คำต่อคำ “สุรพล นิติไกรพจน์” แตะปรากฎการณ์ทางการเมือง-รธน.
"เราปล่อยให้มีการบิดเบือนทางกม.เกิดขึ้น และเราก็เฉยๆ กับมัน
เราเลือกพูดถึงสถาบันกษัตริย์ ศาลรธน. ซึ่งไม่ค่อยมีทางสู้
แต่เลือกที่จะไม่พูดเรื่องบางเรื่องที่เห็นตำตา"
วันที่ 29 มิถุนายน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดงานเสวนาวิชาการรำลึก ศาสตราจารย์ ไพโรจน์ ชัยนาม ครั้งที่ 3 เรื่อง “บทบาทศาลรัฐธรรมนูญในการปกป้องรัฐธรรมนูญ : ศึกษาบทเรียนจากกฎหมายต่างประเทศ” ณ ห้องจิ๊ด เศรษฐบุตร (LT.1) คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ อาจารย์ประจาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงเรื่องรัฐธรรมนูญ และสถานการณ์ทางการเมืองไว้อย่างน่าสนใจ หลังไม่ได้ออกมาพูดกับสาธารณชนมากว่า 2-3 ปี
สำนักข่าวอิศรา ขอนำเสนออย่างละเอียด คำต่อคำ
ช่วงแรก ศ.ดร.สุรพล กล่าวถึง ศ.ไพโรจน์ ซึ่งสนใจกฎหมายรัฐธรรมนูญ สนใจศาลรัฐธรรมนูญอย่างมาก นอกจากนั้นก็สอนเวลาดูกฎหมาย อย่าสนใจเฉพาะแต่ตัวบทกฎหมาย ตัวรัฐธรรมนูญ แต่ให้ดูสภาพแวดล้อม สถานการณ์ทางสังคม องค์ประกอบของสถาบันการเมือง โดยต้องสนใจใครเป็นรัฐบาลเสียงข้างมาก เงื่อนไขทางการเมืองของประเทศขณะนั้นเป็นอย่างไร จึงนำมาสู่การตัดสินใจทางการเมืองเช่นนั้น เช่นนี้ หรือการนำมาสู่การตรากฎหมายใหม่
“ผมจะขอบูชาครูด้วยการนำเรื่องรัฐธรรมนูญ และสถานการณ์ทางการเมือง สังคม ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของรัฐธรรมนูญ มารวมเข้ากัน เพื่อพูดถึงบทบาทศาลรัฐธรรมนูญในการปกป้องรัฐธรรมนูญ ระลึกถึงครูกฎหมาย”
ประเด็นสำคัญปัจจุบันที่เราพูดกันอยู่ในสังคมไทย คงปฏิเสธไม่ได้ว่า เราพูดถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เราทราบว่า เมื่อปีที่แล้ว มีการร่างรธน.แก้ไข บทบัญญัติมาตรา 291 ว่าด้วยการแก้ไขรธน. เพื่อให้มีการยกร่างรธน.ขึ้นใหม่ทั้งฉบับ และมีคนไปยื่นคำร้องอาศัยมาตรา 68 ของรธน.ว่าการดำเนินการเช่นนั้นเป็นการทำลาย ล้มล้างระบบการปกครอง จนนำมาสู่คำวินิจฉัยของศาลรธน. ว่า การดำเนินการดังกล่าวไม่ได้ เป็นการล้มล้างรธน.
