ผู้ประกอบการค้านแก้กม.จ่ายเงินวันหยุดแรงงานประมง
คปก.ชะลอออกกฎกระทรวงฯ คุ้มครองแรงงานประมง ชี้ต้องรับฟังความคิดเห็นก่อน ผู้ประกอบการค้าน จ่ายเงินวันหยุด เหตุขั้นตอนปฏิบัติต่างกัน นักกม.แนะดึงประกาศมหาดไทยปี 35 พิจารณาควบ
วันที่ 8 ก.ค. 2556 ที่อาคาร 3 รัฐสภา คณะอนุกรรมการปฏิรูปกฎหมายด้านแรงงาน คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) จัดรับฟังความคิดเห็นร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานในงานประมงทะเล พ.ศ. ...
นางสุนี ไชยรส รองประธานคปก. กล่าวว่า จากการวิพากษ์วิจารณ์ในร่างกฎกระทรวงฯ ฉบับที่ 10 (พ.ศ.2541) เกิดปัญหาไม่คุ้มครองแรงงานประมงทะเลเท่าที่ควร โดยเฉพาะกรณีการค้ามนุษย์ ทำให้กระทรวงแรงงานได้ร่างกฎกระทรวงฯ ฉบับใหม่ขึ้น และกำลังอยู่ในขั้นตอนการเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับรอง อย่างไรก็ดี เมื่อคปก.ทราบเรื่อง จึงมีหนังสือเร่งด่วนถึงน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีให้ชะลอการออกกฎกระทรวงฯ ก่อน เพราะเห็นว่ายังมีเนื้อหาบางส่วนไม่สมบูรณ์ เช่น นายจ้างจงใจผิดนัดในการจ่ายค่าจ้างทำงานวันหยุด โดยไร้เหตุผล หรือการเปิดช่องว่างให้จ้างแรงงานเด็กในกิจการประมงที่ขัดต่ออนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กที่กำหนดไม่ควรต่ำกว่า 18 ปี จึงเสนอให้ควรจัดรับฟังความคิดเห็นก่อน (อ่านเพิ่มเติม:คปก.ขอให้ชะลอกฎกระทรวงฯ คุ้มครองแรงงานประมง ชี้เพิ่มโทษ-ใช้แรงงานเด็กเสี่ยงขัดกม.)
“เราไม่คัดค้านการแก้ไขร่างกฎกระทรวงฯ เพียงแต่ว่าหากรับรองแล้วยังก่อให้เกิดปัญหาซ้ำเติม ควรถอยมาตั้งหลักก่อน และหวังว่ากระทรวงแรงงานจะเปิดโอกาสให้มีการรับฟังความคิดเห็นอย่างกว้างขวางอีกเวทีหนึ่งต่อไป” รองประธานคปก. กล่าว
นายสุรพงษ์ กองจันทึก อนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติ และผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ กล่าวว่า กฎกระทรวงฯ ฉบับนี้อยู่ภายใต้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ดังนั้นหากจะแก้ไขจะต้องบัญญัติมาตรการคุ้มครองที่ไม่ต่ำกว่ากฎหมายแม่ ทั้งนี้ประเด็นที่ควรพิจารณา แบ่งเป็น 4 เรื่อง ดังนี้ 1.ตามที่กฎกระทรวงฯ ฉบับที่ 10 ได้กำหนดคุ้มครองยกเว้นมิให้ใช้บังคับกับงานประมงทะเลที่มีลูกจ้างน้อยกว่า 20 คน และมิให้ใช้บังคับกับเรือประมงที่ดำเนินการประจำอยู่นอกราชอาณาจักรตัดต่อกันตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป เป็นเหตุให้ลูกจ้างบางส่วนในงานประมงทะเลไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายนั้น เห็นว่าควรให้มีการคุ้มครองทั้งหมดไม่ว่าจะเดินเรือนานเพียงใด
