ทบทวน 3 ปีขบวนปฏิรูป ยันเดินหน้าต่อ รื้อโครงสร้างอำนาจ ดันกม.ที่ดินเพื่อคนจน
สปร.จัดเวทีทบทวนขบวนปฏิรูป 3 ปีเริ่มต้นแนวทางปรับโครงสร้างอำนาจ-ที่ดินและทรัพยากร รื้อระบบคนจนทั้งประเทศ ชี้นโยบายรัฐไม่ต้องจัดการให้ชุมชนทุกเรื่อง เชื่อพลเมืองรับไม้เดินหน้าปฏิรูปต่อได้
วันที่ 21 มิถุนายน สำนักงานปฏิรูป (สปร.) จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ "ทบทวน...ขบวนปฏิรูป" ณ บ้านอัมพวา รีสอร์ท แอนด์ สปา อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม ภายในงานมีงานเสวนา "3 ปี กับขบวนปฏิรูป" โดยมีนางศิรินา ปวโรฬารวิทยา ผู้แทนคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป (คสป.) ดร.เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ ผู้แทนอดีตคณะกรรมการปฏิรูป (คปร.) นายสุรพงษ์ พรมเท้า ผู้แทนคณะกรรมการดำเนินการจัดสมัชชาปฏิรูป (คจสป.) นายดนัย หวังบุญชัย ผู้แทนคณะกรรมการเครือข่าย 14 คณะ นายวิรัตน์ พรมสอน ผู้แทนแกนนำพื้นที่ นายไมตรี จงไกรจักร์ ผู้แทนแกนนำเครือข่ายเฉพาะประเด็น ร่วมเสวนา
นางศิรินา กล่าวในส่วนการขับเคลื่อนการปฏิรูปจากภาคเอกชนว่า นับตั้งแต่แรกเริ่มจนถึงปัจจุบัน ขบวนการปฏิรูปทำให้ภาคเอกชนได้มองเห็นมุมของปัญหาใหม่ๆ และความเดือดร้อนของคนจำนวนมากที่ไม่เคยมองเห็น เนื่องจากแรกเริ่มยังไม่เข้าใจประเด็นด้านปฏิรูปประเทศมากนัก กระทั่งเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมจึงได้เข้าใจคำว่า 'การจัดการตนเอง' อย่างถ่องแท้มากขึ้น จากเดิมที่มีผู้จัดการให้มาตลอด
"หอการค้าไทยได้ขับเคลื่อนเกี่ยวกับการต่อต้านคอร์รัปชั่น และการจัดการตน เช่นในเรื่องนา มีโครงการทำนา 1 ไร่ ได้ 1 แสนบาท และโครงการ 1 โรงเรียน 1 ชุมชน โดยค่อยๆ พิสูจน์ให้สังคมสนใจและเห็นว่า มีพื้นที่ที่สามารถทำโครงการได้จริง และจากการทำงานกับชุมชนแต่ละพื้นที่ได้เห็นชัดว่า มีหลายเรื่องที่รัฐบาลไม่ควรจัดการให้ประชาชนทุกเรื่อง นโยบายรัฐที่ดีนอกจากทำให้คนรวยได้ประโยชน์แล้ว คนจนต้องได้ด้วย แต่นโยบายหลักขณะนี้ทำให้ธุรกิจใหญ่รวยขึ้น ส่วนธุรกิจเล็กหรือคนทำงานจนลง จึงควรกระจายอำนาจและสร้างระบบให้เกิดความสามารถในการจัดการตนเองมากกว่า" นางศิรินา กล่าว และว่า การปฏิรูปขับเคลื่อนไปได้ ชัดเจนว่าชุมชนต้องเข้มแข็ง และประชาชนต้องเก่งขึ้น ซึ่งต้องมาจากพื้นฐานความรู้ การศึกษาที่ดี ดังนั้น ในส่วนภาคเอกชนจึงได้พยายามมุ่งเน้นการดูแลสังคมมากขึ้น ทั้งในด้านสิ่งแวดล้อมและการศึกษา เพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้ประชาชนสามารถต่อสู้กับสิ่งที่ไม่ดีได้
ขณะที่ดร.เพิ่มศักดิ์ กล่าวถึงการทำงานของคณะกรรมการปฏิรูป (คปร.) ว่า การปฏิรูปในควาหมาย คปร. คือ การเปลี่ยนแปลงสังคมเชิงโครงสร้าง เพื่อสร้างความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ลดอำนาจรัฐ กระจายสู่ชุมชน เพื่อเพิ่มโอกาสด้านต่างๆ โดยใช้ขบวนการช่วยกันคิดดังๆ ตีกรอบความคิด กำหนดประเด็น และเลือกประเด็นเร่งด่วนมาสะท้อนให้สังคมเห็นและเสนอแนวทางแก้ไข เช่น เรื่องที่ดินและทรัพยากร ได้ร่างข้อเสนอเข้าสมัชชาปฏิรูป รับฟังความเห็นและเผยแพร่ต่อสังคมแล้ว
