'สมชาย หอมลออ' จวกรัฐใส่ยาพิษสังคมไทย คุยโม้ เอาชนะยาเสพติด
เวที 10 ปี นโยบายบำบัดสิ่งเสพติด ผู้ใช้ยาไม่ลดลง เหตุรบ.ขาดความรู้ ชงทบทวนกม- สร้างภูมิคุ้มกัน ก.ยุติธรรม ยอมรับละเมิดสิทธินำบำบัดในเรือนจำ เล็งหาสถานที่ใหม่แทน
วันที่ 25 มิ.ย. 56 คณะอนุกรรมการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ มูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ จัดสัมมนา ‘10 ปี นโยบายบำบัดรักษายาเสพติดของประเทศไทย:แก้ไขหรือซ้ำเติม ส่งเสริมหรือละเมิดสิทธิ’ ณ โรงแรมกานต์มณีพาเลซ กรุงเทพฯ
นายวีระพันธ์ งามดี ตัวแทนภาคประชาสังคม กล่าวถึงงานบำบัดยาเสพติดในไทยตลอด 10 ปีที่ผ่านมาว่า สิ่งที่เห็นได้ชัดในเชิงนโยบาย คือ เปลี่ยนผู้เสพยาจากอาชญากรเป็นผู้ป่วย ซึ่งจะต้องเข้าสู่กระบวนการบำบัดในสถานพยาบาล อีกทั้งชุมชนต่างมีความตื่นตัวในการแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่มากขึ้น จนหลายแห่งตั้งเครือข่ายผู้ใช้ยาเสพติดร่วมขับเคลื่อน อย่างไรก็ดีมองว่าเหมาะสมหรือไม่ที่จะเดินตามทิศทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าว เพราะปี 2546 ไทยมีจำนวนผู้เสพยาหลักหมื่นคน แต่ 10 ปีผ่านไปการบำบัดดังกล่าวไม่ส่งผลให้ปริมาณลดลงเลย หากแต่เพิ่มขึ้นเป็น 1.2 ล้านคน
นอกจากนี้ปริมาณยาเสพติดก็มิได้ลดน้อยลงเหมือนที่คาดการณ์ไว้ ทั้งยังส่งผลให้ราคายาเสพติดในตลาดสูงขึ้น จนกลายเป็นผลประโยชน์มหาศาลแก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ที่สำคัญปัญหาด้านสุขภาพของผู้เสพยาจากการติดเชื้อเอชไอวี ไวรัสตับอักเสบซี และเข้าไม่ถึงบริการทางสุขภาพยังอยู่ในอัตราสูง
“ปีที่แล้วมีผู้เสพยาเข้ารับการบำบัด 500,000 คน จากเป้าหมายที่กำหนดไว้ 400,000 คน แต่เมื่อพ้นจากกระบวนดังกล่าวหลายคนกลับไม่สามารถเลิกเสพยาได้ ซึ่งเกิดจากสังคมยังไม่ให้โอกาสเหมือนที่พูดกัน จนสร้างความกดดันและทำให้กลับไปเสพยาใหม่” นายวีระพันธ์ กล่าว และว่า ขณะที่รัฐบาลก็ยังแก้ไขปัญหายาเสพติดบนพื้นฐานมายาคติมากกว่าหลักวิชาการ ผ่านอำนาจแบบรวมศูนย์ จึงไม่เกิดผลดีนัก ดังนั้นหากไม่มีการทบทวนนโยบายใหม่ อย่าคาดหวังว่าผู้เสพยา 1.2 ล้านคนที่เข้ารับการบำบัดจะกลับมาเป็นคนดีของสังคม
ด้านอาจารย์จอน อึ้งภากรณ์ ประธานคณะอนุกรรมการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ กล่าวว่า การปราบปรามยาเสพติดในไทยเป็น "นโยบายประชานิยม" ของทุกพรรคการเมืองที่เป็นรัฐบาลนำมาหาเสียงกับประชาชน แต่กลับไม่สามารถแก้ไขปัญหาจำนวนผู้เสพยาจากการบำบัดลดลงได้ ซึ่งต้องยอมรับในข้อเท็จจริงดังกล่าว เพราะคงจะให้ไม่มีผู้เสพยาเลยเป็นไปไม่ได้ ฉะนั้นควรจะทำอย่างไรให้ผู้เสพยานั้นมีคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุด กลมกลืนกับสังคมได้มากที่สุด มีสุขภาพที่ดีที่สุด และให้สร้างความเดือดร้อนแก่ผู้อื่นน้อยที่สุด
