นักวิชาการห่วงสังคมไทย “ตัวใครตัวมัน-ทิ้งผู้สูงอายุ”
เวทีประชุมวิชาการฯ เปิดผลสำรวจพบครอบครัวไทยเปราะบาง มีพฤติกรรมเสี่ยง ข้องแวะกับอบายมุข แบกหนี้สิน แถมผู้สูงอายุถูกทอดทิ้ง ชี้ชัด 36% ไม่มีเพื่อนบ้านเลย ต่างคนต่างอยู่
(20 มิ.ย.) ที่สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ มีการประชุมวิชาการด้านครอบครัวระดับชาติ ครั้งที่ 1 และการประชุมวิชาการครอบครัวศึกษา ครั้งที่ 5 โดยผศ.ดร.วิมลทิพย์ มุสิกพันธ์ สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล สมาคมครอบครัวศึกษาแห่งประเทศไทย นำเสนอผลการศึกษาสถานการณ์สุขภาวะครอบครัวไทยปี 2555 ในประเด็น “หยุด 4 สร้าง 4” คือ หยุดอบายมุข หนี้สิน ความรุนแรง และการนอกใจคู่สมรส ส่วนสร้าง 4 คือ การสื่อสารดี การมีเวลาร่วมกัน การใส่ใจดูแลกัน และการห่วงใยสุขภาพ โดยสำรวจจากกลุ่มตัวอย่างกว่า 4,000 ครอบครัวในทุกภาคทั่วประเทศ
ผศ.ดร.วิมลทิพย์ ระบุว่า ประเด็นอบายมุข เรื่องการดื่มสุรา ร้อยละ 61 ของครอบครัวไทยมีบุคคลในครอบครัวดื่มสุราเป็นประจำ และสมาชิกในครอบครัวซื้อสลากใต้ดิน สลากกินแบ่ง และเล่นการพนัน ร้อยละ 59, 54 และ 40 ตามลำดับ
ประเด็นหนี้สิน ครอบครัวกว่าร้อยละ 56 ยังคงมีหนี้สิน ทั้งเพิ่มขึ้นและลดลงอยู่ตลอดเวลา กว่าร้อยละ 12 ระบุว่าไม่สามารถชำระหนี้ได้ ชี้ให้เห็นว่า ยังไม่มีการหลุดจากวงจรหนี้สินแต่อย่างใด แม้กว่าร้อยละ 82 ของครอบครัวไทยจะมีเงินออมเพิ่มขึ้นก็ตาม
ในประเด็นความรุนแรง ครอบครัวไทย 1 ใน 3 มีการใช้ความรุนแรงเรื่องการทำร้ายทุบตีกัน โดยครอบครัวที่มีสมาชิก "เล่นการพนัน" มีการทุบตีกันสูงที่สุด ตามมาด้วยครอบครัวที่มีสมาชิกดื่มสุรา
ส่วนประเด็นการทอดทิ้งผู้สูงอายุ ครอบครัวไทยร้อยละ 53 มีการทอดทิ้งให้ผู้สูงอายุอยู่ตามลำพังเป็นประจำ ซึ่งเป็นประเด็นที่น่าห่วงใย เพราะแนวโน้มสถานการณ์จะทวีความรุนแรงขึ้นจากการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของไทย
และประเด็นปัญหาการนอกใจคู่สมรส กว่าร้อยละ 30 สมาชิกในครอบครัวบางคนมักมีพฤติกรรมนอกใจคู่สมรส ซึ่งเป็นแนวโน้มที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงสี่ปีที่ผ่านมา
ผศ.ดร.วิมลทิพย์ ระบุต่อว่า เรื่องการสื่อสารภายในครอบครัว ร้อยละ 94 ครอบครัวไทย สมาชิกในครอบครัวจะพูดคุยปรึกษาหารือกันเสมอ และสมาชิกทุกคนจะช่วยกันหาทางแก้ไขเมื่อครอบครัวมีปัญหาเรื่องการมีเวลาร่วมกัน กว่าร้อยละ 58 สมาชิกในครอบครัวจะทำงานบ้านร่วมกันเป็นประจำ แต่ในระหว่างการทานอาหารมื้อเย็นในครอบครัว คนไทยกว่าครึ่งยังใช้เวลาไปกับการดูทีวีมากกว่า ขณะที่การใช้เวลาเพื่อพูดคุยสนุกสนานยังเท่าเดิม และการใช้เวลาเพื่อสอบถามปัญหา/ร่วมกันแก้ไขกลับลดลง
