สบอช. เชื่อมือ เค วอเตอร์ บริหารจัดการน้ำ ยันสถานทูตเกาหลี การันตีคุณสมบัติแล้ว
'สุพจน์ โตวิจักษณ์ชัยกุล' แถลงยันประมูลน้ำโปร่งใส ตรงไปตรงมา ไม่มีเอื้อประโยชน์ ไร้การเมืองเอี่ยว ขู่ฟ้องผู้กล่าวหาเลื่อนลอย แบบไร้หลักฐาน-ข้อเท็จจริง
วันที่ 27 มิถุนายน สำนักข่าวไทย รายงานว่า นายสุพจน์ โตวิจักษณ์ชัยกุล เลขาธิการสำนักงานนโยบายและบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ (สบอช.) แถลงถึงกรณีที่สมาพันธ์สิ่งแวดล้อมเกาหลีใต้ระบุว่า บริษัท เค วอเตอร์ ซึ่งเป็นบริษัทเข้าร่วมประมูลโครงการบริหารจัดการน้ำของประเทศไทย มูลค่ากว่า 163,000 ล้านบาท แต่มีหนี้สินกว่า 700% และไม่มีศักยภาพในการบริหารจัดการว่า ไม่เป็นความจริง คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) ได้ตรวจสอบคุณสมบัติตามระเบียบอย่างครบถ้วน บริษัท เค วอเตอร์ ที่เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจของรัฐบาลเกาหลี ที่รัฐบาลถือหุ้น 100%
นายสุพจน์ กล่าวว่า ในการประมูล บริษัท เค วอเตอร์ ได้ยื่นผลดำเนินการ ช่วงปี 2545 - 2555 มีมูลค่าสูงถึง 680,000 ล้านบาท ซึ่งมีมูลค่ามากกว่าเงื่อนไขที่ไทยกำหนด คือไม่น้อยกว่า 30,000 ล้านบาท และสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเกาหลี ประจำประเทศไทย ได้รับรองคุณสมบัติ เค วอเตอร์ ตามทีโออาร์ของไทยทุกประการ นอกจากนี้ สถาบันจัดอันดับนานาชาติ มูดส์ดี้ และเอสแอนด์พี ได้จัดอันดับ เค วอเตอร์ อยู่อันดับ A
"การประมูลครั้งนี้ กบอ. ดำเนินการอย่างตรงไปตรงมา ไม่มีการเอื้อประโยชน์ และไม่มีการเมืองเข้าเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะที่มีการระบุว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร มีความสนิทสนมกับผู้บริหาร เค วอเตอร์ และว่า หากมีการกล่าวหาการทำงาน กบอ. แบบไม่มีข้อเท็จจริงและหลักฐาน ฝ่ายกฎหมายของ กบอ. พิจารณาดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมาย"
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ นายมณฑล ภาณุโภคิน กรรมการผู้จัดการ บริษัท เควอเตอร์ ออกมาชี้แจงว่า บริษัท เควอเตอร์ เป็นรัฐวิสาหกิจที่เชื่อถือได้ มีรัฐบาลเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่จึงมีสถานะทางการเงินมั่นคงได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลและเป็นผู้ค้ำประกันเงินกู้ที่นำมาใช้ดำเนินโครงการต่าง ๆ ในเกาหลี การดำเนินโครงการก่อสร้างต่าง ๆ เป็นไปเพื่อพัฒนาประเทศและพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนไม่ได้มุ่งแสวงหากำไร ก่อนเสนอกรอบแนวคิด
"ทางบริษัทได้รายงานสถานะทางการเงินให้คณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกชุดที่มีปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นประธานแล้ว และขณะนี้ได้ทำหนังสือไปถึงสำนักงานใหญ่ ขอรายละเอียดตัวเลขทางการเงินและให้รัฐบาลเกาหลีเซ็นต์รับรอง เพื่อนำมาเปิดเผยให้คนไทยสบายใจว่า มีสถานะทางการเงินมั่นคง ไม่ทิ้งงานแน่นอน เพราะกระทบความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับเกาหลีใต้ด้วย"
