วสท.เปิดเวที สอนปลอดประสพ จัดนิทรรศการน้ำเชียงใหม่ กรุงเทพ ไม่ใช่ประชาพิจารณ์
"หาญณรงค์" ยันขั้นตอนรับฟังความคิดเห็น รบ.ต้องให้ข้อมูลล่วงหน้าปชช.เกี่ยวกับแผน ก่อนอย่างน้อย 15 วัน แบบมีปฏิสัมพันธ์ ด้านอดีตเนติบัณฑิตไทย ชี้คลังลงนามกู้เงินแบงก์ จะสมบูรณ์เมื่อเซ็นสัญญา
วันที่ 2 กรกฎาคม วิศวกรรมสถานแห่ประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) จัดเสวนา “ขั้นตอนที่ถูกต้องทางวิศวกรรมและกระบวนการรับฟังความเห็นประชาชน ในการเดินหน้าโครงการบริหารจัดการน้ำ” ณ ห้องประชุม 1 ชั้น 4 อาคาร วสท. โดยมี นายสุวัฒน์ เชาว์ปรีชา นายก วสท. นายปราโมทย์ ไม้กลัด อดีตอธิบดีกรมชลประทาน ดร.กัญจน์ นาคามดี อดีตเนติบัณฑิตไทย นายวิชา จิวาลัย กรรมการสภาวิศวกร และผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิศวกรรม นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิการจัดการน้ำแบบบูรณาการ นายศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร และนายปรเมศวร์ มินศิริ เครือข่ายภาคประชาชน ร่วมอภิปราย
นายสุวัฒน์ กล่าวว่า วสท.และ เครือข่ายภาคประชาชนที่เข้าร่วมต้องการช่วยให้รัฐบาลเดินถูกทาง ถูกต้องและให้โครงการเดินหน้าต่อได้อย่างสัมฤทธิ์ผลและมีความรวดเร็ว ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลตัดสินใจในบางเรื่องไม่ตรงกับหลักปฏิบัติวิศวกรที่ทั่วโลกใช้ ภายหลังศาลปกครองมีคำพิพากษาให้รัฐบาลไปดำเนินการตามกฎหมาย ศึกษาผลกระทบและรับฟังความคิดเห็นประชาชนที่ได้รับผลกระทบ และความคุ้มค่าของโครงการ ซึ่งก็สอดคล้องแนวทางวิศวกรรมที่ วสท.เสนอแนะมาตลอด
“การที่ศาลปกคอรงมีคำพิพากษา ผมเสียใจที่หากรัฐเดินถูกคงไม่ต้องเสียเวลาเช่นนี้ แต่ดีใจที่จะได้มีโอกาสทบทวน ค้นหาสิ่งที่ถูกต้อง รวมถึงสงสัย และไม่แน่ใจว่า รัฐไม่รู้หรือมีอะไรทำให้ไม่รู้ว่าจะเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ จากนี้ขอฝากให้รัฐบาลทบทวนว่า หากวิธีการที่ดำเนินการมาถูกต้อง เหตุใดมีผู้คัดค้านมาก และขอให้ดำเนินการอย่างสอดคล้องกับกฎหมาย และของให้รับฟังและปฏิบัติตามที่ วสท.และกลุ่มวิศวกรผู้เชี่ยวชาญให้ความเห็นบ้าง”
ด้านนายปราโมทย์ กล่าวเสริมว่า เมื่อศาลปกครองพิพากษาและมีความเห็นชี้การบริหารจัดการน้ำของรัฐบาลต้องรับฟังความคิดเห็นประชาชน ทำการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ความคุ้มค่าของโครงการก่อนที่จะเซ็นสัญญา ดังนั้น ก็ต้องศึกษาให้เกิดความชัดเจนทั้งโครงการในโมดูลย่อยๆ และภาพรวมของโครงการอย่างบูรณาการ
