NGO เกาหลีใต้ แฉ “เค-วอเตอร์” หนี้ท่วมหมื่นล้าน เชื่อทำฟลัดเวย์ในไทยไม่สำเร็จ
ผอ.สมาพันธ์สิ่งแวดล้อมเกาหลีใต้ เผย “บริษัท เค-วอเตอร์” มีฐานะการเงินฝืดเคือง หนี้ท่วมหมื่นล้าน แต่กลับได้ทำฟลัดเวย์-แก้มลิงในไทยงบ 1.6 แสนล้านบาท เผยถูก สตง.บ้านเกิดสอบ หลังมักทำงานก่อสร้างเกินงบ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างวันที่ 24-25 มิ.ย.2556 ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อมร่วมกับโครงการสื่อสารสุขภาวะชุมชนชายขอบ จัดกิจกรรมลงพื้นที่สำหรับสื่อมวลชนสำรวจพื้นที่โครงการจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาทของรัฐบาล ที่ จ.พิษณุโลกและนครสวรรค์
โดยมีการแลกเปลี่ยนความรู้และข้อมูลกับภาคประชาชนในพื้นที่ รวมถึงตัวแทนสื่อมวลชนจากประเทศเกาหลี ในประเด็นการบริหารจัดการน้ำ รวมถึงข้อมูลเกี่ยวกับบริษัท เค-วอเตอร์ บริษัทสัญชาติเกาหลีใต้ ผู้รับสัมปทานโครงการ รวมถึงกิจการร่วมค้าไอทีดี พาวเวอร์ไชน่า และเอกชนรายอื่นๆ
จากการลงพื้นที่บ้านชมภู อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก ซึ่งจะมีการก่อสร้างเขื่อนกั้นคลองชุมภูเพื่อทำอ่างเก็บน้ำ โดยเป็นส่วนหนึ่งภายใต้เงินกู้ 3.5 แสนล้านบาท ตามแผนป้องกันและแก้ปัญหาน้ำท่วมของรัฐบาล โดยมีกิจการร่วมค้า ไอทีดี พาวเวอร์ไชน่า เป็นผู้ประมูลโครงการได้โดยใช้งบประมาณการก่อสร้างประมาณ 1,955 ล้านบาท พบว่ามีการสร้างอ่างเก็บน้ำ ประมาณ 3,100 ไร่ และยังมีพื้นที่ที่ต้องเวนคืนเพื่อทำระบบชลประทาน และปลูกป่าชดเชยอีก 8,000 ไร่ โดยแม้ว่าพื้นที่ที่จะเป็นอ่างเก็บน้ำส่วนใหญ่จะอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช แต่ปรากฏว่าในทางปฏิบัติชาวบ้านที่อาศัยอยู่บริเวณใกล้เคียง จำนวน 625 ครัวเรือน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ชาวบ้านอาศัยมานานนับร้อยปี จะต้องออกจากพื้นที่ทั้งหมด ซึ่งขณะนี้ ชาวบ้านในพื้นที่ได้รวมตัวกันเพื่อที่จะคัดค้านการทำโครงดังกล่าว
ทั้งนี้ หลังเสร็จสิ้นการสำรวจป่า ชาวบ้านกว่า 200 คน ได้เดินทางมารวมตัวกันบริเวณศาลาวัดชมภูเพื่อให้ข้อมูลกับสื่อมวลชนเกี่ยวกับโครงการสร้างเขื่อนในพื้นที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน โดยทั้งหมดได้ลงความเห็นร่วมกันว่า จะไม่ยอมให้มีการสร้างเขื่อน เนื่องจากหมู่บ้านแห่งนี้อยู่กันมานานตั้งแต่รุ่นบรรพบุรุษ และทุกครอบครัวต่างก็มีความสุข แต่หากมีการสร้างเขื่อนจะทำให้ชาวบ้านไม่มีที่อยู่ แม้จะมีน้ำเพิ่มขึ้นแต่ก็ไม่มีที่ดินทำกินเหมือนปัจจุบัน ที่สำคัญคือไม่สามารถเข้าไปหาของป่าได้ดั่งเดิม
ขณะที่นายยัม ฮชองฮอล ผู้อำนวยการสมาพันธ์สิ่งแวดล้อมเกาหลี ซึ่งได้รับเชิญให้มาร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูลเกี่ยวกับการจัดการน้ำในประเทศเกาหลีโดยเฉพาะกรณีที่บริษัท เค-วอเตอร์ เป็นผู้ประมูลงานการทำทางผันน้ำหรือฟลัดเวย์ และจัดหาพื้นที่เพื่อทำแก้มลิง ภายใต้งบประมาณ ประมาณ 1.63 แสนล้านบาท กล่าวว่า ประเทศเกาหลีเป็นประเทศที่เล็กกว่าประเทศไทยมาก แต่มีเขื่อนเล็กเขื่อนน้อยมากมาย เพราะก่อนหน้านี้รัฐบาลเกาหลีอยากสร้างเขื่อนเร็วๆ ไม่ค่อยมีการปรึกษาประชาชนมากเท่าไรนัก แต่ในปัจจุบัน ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพและรับรู้ข้อมูลข่าวสารมากขึ้น ถ้าจะสร้างเขื่อนชาวบ้านจะรู้ข้อมูลก่อน ถ้าไม่เห็นด้วยก็จะมีการคัดค้านด้วยวิธีการต่างๆ ทันที เวลานี้รัฐบาลเกาหลีจึงสร้างเขื่อนยากมาก เพราะถ้าประชาชนรู้ก็จะลุกขึ้นค้านทันที
