หลากความเห็น"บีอาร์เอ็น"ยื่นเงื่อนไขใหม่ "ปณิธาน" ชี้เป็นไปได้ "ฮัสซัน" หารันเวย์
เงื่อนไขใหม่ของขบวนการบีอาร์เอ็นกลุ่มนายฮัสซัน ตอยิบ ที่ประกาศผ่านคลิปวีดีโอเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ยูทิวบ์ล่าสุด โดยเฉพาะที่ให้ทางการไทยถอนทหาร-ตำรวจพ้นพื้นที่ชายแดนใต้แลกกับการยุติก่อเหตุรุนแรงช่วงเดือนรอมฎอน และให้นำข้อเรียกร้อง 5 ข้อที่เสนอไปก่อนหน้านี้เข้าขอความเห็นชอบจากรัฐสภา มิฉะนั้นจะไม่มีการพูดคุยเจรจาครั้งต่อไปนั้น แทบทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่าเป็นข้อเสนอที่ยอมรับได้ยาก
"อังคณา"บอกถ้าถอนทหาร บีอาร์เอ็นต้องวางปืน
นางอังคณา นีละไพจิตร ประธานคณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพ ภรรยาทนายสมชาย นีละไพจิตร อดีตประธานชมรมนักกฎหมายมุสลิมที่ถูกอุ้มหายนานกว่า 9 ปี มองว่า ข้อเรียกร้องส่วนใหญ่ไม่น่าเป็นไปได้ โดยเฉพาะที่ให้รัฐบาลถอนกำลังทหารและตำรวจออกจากพื้นที่ จะกลายเป็นการเพิ่มความเสี่ยงให้กับประชาชนในพื้นที่หรือไม่ เพราะไม่มีหลักประกันอะไรเลยว่าเมื่อเจ้าหน้าที่ถอนกำลังออกไปแล้ว กลุ่มผู้ก่อการจะหยุดก่อเหตุจริงๆ
กรณีลักษณะนี้เคยเกิดขึ้นที่อาเจะห์ (ปัจจุบันเป็นเขตปกครองพิเศษของอินโดนีเซีย) ซึ่งเคยมีการต่อสู้เพื่อตั้งรัฐใหม่แยกจากอินโดนีเซีย กรณีของอาเจะห์ รัฐบาลอินโดนีเซียถอนทหารในวันเดียวกับที่กลุ่มขบวนการต่อสู้ (กลุ่ม GAM) วางปืนให้เห็นต่อหน้าองค์กรระหว่างประเทศที่เข้าไปเป็นสักขีพยาน ทั้งสหภาพยุโรป หรือองค์การสหประชาชาติ แต่ในสามจังหวัดของไทยยังไม่เห็นมีการวางอาวุธ
"หากจะให้ถอนกำลังทหารตำรวจ แต่กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบยังสามารถขับรถกระบะถือปืนเอ็ม 16 ยิงคนได้อย่างเสรี อย่างนี้ไม่ใช่ข้อตกลงสันติภาพ" นางอังคณา ระบุ
ยังไม่ใช่ขั้นตอนส่งข้อเรียกร้องเข้าสภา
ประธานมูลนิธิยุติธรรมสันติภาพ กล่าวต่อว่า เงื่อนไขที่ให้นำข้อเรียกร้องที่เสนอก่อนหน้านี้ 5 ข้อเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาไทยนั้น ก็ไม่สามารถทำได้เช่นกัน เพราะเรื่องที่จะข้าสภาต้องเป็นข้อสรุปที่ผ่านการพิจารณาอย่างรอบคอบแล้ว และนำเสนอให้สภาอนุมัติเป็นขั้นตอนสุดท้าย แต่ขณะนี้ยังเป็นแค่ข้อเสนอของบีอาร์เอ็นฝ่ายเดียว หากนำเข้าสภาแล้วมี ส.ส. หรือ ส.ว.ถามว่าการยอมรับข้อเสนอของบีอาร์เอ็นจะทำให้พื้นที่สงบอย่างไร หรือถามว่าคนที่รัฐไปคุยมาเป็นตัวของคนสามจังหวัดจริงหรือไม่ ใครจะตอบได้
