นพ.พลเดช ยกกรณี ‘สุภา’ ชี้ควรมีการคุ้มครองผู้ให้ข้อมูลเป็นประโยชน์แก่รัฐ
นพ.พลเดช ยกกรณี 'สุภา' เผยข้อมูลจำนำข้าวถูกตั้งกก.สอบ ชี้ควรขยายการคุ้มครองผู้ให้ข้อมูลเป็นประโยชน์แก่ภาครัฐ ด้าน 'สังศิต' ฉะ รมต.ล้วงลูก แนะนักการเมืองยึดธรรมาภิบาล เข้าใจหลักบริหารบ้านเมืองที่ดี
ภายหลังที่ นางสาวสุภา ปิยะจิตติ รองปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลเข้าชี้แจงข้อมูลโครงการจำนำข้าวต่อคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจ วุฒิสภา โดยระบุว่าโครงการรับจำนำข้าวเปลือก มีจุดบอดอยู่ที่ "การทุจริตทุกจุด" อันเป็นที่มาให้นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ไม่พอใจและตั้งกรรมการสอบนั้น
กรณีนี้ นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา (LDI) ในฐานะประธานคณะทำงานการปฏิรูปกฎหมายเพื่อแก้ปัญหาคอร์รัปชั่น สำนักงานปฏิรูป (สปร.) กล่าวกับสำนักข่าวอิศราว่า หากเป็นประเทศอื่นการเปิดเผย หรือให้ข้อมูลตามหน้าที่เช่นนี้ จะมีมาตรการคุ้มครองบุคคลผู้ให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการบริหารจัดการของภาครัฐ (Whistleblower Protection) อย่างไรก็ตาม การตั้งคณะกรรมการสอบบุคคลผู้ที่ให้ข้อมูลตามหน้าที่เช่นนี้เป็นเรื่อง "น่าตลก" มาก
"สำหรับประเทศไทยการคุ้มครองพยาน มีในกฎหมายคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แต่เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวพันเท่านั้น แต่กรณีของรองปลัดกระทรวงการคลัง หรือบุคคลอื่นที่ออกมาให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ แต่ไม่เข้าข่ายนี้ก็จะไม่ได้รับการคุ้มครอง
ซึ่งคณะสมัชชาปฏิรูปได้มีข้อเสนอให้ ป.ป.ช.เพื่อขอให้ขยายความคุ้มครองจากพยานไปสู่ผู้ที่ให้ข้อมูล เนื่องจากความคุ้มครองที่มีอยู่แคบเกินไป โดยเฉพาะสังคมปัจจบันที่ประชาชนเข้ามาร่วมตรวจสอบการทำงานของภาครัฐมากขึ้น และที่ผ่านมาผู้ตรวจสอบภาครัฐต่างได้รับชะตากรรมแตกต่างกันออกไป บ้างถูกยิงเสียชีวิตก็มาก"
ขณะที่รศ.ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต กล่าวว่า การที่รัฐมนตรีเข้ามาล้วงลูกการทำหน้าที่ของข้าราชการที่ให้ข้อมูลแก่คณะกรรมาธิการฯ ด้วยการตั้งคณะกรรมการสอบเช่นนี้ เป็นการขัดต่อหลักธรรมาภิบาล และหลักบริหารจัดการบ้านเมืองที่ถูกต้อง หากจะตรวจสอบควรสอบผู้บังคับบัญชา นั่นคือ ปลัดกระทรวงมากกว่า
"กรณีนี้หากรัฐทำตามหลักธรรมาภิบาล ไม่จำเป็นต้องตั้งคณะกรรมการมาสอบ เพราะเป็นหน้าที่ของข้าราชการ ที่ต้องให้ข้อมูลกับสภาฯ เพื่อตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลเป็นกระบวนการปกติอยู่แล้ว การตั้งคณะกรรมการสอบเช่นนี้ ไม่มีประเทศใดในโลกที่เจริญแล้วทำกัน เพราะเป็นการข่มขู่คุกคามข้าราชการประจำ และไม่ให้เกียรติการทำงานของสภาฯ นับว่าเป็นพฤติกรรมใช้อำนาจทางการเมืองโดยมิชอบ กรณีนี้ในต่างประเทศรัฐมนตรีที่สั่งสอบถือว่า คอร์รัปชั่นในการบริหารจัดการ" รศ.ดร.สังศิต กล่าว และว่า สำหรับสังคมไทย สิ่งที่ควรทำคือ พูดถึงเรื่องหลักธรรมาภิบาลให้มากๆ เพื่อให้นักการเมืองเข้าใจหลักการบริหารบ้านเมืองที่ดี หากเป็นเช่นนั้นสังคมไทยไม่จำเป็นต้องมี มาตรการคุ้มครองเป็นพิเศษใดๆ แก่ผู้ให้ข้อมูลเลย
เช่นเดียวกับ กรณีการลงนาม "ข้อตกลงคุณธรรม" ระหว่างรัฐบาลกับองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) ที่จะให้มีการเสนอบุคคลเข้ามาเป็นผู้สังเกตการณ์ในแต่ละโครงการของภาครัฐ เพื่อติดตามและตรวจสอบการทำงานให้โปร่งใส เป็นไปตามขั้นตอนและป้องกันการทุจริตคอร์รัปชั่น รศ.ดร.สังศิต กล่าวว่า รัฐบาลต้องไว้วางใจว่าบุคคลที่คัดสรรมาเป็นผู้สังเกตการณ์มีความเหมาะสม ดังนั้น การกำหนดโทษทั้งแพ่งและอาญากับผู้สังเกตการณ์ ตามที่รัฐบาลระบุไว้ ถือเป็นการข่มขู่ เช่นนี้ใครจะอาสาเข้ามาทำงาน
"ตามหลักปกติหากผู้สังเกตการณ์ได้ข้อมูล ความไม่ชอบมาพากลในโครงการก็จะรายงานองค์กรต้นสังกัด เพื่อให้องค์กรตรวจสอบความน่าเชื่อถือและติดตามจากภาครัฐ
แต่การเริ่มต้นด้วยการออกกติกาว่าหากข้อมูลรั่วไหลจะฟ้องเช่นนี้ เท่ากับว่ารัฐบาลไม่มีคุณธรรมตั้งแต่ต้น รัฐบาลต้องเข้าใจว่าระบอบประชาธิปไตยสมัยใหม่ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม ไม่ใช่การบริหารงานแบบเมื่อ 30 ปีก่อน"