รอยร้าวดับไฟใต้...สู่ความสิ้นหวังครั้งใหม่หลังปรับ ครม.
ข้อความแรงๆ ที่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี สาดเข้าใส่ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) แบบไม่ยั้ง กลางวงประชุมนายตำรวจระดับนายพลเมื่อวันศุกร์ที่ 28 มิ.ย.ที่ผ่านมา เสมือนหนึ่ง "ทิ้งบอมบ์" ส่งท้ายก่อนย้ายไปนั่งเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานแบบไม่เต็มใจ จากการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) เที่ยวล่าสุดของรัฐบาล นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นั้น
หากมองข้าม "วาระส่วนตัว" ของการไม่สบอารมณ์ที่ถูกเด้งจากเก้าอี้ใหญ่บังคับบัญชาตำรวจเกือบ 3 แสนนาย จึงพาลกล่าวหาไปต่างๆ นานา จนทำให้มองเห็นความเหลวแหลกเละเทะในแวดวงการเมืองไทยแล้ว ต้องยอมรับว่าประเด็นที่เป็นปัญหาจริง และ ร.ต.อ.เฉลิม เองก็สะท้อนอย่างตรงไปตรงมาไม่แพ้กันก็คือ แนวทางการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นปัญหาซ้อนทับปัญหาไฟใต้อีกที
เป็นการซ้อนทับที่ทำให้ปัญหาไฟใต้แทบจะอยู่ในภาวะสิ้นหวังสำหรับการแก้ไขหรือคลี่คลาย เพราะไม่ใช่แค่หน่วยงานรัฐด้วยกันเองไม่เป็นเอกภาพเท่านั้น แต่รัฐมนตรีกับข้าราชการระดับสูงที่รับผิดชอบยัง "เห็นต่าง" และ "ขัดแย้ง" กันอย่างหนักด้วย โอกาสที่จะร่วมมือกัน "ดับไฟใต้" ให้ได้อย่างยั่งยืนจึงยากยิ่ง
เห็นต่าง"เจรจา"ปมแตกคอ
จะว่าไปทั้ง ร.ต.อ.เฉลิม พ.ต.อ.ทวี รวมไปถึง พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ล้วนอยู่ข้างเดียวกัน คือเป็นนักการเมืองและข้าราชการที่ได้ดิบได้ดีในยุคที่เครือข่ายของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เรืองอำนาจ ทว่าคนกลุ่มนี้่กลับขัดแย้งกันเองโดยมี "การพูดคุยสันติภาพ" ที่ พล.ท.ภราดร ไปลงนามริเริ่มกระบวนการกับแกนนำบีอาร์เอ็นกลุ่ม นายฮัสซัน ตอยิบ เมื่อ 28 ก.พ.56 เป็นปัจจัยสำคัญ
จากการให้สัมภาษณ์ของ ร.ต.อ.เฉลิม หลายต่อหลายครั้งชัดเจนว่าไม่ได้ให้ราคากับการพูดคุยสันติภาพสักเท่าไหร่ แต่ที่ต้องพูดเชิงรักษา "โต๊ะเจรจา" เอาไว้ ก็ชัดเจนว่าเป็นเพราะกระบวนการนี้ริเริ่มและผลักดันโดย พ.ต.ท.ทักษิณ