เช่นเดียวกับเงื่อนไขที่ให้นายกรัฐมนตรีลงนามด้วยตนเอง ก็ทำไม่ได้เช่นกัน เพราะระดับนายกฯต้องลงนามกับผู้นำตัวจริงของบีอาร์เอ็นเท่านั้น แต่ นายฮัสซัน ตอยิบ เป็นแค่ผู้ประสานงาน และถึงวันนี้ก็ยังไม่รู้ว่าผู้นำสูงสุดที่แท้จริงของบีอาร์เอ็นคือใคร
"อนุศาสน์"ลั่นไม่มีรัฐบาลไหนในโลกรับได้
นายอนุศาสน์ สุวรรณมงคล สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) สายสรรหา ชาว จ.ปัตตานี กล่าวว่า การยื่นเงื่อนไขเพิ่มเติมของกลุ่มบีอาร์เอ็นแสดงให้ว่าทางกลุ่มไม่ได้ความจริงใจมากพอที่จะร่วมมือลดเหตุรุนแรงอย่างแท้จริง มีแต่ข้อเสนอให้รัฐบาลไทย หากมองย้อนกลับไปตั้งแต่ลงนามในข้อตกลงริเริ่มกระบวนการพูดคุยสันติภาพ เมื่อวันที่ 28 ก.พ.2556 จะพบว่ารัฐบาลมีข้อเสนออย่างเดียวคือให้ลดความรุนแรง แต่บีอาร์เอ็นก็ยังทำไม่ได้ เป้าหมายอ่อนแอยังตกเป็นเหยื่อตลอด กรณี 6 ศพ (สังหารหมู่ 6 ศพที่ร้านชำในตัวเมืองปัตตานี เมื่อวันที่ 1 พ.ค.56) ก็ยังกล่าวหาว่ารัฐอยู่เบื้องหลังด้วย
"เมื่อพิจารณาจากแนวโน้มเหตุการณ์ตลอด 3-4 เดือนที่ผ่านมา ยังไม่มีความหวังว่าช่วงรอมฎอนความรุนแรงจะลดน้อยลง แต่เงื่อนไขใหม่ที่เสนอมานี้ ต้องบอกว่าไม่มีรัฐบาลไหนในโลกยอมรับได้ คิดว่าส่วนหนึ่งของข้อเรียกร้องเป็นการโฆษณาชวนเชื่อ สร้างความชอบธรรมให้ตัวเองและหาพวก หรือไม่หาเสียงกับคนในพื้นที่ ปัญหาเกิดจากความผิดพลาดที่เราไปให้เวทีกับเขา ไปผูกมัดตัวเราเองจนเข้าทางเขา และเขาก็ใช้โอกาสอย่างเต็มที่ ขณะเดียวกันเราเองก็ไม่มีกรอบการพูดคุยเจรจาที่ชัดเจน ทำให้ฝ่ายบีอาร์เอ็นปฏิบัติอยู่นอกเหนือข้อตกลงตลอดเวลา"
จี้รัฐสังคายนา – ทีมเจรจาพิจารณาตัวเอง
นายอนุศาสน์ เรียกร้องให้รัฐบาลสังคายนาการพูดคุยเจรจาเสียใหม่ เพราะที่ผ่านมาถือว่าผิดพลาด ปล่อยให้บีอาร์เอ็นชิงความได้เปรียบและหาความชอบธรรมฝ่ายเดียวโดยไม่สนใจว่าการเจรจาจะคืบหน้าหรือไม่ ฉะนั้นคณะพูดคุยสันติภาพต้องพิจารณาตัวเอง
"ในฐานะคนในพื้นที่ ผมอยากเห็นความรุนแรงลดลงอย่างแน่นอน อยากเห็นการเจรจานำไปสู่ข้อตกลงและความสงบ ไม่ใช่แค่ช่วงเดือนรอมฎอนเท่านั้น แต่เป็นทุกเดือน และตลอดไป ผมพร้อมให้โอกาสสันติภาพ แต่ดูจากเหตุการณ์ที่ผ่านมามันไม่ได้เป็นไปอย่างที่พูด" ส.ว.จากปัตตานี กล่าว
"ปณิธาน" เชื่อเป็นไปได้ "ฮัสซัน" หาทางลง
