"คุณหญิงชฎา" ห่วงประกาศต้านคอร์รัปชั่น รบ.ยิ่งลักษณ์ โยนประโยคขู่ สกัดผู้สังเกตการณ์
รองประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน ห่วงรัฐโยน ประโยคขู่ หวังสกัดคนเข้ามาเป็น “ผู้สังเกตการณ์” ร่วมสอดส่องทุจริต ให้รับผิดชอบทางแพ่ง อาญาเอง
คุณหญิงชฎา วัฒนศิริธรรม รองประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) กล่าวกับสำนักข่าวอิศรา ถึงกรณีนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี นำคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ พร้อมด้วยปลัดกระทรวง อธิบดี และผู้บริหารหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ร่วมประกาศเจตนารมณ์เดินหน้าพัฒนาประเทศไทย โดยยึดหลักธรรมาภิบาลของการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม ที่ผ่านมาว่า เนื้อหาสาระ “ใกล้เคียง” กันมากกับข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact: IP.) ขององค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน
“หากเป็นข้อตกลงคุณธรรม จะมีความชัดเจนมากกว่า บทบาทของราชการคืออะไร บทบาทของผู้ประมูล คู่สัญญาคืออะไร ผู้สังเกตการณ์จะมีบทบาทอะไรบ้าง ซึ่งทุกอย่างจะต้องมีกรอบ และขอบเขตการคุ้มครอง”
คุณหญิงชฎา กล่าวอีกว่า การประกาศเจตนารมณ์ของรัฐบาลกลับไม่ได้พูดถึง “ข้อตกลงคุณธรรม” ที่เป็นข้อตกลงสากลประกอบด้วย 3 ฝ่าย ฝ่ายรัฐ ฝ่ายเอกชน และฝ่ายผู้สังเกตการณ์ และยิ่งได้อ่านประกาศเจตนารมณ์ดังกล่าวแล้ว เหมือนเป็น “ข้อที่ควรจะทำ” มากกว่า เช่น ต้องให้ข้อมูล หรือต้องไม่ให้สินบน อีกทั้งไม่ได้มีอะไรที่ชัดเจนเลยสำหรับแผนงานเชิงรุกของรัฐบาลในการต่อต้านการทุจริต ไม่ว่าจะเป็น หากไม่ปฏิบัติตาม อะไรจะเกิดขึ้น บทลงโทษ หรือผู้รับจ้างจะถูกขึ้นแบล็คลิส
“ข้อตกลง คือ สัญญาที่บอกกับประชาชนว่า นี่คือสัญญาที่ทำ สามารถตรวจสอบได้ โดยมีผู้สังเกตการณ์และประชาชนเข้ามาเกี่ยวข้องร่วมตรวจสอบโครงการลงทุนใหญ่ๆของรัฐ”
เมื่อถามถึง การที่รัฐจะเปิดให้บุคคลจากภาคส่วนต่างๆ สามารถเข้ามาเป็น “ผู้สังเกตการณ์” ในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐเพื่อทำหน้าที่สอดส่อง สังเกตการณ์และเสนอแนะให้การจัดซื้อจัดจ้างเป็นไปโดยสุจริตนั้น รองประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน กล่าวว่า ตรงนี้ น่ากังวลใจ โดยเฉพาะในคำแถลงการณ์ของรัฐบาล พูดถึงบทบาทหน้าที่ของผู้สังเกตการณ์ วางวงจำกัด ไว้ว่า “ในการที่บุคคลจะมาให้ข้อมูลต่างๆ นั้นจะต้องรับผิดชอบต่อการกระทำใดๆ ของตน ที่จะก่อให้เกิดความเสียหาย กับภาครัฐหรือเอกชน ทั้งทางแพ่งและอาญา” ซึ่งการที่รัฐเขียนเงื่อนไขเช่นนี้ เราก็มองภาพได้ว่า ไม่น่าจะหาผู้สังเกตการณ์ได้เลย
“การที่รัฐโยนประโยคนี้ใส่เข้าไป เท่ากับจะไม่มีผู้สังเกตการณ์ หาไม่ได้เลย เนื่องจากหากไม่มีการให้ความคุ้มครอง และแม้จะมีกฎหมายป.ป.ช.คุ้มครองพยานแล้วก็ตาม แต่นั่นคือ เหตุต้องเกิดแล้ว กฎหมายป.ป.ช.นี้จึงจะคุ้มครอง แต่กรณีนี้เหตุยังไม่เกิด การมีผู้สังเกตการณ์เข้าร่วมตรวจสอบการทำงานของรัฐหรือเอกชน ก็เพื่อเป็นการป้องกันต้นทาง ดังนั้นสาระจึงไม่เหมือนกัน จึงจำเป็นที่รัฐต้องมีบทคุ้มครองด้วย”
ทั้งนี้ คุณหญิงชฎา ยังฝากข้อเสนอไปยังรัฐบาลด้วยว่า ในช่วงของการร่างระเบียบฯ ใดๆเกี่ยวกับการทุจริตนี้ ขอให้องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันเข้าไปให้ข้อคิดเห็น และรายละเอียดต่างๆ ก่อนออกเป็นระเบียบสำนักนายกฯ เพื่อให้สามารถมีกลุ่มผู้สังเกตการณ์ที่สังคมไว้เนื้อเชื่อใจได้ในความเป็นมืออาชีพ รู้จริง ไม่เอนเอียงไปฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
“ข้อสังเกตเรื่องผู้สังเกตการณ์ เป็นประเด็นที่องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน เห็นว่า ควรมีระบบให้ความคุ้มครองเขาเหล่านั้นด้วยเพื่อให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ”
{youtubejw}1H_zkYpfMf8{/youtubejw}
ฟังชัดๆ นาที ที่ 9.13
http://www.youtube.com/watch?v=1H_zkYpfMf8
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ประกาศเจตนารมณ์ต้านทุจริต "ยิ่งลักษณ์" ลอกข้อสอบองค์การต่อต้านคอร์รัปชัน ?
“รบ.” ปัดลอกคำประกาศเจตนารมณ์ต้านคอร์รัปชั่น “นิวัฒน์ธำรง” ยันทำเองกับมือ