ทว่านับตั้งแต่ลงนามในข้อตกลงริเริ่มกระบวนการสันติภาพ กระทั่งมีการพูดคุยอย่างเป็นทางการกันมาแล้วถึง 3 ครั้ง ระยะเวลา 4 เดือน สถานการณ์ในพื้นที่กลับไม่ดีขึ้น แถมแกนนำบีอาร์เอ็นอย่างนายฮัสซัน ยังฉวยจังหวะตบหน้าคณะเจรจาฝ่ายไทยซ้ำแล้วซ้ำเล่าด้วยการเผยแพร่คลิปข้อเรียกร้องหนักๆ เงื่อนไขยากๆ และต่อว่าต่อขานประเทศไทยด้วยถ้อยคำรุนแรงประเภท "นักล่าอาณานิคมสยาม" โดย พล.ท.ภราดร และ พ.ต.อ.ทวี ในฐานะแกนนำในคณะพูดคุยสันติภาพก็ไม่ได้มีมาตรการเชิงรุกใดๆ มากนัก นอกจากการไปประชุมพบปะกับกลุ่มนายฮัสซันตามนัด เสมือนหนึ่งไปรับทราบนโยบายจากบีอาร์เอ็น
เมื่อกระแสสังคมกดดันมากขึ้นเรื่อยๆ ร.ต.อ.เฉลิม ซึ่งเป็นนักการเมืองผู้คร่ำหวอดและฉับไวต่อสถานการณ์จึงมิอาจนิ่งเฉยอยู่ได้ ทำให้ ร.ต.อ.เฉลิม เริ่มให้สัมภาษณ์ตอบโต้บีอาร์เอ็นแรงขึ้น พร้อมๆ กับการใช้อำนาจในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ผอ.ศปก.กปต.) บีบให้ พล.ท.ภราดร และ พ.ต.อ.ทวี นำประเด็นที่จะไปพูดคุยเจรจากับฝ่ายบีอาร์เอ็นเข้าหารือในที่ประชุม ศปก.กปต.ก่อนเดินทางไป และหลังจากกลับมาก็ให้นำเข้ารายงาน รวมทั้งประเมินผลด้วย
แต่การใช้อำนาจของ ร.ต.อ.เฉลิม ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะแม้ พล.ท.ภราดร กับ พ.ต.อ.ทวี จะเข้าร่วมประชุม ศปก.กปต. แต่ก็ไม่ได้รายงานหรืออธิบายรายละเอียดเกี่ยวกับการพูดคุยสันติภาพอย่างชัดเจนมากนัก ทำให้ ร.ต.อ.เฉลิม ยิ่งไม่พอใจ และเริ่มให้สัมภาษณ์เชิงประชดประชัน ถึงขั้นเรียก พล.ท.ภราดรว่า "บิ๊กแมว" เรียก พ.ต.อ.ทวี ว่า "บิ๊กวี" และเรียก พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก รองปลัดกระทรวงกลาโหม แกนนำคณะพูดคุยเจรจาอีกคนหนึ่งว่า "บิ๊กแป๊ะ" และพูดทำนองว่าสามคนนี้เป็น "บิ๊ก" กันหมดแล้ว ทำให้ตนเองไม่กล้าไปสั่งการหรือมอบนโยบายอะไร
งานนี้ พล.อ.นิพัทธ์ จับสัญญาณได้ จึงรีบเข้าไปชี้แจงแทนคณะเจรจาทุกคน สร้างความเข้าใจได้ระดับหนึ่ง แต่ก็ดูเหมือน ร.ต.อ.เฉลิม จะเล่นเกมย้อนเกล็ดด้วยการตั้ง พล.อ.นิพัทธ์ เป็น "โฆษก ศปก.กปต." เพื่อลดบทบาทของ พล.ท.ภราดร พร้อมสำทับว่าคนอื่นไม่ควรพูดมาก ซึ่งก็คือการส่งสัญญาณไปถึง พล.ท.ภราดร ที่ขึ้นชื่อเรื่องการให้สัมภาษณ์สื่อวันละ 3 เวลาหลังอาหารนั่นเอง
แต่แล้วในการประชุม ศปก.กปต.ครั้งสุดท้ายก่อนมีข่าว ร.ต.อ.เฉลิม หลุดจากเก้าอี้รองนายกฯ เมื่อวันศุกร์ที่ 21 มิ.ย. ปรากฏว่ามีการรายงานเรื่องการจับกุมและวิสามัญฆาตกรรมผู้ต้องหาคดีฆ่าหมู่ 6 ศพที่ อ.เมืองปัตตานี (เหตุเกิด 1 พ.ค.56) ร.ต.อ.เฉลิม ได้สั่งการให้ พล.อ.นิพัทธ์ รีบแถลงเรื่่องนี้เพราะเคยมีข่าวแกนนำบีอาร์เอ็นแถลงผ่านคลิปวีดีโอกล่าวหาว่าเจ้าหน้าที่ไทยเป็นคนก่อเหตุ แต่วันนี้จับผู้ต้องหาได้แล้ว จึงน่าจะตอบโต้กลับไปบ้าง
