ภาคประชาชนเตรียมล่า 1 ล้านชื่อ ผลักดันกม. 4 ฉบับ แก้ปม 'คนจน' เข้าไม่ถึงสิทธิ
‘ประยงค์ ดอกลำไย’ เตรียมล่า 1 ล้านรายชื่อดันกม.ที่ดิน-กองทุนยุติธรรม-โฉนดชุมชน หลังสภาฯ คลอดพ.ร.บ.เข้าชื่อเสนอกม.ฉบับใหม่ ภายใน ธ.ค. 56 หวังแก้ปมคนจนเข้าไม่ถึงสิทธิ
นายประยงค์ ดอกลำไย ที่ปรึกษาขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) กล่าวต่อศูนย์ข่าวเพื่อชุมชน สำนักข่าวอิศรา ถึงความคืบหน้าการขับเคลื่อนผลักดันกฎหมายภาคประชาชน 4 ฉบับ ได้แก่ ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยสิทธิชุมชนในการจัดการที่ดินทรัพยากร (โฉนดชุมชน), ร่างพ.ร.บ.ธนาคารที่ดิน, ร่างพ.ร.บ.ภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้า และร่างพ.ร.บ.กองทุนยุติธรรม ขณะนี้ยังมีเนื้อหาบางส่วนที่หลายคนเห็นแตกต่างกัน จึงต้องให้คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) พิจารณาปรับปรุงภายใน 60 วัน ก่อนจะให้มีการรณรงค์เข้าชื่อเสนอร่างกฎหมายดังกล่าว
“ประเด็นที่ยังคงถกเถียง เช่น พ.ร.บ.ภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้า มาตรา 9 ที่ระบุว่า ผู้ที่มีที่ดินขนาดเกินกว่า 50 ไร่ มีหน้าที่ต้องเสียภาษีสำหรับที่ดินที่ตนถือครองอยู่ในวันที่ 1 ม.ค.ของแต่ละปี...นั้น หลายคนมองว่าขนาดที่ดินถือครองดังกล่าวกว้างเกินไป” ที่ปรึกษาขปส. กล่าว และว่าส่วนพ.ร.บ.ธนาคารที่ดินหลายคนมองว่า ควรจะมุ่งเน้นเรื่องจัดการที่ดินอย่างเดียว ไม่จำเป็นต้องข้องเกี่ยวกับการซื้อหนี้สินที่อาจซ้ำซ้อนองค์กรอื่น
นายประยงค์ กล่าวถึงสาเหตุทำให้การเข้าชื่อเสนอร่างกฎหมายภาคประชาชน 4 ฉบับต้องชะลอออกไปนั้น เพราะต้องรอให้พ.ร.บ.เข้าชื่อเสนอกฎหมายฉบับใหม่บังคับใช้ก่อน เนื่องจากอาจมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงแบบฟอร์มการเข้าชื่อได้ อย่างไรก็ตามขณะนี้อยู่ในชั้นการตรวจสอบของคณะกรรมาธิการพิจารณากฎหมายใกล้แล้วเสร็จ และจะนำบรรจุเข้าวาระ 3 ในชั้นการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร โดยคาดว่าจะบังคับใช้ภายในก.ย. 56
“ตั้งแต่ 1 ต.ค. เป็นต้นไป จึงจะเกิดกระบวนรณรงค์การเข้าชื่อเสนอกฎหมาย โดยมุ่งหวังให้มีรายชื่อครบ 1 ล้านคน พร้อมจะประเมินสถานการณ์ช่วง 3 เดือน หากครบจำนวนที่ตั้งเป้าไว้จะนำยื่นต่อสภาผู้เเทนราษฎรภายในธ.ค.ปีนี้ทันที”
ทั้งนี้ การตั้งเป้าจำนวนผู้เข้าชื่อเสนอกฎหมาย 1 ล้านคนนั้น ที่ปรึกษา ขปส. กล่าวว่า เพื่อป้องกันสภาผู้แทนราษฎรลงมติไม่รับหลักการเหมือนกรณีร่างพ.ร.บ.ประกันสังคม ฉบับแรงงาน ดังนั้นเราต้องหาวิธีเพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรยอมรับในหลักการของกฎหมายดังกล่าว ด้วยการมีจำนวนผู้เข้าชื่อกฎหมายมากนั่นเอง ซึ่งกระบวนการจะสะท้อนให้เห็นว่า การที่มีผู้เข้าชื่อเสนอกฎหมายสูงถึง 1 ล้านคนนั้นย่อมแสดงให้เห็นความต้องการกฎหมาย และเป็นหลักจิตวิทยาที่จะสื่อสารไปยังสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่ให้เกิดการบิดเบือนเจตนารมณ์ของประชาชนต่อการเสนอกฎหมายตามสิทธิรัฐธรรมนูญ
ที่ปรึกษา ขปส. ยังกล่าวถึงความเป็นไปได้ในการประกาศบังคับใช้กฎหมายด้วยว่า มีกฎหมาย 2 ฉบับที่มีแนวโน้มจะเข้าชื่อครบ 1 ล้านคน คือ 1.ร่างพ.ร.บ.ภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้า เพราะปัจจุบันทุกคนต่างเห็นพ้องว่าไทยมีการกระจุกตัวของที่ดินจริง โดยมีคนที่ครอบครองที่ดินเกิน 50 ไร่ ราว 1.2 แสนคน ซึ่งเมื่อเทียบกับประชาชนที่ไม่มีที่ดินทำกิน 10 ล้านคน ถือว่าสัดส่วนน้อยมากสำหรับผู้เสียผลประโยชน์ และ2.ร่างพ.ร.บ.กองทุนยุติธรรม เนื่องด้วยมีคนจนที่ต้องโทษทางคดีไม่ได้รับความเป็นธรรมมาก ดังนั้นจึงน่าจะมีคนเห็นด้วยกับการผลักดันกฎหมายฉบับนี้
" ร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยสิทธิชุมชนในการจัดการที่ดินทรัพยากร อาจสำเร็จยากสุด เพราะต้องเกี่ยวข้องกับการลดทอนอำนาจของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และกรมป่าไม้ รวมถึงแรงคัดค้านจากกลุ่มนักอนุรักษ์หลากหลายองค์กร จนน่าจะกลายเป็นเป็นมหากาพย์คล้ายกับร่างพ.ร.บ.ป่าชุมชนก็ได้"