แต่การแก้ไขรธน.ทั้งฉบับที่ดำเนินการผ่านการลงประชามติมาแล้วนั้น “ควรจะ” รับฟังความคิดเห็นของประชาชน โดยการลงประชามติเสียก่อน
ไม่มีใครบอกได้ว่า “ควรจะ” หมายความว่าอย่างไร ไม่มีใครบอกได้ว่า ศาลรธน.ห้ามการแก้รธน.ทั้งฉบับ หรือไม่ห้าม เรื่องนี้ยังค้างในรัฐสภาการพิจารณาลงมติวาระที่ 3 ของร่างรธน.แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 291 ที่ให้มีสภาร่างรธน. นั้น ยังไม่ตกไปไหน อยู่ที่ว่าประธานรัฐสภาจะหยิบยกขึ้นมาเมื่อไหร่ เป็นรัฐสภาเดียวกันกับญัตตินี้ถูกเสนอพิจารณา
ผ่านมาหลายเดือน สมาชิกรัฐสภาจำนวนหนึ่งก็ได้เข้าชื่อกันเสนอขอแก้รธน.อีกครั้งหนึ่ง ใน 3 ญัตติ ใน 4 เรื่องสำคัญ โดยแยกเป็น 3 ฉบับ ประเด็นหลักอยู่ตรงที่ คราวนี้สมาชิกรัฐสภาของแก้ตัวมาตรา 68 ที่เป็นที่มาเป็นปัญหาที่ทำให้เกิดเรื่องที่ค้างอยู่ในปีที่แล้ว
“การแก้ไขมาตราอื่นไม่ได้เป็นปัญหา ไม่ว่าจะเป็นมาตรา 190 การทำสนธิสัญญา การแก้ไขการยกเลิกการตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรค ที่ถูกยุบพรรค หรือที่มาของวาระของวุฒิสภา ไม่ได้เป็นประเด็นให้เกิดความขัดแย้ง”
แต่ปัญหาที่เกิดในปัจจุบัน สมาชิกรัฐสภา 300 กว่าคน ขอแก้มาตราเดียว และไม่ได้แก้เพื่อร่างใหม่ทั้งฉบับ ขอแก้ไม่ให้ศาลรธน.รับเรื่อง ตามมาตรา 68 เท่านั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาในวาระที่ 2 เดือนสิงหาคมนี้ เรื่องนี้กลับเข้ามาสู่สภาอีก
ขณะที่คนกลุ่มเดิมร้องคัดค้านคราวที่แล้ว ก็ร้องใหม่ ว่า การแก้ไขมาตรา 68 เป็นช่องทางปกป้องรธน. เป็นการเปิดโอกาสทำลายระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย ขอให้ศาลรธน.พิจารณา ศาลรับเรื่องและอยู่ระหว่างการพิจารณา เรียกประธานรัฐสภาไปชี้แจง สมาชิกรัฐสภาไปชี้แจง"
แต่ทั้งหมดตั้งโต๊ะแถลงข่าวว่า ศาลรธน.ไม่มีอำนาจรับเรื่องที่มีการเสนอแก้ไข มาตรา 68 ในคราวนี้
ปัญหาสังคมไทย ในเรื่องที่เกี่ยวกับ รธน.พันอยู่กับข้อเท็จจริงที่ได้เล่ามานี้ทั้งสิ้น เราพยายามหาคำตอบ คำอธิบายอะไรหลายๆ อย่าง...
รธน.2550 เป็นรธน.ฉบับเดียวในประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองไทย ที่มีการลงประชามติ เป็นอธิปไตยโดยตรงของประชาชน เมื่อรัฐสภาคิดว่าจะร่างรธน.ใหม่ทั้งฉบับ ไม่มีหนทางอื่น นอกจากถามผู้ลงประชามติเสียก่อน หลักการที่เราพูดกันมาก่อนหน้านี้ อำนาจสถาปนารธน. อำนาจจัดให้มีรธน.ในทางทฤษฎีนั้น อธิบายสถานการณ์ทางการเมืองประเทศไทยบนข้อเท็จจริง
“เราไม่เคยมีกฎหมายฉบับใดเลยในประเทศนี้ เราไม่เคยมีรธน.ฉบับใดเลยในประเทศนี้ที่ผ่านการลงประชามติ นั่นคืออธิปไตยโดยตรงที่ก้าวข้ามไม่ได้เด็ดขาด จะแก้รธน.ทั้งฉบับโดยไม่ถามประชาชน ไม่ได้เป็นอันขาด” ...
