"ตัวเลขทารุณที่สุด” ผู้ส่งออกข้าว บ่นอุบรัฐแอบขายข้าวราคาถูก คาดขาดทุนไม่ต่ำกว่า 5 แสนล.
นักวิชาการทีดีอาร์ไอ เปิด 2 ตัวช่วย เอื้อทุจริตจำนำข้าว พร้อมแสดงความเป็นห่วง เลิกนโยบายนี้ ราคาข้าวเปลือกจะลดฮวบแน่ ชาวนากว่า 3 ล้านครัวเรือนเจ๊ง ! จี้ถามรัฐบาลคิดแก้ปัญหาไว้ล่วงหน้าหรือยัง
วันที่ 30 มิถุนายน เครือข่ายธุรกิจเพื่อสังคม และสิ่งแวดล้อม ร่วมกับกลุ่มกรีน สถาบันพัฒนาการเมือง ขมรม สสร.50 มหาวิทยาลัยรังสิต และคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย จัดเสวนา SVN TALK เรื่อง ความจริงข้าวไทย ใครล่มจม... ใครร่ำรวย ณ ห้องประชุมอเนกประสงค์ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวถึงผลการดำเนินงานโครงการรับจำนำข้าว 4 ฤดู ตัวเลขของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การ (ธ.ก.ส.) ณ วันที่ 13 มิถุนายน 2556 รับจำนำข้าวไปแล้ว 40 ล้านตัน ใช้เงินไปกว่า 6.19 แสนล้านบาท โดยคาดว่า มีค่าดำเนินการอย่างน้อย 5 หมื่นล้านบาท
ส่วนใครได้ประโยชน์จากโครงการรับจำนำข้าว จนทำให้รัฐขาดทุนถึง 1.17 แสนล้านบาทนั้น ดร.นิพนธ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมา รัฐบาลไม่เคยบอกตัวเลขขายข้าวได้ราคาเท่าไหร่ ซึ่งเป็นความลับมาโดยตลอด บอกแต่เพียงได้เงินเท่าไหร่ ขาดทุนเท่าไหร่ หรือขายไปกี่ตัน เหลือเท่าไหร่
“ผมไปคำนวณจากตัวเลขของนายวราเทพ รัตนากร จึงพบว่า ผลขาดทุนจากการระบายข้าว รัฐบาลขาย 10.21 บาทต่อกก. ทั้งที่ต้นทุนอยู่ที่ 33 .62 บาทต่อกก. ดังนั้น รัฐบาลจึงขายข้าวขาดทุน 23.41 บาทต่อกก.” ดร.นิพนธ์ กล่าว และว่า การขาดทุนโครงการจำนำข้าว 62% เพื่ออุดหนุนชาวนา 33% แจกเงินพ่อค้าพรรคพวก และ 2% อุดหนุนผู้บริโภค ดังนั้นจึงถือว่า รัฐบาลเพื่อไทยประสบความสำเร็จในการทำให้ข้าวเปลือกมีราคาแพง และข้าวสารราคาถูก เป็นครั้งแรก ขณะที่มีต้นทุนมโหฬาร
นักวิชาการทีดีอาร์ไอ กล่าวอีกว่า คนทำเรื่องนี้ได้ ต้องรู้เรื่องของวงการข้าวในประเทศอย่างดี ไม่ได้โง่ แต่ทำไม่เป็นอยู่อย่างเดียว คือ การส่งออกข้าว
สำหรับการปรับลดราคาจำนำข้าวจะมีผลอย่างไรนั้น ดร.นิพนธ์ กล่าวว่า คำนวณปริมาณการจำนำข้าวนาปีจะลดลง 21% นาปรังลดลง 24% และการขาดทุนจากโครงการนี้จะลดลง 9 หมื่นล้านบาท และแม้จะมีการเฉือนเนื้อชาวนา แต่รัฐบาลกลับยังปล่อยให้กลุ่มอื่นหากินต่อไป
