เพิ่มขนาดภาพคำเตือนบนซองบุหรี่จาก 55% เป็น 85% งานวิจัยชี้ ลดอัตราการสูบลงได้จริง
เวทีประชุมวิชาการ "บุหรี่กับสุขภาพแห่งชาติ" โชว์งานวิจัยองค์การอนามัยโลก ชี้ชัด การมีกฎหมายห้ามโฆษณามีประสิทธิภาพสูงในการช่วยลดการสูบบุหรี่ แต่ต้องทำควบคู่ จำกัดทุกช่องทางการสื่อสารการตลาด แบบไม่มีข้อยกเว้น
วันที่ 4 ก.ค. ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมการยาสูบ (ศจย.) ร่วมกับภาคีเครือข่ายควบคุมยาสูบ สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดประชุมวิชาการ "บุหรี่กับสุขภาพแห่งชาติ" ครั้งที่ 12 เรื่อง " กลลวงโฆษณาของพ่อค้าบุหรี่" ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวชั่น ห้อง Executive ชั้น 4 กรุงเทพฯ
นายสุรชัย เป้าจรรยา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข กล่าวในงานประชุมวิชาการถึงมาตราการควบคุมการโฆษณายาสูบของประเทศไทย อยู่ในกลุ่มประเทศที่มีกฎหมายควบคุมประเด็นนี้เกือบครบถ้วน ในพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2535 แต่ประเด็นการโฆษณาทางอ้อมหรือการโฆษณาแฝง กฎหมายไทยยังไม่มีการห้ามใช้เรื่องนี้ จึงมีการดำเนินการร่างพระราชบัญญัติควบคุมการบริภาคยาสูบ (ฉบับใหม่) ซึ่งจะเป็นเครื่องมือควบคุมไม่ให้มีการละเมิด เช่น การห้ามเผยแพร่ข่าวสาร การให้การสนับสนุน CSR และปรับปรุงคำนิยาม การโฆษณา
นายสุรชัย ยังกล่าวถึง 2 บริษัทที่ฟ้องกระทรวงสาธารณะสุขให้คำนึกถึงประโยชน์ของเยาวชน และให้มองในแง่การตลาดน้อยลง และช่วยกันในเรื่องเพิ่มขนาดภาพคำเตือน
ขณะที่ผศ.ดร.ปิยะรัตน์ นิ่มพิทักษ์พงศ์ นักวิชาการคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่า ประเทศที่มีกฎหมายห้ามโฆษณาและส่งเสริมการขายมีอัตราการสูบบุหรี่ลดลงถึง 9% ในขณะที่ประเทศที่ไม่มีกฎหมายห้ามการโฆษณาและส่งเสริมอัตราการบริโภคไม่ลดลงเลย ส่วนงานวิจัยขององค์การอนามัยโลกแสดงให้เห็นชัดว่า การมีกฎหมายห้ามโฆษณามีประสิทธิภาพสูงในการช่วยลดการบริโภคบุหรี่ ซึ่งเราจะต้องครอบคลุมทุกช่องทางการสื่อสารการตลาดโดยไม่มีข้อยกเว้น จะทำให้มาตรการนี้มีประสิทธิภาพสูงสุด
นักวิชาการคณะเภสัชศาสตร์ ม.นเรศวร กล่าวถึงประเด็นปัญหาในปัจจุบันคือบริษัทบุหรี่ใช้วิธีการสื่อสารการตลาดแบบใหม่ ซึ่งมีอิทธิพลต่อการรับรู้ของเยาวชน และให้เฝ้าระวังแอพพลิเคชั่นทางโทรศัพท์มือถือ ในกลุ่มเด็กและเยาวชน อีกทั้งยังมีความจำเป็นที่จะต้องแก้ไข พ.ร.บ. ให้เท่าทันและเป็นปัจจุบันมากขึ้น
ด้านศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า จากงานวิจัยล่าสุดขององค์การอนามัยโลกที่รวบรวมจาก 41 ประเทศทั่วโลก พบว่า การเพิ่มขนาดคำเตือนช่วยลดให้คนอยากสูบบุหรี่น้อยลง โดยมาตรการควบคุมยาสูบแต่ละมาตราการมีวัตถุประสงค์ที่ต่างกัน ไม่สามารถทดแทนกันได้ ดังนั้นทุกมาตรการจึงต้องนำมาใช้พร้อมกัน และต้องเพิ่มความเข้มข้นของแต่ละมาตรการด้วย เช่น การขยายขนาดภาพคำเตือนจาก 55% เป็น 85% เพื่อประสิทธิภาพในการคุ้มครองสุขภาพที่สูงสุด
"ที่สำคัญเราพยายามจะหาวิธีที่จะให้ผู้ค้าปลีกมีความรับผิดชอบในการไม่ขายบุหรี่ให้กับเด็ก เพื่อช่วยให้เด็กไม่ติดบุหรี่"
ส่วนนายนพพร ชื่นกลิ่น รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงการเฝ้าระวังการขายโฆษณาบุหรี่่ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ว่า กำลังพูดคุยกับกระทรวงเทคโนโลยีและการสื่อสาร (ไอซีที) ที่จะกวดขันในเรื่องนี้ แม้จะมีข้อจำกัดความรวดเร็ว การตามปิดเว็บไซต์ต่างๆ ดำเนินการได้ยาก รวมไปถึงการสูบ “บารากู่” กำลังได้รับความนิยมอย่างมาก โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่น โดยมักเสพในสถานบันเทิง ผับ บาร์นั้น ก็ยังเป็นปัญหา การดำเนินการทางกฎหมายค่อนข้างยาก ดังนั้นพระราชบัญญัติที่กำลังร่าง ก็พยายามที่จะควบคุมเรื่องนี้ให้มากที่สุด