จวกนักกม.มหาชน ใช้ตรรกะที่วิปริต วิปลาส
กระบวนการยกร่างรธน.ทั้งฉบับ เป็นการตัดสินใจทางการเมือง ฉะนั้นผมเข้าใจว่า ประธานรัฐสภาก็ดี สมาชิกผู้เสนอร่างก็ดี ได้ตัดสินใจทางการเมืองครั้งหนึ่งที่จะไม่นำเรื่องนี้ มาพิจารณาในวาระที่ 3 จนนำมาสู่การขอแก้ช่องทางที่จะไปร้องศาลรธน.เสียก่อน คือ แก้มาตรา 68
ผมเห็นสอดคล้องกับนักกฎหมายจำนวนมาก ที่บอกว่า รัฐสภามีอำนาจแก้ไขรธน.ได้ ถ้าเป็นการแก้ไขในเรื่องที่ไม่สอดคล้องกับสภาพความจำเป็นของสังคม ในเรื่องบ้านเมืองจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงไป เราจะผูกพันกับรธน.ที่ร่างมาเมื่อ 10 20 50 ปี 200 ปีก่อนคงไม่ได้
ส่วนแก้รายมาตรา หรือมาตรา 68 ผมคิดว่า รัฐสภามีอำนาจดำเนินการ...
เพียงแต่ว่า ท่าทีของสมาชิกรัฐสภา 300 กว่าคนและประธานรัฐสภา นักกฎหมาย อาจารย์กฎหมายจำนวนมาก ที่ออกมาพูดให้ความเห็นต่อสังคม ไปในทิศทางเดียวกันว่า ศาลรธน.ไม่มีอำนาจรับเรื่องพิจารณาแก้รธน. และไม่ควรมายุ่งกับอำนาจในการพิจารณาแก้ไขรธน.ของรัฐสภา พร้อมกับปฎิเสธไปชี้แจงให้ข้อมูลกับศาลนั้น
“ผมเข้าใจว่า ท่าทีที่แปลกประหลาด เป็นการใช้ตรรกะทางกฎหมายที่วิปริต วิปลาส พอสมควร การที่ท่านเสนอแก้ไขมาตรา 68 ตัดอำนาจศาลรธน.รับเรื่อง ต้องผ่านอัยการสูงสุดเท่านั้น ไม่ให้ศาลรธน.มีอำนาจโดยตรง ข้อเสนอนี้ เป็นข้อเสนอรับอยู่ในตัว แน่นอน ตรรกะของสมาชิกรัฐสภา ก็เป็นตรรกะของสมาชิกรัฐสภา แต่การที่มีนักกฎหมายจำนวนมาก โดยเฉพาะนักกฎหมายมหาชนสนับสนุนตรรกะเช่นนี้ เป็นการใช้ตรรกะทางกฎหมายที่ผิดพลาด วิปริต แปลกประหลาด”
หากเป็นเรื่องที่ ส.ส.ปกติทำ ผมก็เข้าใจได้ แต่ถ้าเป็นนักกฎหมายคิดว่ามีอะไรผิดปกติพอสมควรในการทำความเข้าใจ
ดิ้นรนแก้รธน. อะไรอยู่เบื้องหลัง
ถามกันทุกวันนี้เราพยายามดิ้นรนแก้ไขรธน.2550 หลายครั้งแล้ว สำคัญกว่าเรื่องจำนำข้าว น้ำ ปัญหาศก.ของประเทศ สำคัญกว่าทุกเรื่อง ตั้งแต่เริ่มต้น
คำอธิบายอะไรอยู่เบื้องหลังการของแก้ไขรธน.
“ผมคิดว่า สังคมไทยได้ยินมากพอๆ กับที่ผมได้ยินว่า การแก้ไขรธน.เป็นไปเพื่อให้เกิดประชาธิปไตย อย่างแท้จริงในสังคมไทย ล้มล้างมรดกของคณะรัฐประหาร ทำให้ประเทศไทยมีการปกครองโดยประชาชนอย่างแท้จริง ทำให้เราเป็นนิติรัฐ เคารพหลักนิติธรรม ให้อำนาจการปกครองเป็นของประชาชนที่มาจากการเลือกตั้ง จากประชาชนมอบให้บุคคลที่ได้รับการเลือกตั้งไปทำหน้าที่เป็นผู้ปกครองโดยไม่มีใครมาแทรกแซง ”
ทั้งหมดเราอธิบายว่า เป็นประชาธิปไตย คือนิติรัฐ คือนิติธรรม เพราะฉะนั้น ต้องแก้รธน.
คำถามที่อยากจะถาม คำอธิบายที่ฟังดูดีมีเหตุผล สอดคล้องกับตรรกะ ปรัชญาทางกฎหมาย ถูกต้องแท้จริงหรือไม่ ?
