ยื้อต่อ! ครม.ไฟเขียวโครงการบริหารจัดการน้ำฯ คาดเซ็นสัญญา ส.ค.-ก.ย.นี้
ครม.เห็นชอบแผนบริหารจัดการน้ำวงเงินกู้ 304,000 ล.บ. แจงต่อรองราคากับเอกชนเหลือ 6.1 พันล.บ. 'ธงทอง' เตรียมร่างสัญญา-คัดเลือกบริษัทที่ปรึกษา ตรวจสอบโครงการ คาดเซ็นสัญญา ส.ค.-ก.ย.นี้
วันที่ 18 มิถุนายน นายปลอดประสพ สุรัสวัสดี รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบตามที่คณะกรรมการคัดเลือกคัดเลือกโครงการเพื่อออกแบบและก่อสร้างระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนและระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศไทย ที่มีศ.พิเศษธงทอง จันทรางศุ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานคณะกรรมการพิจารณา รวมถึงเห็นชอบตามที่ กบอ. และรัฐมนตรีเจ้ากระทรวงเสนอ ขออนุมัติกรอบวงเงินกู้ 304,000 ล้านบาท เพื่อเดินหน้าดำเนินโครงการต่อ
นายปลอดประสพ กล่าวว่า ขั้นตอนหลังจากนี้เป็นขั้นตอนการร่างสัญญา คาดว่าจะใช้เวลาในการร่างสัญญา 1-2 วัน โดยมีศ.พิเศษธงทอง จันทรางศุ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ดำเนินการร่างสัญญา ที่จะเป็นสัญญาใหญ่ และสัญญาลูกแต่ละเรื่อง แต่ละโมดูล เช่น สัญญาเรื่องเขื่อน เรื่องฟลัดเวย์ เนื่องจากเริ่มโครงการไม่พร้อมกัน ซึ่งเป็นไปตามคำแนะนำของสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)
ในส่วนวงเงินที่คณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกโครงการต่อรองราคากับบริษัทได้นั้น นายปลอดประสพ ชี้แจงว่าสามารถขอลดวงเงินได้ประมาณ 6.1 พันกว่าล้านบาท หรือคิดเป็น 2 เปอร์เซ็นต์
นายปลอดประสพ กล่าวต่อว่า จากนี้ไปจะเข้าสู่กระบวนการร่างสัญญา เซ็นสัญญา การคัดเลือกกลุ่มที่ปรึกษาโครงการ พร้อมๆ กับการตั้งคณะกรรมการกำกับบริหารโครงการ จากนั้นก็เข้าสู่ขั้นตอนของการสำรวจ ศึกษา ออกแบบ จัดทำอีไอเอ และดำเนินการก่อสร้างต่อไป
จากนี้อีก 45 วันจะดำเนินการจัดจ้างบริษัทที่ปรึกษาและเซ็นสัญญาช่วงเดือน ส.ค.-ก.ย.นี้ จึงจะได้เห็นการก่อสร้างโครงการฟลัดเวย์ฝั่งตะวันออกได้
"เมื่อกระบวนการคัดเลือกบริษัทเสร็จสิ้น หน้าที่ของคณะกรรมการคัดเลือกก็สิ้นสุดลง จากนี้จะแต่งตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษาบริหารโครงการ 2 กลุ่ม รวม 9 บริษัทคือในส่วนของ Project Management and Engineering Consultant (PMEC) และ Project Supervision Consultant (PSC) กำกับบริหารโครงการตลอดระยะเวลา 5 ปี"
โดยนายกรัฐมนตรี ได้กำชับให้คัดเลือกคณะกรรมการที่ปรึกษาด้วยความโปร่งใส ให้มีการแข่งขันกันอย่างแท้จริง และเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องมาให้ความรู้ ซึ่งมีโอกาสที่บริษัทที่ปรึกษาจะเป็นบริษัทในไทยทั้งหมด หรือบริษัทญี่ปุ่นที่ทำการศึกษาในประเทศไทย หรือบริษัทที่ถอนตัวจากโครงการไปก่อนหน้านี้ก็เป็นไปได้ทั้งสิ้น เพียงแค่ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน
ในส่วนที่มีการตั้งข้อสังเกตเรื่องการเวนคืนที่ดินนั้น นายปลอดประสพ ชี้แจงว่า การเวนคืนที่ดินบริษัทเอกชนมีหน้าที่สำรวจและระบุพื้นที่เท่านั้น หลังจากนั้นจะเป็นไปตามกระบวนการทางกฎหมาย เงินในส่วนนี้ไม่เกี่ยวข้องและจะไม่อยู่ในมือเอกชน ต่อให้มีเงินเหลือก็ไม่เกี่ยวกับเอกชน
ขณะที่คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.) เสนอเห็นชอบกรอบแผนงานการใช้เงินเพื่อลงทุนเพื่อสร้างอนาคตของประเทศในระยะยาววงเงิน 10,000 ล้านบาท รวม 4 แผนงาน ได้แก่แผนงานพัฒนาพัฒนาภาคการเกษตรและบริหารจัดการทรัพยากรชีวภาพ แผนงานพัฒนาพื้นที่ภาคตะวันออกเพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ แผนงานพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อตอบสนองทิศทางการพัฒนาโลก และแผนงานวิจัยเชิงปฏิบัติเพื่ออนาคตประเทศ