ทว่า พ.ต.อ.ทวี ซึ่งนั่งอยู่ในที่ประชุมด้วยได้ท้วงขึ้นทำนองว่าน่าจะระมัดระวังเรื่องการใช้ถ้อยคำ เพราะจากคำแปลคลิปบีอาร์เอ็นที่ถูกต้อง ไม่ชัดว่ามีการกล่าวหาเจ้าหน้าที่ไทยกรณี 6 ศพ คำทักท้วงนี้เล่นเอา ร.ต.อ.เฉลิม โกรธจนควันออกหู และน่าจะเป็นสาเหตุสำคัญของการบริภาษ พ.ต.อ.ทวี กลางวงประชุมนายพลตำรวจเมื่อ 28 มิ.ย.ว่า พ.ต.อ.ทวี ให้ความช่วยเหลือแต่มุสลิม ไม่เคยช่วยทหารไทย
ตั้ง"ดาวพงษ์"อีกปมห้ามมองข้าม
ร.ต.อ.เฉลิม เชื่อว่าความขัดแย้งกับทีมเจรจา โดยเฉพาะ พ.ต.อ.ทวี เป็นชนวนสำคัญที่ทำให้เขาถูกเด้งจากเก้าอี้รองนายกฯ แต่หากย้อนดูวีรกรรมของตัวเขาเอง เฉพาะที่เกี่ยวกับการแก้ปัญหาภาคใต้ จะพบว่ายังมีอีกหลายเรื่องที่น่าจะเป็น "ชนวนเหตุ" ได้เหมือนกัน เข้าข่าย "ทำตัวเองแล้วจะโทษใคร"
เริ่มจากการที่ตนเองต้องกล้ำกลืนฝืนรับผิดชอบภารกิจดับไฟใต้ทั้งๆ ที่ไม่อยากรับ แถมยังทำท่าจะต้องทำไปอีกนาน (เพราะคนอื่นในรัฐบาลก็ไม่อยากรับ) ทำให้ ร.ต.อ.เฉลิม เริ่มสร้างอาณาจักรส่วนตัว ดึงคนที่เป็นพรรคพวกของตนเองเข้ามาอยู่ในโครงสร้าง ศปก.กปต.เต็มไปหมด ไม่ว่าจะเป็น พล.ต.อ.ภาณุพงศ์ สิงหรา ณ อยุธยา รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ในฐานะอดีตรอง ผบ.ตร.คู่ใจ นายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี น้องรักในพรรคเพื่อไทย และ นายประชา ประสพดี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย
เป็นที่น่าสังเกตว่าเกือบทั้งหมดไม่มีประสบการณ์เกี่ยวกับงานภาคใต้ ยกเว้น พล.ต.อ.ภาณุพงศ์ แต่ก็ถูกมองแง่ลบจากนักสิทธิมนุษยชนจากปัญหาการทำงานในอดีต
การสร้างอาณาจักรของ ร.ต.อ.เฉลิม ถูกจับจ้องตาไม่กระพริบจากบางปีกในพรรคเพื่อไทย แต่ก็ยังไม่มีใครขยับค้านอะไร กระทั่งเขาตัดสินใจตั้ง พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รองผู้บัญชาการทหารบก (รองผบ.ทบ.) เข้าไปทำหน้าที่ผู้ช่วย ผอ.ศปก.กปต.นั่นแหละจึงเริ่มมีกระแสต้าน เพราะ พล.อ.ดาว์พงษ์ คือคีย์แมนคนสำคัญในปฏิบัติการกระชับพื้นที่เพื่อสลายม็อบเสื้อแดงเมื่อปี 2553
เรื่องนี้ทำให้หลายกลุ่มในพรรคเพื่อไทยรับไม่ได้ รวมทั้งมวลชนคนเสื้อแดง!
