‘ส.ศิวรักษ์’ ค้านสร้างเขื่อนริมน้ำสะแกกรัง กระทบอัตลักษณ์ ‘ชุมชนชาวแพ’
‘ส.ศิวรักษ์’ ค้านสร้างเขื่อนริมน้ำสะแกกรัง จ.อุทัยธานี หวั่นกระทบทรัพยากร-อัตลักษณ์ชุมชนชาวแพ ซัดไทยติดวัฒนธรรมหัวหด ไม่กล้าลุกขึ้นร้องสิทธิ
หลังจากที่ นายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ (ส.ศิวรักษ์) ปัญญาชนสยาม ได้โพสข้อความพร้อมภาพในแฟนเพจเฟซบุ๊ก (Sulak Sivaraksa) ระบุข้อความ...แม้ศาลปกครองจะตัดสินคดีเรื่องที่รัฐบาลใช้งบประมาณในการแก้ปัญหาน้ำท่วมว่า ให้ฟังประชามติ และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนก็ยืนยันมติที่ว่านี้ แต่ทางอุทัยธานีก็ไม่ยุติการสร้างเขื่อนอันสูงชัน แพต่าง ๆ ถูกย้ายไปหมดแล้ว
บัดนี้ น้ำในแม่น้ำสะแกกรังลงงวดจนเกือบแห้ง แพที่ย้ายไปต้องติดดินเอียงกระเท่เร่ โดยไม่มีใครใยดีเลย เพราะถือว่าแพไม่กี่หลัง ถ้าเห็นว่า แพเป็นเอกลักษณ์ของอุทัยธานี น่าจะเอาใจดูหูใส่ยิ่งกว่านี้ อย่างน้อยก็ควรติดต่อกับกรมชลประทานให้ปล่อยน้ำลงมาให้แพลอยตัวอยู่ได้ พูดไปทำไมมีใครสนใจคนเล็กคนน้อย ใครสนใจเอกลักษณ์ในทางวัฒนธรรมของบ้านเมืองกันบ้าง
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) สัมภาษณ์ ส.ศิวรักษ์ ถึงเรื่องดังกล่าว โดยเขามองว่า การอยู่แพเป็นวัฒนธรรมของไทยที่มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ธนบุรี และรัตนโกสินทร์ เพราะคนไทยมีวิถีชีวิตอยู่กับน้ำมาตลอด กระทั่งจอมพลป. พิบูลสงคราม มีดำริให้เปลี่ยนชื่อประเทศสยามเป็นไทย และออกกฎบังคับให้คนในประเทศขึ้นมาอาศัยบนฝั่งแทน ทำให้ขณะนั้นไม่มีแพริมแม่น้ำเจ้าพระยาหลงเหลือเลย ยกเว้นแพริมแม่น้ำสะแกกรังแถบจ.อุทัยธานี ที่รัฐบาลตรวจไม่พบ
ส่วนกรณีการสร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วมริมแม่น้ำสะแกกรัง จ.อุทัยธานีนั้น ปัญญาชนสยาม กล่าวว่า จะส่งผลกระทบต่อชุมชนแพ เพราะหากสร้างเขื่อนสูงเกินไป แพจะผูกยึดกับตลิ่งไม่ได้ และแม้จะมีการร้องขอให้ชะลอโครงการ และเปิดให้มีการทำประชาพิจารณ์เสียก่อน แต่ไม่ได้รับความใส่ใจจากเจ้าหน้าที่รัฐ นอกจากข้ออ้างว่า ต้องเร่งใช้จ่ายงบประมาณให้หมด ทำให้ขณะนี้แพตั้งติดดิน รวมถึงแพของตนเองที่ตู้ตั่งล้มหมดแล้ว พร้อมกับ ไม่เชื่อว่าเมื่อย้ายแพไปตั้งอีกฝั่งตรงข้าม ตามเวลา 2 ปี แล้วจะได้กลับมาที่เดิม
“60 ปีก่อน คือ ยุคจอมพลป. พิบูลสงครามเผด็จการฆ่าแพ แต่ปัจจุบันเป็นบริโภคนิยม รัฐบาลต้องการใช้เงินอย่างเดียว โดยลืมไปว่าโครงการทั้งหมดเป็นการทำลายทรัพยากรธรรมชาติและเอกลักษณ์ของชุมชน ถือเป็นการทำลายที่ร้ายแรงที่สุด” ปัญญาชนสยาม กล่าว และว่า เราอยากถอนรากถอนโคนสิ่งเหล่านี้ เพราะอยากเป็นฝรั่ง เราอายความเป็นไทย อายแม้กระทั่งเอกลักษณ์ที่สั่งสมมาหลายชั่วอายุคน นับเป็นเรื่องน่าเศร้า
ส.ศิวรักษ์ กล่าวถึงสาเหตุที่ชาวบ้านไม่กล้าลุกขึ้นมาปกป้องเอกลักษณ์ของท้องถิ่นด้วยว่า เพราะจ.อุทัยธานีมีนักการเมืองระดับท้องถิ่นและระดับชาติที่มีอิทธิพลเกี่ยวดองกัน ไม่สนใจผลประโยชน์ชาวบ้าน ทำให้หลายคนเกิดความรู้สึกทนได้ก็ทน ทั้งนี้มองว่า สังคมไทยสอนคนให้หัวหด ซึ่งเมื่อไรที่เลิกหัวหดก็จะสามารถยืนหยัดอยู่ได้ แต่กว่าถั่วจะสุก งาก็ไหม้หมดแล้ว