"เรื่องที่ดินและโครงสร้างอำนาจเป็นเรื่องที่เชื่อมโยงกัน ทิศทางการปฏิรูปโครงสร้างอำนาจ คปร.เสนอว่าจะต้องถอดสายบัญชาการจากส่วนกลางที่มีในท้องถิ่นออกบางส่วน และเพิ่มอำนาจการจัดการตนเองในท้องถิ่น ส่วนการปฏิรูปที่ดิน เสนอให้มีการปฏิรูปทั้งระบบ เปิดเผยการถือครอง กำหนดเพดานการถือครองที่ดิน วางระบบทางภาษีใหม่ เพื่อให้เกษตรกรมีอำนาจต่อรอง พร้อมๆ กับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างด้านกฎหมาย ระบบงบประมาณ รายได้ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ควบคู่ไปด้วย"
ด้านนายสุรพงษ์ กล่าวถึงการดำเนินการจัดสมัชชาปฏิรูปว่า การปฏิรูป หมายถึง การเปลี่ยนแปลง ซึ่งที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าการปฏิรูปประเทศใช้ 'อำนาจแข็ง' บังคับให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมาตลอด แต่ขบวนการสมัชชาปฏิรูปใช้ 'อำนาจอ่อน' เน้นสร้างกระบวนการคิดข้อเสนอที่มาจากฉันทามติ ยอมรับในการเปลี่ยนแปลง แก้ปัญหาความไม่รู้ ไม่เข้าใจว่าทำไมต้องมีการปฏิรูปประเทศ
"กว่า 3 ปีของสมัชชาปฏิรูปได้พยายามใช้พลังด้านวิชาการ พลังทางสังคมและอำนาจรัฐ แต่ก็เป็นเรื่องยากที่จะทำให้ทั้ง 3 ภาคส่วนปรองดองและหันมาพูดคุยกัน กระบวนการสมัชชาปฏิรูปจึงต้องมีขบวนที่จัดประชุม วางแผนและขับเคลื่อนตลอดทั้งปีในระดับพื้นที่ เพื่อให้เกิดความรู้และการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ท้ายที่สุดได้ข้อสรุปเชิงนโยบายรวม 21 วาระ ที่ไม่ว่าภาครัฐจะเอาด้วยหรือไม่ พลเมืองก็จะขับเคลื่อนต่อ ฉะนั้น จะเห็นได้ว่าหัวใจสำคัญของสมัชชาปฏิรูป คือ การได้แสดงความเห็น ร่วมคิดร่วมทำ บนพื้นฐานฉันทามติ การเห็นพ้องร่วมกัน เพื่อไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีอย่างต่อเนื่อง"
ส่วนนายดนัย กล่าวว่าถึงการทำงานกับเครือข่ายศิลปินเพื่อการปฏิรูปว่าได้จัดทำทะเบียนกลุ่มศิลปินที่เป็นปราชญ์ชาวบ้าน ศิลปินพื้นบ้านขึ้น หนุนเสริมศิลปวัฒนธรรมจากแต่ละชุมชนและเปิดพื้นที่ให้ศิลปินพื้นบ้านได้มีโอกาสแสดงความเห็น รวมถึงให้เยาวชนร่วมเรียนรู้และต่อยอด เช่นในโครงการเล่าเรื่องโกง การเขียน หนังสั้น หรือจัดทำสื่อต่างๆ ที่สะท้อนภาพการโกงที่ถอดบทเรียนจากทั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่น
"เชื่อว่าพลังของศิลปวัฒนธรรมอยู่ในวิถีชีวิต ที่สามารถเป็นองค์กประกอบในการสร้างความเปลี่ยนแปลงเรื่องต่างๆ ในสังคมได้ แม้สำนักงานปฏิรูปจะสิ้นสุดลงแต่ขบวนการปฏิรูปในเครือข่ายศิลปินจะเดินหน้าต่อได้อย่างแน่นอน เพราะศิลปินเมื่อจุดไฟติดแล้วก็ทำงานได้ไม่มีหยุด"
ขณะที่นายวิรัตน์ กล่าวกล่าวในมุมมองชาวนาว่า หัวใจสำคัญของการปฏิรูปประเทศมที่มุ่งสร้างความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำในสังคมเป็นเรื่องที่ตรงใจเกษตรกร ที่ไม่เคยมีโอกาสได้เรียนรู้ ปรึกษาหารือหรือแสดงความเห็น เนื่องจากกลไกในพื้นที่ไม่เปิดให้ทำได้ การบริหารระดับท้องถิ่นทำให้เกษตรกรต้องพะอืดพะอมกับหลายๆ ปัญหามาโดยตลอด ซึ่งขบวนการสมัชชาช่วยสะท้อนความไม่เป็นธรรมเรื่องการถือครองที่ดินในพื้นที่ออกมาได้ จากนี้เกษตรกรฝากความหวังไว้กับกฎหมายที่ดินเพื่อคนจน 4 ฉบับที่จะสร้างกระแสเปลี่ยนแปลงจากชุมชนฐานรากได้
เช่นเดียวกับนายไมตรี ที่เห็นสอดคล้องให้มีการผลักดันกฎหมายที่ดินเพื่อคนจน 4 ฉบับ เพื่อแก้ปัญหาความไม่ยุติธรรม โดยเฉพาะเรื่องที่ดินและทรัพยากร และกระบวนการยุติธรรมที่มีปัญหา สนับสนุน ร่างพ.ร.บ.กองทุนยุติธรรม ขบวนการดังกล่าวนี้จะเป็นการปฏิรูปโครงสร้างคนจนทั้งประเทศ และเป็นเปิดพื้นที่ให้ชุมชนได้ร่วมแลกเปลี่ยน สร้างความรู้ซึ่งต่างจากเดิมที่ยึดถือความเชื่อมากกว่าความรู้