ขณะที่ผลงานด้านที่เกี่ยวกับภาคใต้ของ ร.ต.อ.เฉลิม ก็ไม่น่าประทับใจนัก โดยเจ้าตัวเคยไปแสดงอาการมึนเมาระหว่างเดินทางเยือนมาเลเซียซึ่งเป็นประเทศมุสลิม เมื่อวันที่ 8-10 ม.ค.56 จนเป็นข่าวฉาวโฉ่มาแล้ว และตลอดหลายเดือนที่สวมหัวโขน ผอ.ศปก.กปต.ก็ไม่ยอมเดินทางลงพื้นที่ จนนายกฯต้องออกมาให้สัมภาษณ์ต่อหน้าธารกำนัลหลายครั้งเพื่อกระตุ้นเตือน กระทั่งสุดท้ายเลี่ยงไม่ไหวจึงต้องยอมลงพื้นที่อย่างแกนๆ แต่ก็หลังจากถูกฝ่ายค้านด่าฟรีมานาน จนรัฐบาลตกเป็นเป้าไฟใต้รุมเร้า
ใครนั่งรองนายกฯความมั่นคง?
ไล่ดูรายชื่อในโผ ครม.ใหม่ ทำให้เกิดคำถามว่าใครจะมาเป็นรองนายกฯ คุมงานความมั่นคงแทน ร.ต.อ.เฉลิม เพราะ พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ก็มีข่าวถูกปรับออกจาก ครม.ด้วย ภาวการณ์จึงเสี่ยงกลับไปสู่ภาวะลักลั่นเหมือนเมื่อครั้งปรับ ครม.ปลายปีที่แล้ว (ต.ค.55) ที่เขี่ย พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา พ้นเก้าอี้รองนายกฯฝ่ายความมั่นคงไป ทั้งๆ ที่นั่งเป็นประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กปต.) อยู่
ช่วงนั้นมีกระแสข่าวว่า นายกฯยิ่งลักษณ์จะรับผิดชอบงานความมั่นคงและปัญหาภาคใต้เอง ในฐานะ ผอ.ศปก.กปต. แต่จนแล้วจนรอดก็มอบให้ ร.ต.อ.เฉลิม ทั้งที่เจ้าตัวแสดงออกอย่างโจ่งแจ้งว่าไม่อยากรับ
ที่น่าแปลกคือเหตุผลของการปลด พล.อ.อ.สุกำพล เพราะเขาเพิ่งได้รับความไว้วางใจจากนายกฯยิ่งลักษณ์ ให้รับผิดชอบงานประชาสัมพันธ์เชิงรุกในภารกิจดับไฟใต้ และ พล.อ.อ.สุกำพล ก็เพิ่งประชุมจัดทีมเมื่อ 12 มิ.ย.นี้เอง จึงยังไม่เห็นว่า พล.อ.อ.สุกำพล มีความบกพร่องผิดพลาดที่ตรงไหน
หากจะบอกว่า พล.อ.อ.สุกำพล คัดค้านการพูดคุยสันติภาพ ขัดกับ พล.ท.ภราดร ก็ไม่น่าใช่ เพราะ พล.อ.อ.สุกำพล ให้สัมภาษณ์ทำนองยึดแนวทางเจรจามาตลอด และยังเคยกล่าวในที่ประชุมกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) ที่ค่ายสิรินธร จ.ปัตตานี ก่อนเปิดดีลเจรจาเหมือนรู้ล่วงหน้าทำนองว่าไฟใต้จะดับภายในปีนี้
ส่วนบทบาทการออกมาตอบโต้เงื่อนไขใหม่ของบีอาร์เอ็นอย่างแข็งกร้าวเมื่อ 25 มิ.ย. ก็มีข่าวว่าได้ไฟเขียวจากนายกฯยิ่งลักษณ์