ส่วนโครงการพัฒนาแม่น้ำ 4 สาย และโครงการทำ Flood Way คลองคังยิน ที่ถูกกล่าวหาว่าไม่มีการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม จนทำให้ระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมเสียหายนั้น นายมณฑล กล่าวว่า ไม่เป็นความจริง แบ่งเป็น โครงการแม่น้ำ 4 สาย เป็นโครงการของรัฐมีข้อกำหนดให้ศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ทั้ง EIA และ EHIA ก่อนลงมือก่อสร้างได้ ก่อนเริ่มโครงการ มีประชาชนกว่า 70 คน ออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านจริง แต่เมื่อมีการพูดคุยทำความเข้าใจและเริ่มลงมือก่อสร้าง จนเกิดฝนตกและน้ำท่วมใหญ่ในรอบ 100 ปีในกรุงโซล และเมืองสำคัญอีกหลายเมือง ซึ่งรัฐบาลสามารถจำกัดขอบเขตความเสียหายและทำให้น้ำลดลงจนกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้ใน 48 ชั่วโมง ทำให้ประชาชนยอมรับโครงการดังกล่าว
สำหรับข้อกล่าวหาว่า บริษัท เค-วอเตอร์ ไม่มีประสบการณ์ทำโครงการขนาดใหญ่ กรรมการผู้จัดการ บริษัทเควอเตอร์ กล่าวอีกว่า ไม่เป็นความจริง เพราะโครงการพัฒนาแม่น้ำ 4 สาย มีเงินลงทุนกว่า 600,000 ล้านบาท ทั้งอ่างเก็บน้ำ เขื่อน แก้มลิง ช่วยเหลือภาคการเกษตรและการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบและชนะประมูลโครงการก่อสร้างเขื่อนในลาว วางระบบประปาในอินโดนีเซีย เมียนมาร์ และจีนในบางมณฑล เรื่องการถูกองค์กรอิสระตรวจสอบมีผลออกมาเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมาแล้วว่า โครงสร้างของโครงการพัฒนาแม่น้ำ 4 สาย มีความมั่นคงปลอดภัย
"แผนงาน(โมดูล) A3 และ A5 ที่ได้ดำเนินโครงการเมื่อมีเซ็นต์สัญญาจะเริ่มลงพื้นที่ศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ทั้ง EIA และ EHIA รวมถึง การทำประชาพิจารณ์ทันทีใช้เวลาประมาณ 1 - 2 ปี หากผ่านเรียบร้อยจะลงมือก่อสร้าง กรณีไม่ผ่านทุกอย่างจะยุติ แบ่งเป็น พื้นที่แก้มลิงของแผนงาน(โมดูล) A3 จะใช้พื้นที่เขลชลประทานเดิม , Flood Way ต้องศึกษาใหม่ทั้งหมด มีหลักคิดคือเป็นเส้นทางระบายน้ำฉุกเฉินเมื่อมีน้ำจากต้นทางมามากจะผันน้ำจากแม่น้ำปิงเข้ามา Flood Way แล้วเก็บน้ำส่วน 1 ไว้ใช้สำหรับภาคการเกษตรช่วงหน้าแล้ง"
ทั้งนี้ นายมณฑล กล่าวด้วยว่า หลังเซ็นต์สัญญาจะเปิดเผยรายละเอียดแผนงานทันทีว่าจะลงมือก่อสร้างจุดใดบ้าง มีแผนงานอย่างไร และต้องเวนคืนพื้นที่ใดบ้าง ดังนั้น หากภาคประชาชน หรือ ภาควิชาการมีข้อสงสัย ขอให้สอบถาม หรือเสนอแนะ มาที่ บริษัท เค-วอเตอร์ โดยตรง เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลความคิดเห็นร่วมกัน แต่ขณะนี้ยังไม่สามารถพูดในรายละเอียดไม่ได้มาก เนื่องจากยังไม่มีการเซ็นต์สัญญาฯ
ภาพพ.ต.ท.ทักษิณ เดินทางเยี่ยมชม บริษัทเควอเตอร์ ที่เผยแพร่ และถูกส่งต่อในโซเชี่ยวมีเดีย โดยต้นฉบับ http://blog.naver.com/PostView.nhn?blogId=dragon48&logNo=120145873374
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:NGO เกาหลีใต้ แฉ “เค-วอเตอร์” หนี้ท่วมหมื่นล้าน เชื่อทำฟลัดเวย์ในไทยไม่สำเร็จ