กำลังพลรับได้ผู้หญิงคุมกลาโหม นักวิชาการห่วงดับไฟใต้ไร้ทิศทาง
ซาวเสียงกำลังพลไม่ติดใจผู้หญิงคุมกลาโหม ลั่นพลเรือนคุมทหารเป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย แต่หวั่นไม่เข้าใจมิติความมั่นคงทำให้งานสะดุด อดีตบิ๊ก ศรภ.ประสานเสียงนักวิชาการ ชี้รัฐบาลหวังผลล้วงลูกแต่งตั้งโยกย้ายมากกว่าเรื่องอื่น ยอมรับ "ประชา" คุมความมั่นคง-ไฟใต้ดีกว่า "เฉลิม" แน่ แต่ยังห่วงไร้ทิศทางจัดการปัญหาที่ชัดเจน
การปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายใต้การนำของ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ครั้งล่าสุดเป็นไปตามโผ โดยสายงานด้านความมั่นคงมีการเปลี่ยนตัวผู้รับผิดชอบแบบยกชุด
เริ่มจากรองนายกรัฐมนตรีที่คุมงานความมั่นคง ได้โยก ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ไปดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน โดยผู้ที่คาดว่าจะเข้ามารับผิดชอบแทนน่าจะเป็น พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รองนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ที่ข้ามฟากมาจากกระทรวงยุติธรรม
พล.ต.อ.ประชา อายุ 71 ปี เป็นอดีตอธิบดีกรมตำรวจคนสุดท้าย และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) คนแรก มีความสนิทสนมกับ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) อย่างมาก ช่วงต้นรัฐบาลเคยช่วยกันผลักดันวาระจ่ายเงินเยียวยาให้กับผู้ได้รับผลกระทบจากปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในอัตราเดียวกับที่ให้ความช่วยเหลือคนเสื้อแดง จึงเชื่อว่าน่าจะทำงานเข้าขากับ พ.ต.อ.ทวี ในภารกิจดับไฟใต้ได้เป็นอย่างดี
ต่อมาคือตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต ถูกปรับพ้นเก้าอี้ และ นางสาวยิ่งลักษณ์ ได้ควบตำแหน่งนี้ สร้างประวัติศาสตร์เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมหญิงคนแรกของเมืองไทย
ขณะที่ตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมนั้น เดิมไม่มีตำแหน่งนี้ใน ครม. แต่การปรับ ครม.เที่ยวล่าสุดได้เพิ่มเข้าไปอีก 1 ตำแหน่ง และมอบหมายให้ พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา นั่งเก้าอี้ตัวนี้
กำลังพลไม่ติดใจผู้หญิงคุมกลาโหม
ประเด็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันมากที่สุดเห็นจะหนีไม่พ้นการควบเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของนายกฯยิ่งลักษณ์ ซึ่งกลายเป็นประเด็นที่ทุกวงพูดคุยในกองทัพได้ถกแถลงแสดงความคิดเห็นกันมาตั้งแต่ปลายสัปดาห์ที่แล้ว
จากการสอบถามความเคลื่อนไหวจากนายทหารยศพันเอกนายหนึ่งซึ่งมีตำแหน่งในกองทัพ ทราบว่ากำลังพลส่วนใหญ่รับได้สำหรับการมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นผู้หญิง เพราะถือว่าเป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย ฝ่ายการเมืองมีสิทธิเข้ามากำกับดูแลกองทัพ ซึ่งคนของฝ่ายการเมืองไม่จำเป็นต้องเป็นทหาร และไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ชาย
ห่วงไม่เข้าใจงาน-กระทบดับไฟใต้
