ลดราคาจำนำข้าว เฉือนเนื้อชาวนาอุ้มพ่อค้า ทุจริตยังเพียบ
‘ดร.นิพนธ์’ ชี้ผลประโยชน์โรงสี โกดัง จนท.รัฐ ไม่ได้ลดลง ตั้งข้อสังเกตข้าวในประเทศพบมากผิดปกติ 3 ล้านตัน อ้าง 2 ล้านตัน ยังไม่ได้ส่งมอบเข้าโกดังกลาง อีก 1 ล้านตัน กลับบอกที่มาไม่ได้ ด้านส.ว.มึนเจอข้าวถุงล่องหน คาดรัฐเสียหายเกือบ 2 หมื่นล้าน
รศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวในเวทีราชดำเนินเสวนา ‘ลดราคาจำนำข้าว:ลดขาดทุน-ป้องกันทุจริตได้จริงหรือ’ ณ ห้องประชุมอิศรา อมันตกุล สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดโดยสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับสถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย ว่า การลดราคารับจำนำข้าวจะช่วยลดภาระการใช้จ่ายโครงการรับจำนำข้าว แต่การลดราคาแก้ปัญหาให้รัฐบาลมีเงินดำเนินโครงการ ต่อไป เพราะรัฐบาลเดิมวางแผนไว้ว่าจะดำเนินโครงการ 4 ฤดูกาล วงเงิน 5 แสนล้านบาท แต่ตอนนี้ใช้เงินไปแล้ว 6 แสนล้านบาท
ทั้งนี้ การลดราคาได้ช่วยให้รัฐบาลลดการขาดทุนได้ โดยใช้หลักการคำนวน สมมติฐาน ใช้ราคาข้าวขาวตันละ 1.2 หมื่นบาท และจำกัดปริมาณเกษตรรายละไม่เกิน41.7 ตัน หรือ 5 แสนบาท จะทำให้ปริมาณจำนำนาปี ลดลง 21.75% นาปรัง ลดลง 23.7% ปริมาณรวมของข้าวที่จะเข้าร่วมโครงการ จะลดลง 17.2% ทำให้รัฐบาลลดการขาดทุนลง คิดเป็น 49.5% หรือ 8.7 หมื่นล้านบาท
“การลดจำนวนเงินในโครงการแต่ไม่ได้ลดผลประโยชน์โรงสี โกดัง และเจ้าหน้าที่รัฐ แต่เป็นการเฉือนเงินอุดหนุนชาวนาลงเท่านั้น เพราะจากการคำนวณรายได้ชาวนาลดลง76,000 – 110,000 บาท ชาวนารายใหญ่จะโดนผลกระทบมากกว่ารายเล็ก แต่ค่าใช้จ่ายดำเนินการ เช่นค่าจ้างโรงสี ค่าเช่าโกดัง ลดเล็กน้อย 7,437 ล้านบาท(18%) นอกจากนี้ รัฐบาลก็ยังไม่เปิดข้อมูลการขายข้าว แม้จะลดราคารับจำนำแต่ในทางปฎิบัติจริงจะลดการขาดทุนได้เพียงบางส่วนเท่านั้น
นักวิชาการทีดีอาร์ไอ กล่าวต่อว่า กรณีรัฐบาลขาดทุนจากการขายข้าวถุง มีสาเหตุการขาดทุน 4 ส่วน คือ 1.การอุดหนุนชาวนา 2.การอุดหนุนผู้บริโภค 3.ค่าใช้จ่ายการดำเนินการ และ 4.เงินใต้โต๊ะ
"ไล่เรียงตั้งแต่ประเด็นการอุดหนุนชาวนา จะเห็นว่า ต้นทุนการขายข้าวสารของรัฐบาลอยู่ที่ 15,000 บาท หากนำไปหารด้วยอัตราสีแปรสภาพ 61% จะได้เป็นต้นทุนเฉลี่ย 24.60 บาท/กก. แต่เมื่อรวมกับต้นทุนในการดำเนินการแล้วจะตกอยู่ที่ 28 บาท/กก. ดังนั้นเมื่อราคาขายส่งในตลาด 16 บาท โดยรัฐบาลไม่มีการแทรกแซงราคา จำเป็นต้องอุดหนุนให้ชาวนาเพียง 8.60 บาท/กก."