“การจัดนิทรรศการ ต้นน้ำ กลางน้ำทั้งที่เชียงใหม่ และกรุงเทพฯ นั้น ไม่ใช่การรับฟังความเห็นประชาชน เช่นเดียวกับการจัดงานให้คนยกมือว่า เห็นด้วย ไม่เห็นด้วย บทเรียนหลายโครงการที่ผ่านมาก็ชัดเจนแล้วว่า ท้ายที่สุดลงพื้นที่เดินหน้าโครงการไม่ได้ และรูปแบบเช่นนี้ไม่ใช่การประชาพิจารณ์หรือการรับฟังความเห็นประชาชน"
ส่วนการศึกษาและสร้างการยอมรับจากภาคประชาชนนั้น นายปราโมทย์ กล่าวว่า ต้องมีกลุ่มศึกษาที่ไม่ใช่บริษัทเดียวทั้งโมดูล ต้องแยกเป็นรายโครงการและควรเป็นคนไทยศึกษาจะดีที่สุด
ขณะที่นายหาญณรงค์ กล่าวถึงการรับฟังความคิดเห็นประชาชนตามระเบียบสำนักนายกฯ ประกาศในกระทรวงทรัพย์ฯ และใน พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ ระบุชัดว่า การรับฟังความคิดเห็นประชาชน เบื้องต้นรัฐบาลต้องให้ข้อมูลกับประชาชนล่วงหน้าเกี่ยวกับแผนที่จะดำเนินการก่อนอย่างน้อย 15 วัน และต้องเป็นการรับฟังความเห็นแบบมีปฏิสัมพันธ์ ดังนั้น การแสดงนิทรรศการของรัฐบาลทั้งที่กรุงเทพฯ และเชียงใหม่จึงไม่ใช่การรับฟังความเห็นประชาชน
“การแสดงนิทรรศการเป็นการให้ข้อมูลฝ่ายเดียว ให้ประชาชนเข้ารับชม แต่การรับฟังที่แท้จริง ต้องมีปฏิสัมพันธ์ ผู้ให้ข้อมูลต้องพูดน้อยกว่าคนที่มาเข้ารับฟัง ในนาม กบอ.ควรให้สถาบันการศึกษาที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องการรับฟังเป็นผู้ทำการรับฟังความเห็นอย่างน้อย 30 เวที ทั้งส่วนกลางและในระดับพื้นที่ ทั้งนี้ เมื่อศาลปกครองให้คำพิพากษาแล้วกระบวนการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมควรต้องปรับใหม่ โดย กบอ.ต้องทำการศึกษาเองไม่ใช่ให้บริษัทรับเหมาศึกษา”
ส่วนที่ว่า การสร้างฟลัดเวย์ไม่ต้องทำตามผลกระทบสิ่งแวดล้อมนั้น นายหาญณรงค์ กล่าวว่า ฟลัดเวย์ คือการผันน้ำจากแม่น้ำสายหลักและมีการสร้างประตูน้ำ ดังนั้น จึงต้องทำการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามหลักขั้นตอนทุกประการ
ด้านนายปรเมศวร์ กล่าวว่า ใครในโครงการนี้ พิจารณาตามรัฐธรรมนูญระบุว่า การรับฟังความเห็นประชาชนต้องรับฟังผู้ที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งการจัดนิทรรศการทั้งที่เชียงใหม่และกรุงเทพฯ ไม่ใช่พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ และยังเสียค่าเข้าชม จึงไม่สามารถอ้างได้ว่า เป็นการรับฟังความเห็นประชาชนแล้ว ทั้งนี้ กระบวนการรับฟังเสียงประชาชนต้องสอดคล้องกับรับธรรมนูญ โดยเฉพาะในโครงการใหญ่ที่ขนาดนี้ ซึ่งทำได้หลายทาง ทั้งการประชาพิจารณ์ อภิปรายสาธารณะ แลกเปลี่ยน ประชุมเชิงปฎิบัติการ ประชุมระดับตัวแทนกลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้องและมีส่วนได้ส่วยเสีย
