คนไทยดื่มน้ำอัดลม 1.8ล้านลิตร/ปี นักวิชาการ ชงรีดภาษี เข้ากองทุน 30 บาท
กันเกิดวิกฤตศก.นพ.ภูษิต ประคองสาย เปิดแนวคิดหาแหล่งการคลังสุขภาพอย่างยั่งยืน เสนอเก็บภาษีน้ำอัดลม 7-8 สต. เชื่อได้เงินกว่า300 ล้านบาท/ปี มาใช้ทำงานบริการด้านสุขภาพคนไทย
นายแพทย์ภูษิต ประคองสาย ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP)กล่าวถึงแนวคิดใหม่เกี่ยวกับระบบประกันสุขภาพกับสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ว่า ตนมีแนวคิดเกี่ยวกับเรื่องการแสวงหาแหล่งการคลังสุขภาพเพื่อนำมาใช้ในระบบประกันสุขภาพ โดยมองว่าการเก็บภาษีน้ำอัดลมจะช่วยลดปัญหาเรื่องสุขภาพของคนไทยที่เกิดจากภาวะโรคอ้วนได้ เนื่องจากในปัจจุบันปัญหาเรื่องสุขภาพของคนไทยเกิดจากพฤติกรรม เช่น การออกกำลังกาย การบริโภคอาหารที่มีน้ำตาลและแป้งมากขึ้น ซึ่งน้ำตาลส่วนใหญ่อยู่ในน้ำอัดลม ถึงแม้จะมีมาตรการควบคุมในโรงเรียนในเรื่องน้ำอัดลมแต่ก็ยังไม่เพียงพอ เพราะเมื่อนักเรียนออกมานอกโรงเรียนเจอร้านสะดวกซื้อ ร้านอาหาร ก็สามารถที่จะซื้อได้ ดังนั้นการควบคุมจึงยังไม่มีประสิทธิภาพ
“เราพบว่าในเครื่องดื่มที่เป็นน้ำอัดลม ยี่ห้อหนึ่งมีน้ำตาล สูงถึง13% บางยี่ห้อก็10% เพื่อเป็นการควบคุมน้ำตาล ในเครื่องเดิม ยี่ห้อไหนที่มีน้ำตาลสูง ก็จะเก็บภาษีแพงกว่ายี่ห้อที่มีน้ำตาลน้อย เพื่อเป็นการบอกผู้ประกอบการผู้ผลิตว่าอย่าใส่ความหวานหรือน้ำตาลมาก เนื่องจากจะส่งผลต่อภาวะโรคอ้วน และทำให้เกิดโรคต่างๆตามมา เช่น โรคหัวใจ โรคเบาหวาน หลอดเลือด ความดันโลหิตสูง”
นายแพทย์ภูษิต กล่าวถึงการเก็บภาษีน้ำอัดลมจะทำให้ได้งบประมาณมาใช้ในระบบประกันสุขภาพ และยังเป็นการช่วยลดการบริโภคเครื่องดื่มที่เป็นน้ำอัดลม ซึ่งตนมั่นใจว่า การขึ้นภาษีน้ำอัดลมจะสามารถนำมาใช้ในเมืองไทยได้ เพราะมีการศึกษา มีบทเรียนจากต่างประเทศ ทั้งประเทศที่กำลังพัฒนาหรือประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่นสหรัฐฯใช้มาตรการควบคุมด้วยการขึ้นภาษีเพื่อลดการบริโภคเครื่องดื่มน้ำอัดลม จากมาตรการดังกล่าวทำให้มีผู้บริโภคน้ำอัดลมน้อยลงและส่งผลต่อน้ำหนักตัวที่ลดลงด้วย
“แนวคิดนี้วิธีการคิดคล้ายๆ กองทุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่เก็บภาษีจากเหล้าและบุหรี่มาใช้ในการรณรงค์เรื่องสุขภาพ โดยในปัจจุบันนี้คนไทยบริโภคน้ำอัดลมถึง 1.8ล้านลิตร หากเก็บภาษีเฉพาะน้ำอัดลมที่เป็นกระป๋อง เพียง 7-8 สตางค์ ในหนึ่งปีก็จะมีเงิน 300 กว่าล้านบาทต่อปีมาใช้ในการทำงานบริการหลักประกันสุขภาพ”
ผอ.สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ กล่าวอีกว่า เมื่อก่อนเราใช้ภาษีของรัฐบาลในโครงการหลักประกันสุขภาพปีละ 100,00 กว่าล้านบาท เฉพาะบัตรทองอย่างเดียว ในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจดี รัฐยังสามารถจ่ายเงินสนับสนุนได้ ถ้าวันไหนเกิดมีวิกฤติเศรษฐกิจรายได้ของรัฐบาลลดลง หากเราไม่คิดแสวงหาแหล่งเงินทุนเงินคลังจากแหล่งอื่นมาใช้ เราก็จะต้องถูกตัดงบประมาณเหมือนในปี 2540 เพราะฉะนั้นเราต้องคิดถึงแหล่งงบประมาณอื่นๆที่ยั่งยืนด้วย
ทั้งนี้ นายแพทย์ภูษิต กล่าวด้วยว่า แนวคิดนี้เป็นแนวทางที่เราพยายามศึกษาเก็บข้อมูลเพื่อที่จะนำมาใช้ หากรัฐบาลหรือผู้ใหญ่มองเห็นความเป็นไปได้ และเห็นความสำคัญ ให้การสนับสนุน เราก็พร้อมจะให้ข้อมูลที่มีอยู่ เพื่อให้มาตรการนี้เกิดขึ้นจริง