หากเราเชื่อในหลักการพื้นฐานของประชาธิปไตย หลักที่บอกว่า ประชาชนเป็นเจ้าของอธิปไตย ประชาชนเลือกผู้แทนไปสภา สภาตั้งรัฐบาล รัฐบาลบริหารประเทศตอบสนองประโยชน์ของประชาชน รับผิดชอบประชาชนโดยตรง ไม่มีใครมีอำนาจมาก้าวก่าย มาแทรกแซงรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นทหาร สถาบันเหนือทหาร บุคคลอื่นใด รัฐบาลคือตัวแทนประชาชนอย่างแท้จริง
หรือหลักการพื้นฐานประชาธิปไตยสมัยใหม่ พูดถึงความโปร่งใส พูดเรื่องความรับผิดชอบ การตรวจสอบได้ของผู้มีอำนาจ คนที่จะมีอำนาจรัฐต้องดำเนินการเพื่อประโยชน์ของประชาชน หากมีการผิดพลาด ทุจริต ประพฤติมิชอบ ต้องถูกตรวจสอบโดยประชาชน เอาออกจากตำแหน่งโดยสมาชิกรัฐสภา
หากเราเชื่อภายใต้หลักการนี้ รัฐไทยต้องปกครองโดยกฎหมาย กฎหมายต้องเป็นไปตามครรลองครองธรรม กฎหมายจะต้องไม่เลือกปฏิบัติใช้บังคับกับทุกคนอย่างเสมอกัน ถ้าเราเชื่อตามหลักการพื้นฐาน ที่เราทั้งหลายที่เป็นนักกฎหมายได้ยิน ถูกสอนมาเช่นนี้ว่า เราเป็นนิติรัฐ ผู้ปกครองต้องยึดถือเคร่งครัดหลักการปกครองโดยกฎหมาย รัฐบาลจะต้องรับผิดชอบโดยตรงกับประชาชน ไม่มีใครก้าวก่าย แทรกแซงได้
ถามสังคมจะอธิบายปราฏการณ์ นี้อย่างไร
หากเราเชื่อเช่นนั้น ผมถามว่า เราจะอธิบายปรากฎการณ์ต่อไปนี้ อย่างไร เป็นปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมไทยทั้งสิ้น
เรื่องที่ 1.
“หลายเดือนมานี้ มีผู้คนจำนวนมากไปชุมชนที่หน้าศาลรธน.ไม่ได้แสดงความไม่เห็นด้วย แต่ไปบีบบังคับให้ศาลเลิกพิจารณาคดี ประกาศรายชื่อ ประกาศเบอร์โทรศัพท์ เลขที่บ้าน แล้วเดินขบวนไปกดดันตามที่ต่างๆ บอกให้สำนักงบประมาณ เลิกจ่ายเงินเดือนตุลาการศาลรธน.อย่างนี้ มีผลต่อการปฏิบัติหน้าที่โดยตรงขององค์กรตุลาการ...
รัฐบาลและผู้รักษาการตามกฎหมาย บอกเป็นสิทธิเสรีภาพ สามารถทำได้ ผมจำได้เมื่อปีที่แล้ว มีผู้คนจำนวนหนึ่งเรียกร้อง ชุมนุมที่ลานพระบรมรูปฯ เพื่อต่อต้านรัฐบาล รัฐบาลประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน มีการใช้แก๊สน้ำตา ใช้อาวุธ ผู้ชุมนุมถูกดำเนินคดีอาญาจนกระทั่งปัจจุบัน เราอาจไม่ได้มีมาตรฐานเดียวกับการใช้บังคับกฎหมายในประเทศนี้”
เรื่องที่ 2
เป็นที่รู้กันเปิดเผย กว้างขวางทั้งประเทศไทย ในรัฐบาลชุดนี้ ว่า การแต่งตั้งโยกย้าย การกำหนดผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี การดำรงตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงในภาครัฐทั้งหลาย คุณทักษิณเป็นผู้สั่งการ กำหนดตัวบุคคล เป็นคนแต่งตั้ง ปลด เปลี่ยนแปลงรัฐมนตรี อาจรวมถึงนายกรัฐมนตรีด้วย และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ อธิบดี ผู้ว่าราชการ ตำรวจ ผู้กำกับ...