ประเด็นที่น่าหยิบยกขึ้นมาพิจารณานอกเหนือจากการ "รับ-ไม่รับ" เงื่อนไขใหม่และข้อเรียกร้องเดิมของบีอาร์เอ็นก็คือ เบื้องหลังของท่าทีทั้งหมดนี้ กลุ่มของนายฮัสซัน ตอยิบ ต้องการอะไร เพราะย่อมรู้กันดีว่าเงื่อนไขที่เสนอมา เกือบทั้งหมดเป็นไปไม่ได้ที่รัฐบาลไทยจะยินยอม
ดร.ปณิธาน วัฒนายากร นักวิชาการด้านความมั่นคง จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิเคราะห์ว่า เรื่องนี้มองได้ 3 ประเด็น คือ
1.การยื่นเงื่อนไขใหม่ เป็นความต่อเนื่องจาก 5 ข้อเรียกร้องเดิม ซึ่งหลังจากยื่นข้อเรียกร้อง 5 ข้อแล้ว บีอาร์เอ็นค่อนข้างได้เปรียบ เสมือนหนึ่งเป็นผู้วางกรอบการพูดคุย แม้รัฐบาลไทยจะประกาศว่าไม่รับข้อเรียกร้อง แต่ก็เกือบรับในช่วงแรก และจากท่าทีก็ถูกตีความเหมือนกับรับไปแล้ว ทำให้ฝ่ายบีอาร์เอ็นได้เปรียบ และการพูดคุยกันครั้งล่าสุด (13 มิ.ย.) ก็มีการพูดคุยกันตามกรอบของข้อเรียกร้อง 5 ข้อนี้ ล่าสุดบีอาร์เอ็นจึงยื่นเงื่อนไขใหม่ตามมาอีก
2.ยังคงมีคำถามว่ากลุ่มของนายฮัสซันได้รับการยอมรับจากกองกำลังในพื้นที่จริงหรือไม่ สะท้อนว่าในองค์กรบีอาร์เอ็นก็มีปัญหาเช่นกัน การยื่นเงื่อนไขใหม่ด้วยบริบทที่หนักแน่น แข็งกร้าวกว่าเดิมของกลุ่มนายฮัสซัน ก็ถือเป็นการเรียกความเชื่อมั่นจากกองกำลังในพื้นที่ให้หันมาสนับสนุนกลุ่มของตน พร้อมทั้งแสวงหาความเป็นตัวแทนของคนในพื้นที่
3.ต่อเนื่องจากข้อ 2 คือเมื่อสถานะของนายฮัสซันอาจจะไม่ได้รับการยอมรับมากนักจากหลายๆ กลุ่มในพื้นที่ การยื่นข้อเรียกร้องที่เป็นไปได้ยากแต่ได้ใจกลุ่มต่อต้านรัฐไทยแบบนี้ ก็อาจจะเป็น exit strategy หรือการหาทางออกให้กับตัวเอง หรืออาจจะเรียกว่าหาทางลงจากหลังเสือของนายฮัสซันก็ได้
"สถานะของนายฮัสซันที่ไม่สามารถคุมกองกำลังในพื้นที่ได้จริง เป็นเรื่องเก่าที่รู้กันอยู่แล้ว และทุกฝ่ายก็น่าจะเห็นตรงกัน เช่นเดียวกับการล้มโต๊ะเจรจาที่น่าจะเป็นทางออกหนึ่งของปัญหาในกระบวนการพูดคุยหนนี้ ฉะนั้นเมื่อพูดคุยกันมา 3-4 รอบแต่ยังไม่มีความคืบหน้าเท่าที่ควร และนายฮัสซันเองก็เปิดเผยหน้าตาผ่านสื่อไปหมดแล้ว เขาเองก็อาจจะต้องมานั่งคิดว่าจะอยู่ต่อไปอย่างไร การเสนอข้อเรียกร้องแบบแรงๆ และอีกฝ่ายปฏิบัติไม่ได้แน่ๆ ก็อาจจะเป็นทางออกที่สวยงามจากกระบวนการนี้"
แนะเปิดแนวรุก "คุยตรง" กับกลุ่มในพื้นที่
