"อัมมาร" จวกรัฐผูกขาดตลาด เอื้อพ่อค้า 2-3 ราย แล้วยังไม่มีปัญญาส่งออกข้าว
ฟันธงไม่เกิน 2 ปี พ่อค้าข้าวเจ็บปวดแน่ นักวิชาการทีดีอาร์ไอ วิพากษ์นโยบายเปลี่ยนวันต่อวัน กลบปัญหาไปเรื่อยๆ ด้านดร.การดี ชี้ต้นทุนการผลิตข้าวสูง เหตุชาวนาไทยใช้ปุ๋ยเคมี ยาฆ่าแมลง มากว่าประเทศอื่นเกือบ 10 เท่า
วัน ที่ 3 กรกฎาคม 2556 คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจ การพาณิชย์ และอุตสาหกรรม วุฒิสภา ร่วมกับคณะอนุกรรมาธิการศึกษาอุตสาหกรรมข้าวทั้งระบบ จัดงานเสวนาเชิงวิชาการ เรื่อง "ทางออกระบบอุตสาหกรรมข้าวไทย สู่การแข่งขันตลาดโลก" ณ โรงแรมรามาการ์เด้นส์ กรุงเทพฯ โดยมีนายบุญชัย โชควัฒนา ประธานคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจ การพาณิชย์ และอุตสาหกรรม กล่าวเปิดงาน
นายประเกียรติ นาสิมมา ประธานที่ปรึกษาคณะอนุกรรมาธิการ ศึกษาอุตสาหกรรมข้าวทั้งระบบ ในคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจฯ กล่าวถึงการส่งออกข้าวที่มีปริมาณน้อยว่า ข้าวต้องอาศัยการส่งออกเท่านั้นจึงจะทำให้มันระบายออกไปได้ 19.5 ล้านตัน/ปี ทุกรัฐบาลพยายามที่จะสร้างความสมดุลให้เกิดขึ้นระหว่างภาคประชาชนกับผลผลิตเพื่อช่วยเหลือเกษตกร เพื่อที่จะให้ข้าวระบายออกทุกเมล็ด นอกจากที่จะบริโภคในประเทศและสร้างความสมดุลให้เกิดขึ้นเพื่อให้ชาวนาได้รับผลประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นการที่รัฐรับจำนำก็ดี หรือการแทรกแซงเกษตรกรที่มีในทุกรัฐบาล ปีหนึ่งๆเราบริโภคข้าวประมาณ 8 ล้านตัน/ปี ส่งออก 8-9 ล้านตัน/ปี เหลือในประเทศ 2-3 ล้านตันต่อปี
"แต่ขณะนี้ข้าวสารส่งออกไม่ได้ และมีค้างในสต๊อกอยู่ 18 ล้านตัน ขาดทุนอยู่ประมาณ 2 แสนล้านบาทชัดเจน และยังจะมีข้าวใหม่ที่เพิ่มเข้ามาคาดการณ์แล้วจะขาดทุนประมาณ 4 แสนล้านบาท เพราะฉะนั้นวันนี้จำเป็นต้องหาทางออกเพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุด"
ด้านนายชัยภัฎ จันทร์วิไล อนุกรรมาธิการศึกษาอุตสาหกรรมข้าวทั้งระบบ กล่าวว่า เมื่อก่อนข้าวไทยชนะเลิศในระดับโลก แต่ในปัจจุบันนี้เราอยู่อันดับ 6 ดังนั้นสิ่งที่แข่งขันกันในตลาดโลกคือคุณภาพ ตนจึงมองว่า ในภาคการผลิตจำเป็นที่ต้องลดต้นทุนให้ได้ และชาวนาเองต้องมีประสิทธิภาพในการผลิตด้วยเช่นกัน รวมถึงการวิเคราะห์จุดแข็งและจุดอ่อน วัดคุณภาพข้าวกับคู่แข่ง และพยายามพัฒนาศักยภาพในส่วนของการผลิตให้เกิดขึ้น
"หากเราวางยุทธศาสตร์ผิด นโยบายผิด ก็จะส่งผลกระทบในเชิงลบเป็นการทำลายตลาดตัวเอง ท้ายสุดอาจจะต้องออกจากตลาดไปเลย"
ด้านศาสตราจารย์พิเศษ ดร.อัมมาร สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย กล่าวว่า ข้าวที่รับจำนำส่วนใหญ่มาจากชาวนาที่ฐานะดี ชาวนามีความแตกต่างเรื่องรายได้ การบอกจะแก้ปัญหาความยากจนโดยขึ้นราคาสินค้าข้าวนั้น เป็นคนละเรื่อง เพราะการแก้ปัญหาในลักษณะนี้ไม่ได้ช่วยให้คนจน จนน้อยลงเสมอไป