"ทุกคนรับได้ในเรื่องนี้ ทั้งในแง่ของการให้พลเรือนมาคุมทหาร และพลเรือนคนนั้นก็เป็นผู้หญิงด้วย ก็ถือเป็นมิติใหม่ของบ้านเรา ตรงนี้ไม่มีใครติดใจ แต่สิ่งที่ทุกคนเป็นห่วงคือท่านนายกฯมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับงานของทหารแค่ไหน แม้จะคุมเฉพาะนโยบาย แต่กำลังพลก็อยากได้รัฐมนตรีที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญหรืออย่างน้อยก็ความเข้าใจในงานด้านการทหารด้วย เพื่อจะได้พัฒนาต่อยอดไปได้เลย ไม่ต้องมานั่งเรียนรู้งานกันอีก" นายทหารยศพันเอกรายนี้กล่าว
ขณะที่นายทหารยศพันเอกอีกนายหนึ่งที่ช่วยราชการอยู่นอกกองทัพ ให้ความเห็นไม่ต่างกันว่า ไม่มีใครติดใจเรื่องผู้หญิงดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แต่หลายคนเป็นห่วงหลายๆ เรื่องที่กำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ โดยเฉพาะปัญหาภาคใต้ที่การพูดคุยเจรจากับกลุ่มบีอาร์เอ็นยังไม่ประสบความสำเร็จ สิ่งที่ทุกคนจับตาคือรัฐบาลจะก้าวเดินต่อไปอย่างไร แต่จากที่ดูบุคคลที่มาดำรงตำแหน่งทั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ยังไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นได้
"หลายคนก็เลยมองไปในเรื่องของการเพิ่มเสียงในบอร์ดแต่งตั้งโยกย้าย (คณะกรรมการพิจารณาแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพล ตามพระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ.2551) เพื่อให้ฝ่ายการเมืองสามารถโยกย้ายนายทหารระดับสูงได้ตามความต้องการมากขึ้น ส่วนปัญหาภาคใต้และงานด้านความมั่นคงอื่นๆ ก็จะยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงไปในทางบวกในส่วนของฝ่ายนโยบาย" นายทหารรายนี้ระบุ
อดีต ศรภ.ชี้หวังผลแต่งตั้งโยกย้าย
ด้าน พล.ท.นันทเดช เมฆสวัสดิ์ อดีตผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการพิเศษ (ภาคใต้) ศูนย์รักษาความปลอดภัย (ศรภ.) กล่าวว่า หากจะบอกว่านายกฯไปนั่งควบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเพื่อเข้าไปกระชับงานภาคใต้ก็ไม่น่ามีปัญหา แต่ก็ต้องตั้งข้อสังเกตว่าที่ผ่านมานายกฯไม่เคยลงลึกเรื่องอะไรเลย ฉะนั้นจึงมองเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ นอกจากเข้าไปเพิ่มเสียงของฝ่ายการเมืองในบอร์ดแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารชั้นนายพล
"ผมคิดว่านอกจากเข้าไปดำรงตำแหน่งเพื่อเกียรติยศของตัวเองแล้ว อีกอย่างหนึ่งก็คือการไปเพิ่มน้ำหนักของฝ่ายการเมืองในการแต่งตั้งโยกย้าย มองอย่างอื่นไม่ได้เลย จะมองไปถึงปัญหาภาคใต้ก็ไม่ได้ เพราะนายกฯไม่เคยสนใจปัญหาภาคใต้จริงๆ ถ้าสนใจจริงต้องสั่งยกเลิกการเจรจากับบีอาร์เอ็นได้แล้ว เพราะจากคำแถลงของบีอาร์เอ็นรอบล่าสุดมันคุยกันไม่ได้"
"ประชา"คุมความมั่นคงดีกว่า"เฉลิม"
ส่วนที่มีการคาดหมายกันว่าน่าจะมีการมอบหมายให้ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รองนายกรัฐมนตรีคนใหม่ กำกับดูแลงานด้านความมั่นคงนั้น พล.ท.นันทเดช กล่าวว่า ศักยภาพของ พล.ต.อ.ประชา ดีกว่า ร.ต.อ.เฉลิม อย่างน้อย พล.ต.อ.ประชา ก็เคยผ่านงานทั้งระดับบริหารและระดับปฏิบัติในหน่วยงานความมั่นคงคือตำรวจ น่าจะเข้าใจปัญหามากขึ้น และ พล.ต.อ.ประชา น่าจะพูดน้อยลง แตกต่างจาก ร.ต.อ.เฉลิม ที่ให้ข่าวทุกวัน
