ครม.นัดพิเศษเคาะหั่นราคาจำนำข้าวเปลือกรอบใหม่ 1.2 หมื่นบ. เริ่ม 1 ก.ค.นี้
ครม.มีมติเห็นชอบปรับลดราคารับจำนำข้าวเปลือกรอบใหม่เหลือ 1.2 หมื่นบาท/ตัน จำกัดวงเงินการรับซื้อไม่เกินครัวเรือนละ 5 แสนบาท นายกฯ กำชับเข้มงวดทุกขั้นตอน เชื่อไม่กระทบนโยบายที่แถลงไป
วันที่ 19 มิถุนายน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เรียกประชุมครม.นัดพิเศษ ครั้งที่ 24/2556 ณ ห้องสีเขียว ตึกไทยคู่ฟ้า โดยมี นายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ร่วมประชุม เพื่อรับทราบมติของที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ที่ประชุมวานนี้ (18 มิ.ย.) โดยได้นำข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเกี่ยวกับโครงการรับจำนำข้าวเปลือกเข้าพิจารณาเพิ่มเติม
ซึ่งผลการประชุม กขช.เห็นว่าเห็นว่าสถานการณ์เศรษฐกิจโลกโดยรวมมีความผันผวน ประกอบกับอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น จึงมติปรับปรับปรุงเงื่อนไขของโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรัง ปี 2556 ลงเหลือ 12,000 บาท/ตัน จาก 15,000 บาท/ตัน และให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.นี้ พร้อมจำกัดวงเงินการรับซื้อข้าวจากเกษตรกรไว้ที่ไม่เกินครัวเรือนละ 500,000 บาท
ภายหลังการประชุม นายภักดีหาญส์ หิมะทองคำ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมว่า ครม.มีมติเห็นชอบมติของ กขช.เรื่องการจำกัดวงเงินรับจำนำข้าวของเกษตรกรแต่ละครัวเรือน จากเดิมที่ไม่จำกัดวงเงิน เป็นไม่เกินครัวเรือนละ 500,000 บาทต่อปี โดยให้เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 20 มิถุนายน 2556 เป็นต้นไป
แยกราคาตามข้าวแต่ละประเภท ดังนี้
ข้าวเปลือกเจ้า 100% ตันละ 12,000 บาท
ข้าวเปลือกเจ้า 5% ตันละ 11,840 บาท
ข้าวเปลือกเจ้า 10% ตันละ 11,680 บาท
ข้าวเปลือกเจ้า 15% ตันละ 11,300 บาท
ข้าวเปลือกเจ้า 25% ตันละ 11,040 บาท
ข้าวเปลือกเจ้าปทุมธานี 1 (42 กรัม) ตันละ 12,800 บาท
ข้าวเปลือกเหนียว 10% เมล็ดยาว (42 กรัม) ตันละ 12,800 บาท
ข้าวเปลือกเหนียว 10% เมล็ดสั้น (40 กรัม) ตันละ 12,000 บาท
สำหรับกรอบวงเงินที่ใช้ในการรับจำนำข้าวเปลือกนั้น ยืนยันตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2556 ที่กำหนดวงเงินดำเนินการสิ้นสุด ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2556 จะต้องไม่เกิน 500,000 ล้านบาท แบ่งเป็นวงเงินจากกระทรวงการคลัง 410,000 ล้านบาท และเงินทุนหมุนเวียนของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรจำนวน 90,000 ล้านบาท
ส่วนข้อท้วงติงว่าการปรับเปลี่ยนโครงการรับจำนำข้าวเปลือก จะกระทบกับสิ่งที่รัฐบาลได้แถลงเป็นนโยบายหรือไม่นั้น นายอัชพร จารุจินดา เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ให้ความเห็นว่า สามารถดำเนินการได้ เพราะรัฐบาลได้ดำเนินนโยบายเร่งด่วนตามที่ได้แถลงไว้ครบถ้วนแล้วแก่เกษตรกรตั้งแต่ปีแรก จากนี้ไปจะเป็นการปรับโครงสร้างภาคการเกษตร ที่จะเน้นเพิ่มรายได้ให้ดีขึ้น พร้อมกับเพิ่มคุณภาพชีวิตเกษตรกรให้ดีอย่างยั่งยืน
ขณะที่นายกรัฐมนตรี กล่าวในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีด้วยว่า จากนี้ไปต้องให้ความสำคัญกับ 3 ประเด็นคือ
1.การทำเกษตรโซนนิ่ง โดยเน้นให้มีการปลูกพืชเกษตรในพื้นที่ที่เหมาะสม เพื่อช่วยเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกร
2.เร่งรัดให้กระทรวงที่เกี่ยวข้องนำงานวิจัยที่เกี่ยวเนื่องกับการเพิ่มมูลค่าและคุณภาพสินค้าเกษตรมาปรับใช้ เช่น การผลิตข้าวอินทรีย์ ที่เมื่อผลิตและส่งออกแล้วได้ราคาดี และ
3.ได้มอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีกิตติรัตน์ ณ ระนอง หารือร่วมกับกระทรวงพลังงาน และกระทรวงอุตสาหกรรม ยกระดับราคาสินค้าเกษตรที่สามารถนำมาใช้ในการผลิตเป็นพลังงานทดแทน
นอกจากนี้เพื่อความโปร่งใสในการดำเนินการโครงการรับจำนำข้าว ที่ประชุม ครม.ได้กำชับให้กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมถึงกระทรวงมหาดไทย เข้มงวดในการตรวจสอบโครงการรับจำนำข้าวทุกขั้นตอน ตั้งแต่ การจดทะเบียน การตรวจสภาพข้าว การเก็บรักษา และการระบายข้าว
ด้านสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พบว่า โครงการรับจำนำข้าวที่ผ่านมา ทำให้กำลังซื้อและการบริโภคของประเทศเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 2% ทำให้ GDP เพิ่มขึ้นประมาณ 0.69% ในปีแรกของโครงการ และเพิ่มขึ้น 0.62% ในปีที่สอง ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นกว่าอัตราปกติ ทั้งนี้ในปี 2555 ที่ผ่านมา การใช้จ่ายภาคครัวเรือนทั้งประเทศขยายตัวถึง 6.7% แต่หากไม่มีโครงการเพื่อเพิ่มรายได้และอำนาจซื้อของเกษตรกรในชนบท จะส่งผลทำให้การบริโภครวมของครัวเรือนขยายตัวเพียง 4.7% เท่านั้น