และการพูดเชิงไม่ให้ราคาบีอาร์เอ็นกลุ่มนายฮัสซัน ก็ไม่น่าเป็นเงื่อนไขทำให้เขาต้องพ้นเก้าอี้รัฐมนตรี เพราะ พล.อ.ยุทธศักดิ์ ที่มีข่าวจะเข้ามาเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม (ทั้งๆ ที่เคยเป็นรัฐมนตรีว่าการมาก่อน) ก็เคยวิพากษ์บีอาร์เอ็นกลุ่มนี้อย่างเผ็ดร้อนมาแล้วในทำนอง "พ่อร่วมโต๊ะเจรจา ลูกสั่งวางระเบิด" ฉะนั้นการจะสรุปง่ายๆ ว่า รัฐมนตรีที่ด่าบีอาร์เอ็น หรือมีปัญหากับ พล.ท.ภราดร และ พ.ต.อ.ทวี วันนี้ต้องหลุดจากเก้าอี้ทั้งหมด เพราะ พ.ต.ท.ทักษิณ ไว้ใจคู่หู "ทวี-ภราดร" มากกว่า หรือยึดมั่นแนวทางเจรจาแบบไม่ต้องการให้มีใครมาขัด...ก็ไม่น่าจะจริง
การปรับ ครม.จึงเป็นการตอบโจทย์ทางการเมืองมากกว่าโจทย์ปัญหาภาคใต้ และน่าจะตอบสนองวาระการปรับย้ายนายทหารระดับนายพลปลายปีนี้มากที่สุด โดยเฉพาะการส่งนายกฯหญิงเข้าไปควบเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เพื่อใช้ความสงบสยบความแข็งกร้าวของขุนทหาร และการตั้งรัฐมนตรีช่วยเข้าไปก็เพื่อเพิ่มเสียงในคณะกรรมการพิจารณาปรับย้ายนายทหารชั้นนายพล หรือ "บอร์ดโยกย้าย 7 อรหันต์" ตามพระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ.2551
ท่ามกลางกระแสข่าวที่สะพัดมาก่อนหน้านี้ว่าฝ่ายการเมืองต้องการเปลี่ยนตัว ผบ.ทบ.
สันติภาพที่ต้องรอต่อไป
พิจารณาจากโผ ครม.ใหม่ ประกอบกับปัญหาความขัดแย้งชนิดฝุ่นตลบในเรื่องการดำเนินนโยบายพูดคุยสันติภาพกับกลุ่มบีอาร์เอ็น ซึ่งหน่วยงานด้านความมั่นคงอื่นๆ นอกเหนือจาก สมช.แสดงท่าทีไม่เห็นด้วย ไม่ว่าจะเป็นกองทัพ หรือสำนักข่าวกรองแห่งชาติก็ตาม ทำให้เกิดคำถามว่า "ดีลเจรจา" เป็นเพียงการสร้างภาพผู้นำสันติภาพในภูมิภาคอาเซียนให้กับ นายนาจิบ ราซัก ผู้นำมาเลเซียเพื่อนรักของ พ.ต.ท.ทักษิณ เท่านั้นหรือ วันนี้นายนาจิบชนะเลือกตั้งสมใจแล้ว สันติภาพที่ปลายด้ามขวานของไทยก็ต้องไปลุ้นกันเอาเองหรืออย่างไร
ไม่ต่างกับเสียงบริภาษจาก ร.ต.อ.เฉลิม ที่คงจะค่อยๆ เลือนหายไปตามกาลเวลา พร้อมๆ กับความรุนแรงรายวันที่ชายแดนใต้ซึ่งจะค่อยๆ กลบความหวังสร้างสันติภาพจากการเจรจารอบนี้ลงเรื่อยๆ เช่นกัน
การปรับ ครม.ชนิดไม่แคร์สื่อ ไม่แคร์คนชายแดนใต้ และไม่แคร์ความต่อเนื่องในภารกิจดับไฟใต้ กับความไร้เอกภาพและความขัดแย้งในเรื่องของวิธีคิดและนโยบายถึงขั้นทะเลาะกันเอง จึงชี้ชัดว่ารัฐบาลพรรคเพื่อไทยและ พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่ได้คาดหวังจะแก้ปัญหาที่ปลายด้ามขวานอย่างจริงจังเลย นอกจากเล่นเกมวูบวาบตามกระแสไปวันต่อวัน
ฟลุคสำเร็จก็ดีไป ไม่สำเร็จก็รบกันต่อ...แค่นั้นเอง!
-----------------------------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณ : ภาพประกอบจากฝ่ายกราฟฟิก หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