“ทุจริตที่ใหญ่ที่สุด คือ การระบายข้าวอย่างลับๆ อีกทั้งยังมีตัวช่วย 2 ตัว เอื้อต่อการทุจริตครั้งนี้ คือ 1. คณะอนุกรรมการกำกับการจำนำ ได้เปลี่ยนกฎเกณฑ์เมื่อปี 2555 เอื้ออำนวยให้โรงสีไม่ต้องส่งมอบข้าวสารเข้าโกดังใน 7 วัน และ 2. ในเดือนพฤศจิกายน 2555 รมว.กระทรวงพาณิชย์ได้อาศัยอำนาจตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ว่าด้วยการนำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. 2539 ออกระเบียบให้มีการออกหนังสือรับรองการนำเข้าที่ได้สิทธิ์ชำระภาษีในโควตาตามพันธกรณีตามความตกลงภายใต้ WTO ได้ทุกเดือนตั้งแต่ 1 มกราคม 2556 ถึง 31 ธันวาคม 2556 ประกาศดังกล่าวช่วยให้ผู้ค้าข้าวสามารถนำเข้าข้าวสารจากประเทศเพื่อนบ้านได้ทุกเดือน โดยถูกกฎหมาย จึงเป็นการทุจริตระดับสูง ทุจริตระดับนโยบาย”
พร้อมกันนี้ ดร.นิพนธ์ กล่าวแสดงความเป็นห่วงด้วยว่า หากวันนี้รัฐบาลเลิกนโยบายจำนำ ราคาข้าวเปลือกจะลดฮวบ หลังเวียดนามชิงลดราคาขายไปแล้ว
“โครงการจำนำเป็นการซื้อข้าวจากชาวนา 1 ล้านครัวเรือน ขณะที่ชาวนาทั่วประเทศมี 4 ล้านครัวเรือน ฉะนั้นอีก 3 ล้านครัวเรือนอยู่นอกโครงการ จะเดือดร้อน วันนี้จะทำอะไรก็แล้วแต่ เลิกทันที แม้ทำให้ประเทศดีขึ้น แต่ชาวนาจะเจ๊ง ซึ่งรัฐบาลต้องเริ่มคิดได้แล้ว”
ขณะที่นายวิชัย ศรีประเสริฐ นายกกิติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวเสริมถึงตัวเลขต้นทุนการรับจำนำข้าวของกระทรวงพาณิชย์ (ไม่รวมค่าดำเนินการ) อยู่ที่ 33.62 บาทต่อกก. ขายออก 10.20 บาทต่อกก. รัฐบาลจะขาดทุน 23.41 บาทต่อกก. หากจำนวนจำนำข้าวสาร 25.7 ล้านตัน คูณตัวเลขออกมาแล้ว รัฐบาลขาดทุนถึง 6 แสนล้านบาท
“แต่หากดูตัวเลขกระทรวงการคลัง ต้นทุนการรับจำนำข้าว 33.62 บาทต่อกก. ขายออก 7.34 บาทต่อกก. รัฐบาลจะขาดทุน 26.28 บาทต่อกก. เมื่อคูณออกมาแล้ว รัฐบาลขาดทุนเกือบ 7 แสนล้านบาท” นายวิชัย กล่าว และว่า แต่ส่วนตัวเชื่อว่า ต้นทุนจำนำข้าวอยู่ที่ 25.19 บาทต่อกก. ขายออก 8.84 บาทต่อกก. รัฐบาลขาดทุน 19.86 บาทต่อกก. ดังนั้นจำนวนข้าวสารที่รับจำนำ 25 ล้านตัน รัฐบาลก็จะขาดทุนจากโครงการนี้เป็นเงินกว่า 5 แสนล้านบาท
นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวด้วยว่า ประเทศไทยส่งออกข้าวปี 2554 กว่า 10 ล้านตัน ได้เงินเข้าประเทศ 1.94 แสนล้านบาท แต่หากโครงการจำนำข้าวนี้ขาดทุนตัวเลขอยู่ระหว่าง 5 - 7 แสนล้านบาท ถือว่า รุนแรงมากจริงๆ รัฐบาลทำโครงการขาดทุนมากกว่าได้ "รายได้" จากการส่งออกข้าวไปขายใน 1 ปี ทั้งหมดที่ยกตัวอย่างมาคำนวณเป็นตัวเลขที่เปิดเผยมาจากทางรัฐบาลเองทั้งสิ้น
“ที่ผู้บริโภคมีข้าวกิน และราคาไม่ได้ขึ้น เพราะรัฐบาลปล่อยข้าวออกมา ปล่อยผ่านนายหน้า โดยซื้อจากรัฐบาลในราคาถูก ส่วนผู้ส่งออกข้าวต่างประเทศโดยเฉลี่ยต้นทุนอยู่ที่ 21 บาทต่อกก. การที่รัฐบาลขายข้าวแถวๆ 10 บาทต่อกก. เราจึงตั้งคำถาม ทำไมต้นทุนของพวกเราถึงสูงขนาดนี้ เป็นตัวเลขที่ทารุณที่สุด”
.