"ปณิธาน"ชี้ขาดตัวจริงความมั่นคง
ขณะที่ ดร.ปณิธาน วัฒนายากร นักวิชาการด้านความมั่นคง จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ดูจากการปรับ ครม.ครั้งล่าสุด พบว่ารัฐบาลยังคงมีปัญหาเรื่องคนรับผิดชอบจริงจังในงานด้านความมั่นคง
"ต้องยอมรับว่ารัฐบาลชุดนี้ตั้งแต่เริ่มต้นไม่มีหัวที่แท้จริงสำหรับงานด้านความมั่นคง ข้าราชการประจำไม่ว่าจะเป็นทหาร ตำรวจ หรือพลเรือนไม่มีผู้บังคับบัญชาชัดเจนทางนโยบายด้านความมั่นคง สำหรับนายกฯเองก็ไม่คุ้นเคยงานด้านนี้เลย งานอื่นอาจจะเรียนรู้ได้บ้างจากที่เคยทำธุรกิจมา แต่งานด้านความมั่นคงเป็นงานที่ต้องใช้ความเชี่ยวชาญเฉพาะ ฉะนั้นสภาพของการขาดหัว ขาดทิศทาง ขาดผู้คุมนโยบายยังมีอยู่"
อย่างไรก็ดี การส่ง พล.ต.อ.ประชา ไปดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง โดยมี พล.อ.ยุทธศักดิ์ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม น่าจะทำให้ภาพรวมของงานดีขึ้น แต่ก็จะคุมได้เพียงแค่การปฏิบัติ เพราะทั้งคู่ไม่มีอำนาจเต็มที่จะกำหนดนโยบาย
"ผมมองว่าการรับมือกับการชุมนุมทางการเมืองที่กำลังก่อตัว พล.ต.อ.ประชา คงดูแลได้อย่างถ้อยทีถ้อยอาศัยมากขึ้น คงไม่เกิดการปะทะรุนแรง โดยท่านคงใช้ประสบการณ์ในอดีต ส่วน พล.อ.ยุทธศักดิ์ แม้จะได้รับมอบงานเกือบทั้งหมดจากนายกฯในหมวกของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมค่อนข้างแน่ แต่งานสำคัญๆ ที่ต้องใช้การตัดสินใจก็ต้องกลับไปที่นายกฯอยู่ดี ปัญหาก็จะอยู่เหมือนเดิม เพราะนายกฯคงให้คำตอบไม่ได้ เช่น จะถอนทหารเพิ่มขึ้นตามข้อเสนอของบีอาร์เอ็นหรือไม่ หรือต้องเปลี่ยนทีมเจรจาหรือเปล่า เป็นต้น"
ดร.ปณิธาน สรุปว่า การวางตัวบุคคลเข้าไปเป็นรัฐมนตรีในสายความมั่นคง ทั้ง พล.ต.อ.ประชา และ พล.อ.ยุทธศักดิ์ ด้วยบุคลิกของทั้งคู่น่าจะทำงานบทบาทและการทำงานดีขึ้น แต่ปัญหาจะอยู่ในแง่นโยบายเช่นเดิม เพราะใน ครม.ไม่มีตัวจริงด้านความมั่นคง รวมทั้งนายกฯ
ห่วงปมโยกย้ายเผชิญหน้ากองทัพ
ดร.ปณิธาน ยังแสดงความเป็นห่วงปัญหาการแต่งตั้งโยกย้าย โดยเฉพาะในส่วนของทหาร เพราะการปรับ ครม.ลักษณะนี้ ชัดเจนว่าฝ่ายการเมืองพยายามเข้าไปเตรียมการแต่งตั้งโยกย้ายในเหล่าทัพต่างๆ โดยเปิดช่องทางให้คนมีอำนาจเหนือนายกฯ เข้าไปล้วงลูกได้เร็วและกระชับอำนาจมากขึ้น
"ปฏิกิริยาโต้กลับจะมีหรือไม่ ทางตำรวจแม้แรงต้านจะน้อยกว่า แต่คราวนี้ พล.ต.อ.ประชา จะรับนโยบายง่ายกว่าคุณเฉลิม ในส่วนของทหาร พล.อ.ยุทธศักดิ์ก็เช่นกัน เสียงฝ่ายการเมืองจะมากขึ้น แต่จะกลายเป็นว่าคนมีอำนาจจริงๆ อยู่เหนือนายกฯ แต่เมื่อนายกฯเข้าไปควบตำแหน่ง ความรับผิดชอบมันจะถึงตัวเร็วขึ้นและมากขึ้น ผมห่วงสถานการณ์การเผชิญหน้าซึ่งน่าจะเกิดขึ้นแน่นอน" ดร.ปณิธาน กล่าวทิ้งท้าย
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : รัฐมนตรีใหม่ใน ครม.ยิ่งลักษณ์ 5 ถ่ายภาพร่วมกันที่หน้าตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล
ขอบคุณ : ภาพจากเว็บไซต์หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ www.bangkokbiznews.com