ต้องเลิกใช้ปี 2558 ! จำนำข้าว ทำยอดนำเข้าสารรมควัน “เมทิลโบรไมด์” พุ่ง
มูลนิธิชีววิถี เปิดข้อมูล 'จำนำข้าว' ทำไทยต้องนำเข้าเมทิลโบร์โมด์อีกครั้ง หลังไม่มีตัวเลขนำเข้าเมื่อปี 2554 หวั่นยิ่งมาในรูปผสมกับคลอโรพิคริน น่ากังวล เหตุเป็นสารที่อียูประกาศห้ามใช้มาแล้ว 4 ปี
หลังจากมีกระแสข่าว ข้าวสารในสต๊อกรัฐบาลจากโครงการรับจำนำข้าวอาจมีปัญหาเรื่องความปลอดภัย เนื่องจากต้องเก็บสต๊อกไว้นาน และผ่านกระบวนการรมยากันมอดและแมลง ซึ่งอาจมีคุณภาพมาตรฐานไม่ปลอดภัยต่อผู้บริโภคได้นั้น
ล่าสุด มูลนิธิชีววิถี (BioThai) เผยแพร่ข้อมูลทางเฟชบุค www.facebook.com/biothai รวบรวมปริมาณการนำเข้าสารรมควันพิษ (Fumigants) จากสำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร พบว่า สถิติการนำเข้าสารรมควันพิษลดลงเป็นลำดับ ตั้งแต่ปี 2551 จนถึง ปี 2554 กลับพบ เพิ่มขึ้น เพราะนโยบายรับจำนำข้าว
มูลนิธิชีววิถี ระบุว่า การลดลงของสารรมควันพิษนั้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากพันธกรณีของประทศไทยภายใต้พิธีสารมอนทรีออลที่ต้องลด ‘เมทิลโบร์ไมด์’ (METHYL BROMIDE) ซึ่งใช้ในการรมยาข้าว เป็นแก๊สเรือนกระจก โดยต้องทยอยลดให้หมดเป็นลดดับ จนเหลือศูนย์ภายในปี 2556 โดยปริมาณสารคมควันพิษที่เพิ่มขึ้นจากปี 2554 อาจเป็นไปได้ว่า เพิ่มขึ้นเพราะการนำไปใช้ในโกดังกลางเก็บข้าวในโครงการรับจำนำ
ทั้งนี้ มูลนิธิชีววิถี ตั้งข้อสังเกตุถึงการนำเข้าเมทิลโบร์โมด์อีกครั้ง หลังจากไม่มีการนำเข้าเมื่อปี 2554 และการนำเข้าของสารดังกล่าวที่อยู่ในรูปการผสมกับ คลอโรพิคริน เป็นเรื่องที่น่ากังวล เนื่องจากคลอโรพิคริน เป็นสารที่อียูประกาศห้ามใช้แล้วตั้งแต่ปี 2012
อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในเว็บไซต์ โครงการลดและเลิกใช้สารเมทิลโบร์ไมด์ในประเทศไทย http://www.thailandmb.com/ สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร กรมวิชาการเกษตร ระบุว่า สารเมทิลโบรไมด์ เป็นสารทำลายชั้นบรรยากาศ มีความเป็นพิษสูง จะต้องมีการเลิกการใช้ในปี 2558
และขณะนี้มี ‘ฟอสฟีน’ ซึ่งสามารถใช้แทนเมทิลโบร์ไมด์ได้ โดยกรมวิชาการเกษตรได้รับเงินช่วยเหลือแบบให้เปล่าจากกองทุนพหุภาคีเพื่อพิธีสารมอนทรีออล ผ่านทางธนาคารโลก ในการลดการใช้สารเมทิลโบรไมด์ในการรมกำจัดศัตรูผลิตผลทางการเกษตร และให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ใช้ฟอสฟีน ( เช่น อลูมิเนียมฟอสไฟด์ หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า ยาเม็ด ) เพื่อเป็นการส่งเสริมการใช้ฟอสฟีน ซึ่งเป็นสารทดแทนให้มีประสิทธิภาพ และปลอดภัย
สอดคล้องนายนิวัติ สุธีมีชัยกุล รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยืนยันก่อนหน้านี้ว่า ข้าวสารในสต๊อกรัฐบาลมีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค เพราะสารเคมีที่ใช้รม คือ ฟอสฟีน ซึ่งมีลักษณะเป็นแก๊ส ได้จากอะลูมิเนียมฟอสไฟด์ หรือแมกนีเซียมฟอสไฟด์ โดยมีอัตราใช้ที่ 2 กรัม ของฟอสฟีน ต่อปริมาตร 1 ลูกบาศก์เมตร มีระยะเวลาในการรมยา 5-7 วัน ซึ่งสารนี้เป็นสารที่ใช้กันทั่วไปภายใต้ข้อกำหนดของโคเด็กซ์ (CODEX) ในการกำจัดศัตรูพืชและแมลงหลังการเก็บเกี่ยว สำหรับในประเทศไทยผู้ครอบครองสารนี้จะต้องขออนุญาตจากกรมวิชาการเกษตร และผู้รับจ้างรมยาก็จะต้องผ่านการฝึกอบรมจากกรมวิชาการเกษตรด้วยเช่นกัน ดังนั้น นอกจากจะไม่ใช่สารที่ก่อมะเร็งแต่อย่างใดแล้ว การนำไปใช้ยังอยู่ภายใต้การควบคุมตามระเบียบราชการอีกชั้นหนึ่งด้วย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
นักวิจัยอิสระฯ เสนอตรวจวัดสารตกค้าง รมยาข้าวกำจัดมอด แมลง
‘ตามรอยข้าวเน่า เข้าปากคนไทย’ – กินข้าวค้างสต็อกรบ.ไทยเสี่ยงมะเร็ง