ด้านนายก. (สงวนชื่อ-สกุล) หนึ่งในผู้ได้รับผลกระทบ กล่าวถึงโครงการก่อสร้างระบบป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนเมืองอุทัยธานี บริเวณริมแม่น้ำสะแกกรัง เชื่อว่าจะไม่ช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ แต่จะส่งผลให้สูญเสียระบบนิเวศทางธรรมชาติ สัตว์น้ำที่เคยอุดมสมบูรณ์ต่างได้รับผลกระทบ จนอาจสูญพันธุ์ได้ เพราะดินทรายที่นำมาถมสร้างเขื่อนนั้นไหลลงแม่น้ำทำให้ตื้นเขิน
“การสร้างเขื่อนยังกระทบวิถีชีวิตชุมชนชาวแพหลายครัวเรือนต้องเคลื่อนย้ายจากบริเวณเดิมไปตั้งหลักใหม่อีกฟากหนึ่งของแม่น้ำที่มีจำนวนเรือนแพเยอะอยู่แล้ว สร้างความแออัดมากยิ่งขึ้น” แหล่งข่าวระบุ และว่า สาเหตุสำคัญที่ชาวแพยินยอมเคลื่อนย้าย เพราะได้รับค่าช่วยเหลือเป็นเงิน 8,000 บาท ซึ่งสูงมากสำหรับชาวบ้านนั่นเอง
นอกจากนี้ นายก. กล่าวด้วยว่า ด้านการท่องเที่ยวที่ถือเป็นหัวใจสำคัญของชุมชนก็ได้รับผลกระทบ เพราะการสร้างเขื่อนจะทำให้ระบบนิเวศดั้งเดิมของแม่น้ำสะแกกรังค่อย ๆ หายไป จนนักท่องเที่ยวที่มุ่งหวังมาชื่นชมความดั้งเดิมวิถีชีวิตชุมชนชาวแพ จ.อุทัยธานี ต้องผิดหวัง
ด้านนายสมพร กาญจน์นิรันทร์ หัวหน้าโยธาธิการและผังเมือง จ.อุทัยธานี กล่าวถึงการก่อสร้างระบบป้องกันน้ำท่วมชุมชน ริมแม่น้ำสะแกกรัง อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อชุมชนชาวแพ จึงจำเป็นต้องขอความร่วมมือให้เคลื่อนย้ายออกจากพื้นที่ก่อสร้างชั่วคราว ซึ่งภาครัฐได้ให้ความช่วยเหลือโดยออกค่าใช้จ่ายในการทิ้งสมอแพ ติดตั้งระบบไฟฟ้า ประปาใหม่ มากกว่าการช่วยเหลือเป็นจำนวนเงิน อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า โครงการดังกล่าวไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท ที่ศาลปกครองสั่งชะลอโครงการฯ จึงสามารถดำเนินงานต่อได้
ขณะที่นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กล่าวว่า โครงการระบบป้องกันน้ำท่วมชุมชน ริมแม่น้ำสะแกกรังนั้น อยู่ในความรับผิดชอบของกรมโยธาธิการและผังเมือง งบประมาณ 1,200 ล้านบาท โดยขณะที่ชาวบ้านมาร้องเรียนต่อกสม.อยู่ในการก่อสร้างระยะที่ 2 งบประมาณ 150 ล้านบาท ซึ่งกระทบต่อวิถีชีวิตของชุมชนชาวแพริมน้ำ เนื่องจากต้องเคลื่อนย้ายแพออกจากฝั่งที่มีการก่อสร้าง ซึ่งตามคำบอกเล่าของชาวบ้านยอมเคลื่อนย้ายได้รับค่าชดเชยในการแพละ 5,000 บาท ยกเว้นแพของส.ศิวรักษ์
อย่างไรก็ดี การลงพื้นที่เมื่อต้นพ.ค.ที่ผ่านมา มีข้อสรุปขอความร่วมมือให้ชะลอโครงการฯ พร้อมเปิดการประชาพิจารณ์ใหม่ แต่บริษัท กิจชนพัฒน์เอ็นจีเนียริ่ง ซึ่งเป็นผู้รับเหมา ยืนยันว่าได้มีการประชาพิจารณ์และศึกษาผลกระทบรอบด้านแล้ว ทำให้ไม่สามารถทำตามคำร้องขอได้ ทั้งนี้ปัจจุบันกสม.อยู่ระหว่างรอบริษัทผู้รับเหมาจัดส่งเอกสารดังกล่าวมาให้ เพื่อพิจารณาว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ .