‘นพ.สมปรารถน์ หมั่นจิต’ แพทย์ชนบทดีเด่น : 22 ปี การพัฒนาระบบสุขภาพอำเภอ
'นพ.สมปรารถน์ หมั่นจิต' ผอ.รพ.สมเด็จพระยุพราชเชียงของ เเพทย์ชนบทดีเด่นปี 55 กับจุดเริ่มต้น-เเนวคิด-อุดมการณฺ์ ของอดีตนร.เเพทย์ศิริราชที่เคยเข้ารับฟังปาฐกถาอุดม โปษะกฤษณะ เเต่หากวันนี้เขากลายเป็นผู้ปาฐกถาในอีกหลายปีต่อมา
เร็ว ๆ นี้ ที่รพ.ศิริราช นพ.สมปรารถน์ หมั่นจิต ผอ.รพ.สมเด็จพระยุพราชเชียงของ จ.เชียงราย ในฐานะผู้ได้รับรางวัลแพทย์ดีเด่นในชนบท ปี 2555 จากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ‘ปาฐกถาอุดม โปษะกฤษณะ’ เรื่อง ระบบสุขภาพอำเภอ โซ่ข้อกลางสาธารณสุขไทย ใจความว่า ระบบสุขภาพประกอบด้วย 2 ส่วนที่สำคัญ ส่วนแรกคือบุคคล ครอบครัว ชุมชนที่เป็นเจ้าของสุขภาพ โดยมีเป้าหมายสำคัญ คือ ประชาชนมีสุขภาวะพึ่งตนเองได้ ดูแลตนเองได้อย่างเหมาะสม ส่วนที่สอง คือ ระบบบริการสุขภาพ ซึ่งมีหน้าที่ในการให้บริการสุขภาพ มีเป้าหมาย คือ ความยุติธรรม เท่าเทียม เข้าถึงได้ มีคุณภาพ มีประสิทธิภาพ และสามารถตอบสนองความต้องการของประชาชน โปร่งใส ตรวจสอบได้
โดยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ทั่วโลกประสบปัญหาความยากจน การขาดแคลนทรัพยากรต่าง ๆ การเจ็บป่วย การเข้าไม่ถึงบริการสุขภาพ ทางองค์การอนามัยโลกจึงมีคำประกาศ Alma-Ata ปี 1987 ให้แต่ละประเทศมีการจัดบริการปฐมภูมิ เพื่อจัดบริการที่จำเป็นให้ประชาชนเข้าถึงได้โดยไม่เป็นภาระต่อการเงิน หลังจากดำเนินการมาระยะหนึ่ง พบปัญหาในการจัดการ ปัญหาด้านประสิทธิภาพ จึงมีคำประกาศ Harare declaration นำเสนอ ‘ระบบสุขภาพระดับอำเภอ’
“อำเภอเป็นหน่วยที่มีความเหมาะสมไม่เล็กเกินไปในทางเศรษฐศาสตร์ และไม่ใหญ่เกินไปในด้านการจัดการให้เกิดประสิทธิภาพ ขณะเดียวกันระบบอำเภอยังต้องเชื่อมต่อและประสานกับระบบบริการสุขภาพที่เหนือขึ้นไปอย่างไร้รอยต่อ” นพ.สมปรารถน์ กล่าว และว่าองค์ประกอบสำคัญของระบบสุขภาพอำเภอ ได้แก่บุคคลและครอบครัว ชุมชน หน่วยบริการด่านแรก หรือบริการระดับปลายสุด โรงพยาบาลที่เป็นหน่วยรับการส่งต่อระดับแรก
สำหรับรพ.ชุมชนหรือรพ.อำเภอที่ทำหน้าที่เป็นหน่วยรับการส่งต่อระดับแรก มีบทบาท คือ 1.ให้บริการทุกด้านที่ผสมผสานเชี่ยวชาญมากขึ้นตลอด 24 ชม. 2.เป็นส่วนหนึ่งของ District Health System 3.สนับสนุนการพัฒนาหน่วยบริการด่านแรก ทั้งบริการ บริหาร วิชาการ 4.เชื่อมโยงกับชุมชน ประสานกับหน่วยอื่นเพื่อพัฒนาชุมชน 5 เป็นหน่วยส่งต่อและฝึกอบรมพัฒนาบุคลากร
แพทย์ชนบทปี 2555 กล่าวต่อว่า ผมซึ่งเป็นแพทย์คนหนึ่งทำงานในรพ.อำเภอในชนบทของไทย ทั้งในฐานะแพทย์ผู้ให้บริการ ผอ.รพ.ชุมชน และประธานคณะกรรมการประสานงานสาธารณสุขระดับอำเภอ (คปสอ.)ที่ทำหน้าที่ในการบริหารจัดการระบบสุขภาพอำเภอ นับว่ามีโอกาสสำคัญได้เป็นส่วนหนึ่งของระบบสุขภาพอำเภอ เป็นโซ่ข้อกลางที่เชื่อมต่อการบริการกับรพ.ระดับจังหวัดและภาคส่วนต่าง ๆ ในระบบสาธารณสุขและระบบสุขภาพของประเทศ ขอถ่ายทอดประสบการณ์ตลอด 22 ปี ในการทำงาน
ก้าวแรกสู่แพทย์ชนบท ก่อเกิดมูลนิธิฯ ยุพราช
นพ.สมปรารถน์ กล่าวว่า ช่วง 2-3 ปีแรกที่เข้ารับราชการ รับทราบว่ามูลนิธิรพ.สมเด็จพระยุพราช มีแนวคิดที่จะให้ทุกรพ.สมเด็จพระยุพราชนั้นมีการจัดตั้งมูลนิธิฯ สาขาขึ้น ขณะนั้นผมเป็นแพทย์ประจำ นึกถึงประสบการณ์ขายธงเนื่องในวันมหิดล เมื่อครั้นเป็นนักศึกษาแพทย์ เงิน 5 บาท 10 บาท เมื่อมีผู้บริจาคที่ศรัทธามากมายก็เป็นเงินนับสิบนับร้อยล้านบาทได้ จึงได้เรียนปรึกษากับผู้เกี่ยวข้องหลาย ๆ ท่าน แล้วจัดทอดผ้าป่าขึ้นเมื่อ 30 มี.ค. 2536 ได้เงินประมาณ 1 แสนบาท เมื่อรวมกับเงินทางธนาคารกสิกรไทยบริจาคให้ก่อนหน้านั้น ก็สามารถจดทะเบียนจัดตั้งเป็นมูลนิธิฯ สำเร็จ เมื่อก.ค. 2537 ด้วยทุน 296,289.37 บาท ซึ่งปัจจุบันมีทุนจดทะเบียนกว่า 3 ล้านบาท
หลากหลายจัดบริการสุขภาพช่วยเหลือผู้ป่วย
“แม้จะดำรงตำแหน่งผอ.รพ. แต่เนื่องจากขาดแคลนแพทย์ในรพ.อำเภอ จึงยังต้องใช้เวลาส่วนใหญ่ทำหน้าที่แพทย์ในการตรวจรักษาผู้ป่วย ยังคงร่วมในการดูแลผู้ป่วยทั้งผู้ป่วยนอก ผู้ป่วยใน ผู้ป่วยอุบัติเหตุฉุกเฉินเช่นเดียวกับแพทย์ประจำทั่วไป นอกจากนี้ยังเป็นผู้ที่มีส่วนร่วมในการตัดสินใจและการพัฒนาการดูแลผู้ป่วยกลุ่มโรคต่าง ๆ” ผอ.รพ.สมเด็จพระยุพราชเชียงของ กล่าว และว่าดังเช่น ‘คลินิกวัณโรค’ นอกจากวินิจฉัยและรักษาตามสูตรยามาตรฐานของประเทศแล้ว ยังรับผิดชอบสำคัญในการดูแลผู้ป่วยที่แพ้ยา ผลข้างเคียงจากยา เนื่องจากแพทย์ส่วนใหญ่ในรพ.เป็นแพทย์ที่ใช้ทุน 2-3 ปี หลายท่านยังขาดประสบการณ์ตรงนี้
ส่วน ‘คลินิกผู้ป่วยเอดส์’ ผมมีประสบการณ์ด้านโรคเอดส์ ตั้งแต่ปี 2535-2536 เป็นต้นมา ขณะนั้นผู้ป่วยเอดส์ในภาคเหนือเริ่มมีจำนวนมาก โดยที่ยังไม่มียาต้านไวรัสเอดส์ ยังขาดองค์ความรู้ในด้านโรคติดเชื้อฉวยโอกาสที่พบบ่อยในผู้ป่วยกลุ่มนี้ ซึ่งการดำเนินงานระยะแรกเป็นความร่วมมือกับทุกภาคส่วน ทุกระดับในการรณรงค์สร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับโรคเอดส์ การป้องกัน การอยู่ร่วมกับผู้ป่วยเอดส์ ลดการรังเกียจ จนปี 2542 จึงเริ่มมีการรักษาด้วยยาต้านไวรัสเอดส์ และผู้ป่วยสามารถเข้าถึงยาเอดส์ได้อย่างแท้จริงในปี 2547 ปัจจุบันมีผู้ป่วยเอดส์ที่รับยาต้านไวรัสของอ.เชียงของ ประมาณ 300 คน
นพ.สมปรารถน์ ยังกล่าวถึงโครงการพัฒนาระบบการคัดกรองและดูแลรักษาผู้ป่วยโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โดยเชื่อมโยงทั้งระดับรพ.และสถานีอนามัย อาศัยอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านร่วมในการค้นหาและคัดกรองกลุ่มเสี่ยง ในผู้ป่วยควบคุมระดับน้ำตาลและระดับความดันโลหิตได้สามารถรับยาที่สถานีอนามัยใกล้บ้านและยังคงคุณภาพการรักษาเช่นเดียวกับในรพ.
“แม้จะได้รับการรักษาที่สถานีอนามัย แต่ผู้ป่วยยังคงได้รับการตรวจคัดกรองหาภาวะแทรกซ้อนทั้งทางตา ไต เท้า ทุกปี และมีการใช้ HbA1C ในการประเมินระดับการควบคุมน้ำตาลด้วย”
นอกจากนี้สำนักงานสาธารณสุขจ.เชียงรายยังสนับสนุนเครื่องตรวจตา Fundus Camera ทำให้สามารถคัดกรองภาวะแทรกซ้อนทางตาได้ครอบคลุมขึ้น โดยทางพยาบาลจะเป็นผู้ถ่ายภาพจอประสาทตาและส่งภาพให้จักษุแพทย์รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์อ่านผล หากพบผิดปกติก็ส่งตรวจต่อไป
ผอ.รพ.สมเด็จพระยุพราชเชียงของ กล่าวต่อผลงานในปี 2553 ว่าได้จัดตั้งและพัฒนาคลินิกโรคหืดอย่างง่าย โดยใช้ Peak Flow Meter ช่วยในการวินิจฉัยและติดตามผลการรักษา ใช้ยาพ่นสูดสเตียรอยด์เป็นหลักในการรักษาแทนยาขยายหลอดลมชนิดกิน ทำให้ผู้ป่วยโรคหืดทั้งเด็กและผู้ใหญ่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง จนผู้ป่วยหลายรายสามารถหยุดยาได้และไม่มีอาการกำเริบของโรคอีก
ขณะที่การแก้ไขปัญหาด้านโรคมะเร็งที่พบบ่อยขึ้น ผมได้พัฒนาระบบดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง เพื่อให้ผู้ป่วยและญาติได้รับการดูแลที่เหมาะสม ลดอาการเจ็บปวดของผู้ป่วยโดยใช้ยากลุ่มมอร์ฟีนและ Fentanyl Patch เตรียมผู้ป่วยและญาติให้พร้อมสำหรับการดูแลในระยะสุดท้ายของชีวิต รวมทั้งเตรียมผู้ป่วยในการเลือกสถานที่เสียชีวิต และติดตามดูแลญาติหลังผู้ป่วยเสียชีวิต
“ปี 2555 ได้พัฒนาระบบการดูแลผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังแบบครบวงจรตามนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขและสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พัฒนาการวินิจฉัยที่เน้นการใช้ Spirometry ประเมินสมรรถภาพปอด”
สำหรับโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน เป็นอีกโรคหนึ่งที่รุนแรงถึงกับเสียชีวิต จึงได้พัฒนาระบบการดูแล STEMI Fast Tract โดยประสานกับแม่ข่ายรพ.เชียงรายประชานุเคราะห์ จนสามารถลดอัตราการเสียชีวิตลงได้ รวมถึงโครงการผ่าตัดตาต้อกระจก ตั้งแต่ปี 2548-2553 โดยนพ.วีระพันธ์ ธนาประชุม จักษุแพทย์ รพ.คริสเตียนมโนรมย์ จ.ชัยนาท มาทำการผ่าตัดให้ผู้สูงอายุในเขตอ.เชียงของ อ.ขุนตาล และอ.เวียงแก่น เป็นเวลา 3 เดือน/ครั้ง ผ่านงบประมาณจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สโมสรไลออนส์ การท่าเรือแห่งประเทศไทย
ดันรพ.ยุพราชเชียงของ-ขุนตาลสู่มาตรฐานสากล
นพ.สมปรารถน์ กล่าวถึงความภาคภูมิใจการพัฒนางานด้านคุณภาพว่า สามารถทำให้รพ.สมเด็จพระยุพราชเชียงของและรพ.ขุนตาล ซึ่งรับตำแหน่งรักษาการอยู่ ผ่านเกณฑ์มาตรฐานบริการสาธารณสุข ปี 2550 นอกจากนี้รพ.ขุนตาลยังผ่านมาตรฐาน Hospital Accreditation ครั้งที่ 1 เมื่อปี 2550 ครั้งที่ 2 ปี 2554 และผ่านการประเมิน Re- Accreditation ช่วง 21 ก.พ.2556-20 ก.พ.2559 ด้วย
“รพ.สมเด็จพระยุพราชเชียงของผ่านเกณฑ์ประเมิน Hospital Accreditation และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ปี 2551 และผ่านการประเมิน Re- Accreditation ช่วง 3 ก.พ.2555-2 ก.พ.2558”
มุ่งสู่สถาบันวิชาการพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์
แพทย์ชนบทปี 2555 เปิดเผยงานด้านการพัฒนาวิชาการและฝึกพัฒนาบุคลากรว่า ได้รับการแต่งตั้งเป็นอาจารย์พิเศษภาควิชาเวชศาสตร์ครอบครัว คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี และเป็นแหล่งฝึกแพทย์ประจำบ้านสาขาเวชศาสตร์ครอบครัว ตั้งแต่ปี 2547 ถึงปัจจุบัน
“ได้สอนและกำกับการฝึกของนักศึกษาแพทย์ปี 4 ในวิชาเลือก ของคณะแพทยศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์ ตั้งแต่ปี 2548 ถึงปัจจุบัน และเป็นแหล่งฝึกในรายวิชาอายุรศาสตร์ ศัลยศาสตร์” นพ.สมปรารถน์ กล่าว และว่ายังฝึกวิชาเวชศาสตร์ครอบครัวและชุมชนแก่นักศึกษาแพทย์ปี 6 ที่ศึกษาชั้นคลินิก ที่รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์ ตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นมาด้วย
ที่สำคัญยังร่วมกับบุคลากรวิชาชีพต่าง ๆ พัฒนารพ.เป็นแหล่งฝึกของนักศึกษา ทั้งหลักสูตรต่ำกว่าปริญญาตรี ปริญญาตรี หลังปริญญาตรีของมหาวิทยาลัย และสถาบันที่เป็นของรัฐบาลและเอกชนหลากหลายหลักสูตร
‘ลูกค้าต้องถูกเสมอ’ มาตรฐานบริการใหม่โดนใจผู้ป่วย
นพ.สมปรารถน์ ยังกล่าวถึงหัวใจสำคัญของการทำงานด้านแพทย์ คือ ต้องให้บริการด้านการแพทย์และสาธารณสุขเหมือนบริการอื่น ๆ ซึ่งอาจมีภาวะแทรกซ้อนและเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์เกิดขึ้นได้ จึงได้ประยุกต์ตัวอย่างที่ดีจากภาคเอกชนจัดตั้งทีม CRM (Customer Relationship Management) ขึ้น โดยมาจากจิตอาสาวิชาชีพต่าง ๆ ในรพ. เพื่ออบรมแนวคิด Service Recovery Process ให้กับบุคลากรและทีม CRM สำหรับการรับมือกับความไม่พึงพอใจของผู้รับบริการ แบ่งเป็น ต้องรับฟังลูกค้าอย่างตั้งใจ ต้องเอาใจใส่ เห็นใจลูกค้า ต้องยอมรับลูกค้าถูกเสมอ และหากแก้ไขไม่ได้ให้ส่งต่อไปยังผู้ที่ได้รับมอบหมายที่เหนือกว่า แต่ต้องบันทึกรายงานเพื่อแก้ไข ป้องกัน ในเชิงระบบต่อไป
ทั้งนี้หากเป็นเหตุไม่พึงประสงค์ที่เข้าข่ายความเสียหายจากการเข้ารับบริการสาธารณสุขตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มาตรา 41 กลุ่มนี้จะสามารถดำเนินการต่อให้ได้รับการเยียวยา โดยไม่พิสูจน์ถูกผิดตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย ทำให้ป้องกันการถูกฟ้องร้องได้ นอกจากนี้ยังสามารถรักษาสัมพันธภาพระหว่างผู้ให้และผู้รับบริการได้ต่อไป
นอกจากนี้ยังแสดงเจตจำนงคัดค้านการเปลี่ยนค่าตอบแทนแบบเหมาจ่ายรายหัวพื้นที่ทุรกันดาร มาเป็นการจ่ายตามภาระงาน (Pay for Performance : P4P) เนื่องจากมีผลกระทบมากต่อแพทย์ชนบท เพราะคิดว่าผู้ป่วยบางรายที่ต้องส่งตัวไปรักษารพ.ศูนย์ต้องเดินทางยากลำบาก แพทย์ในพื้นที่ก็จะนำเงินเหมาจ่ายส่วนนี้ช่วยเหลือด้วย แต่หากใช้มาตรการ P4P โดยขาดการศึกษาอย่างลึกซึ้ง อาจส่งผลให้แพทย์แย่งรักษาผู้ป่วยเพื่อหวังเอื้อให้ได้แต้มมากก็ได้ และจะมีปัญหาเหมือนในต่างประเทศ
สุดท้าย แพทย์ชนบทท่านนี้ยังเปิดเผยถึงเคล็ดลับความสำเร็จด้วยการยึดหลักการประพฤติปฏิบัติตนตามหลักการ 1.การครองตน ยึดถือ ความสุขแบบพอเพียง ความสุขที่เกิดจากการให้ ทำให้ไม่ต้องดิ้นรนขวนขวาย เพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพย์สินเงินทองมากมาย เป็นการตัดทางที่จะคิดทุจริตคอร์รัปชั่น
2.การครองคน ยึกหลักเอาใจเขามาใส่ใจเรา สิ่งใดที่เราไม่ชอบก็ไม่ปฏิบัติต่อผู้อื่น เช่น การวางท่าข่มเหง คำพูดก้าวร้าว เคารพในศักดิ์ศรีของมนุษย์เท่าเทียมกัน จึงปฏิบัติต่อผู้ใต้บังคับบัญชาเสมือนเพื่อนร่วมงาน เมื่อเราให้เกียรติผู้อื่น เราก็จะได้รับความเคารพนับถือคืนแทน
3.การครองงาน ปฏิบัติงานที่ได้รับมอบหมาย และงานที่เป็นกิจอันพึงกระทำ แม้จะไม่ใช่งานในหน้าที่ความรับผิดชอบทางด้านสาธารณสุข สนใจที่จะร่วมพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ตั้งแต่วัยเด็ก เพื่อให้ได้รับการดูแลทั้งด้านสุขภาพ อนามัย การศึกษา เพื่อจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดีในอนาคต
“ยึดมั่นพระบรมราโชวาทของสมเด็จพระบรมราชชนกที่ว่า ขอให้ถือประโยชน์ส่วนตนเป็นกิจที่สอง ประโยชน์เพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง ลาภ ทรัพย์ เกียรติยศ จะตกแก่ท่านเอง ถ้าทรงธรรมแห่งอาชีพให้บริสุทธิ์” นพ.สมปรารถน์ ฝากทิ้งท้าย .