“ ไม่มีใครในประเทศไทยที่ไม่เชื่อเช่นนั้น นอกจากคนหูบอด ตาบอด ไปพร้อมๆ กัน อาจจะมี นพดล (ปัทมะ) ที่เชื่อว่าไม่ได้เป็นเช่นนั้น คุณทักษิณไม่ได้ทำอะไร หรือกรณี คุณเฉลิม ออกมาพูด ไปเป็นรมว.แรงงานก็เพราะว่า มีคนไปใส่ความกับคุณทักษิณ
เรื่องเหล่านี้ รู้กันทั้งประเทศ มีแต่คนหูหนวกตาบอดเท่านั้นที่ไม่รู้ เพราะไม่เห็น และไม่ได้ยิน ว่าในประเทศนี้ไม่มีใครเป็นอะไรได้ ถ้าคุณทักษิณไม่เห็นชอบก่อน
คุณทักษิณ แต่งตั้งผู้คนเข้ามาดำรงตำแหน่ง ให้ความเห็นชอบในการเข้าสู่อำนาจรัฐ โดยที่คุณทักษิณไม่ต้องรับผิดชอบทางการเมืองใดๆ ไม่ต้องรับสมัครเลือกตั้ง ไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน ไม่ต้องชี้แจงญัตติไม่ไว้วางใจต่อรัฐสภา ไม่ต้องรับผิดชอบต่อศาลปกครอง ไม่ต้องรับผิดชอบในทางอาญาใดๆ ไม่อยู่ในวิสัยที่ต้องถูกถอดถอนใดๆ ทั้งสิ้น
ทำอะไรได้ทุกอย่างจนกระทั่งถึงขนาดให้ส.ส. ลาออก เพื่อลงรับสมัครเป็น ส.ส.ใหม่ ก็ทำได้มาแล้ว”
อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด แต่เพียงผู้เดียวโดยไม่ต้องรับผิดชอบ อย่างนี้ เรากำลังอธิบายว่า ประเทศไทยเป็นนิติรัฐ มีการปกครองโดยกฎหมาย เรากำลังบอกประเทศมีการปกครองโดยกฎหมาย คนมีอำนาจต้องรับผิดชอบ
ผมเรียนว่า ทฤษฎีการเมืองการปกครองที่ศาสตราจารย์ ไพโรจน์ ชัยนาม สอนผม คนที่จะมีอำนาจแบบนี้ มีได้แต่เฉพาะพระมหากษัตริย์ ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เท่านั้น แล้วเราก็ยังเชื่อว่า เรามีรัฐบาลที่รับผิดชอบต่อประชาชน ปกครองประเทศ
เราก็สะกดจิตตัวเองให้เชื่อในสิ่งที่ตัวเองพร่ำพูดเช่นนั้นมาโดยตลอดว่า เรามีการปกครองโดยกฎหมาย รัฐบาลรับผิดชอบต่อ ประชาชน สภาอยู่ภายใต้อำนาจควบคุมตรวจสอบโดยประชาชน ทั้งหมดคนในประเทศนี้รู้ คนทั้งแผ่นดินรู้กันหมด ว่า ล้วนแต่เป็นคุณทักษิณทั้งสิ้น
เราพูดและเรียกร้องกันเรื่องนิติรัฐ ความเสมอภาคของคนทุกคน เราทุกคนอยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกัน นักกฎหมาย รัฐบาล รัฐมนตรี ก็ยอมให้คุณทักษิณ เป็นข้อยกเว้น !!
“คุณทักษิณถูกศาลฎีกาพิพากษาจำคุก ก่อนหลบหนีออกนอกประเทศ มีหมายจับคดีอาญาเกือบสิบใบ แต่ก็บินไปบินมา ถือพาสปอร์ตสีแดง ที่กระทรวงต่างประเทศออกให้ในฐานะนักการทูต...ทุกวันนี้รองนายกฯ พงศ์เทพ ยังไม่สามารถชี้แจงกับผู้ตรวจการแผ่นดิน ทำไปชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
นี่คือการปกครองโดยกฎหมาย
ในทางกลับกันคุณทักษิณประกาศศาลของไทย เป็นศาลมิกกี้เมาส์ เป็นหุ่นเชิด ไม่เคยรับอำนาจศาลไทย แต่ทุกครั้งใครวิพากษ์วิจารณ์ คุณทักษิณตั้งทนายมาฟ้องคดีหมิ่นประมาทอาศัยอำนาจของศาลไทย และระบบศาลของเราก็ยอมรับด้วย”
อันนี้หรือเปล่าที่เราเรียกว่า รัฐที่ปกครองโดยกฎหมาย ระบบศาลที่จะดูแลคุ้มครองเสรีภาพของคนอย่างเท่าเทียมกัน ทักษิณ ลอยตัว ไม่ต้องรับผิดชอบใดๆ
ผมถามท่านทั้งหลายต่อไปอีกว่า
ปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมไทยไทยทุกวันนี้ เป็นเรื่องที่เราไม่ทราบ เราถูกหลอก หรือเราไม่เชื่อ ผมเชื่อว่า พวกเราถูกหลอกโดยนักกฎหมาย โดยผู้คนที่พยายามปกป้องทักษิณ รัฐบาลนี้ โดยจงใจหลีกเลี่ยงไม่พูดถึงเรื่องราวต่างๆ เหล่านี้
เลือกพูดเฉพาะบางเรื่อง...
“คุณทักษิณให้สัมภาษณ์กับนักข่าวต่างประเทศ ว่าเป็นผู้กำหนดนโยบายของรัฐบาลนี้เอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการจำนำข้าว กู้เงิน 3.5 แสนล้านบาทแก้ปัญหาน้ำ รวมทั้งการให้เค-เวอร์เตอร์เข้ามาจัดการน้ำ ด้วย การกู้เงิน 2.2 ล้านล้านมาทำโครงสร้างพื้นฐานของประเทศนี้ หรือการเจรจากับกลุ่มก่อความไม่สงบ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ทักษิณเปิดทาง
หลายนโยบายล้มเหลว ผิดพลาด หรือส่อเกิดการทุจริต รัฐมนตรีหลายคนตกเป็นจำเลยทางการเมือง ทางสังคม ถูกกล่าวหา หลายคนออกจากตำแหน่ง หลายคนต้องตอบสื่อมวลชนอย่างยากลำบาก คุณทักษิณไม่เคยต้องรับผิดชอบใดๆ ทั้งสิ้น ไม่ต้องรับผิดชอบทั้งทางการเมือง กฎหมาย สังคม"
เวิลด์ เอ็กซ์โป ใครรับผิดชอบ
กรณีล่าสุด ถามว่า นี่เป็นการปกครองโดยกฎหมาย เป็นความรับผิดชอบจริงหรือ
เมื่อ 2 ปีที่แล้ว ไทยเป็นเจ้าภาพเสนอตัวจัดการจัดงานเวิลด์ เอ็กซ์โป 2020 หลังผ่านกระบวนการยาวนาน เราคัดเลือก ลงทุนมากมาย ส่งอยุธยาไปแข่ง ผ่านมติครม.ใช้เงินหลายสิบล้านบาทในการเตรียมการ ปลายปีที่แล้วคุณทักษิณบอกไม่เห็นมีประโยชน์ที่ไทยจะไปเสนอตัวเป็นเจ้าภาพ คิดอะไรเกินตัว ซึ่งดูเหมือนเป็นความเห็นที่สุจริต หากเราไม่ทราบว่า ในประเทศเอเชีย มี 2 ประเทศ คือไทย กับดูไบ เท่านั้นที่เสนอตัว
1 เมษายน 2556 รัฐบาลไทยไม่ส่งหนังสือแสดงการยืนยันเป็นเจ้าภาพกลับไปยังคณะกรรมการ หมายความว่า มีดูไบ เป็นแคนดิเดต แล้วดูไบ คืออะไร ขณะที่รัฐบาลก็ไม่มีใครออกมาแถลงว่า เกิดอะไรขึ้น การใช้เงินไปหลายสิบล้านบาท ความยุ่งยากทั้งหลาย ชื่อเสียงของประเทศไทย ปล่อยให้ผ่านไปเฉยๆ เหมือนกับหลายเรื่อง ที่ไม่มีใครติดใจ มีคนเบี่ยงเบนประเด็น
