โจทย์ยากไฟใต้รอรับ รมต.ใหม่
ชัดเจนแล้วว่ารัฐมนตรีชุดใหม่ที่จะมีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับปัญหาภาคใต้มีอยู่ 3 คน คือ คุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกฯ ควบ รมว.กลาโหม พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รองนายกฯ และ พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รมช.กลาโหม โดยที่ พล.ต.อ.ประชา ได้รับมอบหมายให้คุมงานด้านความมั่นคงในภาพรวม
เมื่อพิจารณาจากตัวบุคคล ยังไม่มองไม่เห็นแนวโน้มใหม่ๆ ของการแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะสถานการณ์ช่วงนี้ซึ่งเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อของการเจรจาสันติภาพ คือโต๊ะเจรจามีแววล้ม และสถานการณ์ในพื้นที่ก็รุนแรงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
ที่สำคัญปัญหาภาคใต้ที่เดินทางมาเกือบครบ 1 ทศวรรษ และมีจุดเปลี่ยนอันสำคัญคือการเปิดโต๊ะเจรจาแบบ "เปิดหน้า" กับแกนนำบีอาร์เอ็น ทำให้ปัญหาไม่ได้ทรงตัวอยู่ในระดับเดิมอีกต่อไป แต่มีความสลับซับซ้อนมากขึ้นกว่าเก่า การจะแก้ให้สำเร็จต้องบอกว่ายากยิ่งกว่าเดิมหลายเท่า ซึ่งข้อสังเกตที่หลายๆ ฝ่ายฝากถึงรัฐมนตรีใหม่มีดังนี้
1.อย่าเพิ่งด่วนสรุปว่าสถานการณ์รุนแรงในช่วง 4-5 เดือนของการพูดคุยสันติภาพจนถึงปัจจุบัน ขบวนการบีอาร์เอ็นกลุ่มนายฮัสซัน ตอยิบ ไม่ใช่ตัวจริง และเตรียมเปลี่ยนคนเจรจาด้วย เพราะหากเดือนรอมฎอนนี้ความรุนแรงเกิดลดน้อยลงอย่างมีนัยสำคัญแล้วจะหนาว ที่พูดแบบนี้ไม่ได้เข้าข้างบีอาร์เอ็น แต่เตือนเอาไว้ว่าอย่าไปออกตัวแรงด้วยการปฏิเสธเงื่อนไขของอีกฝ่ายแบบไม่เหลือเยื่อใย เพราะการยื่นเงื่อนไขคือการเปิดโอกาสให้ต่อรอง
ต้องไม่ลืมว่าสถานการณ์ความไม่สงบ...เอาเฉพาะช่วงหลังจากวันที่ 24 มิ.ย.2556 เป็นต้นมาซึ่งนายฮัสซันเผยแพร่คลิปแถลงเงื่อนไขใหม่ 7-8 ข้อ เหตุรุนแรงในพื้นที่ล้อไปกับข้อเรียกร้องเกือบทั้งหมด เช่น เมื่อเช้าวันที่ 29 มิ.ย.วางระเบิดทหารเสียชีวิต 8 นายในคราวเดียว ตกบ่ายยิงครูสาวตาดีกาที่กำลังตั้งครรภ์ แล้วก็มีการปล่อยข่าวลือว่าทหารลงมือเพื่อแก้แค้น สุดท้ายมีการสร้างกระแส "ทหารออกไป" สอดรับกับเงื่อนไขบีอาร์เอ็น
ฉะนั้นแกนนำบนโต๊ะเจรจา กับขบวนการติดอาวุธในพื้นที่ แม้จะควบคุมกันไม่ได้ทั้งหมด แต่อาจร่วมมือกันทางยุทธวิธีได้เหมือนกัน หากเป็นเช่นนั้นรัฐบาลไทยก็มีทางเลือกน้อย และจะตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบมากขึ้นในการเจรจาห้วงต่อไป อาจถึงขั้นต้องไปขอร้องให้เขาคุยด้วยเลยทีเดียว (หากทฤษฎีที่ว่านี้เป็นจริง)
2.โครงสร้างของบีอาร์เอ็นไม่ได้มีแค่อาร์เคเค หรือกองกำลังติดอาวุธเท่านั้น แต่มีฝ่ายการเมือง ฝ่ายเศรษฐกิจ โดยมีโครงสร้างซ้อนทับกับโครงสร้างการปกครองของรัฐลงไปถึงระดับหมู่บ้าน จึงทำให้มีมวลชนของตนเองจำนวนไม่น้อย
