มิ.ย.บึ้มหนักสุดรอบครึ่งปี กับข้อสังเกต "อีโอดี" ทำไมทหารโดนถี่ยิบ
เหตุลอบวางระเบิดรถยูนิม็อก (Unimog ; รถบรรทุกขับเคลื่อนสี่ล้อขนาดกลาง) ของกองร้อยทหารราบที่ 4021 (ร้อย ร.4021) หน่วยเฉพาะกิจยะลา 13 ที่ อ.กรงปินัง จ.ยะลา เมื่อวันเสาร์ที่ 29 มิ.ย.2556 เป็นเหตุให้ทหารหาญต้องเสียชีวิตถึง 8 นายในคราวเดียวนั้น จัดว่าเป็นเหตุสะเทือนขวัญจากชายแดนใต้ที่สร้างความสลดใจให้ผู้คนมากที่สุดครั้งหนึ่งในรอบปีนี้เลยทีเดียว
การต้องเสียชีวิตขณะกำลังเดินทางกลับบ้านด้วยหัวใจลิงโลดเพราะมีความสุขของคนที่รักรออยู่ปลายทางถือเป็นความจริงอันโหดร้าย ภาพของครอบครัวพ่อแม่ของทหารหนุ่มซึ่งส่วนใหญ่มีภูมิลำเนาอยู่ที่ จ.นครสวรรค์ และกำแพงเพชร ร่ำไห้น้ำตาแทบเป็นสายเลือด บางบ้านกำลังเตรียมงานฉลองวันเกิดให้ลูกชายที่ได้ลาพักจากภารกิจชายแดนใต้ กลายเป็นเรื่องราวที่นำไปสู่ความหดหู่ซึ่งหลายคนแทบรับไม่ได้
มีข่าวกองทัพขยับปรับแผนการรักษาความปลอดภัย ทั้งรักษาความปลอดภัยชาวบ้าน และดูแลตัวกำลังพลเอง
อย่างไรก็ดี หากมองย้อนกลับไปตลอด 9 ปีไฟใต้ เฉพาะในแง่ยุทธวิธี ต้องยอมรับว่าเหตุระเบิดที่ก่อความสูญเสียมากๆ ในคราวเดียวแบบนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก แต่เคยเกิดมาแล้วหลายครั้ง เท่าที่มีการรวบรวมบันทึกเอาไว้ก็เช่น
9 พ.ค.2550 คนร้ายดักโจมตีทหารรบพิเศษชุดปฏิบัติการจิตวิทยา (ปจว.) ที่ ต.บองอ อ.ระแงะ จ.นราธิวาส เป็นเหตุให้ทหารเสียชีวิต 7 นาย
31 พ.ค.2550 คนร้ายลอบวางระเบิดและยิงซ้ำทหารพรานชุดเฉพาะกิจที่ 4105 เสียชีวิต 11 นาย ที่หมู่ 5 ต.ตาเนาะปูเต๊ะ อ.บันนังสตา จ.ยะลา
15 มิ.ย.2550 คนร้ายซุ่มโจมตีทหารชุดคุ้มครองครู สังกัด ร้อย ร.2514 ค่ายวิภาวดีรังสิต เสียชีวิต 7 นาย ที่บ้านบือซู หมู่ 6 ต.บันนังสตา อ.บันนังสตา จ.ยะลา
14 ม.ค.2551 คนร้ายซุ่มโจมตีทหารชุดรักษาความปลอดภัยครู (รปภ.ครู) สังกัด ร้อย ร.2933 ในท้องที่หมู่ 4 ต.ดุซงญอ อ.จะแนะ จ.นราธิวาส เป็นเหตุให้ทหารเสียชีวิต 8 นาย ฯลฯ
จะเห็นได้ว่าเหตุโจมตีด้วยระเบิดและบุกยิงซ้ำซึ่งก่อความสูญเสียขนาดใหญ่เกิดขึ้นค่อนข้างกระจุกตัวช่วงปี 2550-2551 ห้วงนั้นมีข่าวจากฝ่ายความมั่นคงประเมินว่า ฝ่ายผู้ก่อความไม่สงบน่าจะมี "กองกำลังชุดพิเศษ" ที่เดินสายก่อเหตุในลักษณะนี้ ก่อนที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) จะเปิดยุทธการปิดล้อม ตรวจค้น จับกุมอย่างต่อเนื่องขนานใหญ่ ทำให้เหตุรุนแรงขนาดใหญ่ลดน้อยลงไป แม้จะมีเกิดขึ้นบ้าง แต่เป้าหมายก็เป็นชาวบ้านหาของป่า ซึ่งเคยสูญเสียถึง 9 รายในคราวเดียว (เมื่อ 25 ม.ค.2554 ที่ อ.ยะหา จ.ยะลา) แต่ไม่ค่อยมีทหาร ตำรวจตกเป็นเป้า