ดร.ปณิธาน ซึ่งรับรู้การเจรจาสันติภาพดับไฟใต้ในรัฐบาลชุดที่แล้ว และยังติดตามสถานการณ์ชายแดนใต้อย่างใกล้ชิด เสนอว่า ทางออกของรัฐบาลนอกจากการตั้งคณะทำงานชุดเล็กไปพูดคุยแทน และทอดเวลาการพูดคุยเจรจาออกไปก่อน ซึ่งจะสอดคล้องกับสถานะที่ไม่ค่อยมั่นคงของ พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ด้วยแล้ว รัฐบาลน่าจะปรับวิธีการด้วยการเปิดวงพูดคุยตรงกับบรรดาแกนนำกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐในพื้นที่ด้วย
"ผมคิดว่าคณะทำงานชุดเล็กเป็นเรื่องจำเป็น โดยต้องถึงฝ่ายปฏิบัติในพื้นที่ซึ่งมีประสบการณ์กับการพูดคุยลักษณะนี้อยู่แล้วไปร่วมทีมด้วย และไม่ใช่คุยแต่กับกลุ่มของนายฮัสซันเท่านั้น แต่เป็นกลุ่มอื่นๆ ที่เคลื่อนไหวอยู่ในพื้นที่ เราอาจให้ฝ่ายปฏิบัติเปิดชื่อของแกนนำเหล่านี้ แล้วรุกเข้าไปพูดคุยกับเขาเลย ที่ผ่านมาเรามีฐานข้อมูลอยู่แล้วจากหมายจับและ หมาย พ.ร.ก.(ออกตามความในพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548) แต่วิธีการคือเข้าไปปิดล้อมตรวจค้นแล้วจับกุม หรือยิงเขาตาย ฉะนั้นถ้ายกคนกลุ่มนี้ขึ้นมา เปิดชื่อเปิดตัวแล้วไปหาเขา พูดคุยกับเขา แทนการปิดล้อมจับกุม น่าจะเป็นการเปิดแนวรุกทางการเมืองใหม่โดยไม่ต้องรอการเจรจากับกลุ่มนายฮัสซันอย่างเดียว"
ดร.ปณิธาน กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมาทีมเจรจาก็พยายามรุกกลับทางการเมือง เช่น กรณีที่ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง และนำข้อสังเกตต่างๆ กลับไปยันทางฝ่ายบีอาร์เอ็น ซึ่งถือว่าทำได้ดี แต่ยังไม่ส่งผลสะเทือนมากพอ การพูดคุยตรงกับกลุ่มในพื้นที่น่าจะช่วยได้ และสามารถใช้พลังมวลชนกดดันคนเหล่านั้นหากพูดคุยแล้วสถานการณ์ในพื้นที่ยังไม่ดีขึ้น
ฝ่ายมั่นคงชี้เงื่อนไขใหม่ตอกย้ำ 5 ข้อเรียกร้อง
ด้านความเห็นของฝ่ายความมั่นคง แหล่งข่าวจากหน่วยปฏิบัติในพื้นที่ เผยว่า หน่วยได้มีการหารือกันถึงเงื่อนไขใหม่ของบีอาร์เอ็นเช่นกัน แต่เป็นเพียงกรอบกว้างๆ เพราะมองว่าเงื่อนไขที่ยื่นมาใหม่ยังไม่มีเนื้อหาอะไรใหม่หรือหลุดไปจากกรอบข้อเรียกร้องเดิม 5 ข้อ
เช่น การให้ถอนกำลังทหาร ตำรวจจากนอกพื้นที่ ออกจากดินแดนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็เป็นการตอกย้ำเรื่อง "สิทธิความเป็นเจ้าของ" ที่บีอาร์เอ็นพยายามสื่อผ่านข้อเรียกร้อง 5 ข้อ หรือการให้อาสารักษาดินแดน หรือ อส.ที่นับถือศาสนาอิสลาม ไม่ต้องประจำการช่วงเดือนรอมฎอน ก็เป็นการส่งสัญญาณเรื่องการเคารพอัตลักษณ์และวิถีปฏิบัติตามหลักศาสนา