"สินค้าข้าวมาจากหลายๆแหล่ง ข้าวเป็นสินค้าเชิงเศรษฐกิจที่มีคุณค่าในประเทศและในตลาดโลก การแก้ปัญหาความยากจนจากการยกราคาข้าว จึงเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ถูกต้อง การแก้ปัญหาด้วยการรับจำนำข้าวเป็นวิธีการที่ผิดจุดอย่างชัดเจน และเป็นนโยบายที่ผิดพลาดมาก"
นักวิชาการทีดีอาร์ไอ กล่าวอีกว่า นโยบายทุกวันนี้ของรัฐบาลเปลี่ยนแปลงวันต่อวันเพื่อแก้ปัญหากลบไปเรื่อยๆ สิ่งแรกที่อยากจะบอกข้อเท็จจริง คือ อีก 2 ปีข้างหน้าต้องเจ็บปวด ฉะนั้นฝากถึงรัฐบาลทำอะไรคิดให้ดี จะโยนภาระความเจ็บปวดให้กลุ่มบุคคลไหนมากที่สุด ซึ่งคนที่ได้ประโยชน์จากรัฐบาลตอนนี้มากที่สุด คือ พ่อค้า ตนจะอยู่ข้างชาวนา ถ้าชาวนาต้องแบกรับภาระ
"ความจริงแล้วพ่อค้าเอกชนมีคุณูปการณ์ต่อชาวนามากแต่รัฐบาลไม่ได้สนใจพวกเขา รัฐบาลผูกขาดตลาดข้าวกับพ่อค้าเพียง2-3คนที่มีอิทธิพลกับรัฐบาล"
ดร.อัมมาร กล่าวด้วยว่า สิ่งที่น่าทึ่งของนโยบายรัฐบาล สามารถทำให้ ข้าวเปลือกแพงข้าวสารถูก ถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลอาจต้องพิจารณาปล่อยให้ขึ้นราคาข้าวสาร เพราะขณะนี้พ่อค้าที่รัฐบาลให้อำนาจผูกขาดไม่มีปัญญาในการส่งออก ซึ่งในระบบเก่าการดูแลคุณภาพข้าว สามารถแยกแยะคุณภาพได้อย่างชัดเจน คนผลิตข้าวดีได้ราคาสูง แต่วิธีการของรัฐบาลไม่สามารถแยกแยะข้าวตามคุณภาพได้ และเป็นที่มาของปัญหาเรื่องคุณภาพที่ประเทศไทยไม่สามารถระบายข้าวได้
"ดังนั้นจุดสำคัญที่สุดของข้าวไทยก็คือคุณภาพข้าว ซึ่งในระยะยาวคนจะบริโภคลดลงไปเรื่อยๆ อนาคตเราต้องรื้อฟื้นระบบการค้าข้าวแบบเดิม เพราะเป็นระบบที่สร้างคุณค่าที่แท้จริงให้ข้าวไทย ถึงแม้จะมีการขูดรีดบ้าง แต่วิธีการนี้จะช่วยพัฒนาข้าวไทยให้กลับมาอยู่ในอันดับต้นๆเหมือนเดิม"
ด้าน ดร.การดี เลียวไพโรจน์ ผู้อำนวยการศูนย์ให้คำปรึกษาทางธุรกิจแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงต้นทุนการผลิตข้าวไทยสูง เนื่องจากชาวนาไทยบางส่วนลงทุนไปกับปุ๋ยเคมี ยาฆ่าแมลง ซึ่งมากว่าประเทศอื่นเกือบ 10 เท่า ปุ๋ยเคมีที่เราใช้เป็นปุ๋ยที่นำเข้าโดยไม่เก็บภาษีถึง 90 % จึงเหมือนเป็นการสนับสนุนให้ชาวนาใช้ปุ๋ยเคมีมากขึ้น ในขณะที่เวียดนามบอกว่า นโยบายนี้ใช้ไม่ได้ เราต้องเลิกใช้ยาฆ่าแมลง ปุ๋ยเคมี
"การสร้างความยั่งยืนจะต้องอดทนและใช้เวลา อีกทั้งเราต้องปรับระบบนโยบายมาเป็นระบบ Demand push ดูจากทิศทางของตลาดว่า มีความต้องการเท่าไร เวลาเราพูดถึงกระบวนการบริหาร เราจะได้ยินนโยบายหลายอย่าง เราได้ยินถึงช่องโหว่การคอรัปชั่น ห่วงคอรัปชั่นระหว่างทาง ถ้าเราพยายามจะปิดช่องโหว่คอรัปชั่น สิ่งหนึ่งที่แย่กว่าคอรัปชั่นอีกก็คือ นโยบายที่ไม่ได้ผ่านการกลั่นกรองมา อย่างดี สิ่งนี้มันทำให้น่าเป็นห่วงถึงลูกหลานในอนาคต"
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ในเวทีเสวนาภาคประชาชนหลายคน แสดงความเห็นอยากมีโอกาสเข้าไปร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการกำหนด นโยบายในด้านการเกษตร และเป็นห่วงสถานการณ์ในการแก้ปัญหาที่ยังไม่ตรงจุด รวมไปถึงวิธีการหาทางออกใน การระบายข้าว