กระทั่งในปีหลังๆ ฝ่ายผู้ก่อความไม่สงบหันมาใช้คาร์บอมบ์และระเบิดแบบฝังใต้ผิวถนนมากขึ้น ทำให้กำลังพลที่เคลื่อนที่ไปมาตามภารกิจในแต่ละวันตกเป็นเป้ามากกว่าเดิม เช่น
25 ก.ค.2555 เหตุคาร์บอมบ์รถตำรวจที่บ้านบูเกะแยระ หมู่ 7 ต.วังพญา อ.รามัน จ.ยะลา ทำให้ตำรวจเสียชีวิต 5 นาย
10 ก.พ.2556 คนร้ายลอบวางระเบิดคาร์บอมบ์โจมตีรถบรรทุกหกล้อของทหารสังกัด ร้อย ร.15233 หน่วยเฉพาะกิจยะลา 12 เหตุเกิดบนถนนสายวังพญา-ท่าธง หมู่ 1 ต.ท่าธง อ.รามัน จ.ยะลา ทำให้ทหารเสียชีวิต 5 นาย
24 พ.ค.2556 คนร้ายลอบวางระเบิดรถกระบะของทหารพราน สังกัด ร้อย ทพ.4204 หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 42 บนถนนสายชนบท หมู่ 4 ต.บือเระ อ.สายบุรี จ.ปัตตานี ทำให้ทหารพรานเสียชีวิต 5 นาย
ห้วงหลังจากวันที่ 28 ก.พ.2556 เป็นต้นมา ซึ่งรัฐบาลไทยเริ่มกระบวนการพูดคุยสันติภาพแบบเปิดเผยกับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ นำโดยขบวนการบีอาร์เอ็นกลุ่มนายฮัสซัน ตอยิบ ปฏิเสธไม่ได้ว่าเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ ทหารพราน และ อส. (อาสารักษาดินแดน) ตกเป็นเป้าโจมตีถี่ยิบ กำลังพลระดับนายพัน นายร้อยต้องมีธงชาติคลุมร่างบ่อยครั้ง
และความสูญเสียขนาดใหญ่ที่สุดในคราวเดียวก็คือเหตุการณ์ลอบวางระเบิดทหารเสียชีวิต 8 นายเมื่อวันที่ 29 มิ.ย.
พ.อ.กฤตภาส เครือเนตร ผู้บังคับหน่วยทำลายวัตถุระเบิด หน่วยเฉพาะกิจอโณทัย ซึ่งรับผิดชอบภารกิจเก็บกู้ทำลายวัตถุระเบิดที่ชายแดนใต้ กล่าวว่า เหตุการณ์ลอบวางระเบิดรถยูนิม็อกของทหาร ร้อย ร.4021 ในพื้นที่ อ.กรงปินัง เมื่อวันที่ 29 มิ.ย.ที่ผ่านมานั้น คนร้ายใช้ระเบิดแสวงเครื่องบรรจุในถังแก๊ส 2 ถังฝังไว้ใต้พื้นถนน แล้วลากสายไฟเข้าไปในป่าข้างทางเพื่อทำการจุดระเบิด แรงระเบิดถือว่ารุนแรงมาก ทำให้รถยูนิม็อกเสียหายแหลกละเอียด เชื่อว่าจังหวะที่คนร้ายจุดระเบิดเป็นช่วงที่รถยูนิม็อกวิ่งผ่านพอดี และแรงระเบิดอัดเข้าตรงกลางตัวรถ ทำให้ความเสียหายที่เกิดขึ้นดูรุนแรง
ส่วนที่หลายคนมองว่าคนร้ายวางระเบิดได้แม่นยำขึ้นนั้น พ.อ.กฤตภาส บอกว่า จริงๆ แล้วการวางระเบิดที่ฝังไว้ใต้พื้นถนน เป็นการวางเพื่อดักรถเจ้าหน้าที่ ส่วนใหญ่จะใช้วิธีจุดระเบิดด้วยการลากสายไฟ ซึ่งเป็นการจุดระเบิดที่ไม่หน่วงเหมือนการจุดระเบิดด้วยโทรศัพท์มือถือหรือระบบอื่น วิธีนี้คนร้ายจะมาร์คจุดที่ทำให้มองเห็นรถเป้าหมายจากระยะที่จุดระเบิด เมื่อรถวิ่งผ่านก็สามารถหวังผลในการจุดระเบิดได้แม่นยำขึ้น