"เรามองว่าเงื่อนไขดูแปลกๆ อย่างเรื่องให้ อส.มุสลิมไม่ต้องปฏิบัติหน้าที่ จริงๆ แล้วเราก็ให้สิทธิ อส.มุสลิม และกำลังพลที่เป็นมุสลิมได้ปฏิบัติศาสนกิจอย่างเต็มที่อยู่แล้ว หลังสิ้นสุดเดือนรอมฎอน ช่วงเทศกาลฮารีรายอก็ให้ลาหยุด หนำซ้ำปัจจุบันเฉพาะพื้นที่นี้้ยังกำหนดให้เป็นวันหยุดราชการด้วย"
แหล่งข่าวบอกด้วยว่า เงื่อนไขที่ให้ยุติการปิดล้อมตรวจค้นจับกุม รวมทั้งตั้งด่านสกัดบนถนนนั้น เป็นสิ่งที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) กำหนดเป็นแผนปฏิบัติอยู่แล้วทุกปี เพื่ออำนวยความสะดวกให้พี่น้องประชาชนได้ปฏิบัติศาสนกิจอย่างเต็มที่ และปีนี้แม่ทัพภาคที่ 4 ก็ได้แถลงแผนดังกล่าวไปแล้ว เชื่อว่าประชาชนในพื้นที่ให้การสนับสนุนมาก ทำให้บีอาร์เอ็นเสียมวลชน จึงต้องเสนอเงื่อนไขข้อนี้ขึ้นมาเสมือนหนึ่งว่าเป็นการกดดันจากบีอาร์เอ็น
"เราอำนวยความสะดวกให้พี่น้องประชาชนอยู่แล้ว และได้ลดระดับการปิดล้อมตรวจค้นในช่วงเดือนรอมฎอนของทุกปี โดยเน้นภารกิจเชิงรับในแง่ของการรักษาความปลอดภัยเป็นหลัก แต่ไม่ใช่การถอนทหาร หรือลดกำลังทหาร หรือไม่มีการปิดล้อมตรวจค้นโดยสิ้นเชิง เพราะหากมีสถานการณ์ร้ายเกิดขึ้น เจ้าหน้าที่ก็ต้องปฏิบัติ มิฉะนั้นจะเข้าข่ายละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบได้" แหล่งข่าว ระบุ
นักสิทธิฯหนุนสภาถก 5 ข้อบีอาร์เอ็น
ขณะที่ความเห็นของนักสิทธิมนุษยชน น.ส.พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ จากมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ซึ่งทำงานด้านการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายในพื้นที่ชายแดนใต้ กล่าวว่า ข้อเรียกร้องของนายฮัสซันเป็นการกดดันทางการเมือง ซึ่งความเป็นจริงก็ทราบดีอยู่แล้วว่าเป็นไปไม่ได้ โดยเฉพาะข้อเรียกร้อง 5 ข้อมีลักษณะเป็นนามธรรม มีเปอร์เซ็นต์น้อยมากที่รัฐบาลไทยจะรับไปพิจารณา รวมทั้งการเรียกร้องให้มีการยอมรับสถานะของกลุ่มตนเอง รายละเอียดของกฎหมายยังไม่เปิดช่องให้สามารถกระทำได้ และข้อเรียกร้องต่างๆ จริงๆ แล้วต้องให้ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบร่วมกัน
