เม.ย.-พ.ค.56 สถิติรุนแรง"สูง"ทรงตัว
ห้วงสองเดือน คือเดือน เม.ย.ถึง พ.ค.2556 ภายหลังรัฐบาลไทยกับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ นำโดยขบวนการบีอาร์เอ็นกลุ่มของนายฮัสซัน ตอยิบ นัดพูดคุยสันติภาพอย่างเป็นทางการครั้งแรกเมื่อปลายเดือน มี.ค. สถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังคงมีสถิติการเกิดเหตุรุนแรงในทิศทางที่สูงขึ้นหรือทรงตัว โดยยังมองไม่เห็นสัญญาณการลดจำนวนเหตุร้ายลง
เม.ย.สถิติรุนแรงพุ่งสูงสุดรอบ 5 เดือน
ข้อมูลที่เก็บรวบรวมโดยส่วนปฏิบัติการและรับแจ้งเหตุฉุกเฉิน ศูนย์ปฏิบัติการร่วมทางยุทธวิธี กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ระบุว่า สถิติเหตุรุนแรงในรอบเดือน เม.ย.2556 (ตั้งแต่วันที่ 1–30 เม.ย.) ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ อันประกอบด้วย จ.ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส กับ 4 อำเภอของ จ.สงขลา ประกอบด้วย อ.จะนะ เทพา สะบ้าย้อย และนาทวี เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบขึ้นทั้งหมด 63 เหตุการณ์ แยกเป็นเหตุยิงด้วยอาวุธปืน 35 เหตุการณ์ ลอบวางระเบิด 21 เหตุการณ์ ก่อกวน 6 เหตุการณ์ และวางเพลิง 1 เหตุการณ์
จำนวนเหตุรุนแรงทุกประเภทที่พุ่งสูงถึง 63 เหตุการณ์ กับเหตุลอบวางระเบิดถึง 21 ครั้งใน 1 เดือน เฉลี่ยเกือบวันละครั้ง เป็นสถิติสูงที่สุดในรอบปีนี้ โดยสูงกว่า 3 เดือนแรก (ม.ค.ถึง มี.ค.) และเดือน พ.ค.ด้วย (ดูข้อมูลเดือน พ.ค.ด้านล่าง)
"ระแงะ-ศรีสาคร-ยะรัง" แชมป์ป่วน
เมื่อพิจารณาข้อมูลในระดับจังหวัด พบว่า
จ.ปัตตานี มีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นทั้งสิ้น 21 เหตุการณ์ แยกเป็น ยิงด้วยอาวุธปืน 12 ครั้ง ระเบิด 5 ครั้ง ก่อกวน 3 ครั้ง และวางเพลิง 1 ครั้ง
จ.ยะลา 15 เหตุการณ์ แยกเป็น ยิงด้วยอาวุธปืน 11 ครั้ง ระเบิด 3 ครั้ง ก่อกวน 1 ครั้ง
จ.นราธิวาส 26 เหตุการณ์ แยกเป็น ยิงด้วยอาวุธปืน 12 ครั้ง ระเบิด 13 ครั้ง ก่อกวน 1 ครั้ง
จ.สงขลา 1 เหตุการณ์ เป็นเหตุก่อกวน
สำหรับอำเภอที่มีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นบ่อยครั้งในรอบเดือน เม.ย. ได้แก่ อ.ระแงะ จ.นราธิวาส 7 ครั้ง อ.ศรีสาคร จ.นราธิวาส 6 ครั้ง อ.ยะรัง จ.ปัตตานี 5 ครั้ง อ.บันนังสตา กับ อ.รามัน จ.ยะลา อำเภอละ 4 ครั้ง
ส่วนอำเภอที่ไม่มีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นเลย ได้แก่ อ.กาบัง กับ อ.เบตง จ.ยะลา อ.แม่ลาน อ.มายอ อ.กะพ้อ อ.ไม้แก่น จ.ปัตตานี อ.เจาะไอร้อง อ.แว้ง อ.ตากใบ จ.นราธิวาส และ อ.จะนะ อ.สะบ้าย้อย อ.นาทวี จ.สงขลา รวม 12 อำเภอจากทั้งหมด 37 อำเภอ
"ทหารหลัก-ทหารพราน" ตกเป็นเป้าโจมตี
ยอดผู้สูญเสีย ทั้งเสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บ แยกตามกลุ่มอาชีพ ดังนี้
ทหาร เสียชีวิต 8 นาย บาดเจ็บ 38 นาย
อาสาสมัครทหารพราน (อส.ทพ.) เสียชีวิต 5 นาย บาดเจ็บ 17 นาย
อาสารักษาดินแดน (อส.) เสียชีวิต 2 นาย บาดเจ็บ 3 นาย
ตำรวจ เสียชีวิต 1 นาย บาดเจ็บ 2 นาย
ข้าราชการพลเรือน เสียชีวิต 2 ราย
ประชาชน เสียชีวิต 25 ราย บาดเจ็บ 19 ราย
ผู้นำท้องถิ่น เสียชีวิต 2 ราย
ผู้ก่อเหตุรุนแรง เสียชีวิต 4 ราย
สรุปเสียชีวิต 49 ราย บาดเจ็บ 79 ราย รวมเสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บ 128 ราย
ยอดความสูญเสียจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ นับตั้งแต่วันที่ 4 ม.ค.2547 (เหตุการณ์ปล้นปืนครั้งใหญ่) จนถึงวันที่ 30 เม.ย.2556 มีผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 5,105 ราย แยกเป็นผู้นับถือศาสนาพุทธ 2,157 ราย ผู้นับถือศาสนาอิสลาม 2,817 ราย ไม่ระบุศาสนา 131 ราย มีผู้ได้รับบาดเจ็บทั้งสิ้น 9,372 ราย แยกเป็นผู้นับถือศาสนาพุทธ 5,931 ราย ผู้นับถือศาสนาอิสลาม 2,938 ราย และไม่ระบุศาสนา 503 ราย
พ.ค.เหตุร้ายลดแต่ยอดตายสูงขึ้น
สำหรับสถิติการเกิดเหตุรุนแรงรอบเดือน พ.ค.2556 (ตั้งแต่วันที่ 1–31 พ.ค.) มีเหตุการณ์ความไม่สงบ (คัดแยกเรื่องส่วนตัวออกแล้ว) เกิดขึ้นทั้งหมด 48 เหตุการณ์ แยกเป็น ลอบยิงด้วยอาวุธปืน 25 เหตุการณ์ ลอบวางระเบิด 18 เหตุการณ์ ก่อกวน 2 เหตุการณ์ และวางเพลิง 3 เหตุการณ์
เมื่อแยกพิจารณาเป็นรายจังหวัด พบว่า
จ.ปัตตานี มีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นทั้งสิ้น 20 เหตุการณ์ แยกเป็น ยิงด้วยอาวุธปืน 10 ครั้ง ระเบิด 8 ครั้ง วางเพลิง 2 ครั้ง
จ.ยะลา 9 เหตุการณ์ แยกเป็น ยิงด้วยอาวุธปืน 3 ครั้ง ระเบิด 4 ครั้ง ก่อกวน 2 ครั้ง
จ.นราธิวาส 18 เหตุการณ์ แยกเป็น ยิงด้วยอาวุธปืน 12 ครั้ง ระเบิด 6 ครั้ง
จ.สงขลา 1 เหตุการณ์ เป็นเหตุลอบวางเพลิง
เมื่อเจาะลึกลงไปในระดับอำเภอ พบว่า อำเภอที่มีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นบ่อยครั้งในรอบเดือน พ.ค. ได้แก่ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส 9 ครั้ง อ.สายบุรี จ.ปัตตานี 6 ครั้ง อ.มายอ จ.ปัตตานี และ อ.สุไหงปาดี จ.นราธิวาส อำเภอละ 4 ครั้ง
ส่วนอำเภอที่ไม่มีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นเลย ได้แก่ อ.เบตง กับ อ.ธารโต จ.ยะลา อ.แม่ลาน อ.ปะนาเระ อ.โคกโพธิ์ อ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี อ.เจาะไอร้อง อ.เมือง อ.จะแนะ อ.สุคิริน อ.ตากใบ อ.ระแงะ จ.นราธิวาส และ อ.จะนะ อ.สะบ้าย้อย อ.นาทวี จ.สงขลา รวม 15 อำเภอ
ยอดผู้สูญเสีย ทั้งเสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บ แยกตามกลุ่มอาชีพได้ดังนี้
ทหาร เสียชีวิต 5 นาย บาดเจ็บ 16 นาย
อาสาสมัครทหารพราน (อส.ทพ.) เสียชีวิต 9 นาย บาดเจ็บ 3 นาย
อาสารักษาดินแดน (อส.) เสียชีวิต 1 นาย
ตำรวจ เสียชีวิต 2 นาย บาดเจ็บ 18 นาย
ครู เสียชีวิต 1 ราย บาดเจ็บ 1 ราย
ประชาชน เสียชีวิต 30 ราย บาดเจ็บ 39 ราย
ผู้นำท้องถิ่น เสียชีวิต 2 ราย
ผู้ก่อเหตุรุนแรง เสียชีวิต 6 ราย
สรุปเสียชีวิต 56 ราย บาดเจ็บ 77 ราย รวมเสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บ 133 ราย
ยอดความสูญเสียจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ นับตั้งแต่วันที่ 4 ม.ค.2547 (เหตุการณ์ปล้นปืนครั้งใหญ่) จนถึงวันที่ 31 พ.ค.2556 มีผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 5,144 ราย แยกเป็นผู้นับถือศาสนาพุทธ 2,177 ราย ผู้นับถือศาสนาอิสลาม 2,836 ราย ไม่ระบุศาสนา 131 ราย มีผู้ได้รับบาดเจ็บทั้งสิ้น 9,439 ราย แยกเป็นผู้นับถือศาสนาพุทธ 5,982 ราย ผู้นับถือศาสนาอิสลาม 2,954 ราย และไม่ระบุศาสนา 503 ราย
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : เหตุระเบิดที่พุ่งเป้าโจมตีเจ้าหน้าที่ทหาร ทหารพราน และตำรวจ ยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่องที่ชายแดนใต้