"วิธีการที่คนร้ายใช้ก่อเหตุยังเป็นวิธีการลอบวางระเบิดแบบเดิมๆ ดินระเบิดที่ใช้ก็เหมือนเดิม การใช้ระเบิดถังแก๊ส 2 ถังในพื้นที่ อ.กรงปินัง ก็ไม่ได้ถือว่าเป็นเรื่องใหม่ ปีที่แล้วเจ้าหน้าที่ก็เคยกู้ได้ เป็นระเบิดถังแก๊ส 2 ถังฝังไว้ใต้ผิวถนนแบบหันหัวชนกัน จึงถือว่าคนร้ายไม่ได้พัฒนาวิธีการหรือระเบิดรูปแบบใหม่ๆ"
อย่างไรก็ดี เมื่อถามถึงปัจจัยที่ทำให้คนร้ายสามารถก่อเหตุกับเจ้าหน้าที่ได้ จนทำให้เจ้าหน้าที่เป็นฝ่ายสูญเสียมากขึ้นนั้น พ.อ.กฤตภาส บอกว่า ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากคนร้ายรู้ข้อมูลความเคลื่อนไหวของเจ้าหน้าที่ รู้เส้นทางการเดินทางของเจ้าหน้าที่ รู้เวลาในการเดินทาง ซึ่งคาดว่ามาจากการเฝ้าสังเกตและเก็บข้อมูลของบรรดาแนวร่วมในพื้นที่ต่างๆ
"ผู้ก่อความไม่สงบที่เป็นมือระเบิดหรือเกี่ยวข้องกับการวางระเบิดในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีอยู่ประมาณ 40 คน และคนร้ายที่ก่อเหตุล่าสุดเมื่อวันที่ 29 มิ.ย.ก็เป็นกลุ่มเดิมที่เคลื่อนไหวอยู่ในพื้นที่ แต่สาเหตุที่เขาทำได้บ่อยและสร้างความสูญเสียได้ เพราะมีแนวร่วมคอยเฝ้าสังเกตการณ์การทำงานและการเคลื่อนที่ของกำลังพล ขณะที่กำลังพลของเราต้องออกปฏิบัติภารกิจทุกวัน" ผู้บังคับหน่วยทำลายวัตถุระเบิด หน่วยเฉพาะกิจอโณทัย ระบุ
เมื่อถามว่าการสร้างสถานการณ์ด้วยระเบิดด้วยความถี่ที่มากขึ้น เกี่ยวข้องกับการพูดคุยสันติภาพกับกลุ่มบีอาร์เอ็นหรือไม่ พ.อ.กฤตภาส กล่าวว่า ส่วนตัวมองว่ามีความเกี่ยวข้องกันอย่างชัดเจน และแนวโน้มในการก่อเหตุช่วงเดือนรอมฎอนที่จะถึงนี้ก็คงไม่ต่างกับปีที่ผ่านๆ มา
สำหรับสถิติเหตุระเบิดในห้วงปี 2556 ตั้งแต่เดือน ม.ค.ถึงสิ้นเดือน มิ.ย. ซึ่งเก็บรวบรวมโดย ส่วนปฏิบัติการและรับแจ้งเหตุฉุกเฉิน ศูนย์ปฏิบัติการร่วมทางยุทธวิธี กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า พบว่าแนวโน้มเหตุระเบิดเพิ่มสูงขึ้นแทบทุกเดือน โดยเฉพาะเดือน มิ.ย.ที่เพิ่งผ่านพ้นไปมีจำนวนเหตุลอบวางระเบิดสูงที่สุดในรอบครึ่งปี สามารถเปรียบเทียบข้อมูลรายเดือนได้ดังนี้
เดือน ม.ค.เกิดระเบิด 9 ครั้ง (ปัตตานี 5 ครั้ง นราธิวาส 4 ครั้ง)
เดือน ก.พ.เกิดระเบิด 17 ครั้ง (ยะลา 5 ครั้ง ปัตตานี 8 ครั้ง นราธิวาส 4 ครั้ง)
เดือน มี.ค.เกิดระเบิด 15 ครั้ง (ยะลา 4 ครั้ง ปัตตานี 3 ครั้ง นราธิวาส 8 ครั้ง)
เดือน เม.ย.เกิดระเบิด 21 ครั้ง (ยะลา 3 ครั้ง ปัตตานี 5 ครั้ง นราธิวาส 13 ครั้ง)
เดือน พ.ค.เกิดระเบิด 18 ครั้ง (ยะลา 4 ครั้ง ปัตตานี 8 ครั้ง นราธิวาส 6 ครั้ง)
เดือน มิ.ย.เกิดระเบิด 29 ครั้ง (ยะลา 6 ครั้ง ปัตตานี 15 ครั้ง นราธิวาส 7 ครั้ง และสงขลา 1 ครั้ง)
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : สภาพรถยูนิม็อกของทหารที่ถูกระเบิดเมื่อ 29 มิ.ย.2556 (ภาพโดย อะหมัด รามันห์สิริวงศ์)