ไม่จำเป็นต้องปฏิเสธบีอาร์เอ็นทุกข้อ
ผมคิดว่ารัฐบาลออกตัวแรงไปนิดกับเงื่อนไขใหม่ 7-8 ข้อ และข้อเรียกร้องเดิม 5 ข้อของบีอาร์เอ็นกลุ่มนายฮัสซัน ตอยิบ ถึงขนาดให้รัฐมนตรีกลาโหมออกมาแถลงอย่างเป็นเรื่องเป็นราวและแข็งกร้าวว่า "ไม่รับทุกข้อ"
นอกจากออกตัวแรงแล้ว ยังแสดงท่าทีเร็วเกินไป เพราะถ้านำเงื่อนไขและข้อเรียกร้องของบีอาร์เอ็นมาจาระไนเป็นรายข้อแบบไม่มีอคติ ก็จะพบว่ามีหลายข้อที่น่าทำ ทำได้ และบางข้อก็ได้ทำไปแล้ว
ฉะนั้นเรื่องการพูดคุยเจรจาจึงยังไม่ควรเป็น "ทางออกที่ถูกปิด" อย่างสิ้นเชิง
เบื้องต้น หน่วยงานหลักที่รับผิดชอบเรื่องพูดคุยสันติภาพอย่างสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) และศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) น่าจะไปสอบถามความเห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อนว่าคิดอย่างไร เพราะจากที่ผมได้พูดคุยกับคนในหน่วยงานความมั่นคงหลายๆ คน แม้แต่ผู้ปฏิบัติในพื้นที่เอง เขาก็ไม่ได้แสดงอารมณ์ปึงปังหรือสะใจที่จะปฏิเสธเงื่อนไขและข้อเรียกร้องอย่างสิ้นเชิงเหมือนที่รัฐบาลทำ
อย่างที่บอก...หลายข้อทำได้ บางข้อทำไปแล้ว และบางข้อก็น่าทำ
เริ่มจากข้อที่ทำได้และได้ทำไปแล้ว เช่น ถอนทหารหลักจากกองทัพภาคที่ 1, 2, 3 รวมทั้งตำรวจจากส่วนกลางออกจากพื้นที่ ในส่วนของตำรวจแม้ไม่ชัดเจนนัก แต่ในส่วนของทหาร ทางกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) มีแผนถอนทหารจากภาคอื่นออกจากพื้นที่ชัดเจน โดยตามแผนจริงๆ น่าจะถอนกำลังทั้งหมดได้ในช่วงกลางปีนี้ แต่ติดปัญหาที่ยังผลิตตำรวจหน่วยปฏิบัติการพิเศษ 38 หมวดเข้าไปเสริมแทนไม่ทัน
อย่างไรก็ดี ทหารจากภาคอื่นในปัจจุบันก็เหลือเพียงไม่กี่กองพันแล้ว...
ข้อมูลและแผนงานเหล่านี้ บางทีฝ่ายความมั่นคงประชาสัมพันธ์น้อยไป ชาวบ้านอาจไม่ทราบ และบีอาร์เอ็นก็อาจไม่ทราบด้วยเหมือนกัน
อีกข้อที่ทำได้และได้ทำไปบ้างแล้ว ก็คือการให้ อส. (อาสารักษาดินแดน) ที่เป็นมุสลิมไม่ต้องประจำการในช่วงเดือนรอมฎอน ข้อนี้แม้จะไม่สมบูรณ์ตามข้อเรียกร้องของบีอาร์เอ็น แต่ที่ผ่านมาก็ทราบกันดีว่าฝ่ายความมั่นคงอนุญาตให้กำลังพลที่เป็นมุสลิม ไม่ว่าจะทหารหลัก ทหารพราน อส. ลาพักเพื่อไปปฏิบัติศาสนกิจได้ ถึงจะไม่ถึงกับทั้งเดือนก็ตาม
แต่ที่เปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่น่าพอใจมากที่สุดคือการกำหนดให้ "วันฮารีรายอ" เป็นวันหยุดราชการ ซึ่งมีผลทางกฎหมายไปแล้วจากการผลักดันของ ศอ.บต.ยุคนี้
เช่นเดียวกับการลดมาตรการปิดล้อม ตรวจค้น จับกุม และตั้งด่านช่วงเดือนรอมฎอน กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ก็ทำมาตลอด ภายใต้หลักการอำนวยความสะดวกให้ประชาชนไปปฏิบัติศาสนกิจอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะช่วง 10 วันสุดท้ายของเดือนรอมฎอน (ทำเอียะติกาฟที่มัสยิด) เพียงแต่ไม่ได้มีนโยบายชัดเจนว่าต้องงดการปิดล้อม ตรวจค้น จับกุมอย่างสิ้นเชิง