"สำหรับเงื่อนไขใหม่ที่จะให้ถอนทหารออกจากพื้นที่นั้น คงเป็นไปไม่ได้ เพราะทหารยังคงทำหน้าที่ปกป้องชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนอยู่ ทางที่ดีควรจะเรียกร้องให้ยกเลิกกฎอัยการศึก ซึ่งเป็นรูปธรรมมากกว่าการเรียกร้องให้ถอนทหาร เพราะการยกเลิกกฎอัยการศึกจะทำให้เจ้าหน้าที่ทำงานตามกรอบของกฎหมายปกติเนื่องจากกฎอัยการศึกเป็นกฎหมายที่ใช้ในสภาวะสงคราม ไม่เอื้อต่อการเจรจากับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ"
ส่วนการยื่นเงื่อนไขให้นำข้อเรียกร้อง 5 ข้อที่เสนอไว้ก่อนหน้านี้เข้าที่ประชุมรัฐสภาของไทยนั้น น.ส.พรเพ็ญ กล่าวว่า ด้านหนึ่งก็เห็นด้วย เพราะการพูดคุยหรือการเจรจาสันติภาพไม่ใช่งานของหน่วยงานรัฐหน่วยใดหน่วยหนึ่งไปทำ หากนำเข้าหารือในสภาก็จะได้รับฟังความคิดเห็นจากตัวแทนประชาชนอย่างหลากหลาย และควรยกระดับการพูดคุยเจรจาให้เป็นวาระแห่งชาติ การนำเข้าที่ประชุมสภาจะทำให้เห็นความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น
น.ส.พรเพ็ญ กล่าวด้วยว่า หากรัฐบาลตัดสินใจยุติการพูดคุยสันติภาพก็คงเป็นเรื่องน่าเสียดาย และทางภาคประชาสังคมก็ต้องหาทางผลักดันให้มีการพูดคุยสันติภาพรอบใหม่ เพราะประชาชนทั่วไปให้ความคาดหวังกับการเจรจาครั้งนี้มาก แม้จะเริ่มต้นจากฝ่ายการเมือง หรือระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลมาเลเซียก็ตาม นอกจากนี้ อยากให้คู่เจรจามีความอดทนอดกลั้นมากกว่านี้
"การที่บางฝ่ายออกมาพูดให้ยุติการเจรจา เป็นเรื่องที่ไม่สร้างสรรค์ เพราะไม่ใช่เสียงของประชาชน และไม่ได้เป็นตัวแทนที่ดีของประชาชน เนื่องจากคนในพื้นที่ต้องการให้ยุติความรุนแรง" น.ส.พรเพ็ญ ระบุ
นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า เห็นด้วยหากจะมีการนำข้อเรียกร้อง 5 ข้อของบีอาร์เอ็นเข้าไปหารือในที่ประชุมรัฐสภา เพราะเป็นข้อเรียกร้องระดับประเทศ ควรนำไปพูดคุยกันในหมู่ผู้แทนประชาชนเพื่อให้ทุกฝ่ายได้แสดงความคิดเห็น ทั้ง ส.ว. และ ส.ส. ถือเป็นการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 190 ด้วย ส่วนจะประชุมลับหรือเปิดเผยเป็นการตัดสินใจของสภา
ล้อมกรอบ : 5 ข้อเรียกร้อง 8 เงื่อนไข
สำหรับข้อเรียกร้อง 5 ข้อของบีอาร์เอ็นที่กลุ่มนายฮัสซันนำมาแถลงครั้งแรกผ่านคลิปวีดีโอที่เผยแพร่ทางเว็บไซต์ยูทิวบ์ เมื่อราววันที่ 26-27 เม.ย.2556 ก่อนวันนัดพูดคุยสันติภาพรอบ 2 เพียงไม่กี่วันนั้น ประกอบด้วย
1.ให้ยกระดับมาเลเซียเป็นผู้เจรจาไกล่เกลี่ย แทนผู้อำนวยความสะดวกในการพูดคุย