"รัฐบาล หน่วยงานภาครัฐ สมาชิกรัฐสภา ประชาชน และผู้เกี่ยวข้องเชิงนโยบายจะต้องเข้าสู่กระบวนการศึกษาเรียนรู้จากข้อมูลเชิงวิชาการทั้งในและต่างประเทศ เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาต่อไป"
ส่วนนายสมชาย หอมลออ กรรมการคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) กล่าวว่า ที่ผ่านมารัฐบาลได้ให้สัมภาษณ์แก่สื่อมวลชนถึงนโยบายการปราบปรามยาเสพติด ได้มีการตั้งเป้าหมายผู้เข้ารับการบำบัดยาเสพติดให้ได้ 500,000 คน หรือจะแก้ไขกฎหมายเอาผิดกับผู้ค้ายาเสพติดโทษประหารชีวิตภายใน 15 วัน ล้วนเป็นการใส่ยาพิษแก่สังคมไทย ทั้งที่ทราบอยู่แก่ใจในทางปฏิบัติไม่สามารถกระทำได้ แต่สาเหตุเพราะต้องการคะแนนนิยมจากสังคมเท่านั้น โดยลืมไปว่า ประชาชนกำลังตกอยู่ในภาวะจมน้ำตายเนื่องจากปัญหายาเสพติด เพราะขณะนี้ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาให้ลดน้อยลงได้ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องปฏิรูปกฎหมายด้านยาเสพติดทุกฉบับให้สอดคล้องกัน จะแก้ไขเพียงฉบับใดฉบับหนึ่งมิได้ เช่น บทลงโทษ จะต้องมีความเหมาะสม
“สิ่งสำคัญ คือ ทำอย่างไรให้ผู้เสพยาหรือผู้ป่วยได้รับรู้กฎหมายและนำไปสู่การปฏิบัติ ด้วยการสร้างภูมิคุ้มกันให้สังคมมีความรู้ด้านยาเสพติด ถ้าเราไม่สามารถทำให้สังคมเข้าใจ และเลิกสนับสนุนกระบวนการฆ่าตัดตอนแล้ว จะแก้ไขกฎหมายอย่างไร จำนวนผู้เสพยาคงไม่ลดลง” กรรมการ คปก. กล่าว
ขณะที่นายประสาร มหาลี้ตระกูล รองอธิบดีกรมคุมประพฤติ กระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงนโยบายการบำบัดยาเสพติดเป็นทางเลือกที่ผู้เสพยาจะต้องเข้ารับการรักษาโดยสมัครใจ แต่ปัจจุบันกลับกลายเป็นกลไกบังคับ ซึ่งขัดแย้งกับความต้องการของรัฐบาลที่ต้องการให้เป็นระบบฟื้นฟูแบบทางเลือก พร้อมยอมรับว่า ยังไม่มีความพร้อมในการบำบัดผู้เสพยาจริง จนกลายเป็นปัญหาปัจจุบัน เช่น กรณีนำผู้เสพยารับการดูแลในเรือนจำ แม้จะมีวิธีปฏิบัติที่แตกต่างจากผู้ต้องโทษ แต่ก็ถือละเมิดสิทธิมนุษยชน ทำให้ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการเลือกหาสถานที่ใช้ดูแลผู้เสพยาแทนเรือนจำใหม่ โดยมองไปยังสถานพยาบาลในเครือโรงพยาบาลธัญรักษ์
"อีกปัญหาที่ควรเร่งแก้ไข คือ การติดตามผู้เสพยาหลังพ้นจากการบำบัด ซึ่งต้องขอความร่วมมือกับสังคมเปิดโอกาสให้กลุ่มคนเหล่านี้ได้มีอาชีพและเกิดการยอมรับมากขึ้น เพื่อขจัดปัญหากลับไปเสพยาอีก"