รศ.ดร.นิพนธ์ กล่าวอีกว่า การอุดหนุนผู้บริโภค เมื่อรัฐบาลช่วยเหลือชาวนา ข้าวสารต้องมีราคาแพงขึ้น แต่กลับพบว่า ราคาข้าวสารในตลาดถูกลง ขณะที่เมื่อเร็ว ๆ นี้รัฐบาลออกมายอมรับว่า มีการอุดหนุนราคาผู้บริโภคจริง โดยอยู่ที่กก.ละ 22 บาท ข้าวสารถุงหนึ่งมีปริมาณ 5 กก. เฉลี่ยราคาถุงละ 110 บาท ดังนั้นหากมีการประมูลข้าวอย่างโปร่งใสรัฐบาลต้องขายข้าวได้กก.ละ 14.50 บาท เพราะราคาขายส่งในตลาดข้าวสารอยู่ที่กก.ละ 16 บาท มีค่าส่วนต่างดำเนินการ กก.ละ 1.50 บาท ซึ่งรัฐบาลต้องอุดหนุนผู้บริโภคราวกก.ละ 7.50 บาท ยิ่งมีการขายข้าวถุงให้พรรคพวกผ่านกระบวนการ "เปาเกา" ยิ่งชี้ให้เห็นว่า รัฐบาลปรับลดราคาครั้งนี้แก้ปัญหาเพียงส่วนแรกเท่านั้น
นักวิชาการทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า เมื่อรัฐบาลไม่ได้แก้ปัญหาการทุจริต จึงควรไปเริ่มจากการยกเลิกกติกาการสีข้าวแปรสภาพ 7 วัน เพื่อป้องกันไม่ให้โรงสีมีเวลานำข้าวสารราคาถูกจากส่วนอื่นไปส่งมอบแทนหรือไม่จำเป็นต้องส่งมอบ เพราะการกำหนดเวลา 7 วันทำให้โรงสีสามารถนำข้าวจากเพื่อนบ้าน ซึ่งเป็นไปตามการอนุมัติให้นำเข้าข้าวเปลือกจากเพื่อนบ้านที่มีราคาถูกกว่ามาส่งมอบแทน ซึ่งประเมินได้ว่า ข้าวในประเทศมีมากผิดปกติประมาณ 3 ล้านตัน เป็นข้าวที่มีการอ้างว่ายังไม่ได้ส่งมอบเข้าโกดังกลาง ประมาณ 2 ล้านตัน ขณะที่ข้าว 1 ล้านตัน ไม่สามารถบอกที่มาได้
"เนื่องจากข้าว 3 ฤดูกาลจะมีผลผลิตข้าวสาร 40 ล้านตัน สามารถรับจำนำได้ 22.5 ล้านตัน มีส่วนต่าง 17.5 ล้านตัน ขณะที่ข้าวเปลือกในโครงการมีการบริโภค 18 เดือน รวม 26.1 ล้านตัน โดยตลาดต้องการให้รัฐบาลระบายข้าวออกมาอีก 8.9 ล้านตัน แต่นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ระบุผ่านรัฐสภาว่า รัฐบาลระบายข้าวได้ 7 ล้านตัน ทำให้ข้าวเกินในระบบ" รศ.ดร.นิพนธ์ กล่าว และว่า ฉะนั้นราคาข้าวสารจึงถูกกว่าสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ นั่นแสดงว่าจะต้องมีการระบายข้าวออกมาอีก 1.9 ล้านตัน ยังไม่รวมของภาคเอกชนที่มีข้าวในสต๊อก 2 ล้านตัน รวมเป็น 3.9 ล้านตัน จึงเป็นเหตุผลที่ไม่สามารถปิดบัญชี 2555/56 ได้ เพราะมีจำนวนข้าวมากกว่าที่ควรจะเป็น เพราะมีข้าวเปลือกไม่ลงบัญชี 2.5ล้านตัน ซึ่งส่วนหนึ่งประมาณ 1 ล้านตัน น่าจะเป็นข้าวที่มาจากกัมพูชา และเข้ามาในโครงการโดยโรงสีที่ใช้ช่องกำหนดเวลาสีแปรสภาพ 7วันเป็นช่องทางให้นำข้าวมาสวมสิทธิ์
ทั้งนี้ นักวิชาการทีดีอาร์ไอ กล่าวด้วยว่า “วันใดที่ตรวจพบพร้อมกันทั้งประเทศ เจ้าหน้าที่รัฐทุกระดับต้องรับผิดชอบ เพราะนี่คือกระบวนการทุจริตระดับสูง ถ้าไม่มีอำนาจระดับสูงจะทำเรื่องพวกนี้ไม่ได้เด็ดขาด”
ด้านพล.ต.ท.ยุทธนา ไทยภักดี สว.สรรหา กล่าวว่าการระบายข้าวถุงยี่ห้อ "ถูกใจ" มีปัญหามาก พบข้าวสารระบายทั้งหมด 2.5 ล้านตัน ทำเป็นข้าวถุงได้ 500 ล้านถุง ผ่านการระบาย 3 ช่องทาง ได้แก่ 1.ร้านค้าถูกใจ จำหน่ายถุงละ 70 บาท/ ถุง 2.ร้านธงฟ้า และ 3.ร้านค้าปลีกต่าง ๆ จึงไปตรวจสอบพบมีร้านค้าถูกใจ 10,700 ร้าน จึงไปตรวจสอบพบว่า มี 3 บริษัทที่เข้าไปทำสัญญาซื้อข้าวปริมาณดังกล่าวจาก อคส. โดยบริษัทหนึ่งให้ข้อมูลว่า กรมการค้าภายในบังคับให้ส่งข้าวสารเพียง 10,000 ตัน/เดือน โดยอ้างว่าป้องกันร้านค้าถูกใจจะนำไปผ่าถุงขายเกินราคา
พล.ต.ท.ยุทธนา กล่าวว่า ได้พยายามขอข้อมูลการส่งข้าวสารถุงถูกใจจำนวนดังกล่าวจากกระทรวงพาณิชย์ แต่ได้รับการปฏิเสธ ทั้งนี้ตั้งแต่เม.ย. 2555 ถึงปัจจุบันมีการส่งข้าวสารถูกใจเพียง 56,235 ตันเท่านั้น จากปริมาณข้าวทั้งหมด 2.5 ล้านตัน จึงตั้งข้อสังเกตว่าปริมาณข้าวสารที่เหลือหายไปไหน หรืออาจกระจายช่องทางอื่น แต่กลับไม่พบ ประกอบกับอคส.ยืนยันว่า ได้ระบายข้าวสารออกไปแล้ว 1 ล้านตัน ซึ่งหากประเมินความเสียหายจะอยู่ที่ 20,000 ล้านบาท
ขณะที่น.ส.วิบูลย์ลักษณ์ ร่วมรักษ์ อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวถึงการจำหน่ายข้าวถุง ตามข้อมูล ณ วันที่ 31 พ.ค. 56 มีการระบายข้าวหลายกรณี เช่น 1.เมื่อเกิดภัยพิบัติ เราให้การช่วยเหลือเป็นข้าวบริจาค โดยได้ระบายไปแล้ว 5,000 ตัน ซึ่งรัฐบาลต้องจัดสรรงบประมาณมาคืนโครงการ ตัวเลขขาดทุนจะต่ำกว่านี้ 2. ระบายให้องค์กรหรือหน่วยงานของรัฐ เช่น กรมราชทัณฑ์ และกรณีบริจาคเพื่อภัยพิบัตินั้นจะให้ข้าวสารถุงละ 4 กก. และ 3 ข้าวลดค่าครองชีพ ข้าวถูกใจ
สำหรับค่าขนส่งไปยังร้านค้าถูกใจที่มีถึง 6,700 ร้านนั้น อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวด้วยว่า แต่เดิมรัฐบาลจะดูแลงบประมาณส่วนนี้ แต่เมื่อต้นทุนสูงมาก จึงต้องหาวิธีลดต้นทุน จึงสรุปว่าร้านค้าถูกใจจะต้องมารับข้าวสารที่ศูนย์กระจายสินค้าเอง ซึ่งเริ่มดำเนินการได้ไม่กี่สัปดาห์ไปจำหน่ายถุงละ 70 บาท/ถุง ได้กำไรถุงละ 3.50 บาทเท่านั้น ระบายแล้ว 20,000 ถุง
“ไม่มีข้าวเป็นสิ่งที่ถูกต้อง เพราะถ้ามีข้าวจะเป็นปัญหา เพราะได้หยุดโครงการตั้งแต่ 31 มี.ค. แล้ว เพื่อรอจัดระบบให้ร้านค้าถูกใจมีความเข้มแข็ง ซึ่งได้เริ่มจริง ๆ เมื่อไม่กี่สัปดาห์”