2.ให้เชิญเอ็นจีโอ ชาติอาเซียน และโอไอซี (องค์การความร่วมมืออิสลาม) เข้าร่วมในการพูดคุย
3.ให้ปล่อยตัวนักโทษและยกเลิกหมายจับทั้งหมด
4.ให้ยอมรับสิทธิความเป็นเจ้าของดินแดนของชาวมลายูปาตานี
5.ให้ยอมรับว่าบีอาร์เอ็นเป็นองค์กรปลดปล่อย ไม่ใช่ขบวนการแบ่งแยกดินแดน
ส่วนเงื่อนไขใหม่อีก 8 ข้อแลกกับการยุติก่อเหตุรุนแรงช่วงรอมฎอนที่เสนอผ่านช่องทางเดียวกันเมื่อวันที่ 24 มิ.ย.2556 ประกอบด้วย
1.ให้ถอนกำลังทหารและทหารพรานจากกองทัพภาค 1, 2 และ 3 รวมทั้งตำรวจที่มาจากส่วนกลางออกจากดินแดนปาตานี (คือสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ จ.ปัตตานี ยะลา นราธิวาส) และห้าอำเภอของ จ.สงขลา)
2.แม่ทัพภาคที่ 4 ต้องถอนทหารและทหารพรานออกจากเขตหมู่บ้านในปาตานีให้อยู่ค่ายใหญ่ของแต่ละหน่วย
3.ให้ถอนกำลังตำรวจและตำรวจตระเวนชายแดนออกจากเขตหมู่บ้านในปาตานี
4.ปล่อยบรรดา อส.(อาสารักษาดินแดน) ที่นับถือศาสนาอิสลาม ไม่ให้ประจำการตลอดช่วงเดือนรอมฎอน เพื่อที่พวกเขาจะได้สามารถปฏิบัติศาสนกิจและสามารถใช้ชีวิตกับครอบครัวได้อย่างสมบูรณ์
5.ห้ามโจมตี สกัดถนน และจับหรือควบคุมตัวอย่างเด็ดขาด
6.ห้ามจัดกิจกรรมทางสังคมที่เกี่ยวข้องกับเดือนรอมฎอน
7.ให้นายกรัฐมนตรีลงนามในเงื่อนไขดังกล่าว และต้องประกาศในวันที่ 3 ก.ค.2556
8.ให้รัฐบาลไทยมีคำสั่งไม่ขายเหล้าหรือของมึนเมา รวมทั้งปิดสถานบันเทิงและแหล่งอบายมุขตลอดช่วงเดือนรอมฎอน
ในตอนท้ายยังมีการส่งคำเตือนว่า การเจรจาสันติภาพระหว่างบีอาร์เอ็นกับรัฐบาลไทยจะไม่เกิดขึ้นตราบใดที่ไทยยังไม่ดำเนินและให้คำตอบต่อข้อเรียกร้อง 5 ข้อของบีอาร์เอ็น ซึ่งต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาของไทยด้วย นอกจากนั้นยังต้องประกาศให้การเจรจาสันติภาพเป็นวาระแห่งชาติ จะไม่มีการเจรจาลับอีก และต้องกำหนดสถานะของหัวหน้าคณะตัวแทนไทยและสถานะนั้นต้องมั่นคง
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : นายฮัสซัน ตอยิบ และพวก ขณะให้สัมภาษณ์สำนักข่าวเอเอฟพี และผู้สื่อข่าวจากสำนักอื่นอีกหลายสำนักที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ภายหลังเสร็จสิ้นการพูดคุยสันติภาพรอบ 3 กับตัวแทนรัฐบาลไทยเมื่อ 13 มิ.ย.2556
ขอบคุณ : ภาพจากวีดีโอในเว็บไซต์ยูทิวบ์
หมายเหตุ : เสถียร วิริยะพรรณพงศา เป็นผู้สื่อข่าวเนชั่นทีวี ไพศาล เสาเกลียว เป็นผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