เมื่อรัฐบาลชุดนี้ไปยกระดับบีอาร์เอ็นด้วยการไปลงนามพูดคุยเจรจาแบบเปิดเผย ทำให้บีอาร์เอ็นกลายเป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้กับรัฐไทย และกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐจึงถือโอกาสเปิดตัวกว้างขวางมากขึ้น รวมถึงกลุ่มที่รอแสวงประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการปกครองในพื้นที่ขนานใหญ่ แต่อาจไม่ได้เห็นด้วยกับวิธีการของบีอาร์เอ็น ก็เกาะขบวนบีอาร์เอ็นหรือใช้บีอาร์เอ็นเป็นเครื่องมือด้วย
ขณะที่การขับเคลื่อนในปีกปัญญาชนและคนรุ่นใหม่บางกลุ่มในลักษณะให้คนพื้นที่กำหนดวาระ "อนาคตของตนเอง" คล้ายๆ กับสิ่งที่เรียกว่า self-determination (สิทธิในการกำหนดชะตาชีวิตตนเอง) ตามกฎบัตรของยูเอ็น และฝ่ายความมั่นคงเกรงว่าจะพัฒนาไปสู่การทำประชามติเพื่อแยกดินแดนนั้น ในบางมิติก็สอดคล้องกับโจทย์ที่เป็นเงื่อนไขของบีอาร์เอ็นเช่นกัน อาทิ การควรมีทหารจากกองทัพภาคอื่นที่ไม่ใช่กองทัพภาคที่ 4 อยู่ในพื้นที่ต่อไปหรือไม่ เป็นต้น
นี่คือความเกี่ยวโยงต่อเชื่อมกันของสถานการณ์ซึ่งไม่ชัดว่าเป็นความบังเอิญหรือจงใจ แต่แน่นอนว่ามีความสุ่มเสี่ยงอย่างยิ่ง!
และในขณะที่สถานการณ์ในพื้นที่มีการก่อเหตุรุนแรงอย่างแหลมคมในลักษณะเหมือนยั่วยุให้ฝ่ายรัฐตอบโต้ด้วยความรุนแรง หลายฝ่ายประเมินว่าหากเกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนใหญ่ๆ ขึ้นอีกครั้ง หรือสถานการณ์ถูกปลุกไปจนสุกงอม แล้วมีคนออกมาชุมนุมนับแสนให้ทำประชามติกำหนดอนาคตตนเอง รัฐบาลจะทำอย่างไร ประเด็นนี้หากจะคิดเตรียมการรับมือเอาไว้บ้างก็น่าจะดี
3.เงื่อนไขสำคัญในพื้นที่ยังไม่ถูกแก้ไข โดยเฉพาะเรื่องความไม่เป็นธรรม และความไม่ไว้วางใจในเจ้าหน้าที่รัฐ เห็นได้ว่าพอเกิดเหตุร้ายที่มีบุคคลเชิงสัญลักษณ์ของพี่น้องในพื้นที่ตาย แล้วมีการปล่อยข่าวว่าคนของรัฐกระทำ ชาวบ้านมักเชื่อทันที สาเหตุส่วนหนึ่งเป็นเพราะบางกรณีเจ้าหน้าที่ก็ทำเขาจริงๆ แต่มันไม่ใช่ทุกกรณี ภาวการณ์แบบนี้จะแก้ไขอย่างไร
หลายคนเสนอให้มี "ทีมพิเศษ" เข้าพื้นที่เกิดเหตุอย่างรวดเร็วและเกาะติดสถานการณ์อย่างใกล้ชิดกว่านี้ เปิดช่องทางให้ "คนพื้นที่" มีส่วนร่วมในกระบวนการตรวจที่เกิดเหตุและพิสูจน์หลักฐานเท่าที่ไม่ขัดต่อกฎหมายเพื่อสร้างความเชื่อมั่นได้หรือไม่ เพราะถ้าแก้ตรงนี้ไม่ได้ ยุทธศาสตร์ win heart and mind ที่ทหารท่องกันจนขึ้นใจก็ไม่มีวันเป็นจริงได้ เพราะเจอข่าวลือบ่อนทำลายแทบทุกวัน
นี่คือโจทย์ของปัญหาชายแดนภาคใต้ทั้งที่ดำรงอยู่และมีพลวัตไป ซึ่งไม่สามารถใช้กรอบคิดเดิมๆ คลี่คลายได้อีกแล้ว!
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : มือมืดพ่นสีสเปรย์เป็นข้อความขับไล่ทหารในพื้นที่ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส สอดรับกับเงื่อนไขใหม่ของบีอาร์เอ็นกลุ่มนายฮัสซัน ที่ให้ถอนทหารตำรวจออกจากทุกหมู่บ้าน แลกกับการลดเหตุรุนแรงช่วงเดือนรอมฎอน