าหมายอ่อนแอ" และหากสมมติฐานนี้เป็นจริง ย่อมหมายความว่าบีอาร์เอ็นกลุ่มนายฮัสซัน ตอยิบ มีตัวตนและสามารถสั่งการกองกำลังติดอาวุธในพื้นที่ได้ระดับหนึ่ง
นอกจากนั้น ยังน่าจะแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาความไม่สงบอย่างเป็นรูปธรรมบนพื้นฐานของหลักสิทธิมนุษยชน และข้อเสนอแนะของเลขาธิการองค์การความร่วมมืออิสลาม (โอไอซี) จนสามารถสร้างหลักประกันความมั่นใจให้แก่ประชาชนในพื้นที่ได้ โดยเฉพาะการพูดคุยสันติภาพกับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ การรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน รวมถึงการอำนวยความเป็นธรรม เช่น การพัฒนาระบบควบคุมดูแลผู้ต้องขังมุสลิมในเรือนจำ การปรับปรุงชุดแต่งกายของผู้ต้องขังชาย-หญิง การดูแลเรื่องอาหารฮาลาล และสถานที่ปฏิบัติศาสนกิจ รวมถึงการย้ายผู้ต้องขังกลับภูมิลำเนา เป็นต้น
ขณะเดียวกัน ยังสะท้อนผลสำเร็จของการให้ความช่วยเหลือเยียวยา โดยเฉพาะกลุ่มที่ถูกกระทำจากเจ้าหน้าที่รัฐ และกลุ่มที่เจ้าหน้าที่รัฐกระทำเกินกว่าเหตุ เช่น กลุ่มผู้สูญเสียจากเหตุการณ์กรือเซะ ตากใบ ไอร์ปาแย และกลุ่มที่ถูกจับกุมคุมขังแต่ภายหลังศาลพิพากษายกฟ้องด้วย
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : แผนภูมิแสดงตัวเลขผู้เสียชีวิตที่เป็นประชาชนในห้วง 6 เดือนแรกของแต่ละปี ตลอด 10 ปีไฟใต้