2.ร่างกฎกระทรวงฯ ฉบับใหม่ กำหนดอายุขั้นต่ำของลูกจ้างทำงานในเรือประมง ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี เว้นแต่เด็กนั้นอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปี และบิดามารดาหรือผู้ปกครองเด็กนั้นทำงานอยู่ในเรือประมงนั้นด้วย เห็นว่ายังขัดต่ออนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กที่ห้ามเด็กต่ำกว่าอายุ 18 ปีทำงาน ดังนั้นรัฐต้องมีมาตรการทางสังคมลงโทษ อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญ (รธน.) พ.ศ.2550 ม.49 ระบุว่า เด็กจะต้องได้รับการศึกษาขั้นต่ำอย่างน้อย 12 ปี นอกจากนี้ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยหลักฐานในการรับนักเรียนนักศึกษาเข้าเรียนในสถานศึกษา พ.ศ.2548 และมติครม. 5 ก.ค. 2550 ได้ระบุเหมือนกันว่า เด็กทุกคนหมายรวมถึงลูกของแรงงานต่างด้าวจะต้องได้รับการศึกษาอย่างน้อย 12 ปี เช่นกัน
3.กรณีนายจ้างผิดนัดจ่ายค่าจ้างและค่าทำงานในวันหยุด ให้นายจ้างจ่ายดอกเบี้ยแก่ลูกจ้างในระหว่างผิดนัดร้อยละ 15 ต่อปี ถือว่าเป็นการคุ้มครองแรงงาน แต่หากคิดดอกเบี้ยเพียงร้อยละ 5 ต่อปี ถือว่าต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนด และ 4.เสนอให้คุ้มครองแรงงานต่างด้าวที่มีกรณีพิพาทในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งจะถูกส่งกลับประเทศต้นทางเมื่อหมดสัญญาจ้างให้สามารถอยู่ในไทยได้ชั่วคราวจนกว่าคดีจะสิ้นสุดได้
ด้านน.ส.สุชาดา บุญภักดี กรมประมง กล่าวเห็นด้วยกับการแก้กฎกระทรวงฯ ฉบับที่ 10 แต่ควรเพิ่มเติมให้ครอบคลุมการคุ้มครองแรงงานเรือประมงขนาดเล็กหรือประมงพื้นบ้าน ซึ่งมีราว 30,000 ลำ จากเรือประมงทั้งหมดประมาณ 60,000 ลำ ให้ได้รับการดูแลโดยไม่ให้เกิดภาระการดำเนินงานด้านเอกสารต่าง ๆ
นายนิธิวัฒน์ ธีระนันทกุล นายกสมาคมการประมงนอกน่านน้ำไทย กล่าวถึงการจ่ายค่าทำงานในวันหยุดแก่แรงงานประมงว่าเป็นเรื่องยาก เพราะการทำประมงพาณิชย์นั้นมีวิธีการแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับชนิดของเครื่องมือจับปลาและระยะเวลาออกเรือ เช่น เรืออวนลากจะออกเรือเฉพาะหน้าฝน เรืออวนล้อมทูน่าจะออกเรือเฉพาะลมสงบ ดังนั้นวันหยุดของแรงงานประมงนั้นจึงไม่มีระบุชัดเจน ซึ่งส่วนใหญ่จะพักผ่อนกันในช่วงนำเรือเข้าฝั่ง
ขณะที่น.ส.ศิริวรรณ ว่องเกียรติไพศาล สำนักงานกฎหมายเอสอาร์ กล่าวว่า กฎกระทรวงฯ ฉบับที่ 10 ยังมีข้อจำกัดหลายประการ ดังนั้นหากจะร่างขึ้นใหม่ควรนำประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานในกิจการประมงทะเล พ.ศ.2535 ซึ่งยกเลิกไปแล้ว มาพิจารณาเพิ่มเติมควบคู่ด้วย โดยเฉพาะประเด็นอายุของเด็กที่ทำงานในเรือประมงนั้นอนุโลมให้อายุต่ำกว่า 18 ปีได้ แต่ต้องไม่ให้ทำงานเกินกำหนดเวลา และห้ามทำงานที่เสี่ยงต่ออันตราย ซึ่งสอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก นอกจากนี้หากพบกรณีนายจ้างจงใจไม่จ่ายค่าจ้างจะต้องชดเชยโดยให้กำหนดอัตราเงินเพิ่มร้อยละ 15 ทุก 7 วัน ด้วย .