ส่วนเรื่องการห่วงใยสุขภาพ ปี 2552 ครอบครัวไทยเพียงร้อยละ 23.5 เท่านั้นที่มีการออกกำลังกายด้วยกันเป็นประจำ ส่วนในเรื่องความสัมพันธ์กับเพื่อนบ้านและชุมชน ครอบครัวกว่าร้อยละ 36 ระบุว่าไม่มีเพื่อนบ้านเลย ซึ่งชี้ว่าสังคมไทยมีลักษณะต่างคนต่างอยู่และไม่สนใจชุมชนคนรอบข้างมากขึ้น
“ผลการศึกษาในภาพรวมชี้ให้เห็นว่า ครอบครัวไทยมีแนวโน้มเป็นครอบครัวที่เปราะบาง จากพฤติกรรมเสี่ยงที่มีมากขึ้น อาทิ การข้องแวะกับอบายมุข การไม่สามารถหลุดจากวงจรหนี้สิน ซึ่งสะท้อนความอ่อนแอทางเศรษฐกิจของครอบครัวไทย ผู้สูงอายุถูกทอดทิ้ง สะท้อนความล่มสลายของการถ่ายทอดภูมิปัญญาจากรุ่นสู่รุ่น ครอบครัวในชุมชนเข้าสู่ยุคตัวใครตัวมันอย่างเต็มรูปแบบ อย่างไรก็ตามเชื่อว่าครอบครัวไทยจะยังคงรักษาสัมพันธภาพและพอจะประคับประคองดูแลกันไปได้” ผศ.ดร.วิมลทิพย์ กล่าว
ด้านศ.เกียรติคุณ นพ.ประเวศ วะสี กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ “ครอบครัวเข้มแข็ง สังคมเข้มแข็ง ปัจจัยชี้ขาดอนาคตของไทยและอาเซียน” ความตอนหนึ่งว่า การรวมตัวกันเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน สังคมไทยจะเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่และรวดเร็ว ด้วยสภาพที่ไทยมีเศรษฐกิจดีกว่าประเทศเพื่อนบ้านรายรอบ ทำให้ผู้คนไหลเวียนเข้ามาอยู่อาศัยและทำงานมากขึ้น ส่งผลให้คนไทยต้องปรับตัวครั้งใหญ่ จะนำมาซึ่งความเครียดและกดดันในสังคม และสิ่งที่จะช่วยเราเผชิญและปรับตัวกับความเปลี่ยนแปลงได้อย่างราบรื่น คือครอบครัว และชุมชนที่อบอุ่น เข้มแข็ง
“การพัฒนาประเทศไทยกว่าร้อยปีที่ผ่านมา เหมือนสร้างเจดีย์จากยอด จึงพังลง ๆ การสร้างประเทศไทยจำเป็นต้องสร้างจากฐาน คือ ครอบครัว ชุมชน ท้องถิ่น ให้เข้มแข็ง ก็จะรองรับประเทศทั้งหมดให้มั่นคง” ราษฎรอาวุโสกล่าว
ทั้งนี้ นายสมชาย เจริญอำนวยสุข ผู้อำนวยการสำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวถึงการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนด้วยว่า คนทำงานในภาคแรงงานเป็นที่ต้องการมากขึ้น ทั้งนี้ข้อมูลจากการศึกษาบ่งชี้ว่าประเทศไทยต้องการประชากรเพิ่มขึ้น 1.3 ล้านคนต่อปี เพื่อรองรับการขยายตัวและการพัฒนาของประเทศในภาพรวม ซึ่งรวมถึงเข้าสู่เออีซี ด้วย แต่ปัจจุบันประชากรเกิดไทยเพียง 8 แสนคนต่อปี และ 1 ใน 3 เกิดจากครอบครัวที่ไม่มีความพร้อม ดังนั้นภาครัฐควรมีการวางแผนเพิ่มจำนวนประชากรที่มีคุณภาพให้เพียงพอในอนาคตด้วย
“ถ้าอัตราการเกิดเป็นอย่างนี้ ในอนาคต ไทยอาจจะเป็นเหมือนอเมริกา ที่มีคนต่างสัญชาติเข้าไปอยู่อาศัยมากขึ้น” นายสมชายกล่าว และว่า ครอบครัวเข้มแข็ง จะเป็นฐานที่ดีที่สุดให้ไทยพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ทั้งนี้ในแง่การใช้เทคโนโลยี ต้องรู้จักใช้ให้เป็นประโยชน์ ในการสร้างความอบอุ่น ไม่ใช่มาทำลายครอบครัว และไทยจำเป็นต้องรักษารากฐานวัฒนธรรมของตัวเองให้มั่นคงด้วย