ส่วนข้อที่น่าทำ หนีไม่พ้นการห้ามขายสุราและของมึนเมา รวมทั้งห้ามเปิดสถานบันเทิงและแหล่งอบายมุขต่างๆ เงื่อนไขข้อนี้ของบีอาร์เอ็นทราบว่าจะได้รับแรงสนับสนุนจากคนในพื้นที่อย่างมาก เพราะเรียกร้องมาเนิ่นนานแล้ว ฉะนั้นรัฐบาลจึงน่าหยิบมาทำ แม้จะทำไม่ได้ทันที เพราะแต่ละเมืองแต่ละอำเภอก็มีสถานที่อโคจรกระจายอยู่ทั่วไป แต่รัฐบาลสามารถแสดงความจริงใจได้ด้วยการริเริ่มมาตรการ "โซนนิ่ง" หรืออาจก้าวไปถึง "เขตพิเศษทางวัฒนธรรม" ซึ่งจะได้ประโยชน์ในแง่ของการท่องเที่ยวด้วย
จะเห็นได้ว่าเงื่อนไขใหม่ของบีอาร์เอ็น รัฐบาลไม่จำเป็นต้องปฏิเสธอย่างสิ้นเชิง รวมไปถึงข้อเรียกร้องเดิม 5 ข้อด้วย เพราะบางข้อในทางปฏิบัติก็เกือบจะเป็นอย่างนั้นอยู่แล้ว เช่น การเสนอให้มาเลเซียเป็น "คนกลาง" ในการเจรจา เป็นต้น
ผมคิดว่าการไม่เร่งรีบปฏิเสธบีอาร์เอ็น แล้วเลือกเดินหน้าทำบางเรื่องดังที่กล่าวแล้ว จะสามารถ "ได้ใจ" ประชาชนคนพื้นที่มากกว่า โดยรัฐบาลก็ไม่ต้องกลัวเสียหน้าว่าเป็นการทำตามข้อเสนอบีอาร์เอ็น เพราะรัฐบาลมุ่งทำเพื่อความสุขของประชาชน การปฏิเสธทั้งหมดคล้าย "ติเรือทั้งโกลน" ต่างหากที่ที่จะยิ่งเสียมวลชน เนื่องจากบีอาร์เอ็นฉลาด ซ่อนเงื่อนไขและข้อเรียกร้องที่ตรงกับความต้องการของคนในพื้นที่เอาไว้อย่างแนบเนียนภายใต้ข้อเรียกร้องแรงๆ ที่รัฐบาลไทยรับไม่ได้แน่ๆ เมื่อรัฐบาลไทยไม่รับ คนพื้นที่ก็จะมองว่ารัฐบาลไม่ได้ทำอะไรเพื่อประชาชน แต่บีอาร์เอ็นต่างหากที่พยายามเสนอข้อเรียกร้องเพื่อประชาชน
จุดนี้จึงเป็นจังหวะก้าวที่รัฐบาลต้องระมัดระวังอย่างยิ่ง
และอย่าไปคิดว่าการหยิบเอาข้อเสนอบางเรื่องของบีอาร์เอ็นมาทำ สุดท้ายจะถูกกดดันให้ต้องทำทั้งหมด เพราะประชาชนเขารู้ว่าบางเรื่องมันทำไม่ได้จริงๆ เช่น การนำข้อเรียกร้อง 5 ข้อเดิมเข้าสภา ทั้งๆ ที่เป็นข้อเรียกร้องฝ่ายเดียว ยังไม่ได้เป็นความเห็นชอบร่วมกันของทั้งสองฝ่าย เงื่อนไขแบบนี้ใครๆ ก็รู้ว่าเป็นไปไม่ได้ และหากบีอาร์เอ็นยังดึงดัน ฝ่ายบีอาร์เอ็นนั่นแหละจะเสียมวลชนเอง รวมถึงข้อเรียกร้องประหลาดๆ ที่ห้ามรัฐบาลทำกิจกรรมเชิงสังคมในเดือนรอมฎอนด้วย
ผมสนับสนุนให้รัฐบาลไทยรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเลือกทำบางข้อตามที่กล่าวไว้ จากนั้นก็ส่งคำตอบกลับไปยังบีอาร์เอ็นตามกติกาที่ได้ตกลงร่วมกัน เท่านี้ฝ่ายรัฐบาลไทยก็น่าจะได้รุกกลับไปบ้างว่า ได้ทำไปหลายข้อแล้ว แต่ฝ่ายบีอาร์เอ็นล่ะได้ทำอะไรบ้างหรือยัง
สุดท้ายแรงกดดันจะย้อนกลับไปที่บีอาร์เอ็นว่า แค่ยุติก่อเหตุรุนแรงที่ก่อความสูญเสียให้กับชีวิตคน คุณต้องการอะไรมาแลกมากมายถึงเพียงนี้เชียวหรือ?
--------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : การตั้งจุดตรวจและด่านสกัดเพื่อรักษาความปลอดภัยในพื้นที่