ส่วนดร.กัญจน์ กล่าวถึงการกู้เงินที่กระทรวงคลังได้ลงนามในสัญญาเงินกู้ไปแล้วนั้น ตีความว่า ถือเป็นการกู้เงินแล้วอย่างสมบูรณ์เมื่อมีการเซ็นสัญญา แม้จะไม่ได้รับเงิน หรือเบิกเงินออกมาใช้ ซึ่งมองแยก 2 ประเด็น การกู้วงเงินกับการใช้เงินเป็นคนละเรื่อง การเซ็นสัญญากู้เงินจึงสามารถทำได้ ไม่มีผลกระทบ แต่หากใช้เงินในโครงการที่ยังไม่มีการศึกษาผลกระทบด้านต่างๆ นั้นผิดแน่นอน ก่อนจะดำเนินโครงการในโมดูลใดต้องทำการศึกษาผลกระทบก่อน โดยเฉพาะฟลัดเวย์ ชัดเจนมากว่าเป็นการสร้างชลประทานชนิดหนึ่ง
“การก่อสร้างใดที่กินพื้นที่ 8 หมื่นไร่ขึ้นไป บังคับในกฎหมายว่าต้องศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม จนเมื่อใกล้ศึกษาเสร็จต้องนำแผนไปตีแผ่แก่ประชาชนและให้ประชาชนเห็นชอบก่อนดำเนินโครงการที่เป็นการลงมือสร้างจริง สำหรับการพิจาณณาผู้ที่มีส่วนได้เสียนั้นหมายถึงผู้ที่อยู่ภายใน ใกล้เคียงหรือเป็นสมาคมที่จดทะเบียบเกี่ยวกับผลกระทบสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตาม ประชาชนจำนวนเท่าใดจึงจะเรียกว่าเป็นการรับฟังความเห็นนั้นก็ตีความยาก และคงไม่มีใครกล้าวินิจฉัย”
ด้านศ.ดร.ธงชัย พรรณสวัสดิ์ กล่าวว่า นอกจากการศึกษาผลดระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment: EIA) แล้วโครงการบริหารจัดการน้ำของรัฐบาลที่เป็นโครงการขนาดใหญ่นี้ ควรใช้เครื่องมือการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment: SEA) ที่จะประเมินศักยภาพและข้อจำกัดทางสิ่งแวดล้อม ทั้งระดับนโยบาย แผน โปรแกรม เพื่อสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน แต่หากผู้รับผิบชอบโครงการคิดว่าทำได้จริง จะต้องสัญญากับประชาชนว่าจะรับผิดชอบกับโครงการนี้ เพราะหากโครงการไม่เป็นไปตามที่คิดผู้เซ็นสัญญาจะต้องรับผิดชอบ
สุดท้ายนายวิชา กล่าวว่า โครงการที่เห็นว่าไม่ต้องศึกษาผลกระทบด้านต่างๆ นั้นมีแค่ในโมดูล A6 กับ B4 เท่านั้น นอกนั้นจะต้องทำการศึกษาผลกระทบทั้งต่อสิ่งแวดล้อม และความคุ้มค่าในโครงการ แม้จะอ้างว่าโครงการบริหารจัดการน้ำมีความเร่งด่วน ก็จะต้องตั้งทีมศึกษาควบคู่ไป แต่ที่ผ่านมาไม่เกิดขึ้น
สำหรับการกู้เงิน นายวิชา กล่าวด้วยว่า ต้องพิจารณาจากสัญญาที่เซ็นว่ามีกติกาอย่างไร จึงจะบอกได้เมื่อเซ็นสัญญาไปแล้วเกิดความเสียหายใดๆ หรือไม่ มีการบังคับใช้อย่างไร