เราเชื่อว่า เราจะไปสู่นิติรัฐได้ หากมีการแก้รธน. เราจะปกครองโดยกฎหมายหากมีการยกร่างรธน. เรากำลังหลอกตัวเอง ผู้คน หลอกนักกฎหมาย
อาจารย์นิติศาสตร์หลายท่าน พยายามพูดเรื่องหลักนิติรัฐ นิติธรรม หลักการปกครองที่ประชาชนเป็นใหญ่ แต่ไม่พูดเรื่องพวกนี้เลย ไม่เคยตั้งคำถาม ว่า การรับจำนำข้าวทุกเมล็ดของรัฐบาล เป็นการทำลายตลาดข้าวของประเทศ เป็นการเข้าไปค้าขายโดยตรง ขัดรธน.ที่ว่าด้วยหลักเสรีนิยมทางเศรษฐกิจ ทำลายอาชีพของผู้คน ละเมิดหลักเสรีนิยม
“ไม่เคยตั้งคำถามรัฐบาลเอาเงิน 7 พันล้านไปตั้งร้านถูกใจ สนับสนุนประชาชน หายไปหมดแล้ว นี่คือการแทรกแซงตลาดเสรี ผมไม่เห็นนักกฎหมายมหาชน ออกมาพูดเลยว่า ทำไม่ได้”
หรือแม้แต่ดีเอสไอ ตั้งขอหานายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกฯ บอกว่า ในฐานะนายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพ บังอาจไปสั่งให้ทหาร ออกมาฆ่าประชาชน 91 ศพ ในฐานะนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพ ไม่ใช่ฐานะนายกฯ ฉะนั้น ดีเอสไอจึงมีอำนาจสอบสวน และตั้งข้อกล่าวหาในฐานะคนธรรมดา แทนที่จะส่งให้ ป.ป.ช.เหมือนกรณีอดีตนายกฯ สมชาย วงศ์สวัสดิ์ คดีล้อมรัฐสภา ป.ป.ช.ไต่สวนและระบุว่า นายกฯ สมชาย ไม่ได้ทำอะไรผิด
“การใช้อำนาจนายกฯ สั่งทหาร ตำรวจทำหน้าที่ เป็นการใช้อำนาจเจ้าหน้าที่ของรัฐ ดังนั้นอยู่ในอำนาจสอบสวนของ ป.ป.ช.เท่านั้น มีคดีที่เป็นบรรทัดฐานแล้ว แต่นักกฎหมายอาญาก็ไม่สนใจ ปล่อยให้ ธาริต เพ็งดิษฐ์ ทำงานไปเรื่อยโดยไม่สนใจกฎหมายเขียนว่าอย่างไร ทั้งๆ นักกฎหมายทุกคนรู้ ดีเอสไอ ไม่มีอำนาจสอบสวน ส่งศาลเมื่อไหร่ก็ยกเมื่อนั้น เราปล่อยให้เขาดำเนินงานมาตลอด
ผมไม่ได้พูดว่า ใครผิดใครถูก แต่กำลังพูดว่า เราปล่อยให้มีการบิดเบือนทางกฎหมายเกิดขึ้นในสังคมไทย และเราก็เฉยๆ กับมัน”
สุดท้าย ศ.ดร.สุรพล กล่าวด้วยว่า เราเลือกพูดเรื่องนิติรัฐ นิติธรรม พูดเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ พูดเรื่องศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งไม่ค่อยมีทางสู้ ไม่ค่อยมีโอกาสจะสู้ แต่เราเลือกที่จะไม่พูดกับเรื่องบางเรื่องที่เห็นตำตา ...
“ในสถานการณ์ที่นักการเมืองของเรา รัฐบาลของเราเป็นคนรับใช้ เป็นคนทำตามทักษิณบอก ระบบการตรวจสอบถูกทำลายไปหมดแล้ว สถาบันการเมือง ราชการประจำ ระบบการสอบสวน อำนาจตำรวจ อำนาจฝ่ายการเมืองอยู่ในกำมือทักษิณหมดแล้ว ผมเห็นแต่รัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ และศาล ที่ยังพอคานอำนาจทักษิณได้บ้าง”