“คนเกาหลีจะรู้ว่าผลกระทบจากเขื่อนเป็นอย่างไร เพราะมีประสบการณ์ชัดเจนมากกว่า ที่ไหนมีเขื่อนที่นั่นชุมชนจะล่มสลาย และการที่เค-วอเตอร์ประเทศเกาหลีมาสร้างฟลัดเวย์ในประเทศไทย เพราะเวลานี้เกาหลีไม่มีที่สร้างเขื่อนแล้ว จึงต้องมาสร้างพื้นที่ฟลัดเวย์ในประเทศไทยแทน” นายฮชองฮอลกล่าว
ผู้อำนวยการสหพันธ์สิ่งแวดล้อมเกาหลีใต้ กล่าวอีกว่า กรณีที่เค-วอเตอร์ได้รับการประมูลในโมดูล A3 เชื่อว่าจะไม่มีความสามารถในการดำเนินการในประเทศไทย เพราะทราบมาว่า เค-วอเตอร์ไม่มีความมั่นคงทางการเงิน โดยสถานะทางการเงินของ เค-วอเตอร์ ในปี ค.ศ.2012 มีงบที่พร้อมสำหรับการลงทุนเพียง 3.4 แสนล้านวอน (ราว 9.1 พันล้านบาท) แต่มีหนี้สินสูงถึง 3.72 แสนล้านวอน (ราว 1 หมื่นล้านบาท) สถานการณ์ด้านการเงินตอนนี้เข้าขั้นกำลังแย่ โดยระหว่าง ปี 2005-2012 ในช่วงก่อสร้างเขื่อนรวมทั้งลำน้ำสาขาต่างๆ ในประเทศเกาหลีใต้ พบว่า เค-วอเตอร์มีหนี้สินเพิ่มถึง 458% ทำให้คนเกาหลีใต้มองว่า เค-วอเตอร์ไม่มีเสถียรภาพทางการเงินพอที่จะมาทำเรื่องการบริหารจัดการน้ำ
(สถานะทางการเงินของบริษัท เค-วอเตอร์ ที่นายยัม ฮชองฮอล นำมาแสดง แท่งสีดำคือหนี้สินของบริษัท ซึ่งจะได้เห็นว่าพุ่งสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดดในช่วงปีหลังๆ)
“ที่เค-วอเตอร์ยังดำรงอยู่ได้เนื่องจากมีเงินอุดหนุนจากรัฐบาลเกาหลีใต้ โดยการเกิดขึ้นของบอร์ดเค-วอเตอร์ในส่วนของซีอีโอมาจากการแต่งตั้งของประธานาธิบดี ซึ่งหมายถึงรัฐบาลจะต้องดูแลควบคุมการบริหารงาน” นายฮชองฮอลกล่าว
นายฮชองฮอล ยังกล่าวว่า ลูกค้าส่วนใหญ่ของเค-วอเตอร์มักเป็นจำพวกรัฐบาลท้องถิ่นตามหัวเมืองและจังหวัดของเกาหลีใต้ เพื่อให้เกิดการซื้อวัสดุและการบริหารการก่อสร้างสิ่งต่างๆ ภายในในเกาหลีใต้เอง ซึ่งที่ผ่านมาได้รับการต่อต้านจากชาวเกาหลีใต้ตลอด ตัวอย่างของการดำเนินงานที่ขาดประสิทธิภาพ อาทิ กรณีเขื่อนนัมกัง ที่เค-วอเตอร์เสนองบในการก่อสร้าง 254 พันล้านวอน (ราว 6.8 พันล้านบาท) แต่เมื่อสร้างเสร็จปรากฏว่า ใช้เงินไปทั้งหมด 867 พันล้านวอน (ราว 2.3 หมื่นล้านบาท) ในขณะที่กรณีก่อสร้างคลองกองงิน ซึ่งมีระยะทางแค่ 18 กม. กว้าง 100 ม. ลึก 6 ม. และเป็นเพียงโครงการเล็กๆ ที่เค-วอเตอร์สร้างเพื่อทำฟลัดเวย์ จากการตรวจสอบภายหลังกลับพบว่าฟลัดเวย์ดังกล่าวไม่ได้ใช้ประโยชน์เท่าที่ควร เนื่องจากยังมีน้ำท่วมในพื้นที่อื่นซึ่งไม่มีความสัมพันธ์กับฟลัดเวย์
“จากสถานการณ์ทางการเงินที่ไม่คงที่และปัญหาหนี้สินที่เกิดขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ขณะนี้เค-วอเตอร์กำลังถูกตรวจสอบจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ของเกาหลีใต้ ในเรื่องระบบการเงิน โดยเฉพาะกรณีการสร้างเขื่อน 16 แห่ง เพราะราคาก่อสร้างแล้วเสร็จบางส่วนสูงกว่าราคาที่เสนอ จึงสงสัยว่าการรับงานในประเทศไทยอาจมีปัญหาในลักษณะเดียวกันหรือไม่” นายฮชองฮอลกล่าว.